พอดีว่าเมื่อเดือนก่อนปูเป้ได้ไปทริปกับทาง La Roche-Posay ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่แข็งมากเรื่องผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ทีนี้เขาบอกว่าเนี่ยผลิตภัณฑ์ของเขาพิสูจน์แล้วว่าช่วยปกป้องผิวจากอินฟาเรดได้ด้วยนะ เพราะถึงดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่โลกเราขาดไม่ได้ แต่พลังงานที่มันแผ่มาก็ยังทำให้ผิวเราเกิดปัญหาต่าง ๆ อีกมากมาย แค่ป้องกันรังสี UV อย่างเดียวเขาก็บอกว่ายังไม่พอ มันต้องปกป้องผิวจากรังสีอื่น ๆ ที่ติดมาอย่างเช่น อินฟาเรดด้วย!!! 

เรารู้สึกทันทีว่าเทรนด์นี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หรือแค่กิมมิคอีกต่อไป เพราะจริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเคยได้ยินคำเคลมแบบนี้ แต่แบรด์ใหญ่ระดับนี้ลงมาเล่นเองเรารู้ได้เลยว่าหลังจากนี้อีกไม่นานเรื่องของรังสีอินฟาเรดจะเป็นเรื่องที่พูดกันเยอะมากในวงการเครื่องสำอาง แต่สิ่งนี้จะเป็นแค่การตลาดหลอกให้เรากลัวเพื่อขายของ หรือเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าอินฟาเรดมีผลกับผิวจริงก็ต้องตั้งใจอ่านกันให้จบนะจ๊ะ

 

จะว่าไปแล้วเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตเราจะเห็นพัฒนาการทางด้านความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากพลังงานของดวงอาทิตย์ต่อผิวของเราที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จากประมาณเกือบ 100 ปีก่อนในปี 1918 เราพึ่งรู้ว่ารังสี UVB ทำให้ผิวเป็นมะเร็งได้และใช้เวลาอีก 18 ปีกว่าที่โลกจะมีผลิตภัณฑ์กันแดดที่ปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้ แต่ก็ใช้เวลาอีก 41 ปีกว่าที่จะรู้ตัวกันว่ารังสี UVA ที่เคยคิดว่าไม่ก่อผลเสียกับเรานั้นแท้จริงทำลายผิวลึกถึงชั้นในเมื่อปี 1977

ในตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันวงการเครื่องสำอางพยายามอย่างหนักหน่วงในการทำให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับรังสี UVB ที่ทำให้เกิดการ Burn ไหม้ และ UVA ทำให้เกิด Aging แก่ก่อนวัย อยู่ในบ้านหรือเมฆครึ้มไม่มีแดดก็ยังต้องทากันแดดเพราะ UVA ทะลวงผ่านเมฆและกระจกเข้าไปได้ สารกันแดดที่ดีต้องมีความเสถียร ซึ่งมันก็ยากเย็นพอดูทีเดียวแหละ ตอนนี้สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือการบอกว่าสิ่งที่ดวงตาเรามองไม่เห็นแต่รู้สึกได้อย่างรังสีอินฟาเรด หรือ คลื่นความร้อน ก็เป็นภัยเงียบที่ทำให้ผิวเราเสียหายอย่างช้า ๆ แต่ชัวร์ ๆ เช่นกัน

Electromagnetic Spectrum Diagram

ซึ่งปูเป้จะอธิบายว่าพลังงานที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์มายังโลกนั้นอยู่ในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งแบ่งออกเป็นสารพัดช่วงโดยมีชื่อเรียกเป็นรังสีต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่ถูกสกัดไปโดยชั้นบรรยากาศซะหมดแล้ว แต่ช่วงพลังงานคลื่นที่เข้ามาสู่โลกและมีผลกับผิวของเราจะมีอยู่หลัก ๆ สามอย่างได้แก่ Ultraviolet (UV) กับ Visible Light และ Infrared (IR)

Ultraviolet

UV Penatration

Ultraviolet (UV)  คือรังสีในช่วงคลื่นระหว่าง 200 – 400 นาโนเมตร แบ่งเป็นสามช่วงใหญ่ ๆ คือ UVC – UVB – UVA (ย่อยเป็น UVA-II หรือ Short UVA กับ UVA-I หรือ Long UVA อีกที) ซึ่งผลของมันกับผิวนั้นสารพัดเลยแหละ ทำให้ผิวไหม้ เกิดการอักเสบ ก่ออนุมูลอิสระ ทำให้เซลลเสียหาย เกิดการสร้างเมลานินเพิ่มขึ้น ผิวแก่ก่อนวัย ตรงนี้เรามีส่วนผสมที่ช่วยดูดวับหรือสะท้อนรังสีออกไป และมีมาตรฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการวัดค่าการป้องกันของผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่าย ตรงนี้เราไม่พูดอะไรมากเพราะเรามีข้อมูลตรงนี้ให้เยอะแล้วในเวปนี้ 

​(Source : UV and pigmentation: molecular mechanisms and social controversiesSolar radiation induced skin damage: review of protective and preventive options.DNA damage after acute exposure of mice skin to physiological doses of UVB and UVA light.Solar UV irradiation and dermal photoaging.UV wavelength-dependent DNA damage and human non-melanoma and melanoma skin cancer.Effects of UV and visible radiation on DNA-final base damage.)

Visible Light

Visible Light

Visible Light หรือแสงที่เรามองเห็น จะอยู่ในช่วงคลื่นระหว่าง 400 – 700 นาโนเมตร ซึ่งมันก็คือแสงสีรุ้ง 7 สี ที่เรามองเห็นได้เวลาเกิดรุ้งกินน้ำ หรือการแยกช่วงแสงด้วยการตกกระทบของปริซึมในชั่วโมงเรียนวิทยาศาสตร์

แต่ละช่วงคลื่นของรังสีใน Visible Light ก็คือแสงสีต่าง ๆ เช่น ช่วง 400-450 นาโนเมตรคือสีม่วง 500 – 570 นาโนเมตรคือแสงสีเขียว 610-700 นาโนเมตร คือแสงสีแดงเป็นต้น (จะเห็นภาพง่ายขึ้นว่าทำไมรังสี Ultraviolet ที่มีช่วงคลื่นตั้งแต่ 400 นาโนเมตรลงไป ถึงเรียกว่า “รังสีเหนือม่วง” และรังสีอินฟาเรด ที่มีช่วงคลื่น 700 – 1000000 นาโนเมตร ถึงเรียกว่า “รังสีใต้แดง”) ประเด็นคือเจ้ารังสีของแสงที่มองเห็นได้เนี่ยมันก็ดันมีข้อมูลว่าสามารถก่อให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระซึ่งทำลายผิวได้เหมือนกันแถมยังกระตุ้นได้มากกว่า UVA เสียอีก!!! ที่ทำให้สาวไทยผิวเข้มขวัญผวามากไปกว่านั้นก็คือมันสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีที่มากผิดปกติในคนที่มีผิวเข้มหน่อยด้วย (Fitz-Patrick Skin Type IV-V อยากรู้ว่าคืออะไรให้อ่าน Whitening 101 : Part 1 – Why Our Skin Color Different )

Visible Light Wavelength


แต่ก่อนที่จะกรีดร้องขังตัวเองในห้องมืดเกลียดกลัวแสงเป็นแวมไพร์เราขอให้คุณวางถุงกาวลงก่อนและอย่าตระหนกจนเกินไป เพราะเจ้าแสง Visible Light นี้มันไม่ได้เลวไร้ซึ่งความดี ถึงแม้จะมันจะก่ออนุมูลอิสระได้ และการจ้องแสงสีฟ้ามาก ๆ ในตอนค่ำจะทำให้ร่างกายหลังฮอร์โมนเพื่อการนอนหลับที่น้อยลง (ขอบคุณ iPhone ที่มี Night Shift มาช่วยตรงนี้) แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันเรามีการใช้คลื่นแสงจำเพาะต่าง ๆ ในการเสริมความงามไม่ว่าจะเป็นแสงสีฟ้าบางช่วงคลื่นในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียสิว หรือใช้แสงสีแดงในคลื่นจำเพาะเพื่อช่วยลดริ้วรอย ดังนั้นแสง Visible Light ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมัน และถ้าเราไม่ได้เป็นโรคแพ้แสง โดยส่วนตัวปูเป้มองว่าเราคงยังไม่ต้องกังวลกับมันมากนักเพราะเรายังไม่มีผลิตภัณฑ์หรือมาตรฐานในการกำหนดการระบุค่าการป้องกันที่ยอมรับกัน

มีคนเคยถามปุเป้ว่าอยากหากันแดดที่ใช้ Physical Sunscreen แบบไม่ Micronized เพราะได้ยินมาว่ามันช่วยกัน Visible Light ได้ ซึ่งปูเป้ก็ไม่เถียงว่ามันช่วยกันได้ส่วนหนึ่งจริง เพราะสารที่ว่าแบบไม่ผ่านการย่อยขนาดให้เล็ก (ระดับไมครอน หรือนาโน) มันจะสะท้อนแสงที่มองเห็นได้ดีมากจนทำให้เห็นเป็นสีขาว ซึ่งไม่มีใครอยากทากันแดดแล้วหน้าขาววอกเป็นงิ้วหรอก ดังนั้นการหากันแดด แบบไม่ Micronized จึงใช้ไม่ได้จริงในชีวิตประจำวัน (และไม่มีใครทำขายหรอกเพราะมันขายไม่ออก!!!) สำหรับคนผิวเข้มที่กลัวว่าแสง Visible Light จะทำให้ผิวเป็นฝ้า กระง่ายกว่าเดิมนั้น ขอบอกว่ารังสี UV กระตุ้นการสร้างเม็ดสีได้รุนแรงกว่า Visible Light  อยู่ 25 เท่าจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ออกมานะ อันนี้ไปถ่วงน้ำหนักกันเอาเองว่าจะคุ้มกับการโปะหน้าขาวเป็นงิ้วรึเปล่า

 

(Source : The missing link–light-induced (280-1,600 nm) free radical formation in human skin.Prolonged activation of ERK contributes to the photorejuvenation effect in photodynamic therapy in human dermal fibroblasts.Irradiation of skin with visible light induces reactive oxygen species and matrix-degrading enzymes.Visible light photopatch testing of common photocontactants in female filipino adults with and without melasma: a cross-sectional study.Are there mechanistic differences between ultraviolet and visible radiation induced skin pigmentation?Effects of UV and visible radiation on DNA-final base damage.Clinical efficacy of home-use blue-light therapy for mild-to moderate acne.Light therapy by blue LED improves wound healing in an excision model in rats.Red light-emitting diode (LED) therapy accelerates wound healing post-blepharoplasty and periocular laser ablative resurfacing.

Infrared


Infrared ก็คือช่วงช่วงคลื่นตั้งแต่ 700 นาโนเมตร ถึง 1000000 นาโนเมตร (หรือ 1 มิลลิเมตร) รังสีอินฟาเรดเป็นรังสีที่เปรียบเสมือนความรัก คือมองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ (โปรดอย่าพึ่งกดปิดเวปเพราะมุขเสี่ยวเกินไป) ที่บอกว่ามันสัมผัสได้ก็เพราะอินฟาเรดคือช่วงคลื่นที่ทำให้เกิดความร้อน เมื่อผิวเราสัมผัสกับคลื่นของอินฟาเรดมันจะไปสั่นสะเทือนโมเลกุลในร่างกายของเราให้เกิดความร้อนเราจึงรู้สึกอุ่นขึ้นเมื่อเจอแสงแดดนั่นเอง และอย่างที่หลายคนอาจจะสงสัยในตอนที่อ่านถึงตรงนี้ว่าเอ๊ะ ตัวเราก็มีความร้อนนะ เราก็แผ่รังสีอินฟาเรดด้วยรึเปล่า?  ถูกน้องนะคร้าบบบบ มนุษย์เรา สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ หรือแม้แต่อุปกรณ์ เรื่องใช้ วัตถุที่มีการปล่อยความร้อนออกมา ก็คือการแผ่รังสีอินฟาเรดนั่นเอง (และเป็นหลักการของกล้องอินฟาเรดหรือกล้องจับความร้อนใช้แสดงภาพออกมา)

รังสีอินฟาเรดเป็นรังสีที่เราได้รับเยอะที่สุดในชีวิตประจำวัน (54% โดยประมาณ) และเหมือนประเทศไทยและเพื่อนบ้านจะได้รับหนักหน่วงกว่าประเทศในแถบยุโรป ซึ่งรังสีอินฟาเรดยังแบ่งไปได้อีก 3 ช่วงได้แก่ IR-A กับ IR-B และ IR-C โดยแต่ละช่วงมีความสามารถในการทะลุผ่านชั้นผิวหนังที่ต่างกัน มีข้อมูลว่ารังสีอินฟาเรดในช่วงคลื่น IR-A (700-1400 นาโนเมตร) สามารถแทรกทะลุทะลวงเข้าผิวทะลุผิวชั้นในไปถึงชั้นไขมันได้เลยทีเดียว และ IR-A ยังก่อให้เกิดอนุมูลอิสระได้ด้วยผ่านการทำร้ายตัวสร้างพลังงานของเซลล์อย่างไมโทคอนเดรีย ซึ่งส่งผลลูกโซ่ไปกระตุ้นการทำงานของยีน MMP-1 (ตัวทำลายคอลลาเจน) และลดการทำงานของยีนที่สั่งการผลิตคอลลาเจนใหม่ ผลก็คือการทำให้ผิวเราเสื่อมและดูแก่ก่อนวัยนั่นเอง ส่วน IR-B และ IR-C จะเป็นช่วงคลืนหลักที่ทำให้เกิดความร้อนของยามผิวเราเจอกับแสงแดด

Infrared Damage

ปัจจุบันเรายังไม่เข้าใจทั้งหมดถึงกลไกในการที่รังสีอินฟาเรดสามารถส่งผลเสียกับผิว หนึ่งความเป็นไปได้คือคลื่นรังสีอินฟาเรดเข้ามาสั่นสะเทือนโมเลกุลของเราและทำให้เกิดความร้อนขึ้นซึ่งเซลลส์สำคัญของผิวไม่ว่าจะเป็น Keratinocyte (เซลล์ที่ผลิตผิวชั้นนอก) Melanocyte (เซลล์ที่ผลิตเม็ดสีเมลานิน) และ Fibroblast (เซลล์ที่สั่งการผลิตโปรตีนและองค์ประกอบสำคัญของผิวชั้นใน) ล้วนมีตัวรับที่ไวต่ออุณหภูมิอยู่รอบ ๆ ผนังเซลล์ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของเซลล์เหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้คนที่จะไม่ได้ออกไปข้างนอกเพื่อเจอแสงแดดแต่ต้องเจอกับความร้อนอยู่เป็นประจำอย่างเช่นคนที่ทำงานในครัวหรือโรงงานที่มีความร้อนสูงก็มีปัญหาในเรื่องริ้วรอยและเรื่องของฝ้า กระ และจุดด่างดำได้ (อันนี้ประสบการณ์ตรงเลย เพราะปูเป้เคยทำงานในครัวโรงแรมที่อยู่ใต้ดินแต่พี่ที่ทำงานในครัวมีฝ้ากันเยอะมากเพราะอยู่กันหน้าเตาทั้งวัน)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เหมือนกับ Visible Light นั่นแหละ เจ้ารังสีอินฟาเรดหรือคลื่นที่ทำให้เกิดความร้อนนี้มันก็มีทั้งประโยชน์และโทษของมันเอง จริง ๆ แล้วในวงการความงามเราก็ใช้เลเซอร์อินฟาเรดและความร้อนนี่แหละในการทำให้เราสวยขึ้น!!!  ยกตัวอย่างเช่น Thermage CPT ซึ่งเป็นการใช้คลื่นวิยุในการให้ความร้อนจนถึงจุดที่ทำให้เกิดการหดตัวของคอลลาเจนทำให้เกิดการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและโครางสร้างใต้ผิวขึ้นมาใหม่และสลายไขมันทำให้ใบหน้ายกกระชับได้รูปมากขึ้น แต่เทคโนโลยีนี้มีการควบคุมในเรื่องของพลังงานและเวลาให้เหมาะสมรวมไปถึงการหล่อเย็นที่ผิวชั้นบนเพื่อไม่ให้ผิวไหม้ก่อนที่ข้างในจะจะอุ่นถึงอุณหถูมิที่ต้องการ หรือการอาบน้ำอุ่นของชาวญี่ปุ่นในระยะเวลาสั้น ๆ และรีบราดน้ำเย็นเพื่อลดความร้อนทันที ความร้อนที่เหมาะในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เกิดการกระตุ้น Heat Shock Protein ในการกระตุ้นการไหลเวียนและมีประโยชน์ต่อผิวและสุขภาพ (เป็นคอนเซปต์ของ Micro-Stress)

ยังคงต้องมีการศึกษากันอีกมากถึงช่วงคลื่นต่าง ๆ ของรังสีอินฟาเรดว่าส้งผลกับผิวในแง่ใดบ้าง แต่ที่แน่นอนคือปัญหาจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากรังสีอินฟาเรดมาจากเจอและสะสมความร้อนอย่างยาวนานและต่อเนื่องอย่างเช่นที่เราเจอกันในชีวิตประจำวันอย่างการเดินทางผ่านความร้อนระอุในเวลากลางวันหรือในพื้นที่ทำงาน และก็น่าเสียดายที่เมลานินที่ดูดซับรังสี UV และ Visible Light ได้ไม่สามารถปกป้องเราจากอินฟาเรดและความร้อนได้ สิ่งที่เราทำได้น่าจะเป็นในส่วนของการลดผลกระทบที่รังสีอินฟาเรดก่อขึ้น (เช่นอนุมูลอิสระ และการอักเสบ) หรือหาวิธีช่วยลดอุณภูมิผิว (การฉีดน้ำแร่หรืออะไรทำนองนี้)

(Source : Solar radiation induced skin damage: review of protective and preventive options.The missing link–light-induced (280-1,600 nm) free radical formation in human skin.Infrared plus visible light and heat from natural sunlight participate in the expression of MMPs and type I procollagen as well as infiltration of inflammatory cell in human skin in vivo.Effects of infrared radiation and heat on human skin aging in vivo.Acute exposure of human skin to ultraviolet or infrared radiation or heat stimuli increases mast cell numbers and tryptase expression in human skin in vivo.Role of mitochondria in photoaging of human skin: the defective powerhouse model.Photoprotection beyond ultraviolet radiation–effective sun protection has to include protection against infrared A radiation-induced skin damage.Infrared radiation-induced matrix metalloproteinase in human skin: implications for protection.Chronic heat treatment causes skin wrinkle formation and oxidative damage in hairless mice.Infrared Radiation Skin Protection)

 

Infrared Protection in Sunscreen?

มาถึงตรงนี้ก็พอจะรู้เนอะว่านอกจากรังสี UVA – UVB แล้วมันยังมีปัจจัยอื่นอย่าง Visible Light และ Infrared ที่ก็ส่งผลกระทบกับผิวอย่างเงียบ ๆ ปัจจุบันเราก็ยังต้องทำความเข้าใจและศึกษากันอีกมาก และปัจจุบันเรายังไม่มีกฏหมายหรือระเบียบในการวัดมาตรฐานหรือกำหนดค่าการปกป้องผิวจากสองปัจจัยหลังด้วยทำให้วงการเครื่องสำอางที่มักจะก้าวไปเร็วกว่าการร่างระเบียบและกฏหมายจะออกออะไรมาก่อนเสมอ

ย้อนกลับมาที่ทาง La Roche-Posay ที่เกริ่นไว้ก่อน คือได้เสนอว่าเขามีการทดสอบในห้องทดลองแล้วว่า ครีมกันแดดในกลุ่ม Anthelios สำหรับผิวหน้าทั้ง 3 แบบ ได้มีการทดสอบแล้วว่าสามารถช่วยปกป้องผิวจากรังสีอิฟาเรดได้

ได้ยังไง? (ปูเป้ถาม)


เขาตอบมาว่า เขาทดสอบโดยการเอากันแดดของเขาทั้งสูตรนี่แหละไปทดสอบและพบว่าการทากันแดด Anthelios ของเขาสามารถลดการแสดงออกของเอนไซม์ MMP-1 ที่ทำลายคอลลาเจนให้น้อยลงได้เมื่อเทียบกับการไม่ทากันแดด Anthelios เลย เขาย้ำว่าเอาตัวกันแดดทั้งสูตรที่วางขายนี่แหละไปทดสอบ ไม่ใช่แค่เอาสารตัวใดตัวหนึ่งที่เคลมว่าลด MMP-1 ได้มาใส่ในสูตรกันแดดแล้วเคลมใหญ่โตว่าป้องกันอินฟาเรดได้ (คือเขาเน้นย้ำตรงนี้มากเพราะว่ามันก็มีการอาศัยช่องโหว่ของกฏหมายเอาคำเคลมของสารแต่ละตัวมาโฆษณา แต่สูตรผสมสำเร็จที่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จริง ๆ ไม่ได้เอาทดสอบว่าได้ผลเป็นยังไงบ้าง ยกตัวอย่าง เคลมว่าลดเลือนจุดด่างดำได้เพราะมีวิตามินซี แต่ใส่วิตามินซีมา 0.0001% แบบน้อยจนทำหวังอะไรไม่ได้ ประมาณนี้)

กันแดดทั้งสามสูตรที่เขาทดสอบและมีผลออกมาแล้วว่าช่วยปกป้องผิวเราจากผลกระทบของรังสีอินฟาเรดได้ตอนนี้มีทั้งหมด 3 ตัวด้วยกันก็คือ La Roche-Posay : Anthelios XL Ultra-Light Fluid SPF50+ PA++++ กับ La Roche-Posay : Anthelios XL Dry Touch Gel Cream SPF50+ PA++++ และ La Roche-Posay : Anthelios XL Cream SPF50+ PA++++ ส่วนกันแดดสูตรอื่นที่เขายังไม่เคลมว่าปกป้องผิวจากรังสีอินฟาเรดได้เพราะว่าผลการทดสอบยังไม่เสร็จเลยยังไม่เคลม ซึ่งเราฟังแล้วก็โอเคนะแบบว่าแฟร์กับผู้บริโภคดี คือกันแดด Anthelios ได้รับการยอมรับในแง่ของประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสี UV อยู่แล้ว การทดสอบเพิ่มเติมทำให้เรารู้ว่าสามารถช่วยลดผลกระทบจากรังสีอินฟาเรดได้ด้วย

สำหรับกันแดด Anthelios สามในสองตัวที่เราได้ลองก็มีเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันไปซึ่งมีคำแนะนำและความเห็นสำหรับใครที่สนใจตามนี้

ส่วนตัวแล้วเราแนะนำกันแดด La Roche-Posay : Anthelios XL Ultra-Light Fluid SPF50+ PA++++ มาตลอดอยู่แล้วเพราะเราชอบมาก ขาดไม่ได้เลยถ้าต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งจริง ๆ และเนื้อผลิตภัณฑ์เรามองว่าใช้ได้กับทุกสภาพผิวนะ บางคนเอาตัวนี้มาใช้ประจำวันก็ยังพอได้ด้วยเนื้อที่เข้ากับผิวได้ง่าย นี่เป็นรุ่นที่เราชอบที่สุดและใช้บ่อยที่สุด

ส่วน La Roche-Posay : Anthelios XL Dry Touch Gel Cream SPF50+ PA++++ ตัวนี้เขาทำมาเพื่อผิวมันและเป็นสิวง่ายซึ่งใช้ได้ดีทีเดียวสำหรับการใช้ในกิจกรรมกลางแจ้งที่ปกติเราจะไม่ลงสกินแคร์เยอะหรือแต่งหน้าตาแค่ใช้กันแดดตัวนี้ลงมันจะเกลี่ยได้ง่ายและไม่เหนอะและแห้งไปกับผิวได้ไวกว่ารุ่น Fluid แต่ถ้าเกิดใช้ประจำวันตามหลังจากการใช้สกินแคร์หลายขั้นตอนหรือตามด้วยการลงรองพื้นจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่จากประสบการณ์ของเราเพราะมันเป็นขุยได้ ถ้าใช้ประจำวันเราแนะนำ Uvidea XL รุ่น Aqua Fresh Gel มากกว่าสำหรับคนผิวมันล่ะ

สำหรับปริมาณในการทากันแดดนั้นอยู่ที่ 2 ข้อนิ้ว (สำหรับเนื้อผลิตภัณฑ์ที่อยู่ตัวหน่อยอย่างเช่นเนื้อครีม) หรือปริมาณเท่าเหรียญ 10 บาท (สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เหลวเป็นน้ำ) ต่อการใช้หนึ่งครั้งถ้าอยากให้ได้การปกป้องเท่ากับที่ระบุไว้ ถ้าทาน้อยกว่านั้นค่าการปกป้องผิวก็จะน้อยลงไป (ส่วนจะน้อยลงแค่ไหนแนะนำให้อ่าน Sunscreen 101 : Summer Special – Understanding SPF in Your Sunscreen)

ก็หวังว่าข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์นะฮะ สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณ La Roche-Posay ที่ชวนปูเป้ไปเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับการปกป้องผิวจากแสงแดดที่มีอะไรมากกว่ารังสี UV ทำให้ปูเป้ได้ไปทำการบ้านมาเขียนเล่าเป็นข้อมูลและความรู้ดี ๆ ให้กับทุกคนได้อ่านกัน