แม้ว่าดวงอาทิตย์จะเป็นแหล่งหลังงานที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา แต่การเผชิญรังสี UV จากดวงอาทิตย์ที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดผลเสียกับผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคที่ชั้นบรรยากาศที่ช่วยกรองรังสีอันตรายเหล่านี้เริ่มร่อยหรอลง ซึ่งกว่า 80% ของปัญหาผิวอย่างริ้วรอย ดูแก่ก่อนวัย ความหยาบกกร้าน จุดด่างดำ สีผิวไม่สม่ำเสมอ มาจากสัมผัสกับรังสี UV และสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ

วิธีหนึ่งที่มนุษย์เราพัฒนาขึ้นเพื่อปกป้องผิวที่เราหวงแหนจากรังสี UV คือยากันแดด หรือ Sunscreen นั่นเอง แต่ในขณะที่มีการใช้ยากันแดดกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ผู้บริโภคยังคงมีความสับสนเกี่ยวความหมายของค่า SPF และประสิทธิภาพในการป้องกันผิวจากรังสี UV ของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังใช้ยากันในแดดในปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณที่แนะนำ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV ที่ลดลง ซึ่งจะลดลงแค่ไหนนั้นก็มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันและมีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปูเป้ได้รวบรวมมาทำเป็นบทความให้ในวันนี้

แต่ก่อนอื่นขอแนะนำคำศัพท์ที่ควรรู้เอาไว้อย่างคร่าว ๆ นะฮับ

Fitzpatrick Skin Type : การจำแนกสีผิวเป็น 6 ประเภทตามการตอบสนองต่อแสงแดด ผิวขาวมากคือ Type I ไล่ไปจนถึงผิวเข้มมากเป็น Type VI

Erythema: อาการแดงของผิว

MED (Minimal Erythema Dose) : ปริมาณของรังสี UV ต่ำสุดที่ทำให้เกิดอาการแดงของผิว

Exponential : ในเชิงสถิติหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเป็นเส้นโค้ง

Linear : ในเชิงสถิติหมายการเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะเป็นเส้นแนวตรง

 

ค่า SPF คืออะไร?



SPF ย่อมาจาก Sun Protection Factor ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB ในระดับไหน

รังสี UVB ทำให้เกิดอาการ Burn หรือไหม้ และผิวแดง (Erythema) ซึ่งผิวแต่ละประเภทก็มีระยะเวลาไม่เท่ากันหลังจากตากแดดแล้วจะมีอาการแดงเกิดขึ้น ผิวที่ขาวมาก มีเมลานินน้อย (Fitzpatrick Skin Type I – II)ก็อาจจะมีอาการไหม้แดงหลังจากสัมผัสรังสี UV ในเวลาเพียง 10 – 15 แต่ในรายที่มีผิวสีเบจถึงผิวสีน้ำผึ้ง (Fitzpatrick Skin Type III – V) มีปริมาณเม็ดสีเมลานินที่คอยดูดซับรังสี UV มากกว่าก็จะใช้เวลานานขึ้น อาจจะ 20 – 30 นาทีก่อนจะเริ่มมีอาการไหม้แดง ส่วนผิวที่เข้มมากจนอย่างคนแอฟริกัน (Fitzpatrick Skin Type VI) อาจจะไม่เกิดอาการไหม้ใด ๆ เลย


ลองดูว่าคุณมี Skin Type แบบใดตามมาตรฐานของ Fitzpatrick คลิกที่นี่.

ตามทฤษฏีแล้ว ค่า SPF15 จะช่วยให้ผิวทนต่อรังสี UVB ได้นานกว่าปกติ 15 เท่า ก่อนที่จะเกิดอาการ Burn ซึ่งถ้าคิดง่าย ๆ สมมุติว่าผิวเราเริ่มมีอาการแดงหลังจากตากแดดไป 20 นาทีก็แปลว่า SPF 15 จะช่วยให้ผิวเราทนต่ออาการไหม้แดงได้นานถึง 300 นาที หรือ 5 ชั่วโมง

แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้นไม่เหมือนกับทฤษฏี เราไม่มีทางที่จะระบุระยะเวลาที่แนอนได้ว่ากันแดด SPF 15 จะกันแดดได้ 5 ชั่วโมง ด้วยตัวแปรหลายประการ

ประการแรกคือค่าความเข้มข้นของรังสี UV นั้นผันแปรไปตามตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิประเทศตามแนวละติจูด และความสูงของพื้นดินเมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเลก็มีผลด้วยเช่นกัน ยิ่งสูงจากระดับน้ำทะเลมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีความเข้มข้นของรังสี UV มากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ความเข้มข้นของรังสี UVB นั้นมีมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา จะเข้มข้นสูงสุดในช่วงเที่ยงและบ่าย และเข้มข้นน้อยในช่วงเช้าและตกเย็น ไม่นับเรื่องสภาพอากาศ เช่นเมฆมากฟ้าครึ้มก็จะทำให้มีรังสี UVB น้อยลง

จะเห็นได้ว่าปริมาณรังสีที่เราได้รับนั้นแปรผันไปตามตัวแปรที่ยกตัวอย่างมา ผิวเราจะไหม้แดดได้ง่ายกว่าเมื่ออยู่ในพื้นที่สูงหรือออกไปตากแดดในช่วงเที่ยงวันหรืออยู่ในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร รวมไปถึงสีผิวของเราก็ทำให้เราทนต่อรังสี UV ได้ไม่เท่ากัน คนผิวเข้มจะไหม้แดดยากกว่าคนผิวสีอ่อน ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อระยะเวลาที่กันแดดสามารถปกป้องผิวของเราได้


ดังนั้นในทางวิทยาศาสตร์แล้วเราจะไม่ใช้ระยะเวลาเป็นหน่วยในการวัด แต่จะใช้ MED (Minimal Erythema Dose) ซึ่งเป็นการวัดปริมาณของรังสีต่ำสุดที่ทำให้เกิดอาการแดงของผิว และใช้เครื่องฉายรังสี UV เพื่อควบคุมตัวแปรเรื่องความไม่แน่นอนของปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์

(Source : sunscreen’s labeled sun protection factor may overestimate protection at temperate latitudes: a human in vivo study.)

 

ค่า SPF บนผลิตภัณฑ์ได้มาอย่างไร?

ค่า SPF ถูกวัดขึ้นด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก โดยทดสอบกับคนที่มีผิว Type I, II หรือ III นำมาทาผลิตภัณฑ์กันแดดที่จะทำการทดสอบในปริมาณ 2 มิลลิกรัม ต่อ 1 ตารางเซนติเมตร (2 mg/cm2) ลงบนบริเวณพื้นที่ ๆ มีความเรียบตรงช่วงส่วนกลางของหลังไปจนถึงแนวบั้นเอว ซึ่งต้องไม่มีความผิดปกติของสีผิว และต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นร่องกลางหลังหรือส่วนนูนจากแนวสันกระดูกอันจะมีผลต่อความคลาดเคลื่อนในการวัดผล

การทาผลิตภัณฑ์จะทาโดยใช้น้ำหนักเบาด้วยนิ้วที่สวมถุงมือเอาไว้ ระยะเวลาในการเกลี่ยผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 20 วินาที และจะถูกทิ้งเอไว้ให้แห้งเป็นระยะเวลา 15 – 30 นาทีก่อนที่จุดที่ทำการทดสอบจะถูกฉายรังสี UV ด้วย Solar Simulator ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยกรองคลื่นไว้ในช่วง 290 – 400 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงของรังสี UVB-UVA

ค่า SPF จะถูกวัดโดยเทียบหาค่ากลางที่ได้จากผลทดสอบ 10 – 20 ราย โดยค่าที่ได้จากมาจากระยะเวลา (หน่วยวินาที) ที่เกิด MED บนจุดที่ได้รับการปกป้องจากยากันแดด(MEDp) มาหารด้วย MED ที่ไม่ได้รับการปกป้องใด ๆ เลย (MEDu)

นี่เป็นขั้นตอนคร่าว ๆ ของการทดสอบค่า SPF ซึ่งต้องใช้เครื่องมือเฉพาะตามมารฐานที่กำหนดไว้และผู้ตรวจสอบที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี

แต่สรุปง่าย ๆ ว่า หากเราต้องทาได้ค่า SPF ตามที่ระบุเอาไว้บนฉลาก เราจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ในปริมาณ 2มิลลกรั่ม ต่อ 1 ตารางเซนติเมตร หรือปรมาณ 1.5 มิลิลิตร ในการทาใบหน้าในแต่ละครั้ง (คิดจากค่าเฉลี่ยขอพื้นที่ใบหน้า ใครหน้าใหญ่ก็ทาเยอะขึ้นนะจ๊ะ) ซึ่งปริมาณก็เท่ากับมากกว่า 1/4 ช้อนชาอยู่นิดหน่อย (1/4 ช้อนชา = 1.25 มิลิลลิตร)

การทาในปริมาณที่น้อยกว่านั้นจะทำให้ได้ค่า SPF ที่น้อยลง ส่วนจะน้อยลงขนาดไหนนั้นก็มีข้อมูลที่แย้งกันเอง ซึ่งจะอธิบายในส่วนต่อไป (แต่มันน้อยลงแน่ๆ ล่ะ) นอกจากนี้ระบบการทดสอบค่า SPF ยังมีข้อบกพร่องที่ปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้นซึ่งจะอธิบายต่อไปในบทความนี้

(Source : INTERNATIONAL SUN PROTECTION FACTOR (SPF) TEST METHOD )

 

โดยทั่วไปแล้วเราทากันแดดกันในปริมาณที่มากพอหรือไม่?




จากการศึกษาที่ผ่านมาทั้งหมดพูดไปในทางเดียวกันว่าผู้บริโภคใช้กันแดดในปริมาณที่น้อยกว่าที่กำหนดมากทีเดียว โดยปริมาณที่เราใชกันในแต่ละวันเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 0.5 mg/cm2 – 1.0 mg/cm2 เท่านั้น ซึ่งเท่ากับปริมาณเพียง 1/4 ถึง 1/2 ของปริมาณที่แนะนำ

(Source : Sunscreens used at the beach do not protect against erythema: a new definition of SPF is proposed.
, Sunscreen application by photosensitive patients is inadequate for protection., Application of sunscreen–theory and reality.)

 

ความสัมพันธ์ของปริมาณกันแดดที่ทา กับค่า SPF ที่ได้

การทากันแดดในปริมาณที่น้อยกว่าที่แนะนำนั้นจะส่งผลให้ค่า SPF ที่ได้จริงๆ นั้นลดลง ซึ่งจะลดเท่าไหร่นั้นในทางทฤษฏีแล้วค่า SPF น่าจะสัมพันธ์กับปริมาณที่ทาในแนวระนาบ (Linear) แต่ในทางปฏิบัตินั้นพบว่ามีข้อมูลบ่งชี้ถึง 3 แบบ ซึ่งได้แก่

Exponential กล่าวคือ ค่า SPF มีความสัมพันธ์กับปริมาณที่ทาในแนวโค้ง (ทากันแดด SPF 50 ปริมาณ 2mg / 1cm2 ได้ SPF 50 แต่เมื่อทาเหลือครึ่งหนึ่ง หรือ 1mg / 1cm2 อาจจะได้ค่า SPF แค่ 10 หรือ 15 เป็นต้น)

Linear กล่าวคือ ค่า SPF มีความสัมพันธ์กับปริมาณที่ทาในแนวราบ (ทากันแดด SPF 50 ปริมาณ 2mg / 1cm2 ได้ SPF 50 แต่เมื่อทาเหลือครึ่งหนึ่ง หรือ 1mg / 1cm2 อาจจะได้ค่า SPF ประมาณ 30)

Both Linear & Exponential กล่าวคือ ค่า SPF ที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณที่ทาได้ทั้งในแนวราบและเส้นโคง ขึ้นอยู่กับระดับของค่า SPF ของผลิตภัณฑ์

1. Exponential

ผลการศึกษาค่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของปริมาณกันแดดที่ทากับค่า SPF ที่ได้นั้นส่วนใหญ่จะได้ผลออกมาแบบนี้ ยกตัวอย่างการศึกษาในรุ่นใหม่ ๆที่พึ่งตีพิมพ์มาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่

การศึกษากันแดด SPF4 กับอาสาสมัครตำนวน 20 คน ตีพิมพ์ในปี 2006 จากประเทศเดนมาร์ค ได้ผลเป็นกราฟ Exponential แบบโค้งขึ้น

(Source : 

Relationship between sun-protection factor and application thickness in high-performance sunscreen: double application of sunscreen is recommended.)

การศึกษากันแดด SPF15 และ SPF30 กับอาสาสมัคร 40 คน จากประเทศบราซิลที่ตีพิมพ์ในปี 2009 นั้นได้ผลแบบ Exponential แบบโค้งขึ้น

(Source : The influence of the amount of sunscreen applied and its sun protection factor (SPF): evaluation of two sunscreens including the same ingredients at different concentrations.)

การศึกษากันแดดสองชนิด SPF 30 และ 35 ด้วยสมัครจำนวน 15 คน ในประเทสเกาหลี ตีพิมพ์ในปี 2009 ก็ให้ผลแบบ Exponential แบบโค้งขึ้นเช่นกัน

(Source : The relation between the amount of sunscreen applied and the sun protection factor in Asian skin.)

แต่มีการศึกษาหนึ่งที่ให้ผลออกแบบกราฟทรงโค้ง ทว่าเป็นกราบแบบ Logarithm การศึกษาครีมกันแดด SPF50 กับอาสาสมัครชาวญี่ปุ่น 23 คน ให้ผล ให้ผลแบบ Logarithm การทดสอบนี้น่าสนใจเพราะเทรนด์ของดราฟเริ่มขัดแย้งกับข้อมูลที่เคยมีมาก่อนแบบตรงกันข้าม

แต่จุดด้อยของการศึกษานี้คือมีการวัดค่าที่ปริมาณในการทาเพียง 3 ระดับ (0.5 / 1.0 และ 2.0 มิลลิกรัม ต่อตารางเซนติเมตร) ซึ่งต่างกับการศึกษาที่ยกมาก่อนหน้าที่ทดสอบกันที่ 4 ระดับ (0.5 / 1.0 / 1.5 และ 2.0 มิลลิกรัม ต่อตารางเซนติเมตร) และการศึกษานี้สนับสนุนโดยบริษัท KOSÉ

(Source : Relationship between sun-protection factor and application thickness in high-performance sunscreen: double application of sunscreen is recommended.)

2. Linear

มีผลการศึกษา 2 อันที่ให้ผลออกมาในลักษณะนี้

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2007 จัดขึ้นโดย DGK ซึ่งเป็นสมาคมของนักวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาและพัฒนาด้านเครื่องสำอางของเยอรมัน ได้มีการทดสอบครีมกันแดดที่มีขายในท้องตลาด 3 ชนิด จาก 2 แบรนด์ ค่า SPF 20 กับ 20 และ 25 มาทดสอบด้วยห้องแลป 3 แห่ง โดยในแต่การทดสอบจะมีอาสาสมัครไม่ต่ำกว่า 10 คน ผลที่ได้มีแนวโน้มของกราฟแบบ Linear

จุดแข็งของการศึกษานี้คือมีการทดสอบจากห้องแลปถึง 3 ที่ แต่การที่มีกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางให้การสนับสนุนด้วยก็มีผลต่อการลดความน่าเชื่อถือไปบ้าง

(Source : Influence of applied quantity of sunscreen products on the sun protection factor–a multicenter study organized by the DGK Task Force Sun Protection.)


การศึกษาที่ตีพิมพ์ไนปี 2012 ซึ่งทดสอบกันแดดในท้องตลาดถึง 6 ชนิด ค่า SPF 30 – 100 โดยกลุ่มทดสอบที่มากถึง 237 คน ให้ผลของกราฟแบบ Linear จากข้อมูลที่หามาได้นั้น นี่เป็นการศึกษาที่มีจำนวนผู้ทดสอบเยอะที่สุด แต่การที่บริษัท Johnson & Johnson เป็นผู้สนับสนุนการศึกษานี้ และกันแดดที่นำมาทดสอบก็ล้วนมาจากแบรนด์ Neutrogena และ Coppertone ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือ Johnson & Johnson ก็ลดความน่าเชื่อถือของการศึกษานี้ลงไปหน่อย

(Source : High-SPF sunscreens (SPF ≥ 70) may provide ultraviolet protection above minimal recommended levels by adequately compensating for lower sunscreen user application amounts.)

3. Linear & Exponential

การศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศจีน ตีพิมพ์ในปี 2012 ทำการทดสอบครีมกันแดด 4 ตัว โดยค่า SPF 4 เป็นสูตรกันแดดมาตรฐานในการทดสอบของ US FDA กันแดด SPF 15 เป็นสูตรมาตรฐานในการทดสอบของที่กำหนดโดย EU ส่วน SPF 30 และ SPF 55 ที่นำมาทดสอบนั้นเป็นครีมกันแดดที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จำนวนผู้ทดสอบทั้งหมด 40 คน

ผลที่ออกมาคือค่า SPF ที่สูงนั้น ผลที่ได้จะมีแนวโน้มเป็นแบบ Exponential แต่ค่า SPF ต่ำนั้นมีแนวโน้มจะเป็นแบบ Linear ล่ะคุณ!!!

(Source : Sunburn protection as a function of sunscreen application thickness differs between high and low SPFs.)



นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจที่พบว่าเมื่อนำครีมกันแดดที่วางขายในท้องตลาดมาทดสอบค่า SPF ในห้องแลปแล้ว ค่า SPF ที่ได้จริง ๆ ก็ต่ำกว่าที่ระบุไว้บนฉลากอีกต่างหาก

โอ้ววว นี่มันแย่มากเลยนะจอร์จ!!! (โอ้ววววว ฟังแล้วก็จะเป็นลมเหมือนกันนะซาร่าห์~~~)

แต่มันมีเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมผลที่ออกมามันถึงได้ขัดแย้งกันเองขนาดนี้…

(Source : Determination of Sun Protection Factor by UV-Vis Spectrophotometry)

 

ปัจจัยที่มีผลต่อความผันผวนของค่า SPF ที่ทดสอบหรือวัดได้


การที่ผลการศึกษาหลายอันให้ผลที่ขัดแย้งกันเอง หรือแม้แต่การนำผลิตภัณฑ์มาทดสอบค่า SPF ได้ผลทั้งมากกว่าที่ระบุ และน้อยกว่าที่ระบุบ้างมันมาจากตัวแปรยิบย่อยมหาศาลจนชนิดที่ว่า ในวงการเครื่องสำอางนั้นถึงกับมีการพยายามผลักดันให้การทดสอบ SPF เป็นแบบ In-Vitro บนเครื่องมือทดสอบ แทนที่จะเป็นแบบ In-Vivo บนผิวหนังมนุษย์ซึ่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันนี้กันเลยนะ

ตัวอย่างตัวแปรที่มีผลต่อค่า SPF ที่วัดได้ ได้แก่

– ปริมาณในการทานั้นส่งผลต่อความหนาของชั้นกันแดดที่ทาลงไป และเนื่องจากผิวหนังของเรานั้นมีร่องหลุมไม่ใช่พื้นที่เรียบ ดังนั้นส่วนที่เป็นร่องจะมีความหนาของชั้นกันแดดมากกว่าและส่วนที่นูนจะมีชั้นของกันแดดที่บางกว่าซึ่งทำให้แสง UV แทรกผ่านได้มากกว่า

– อุณหภูมิของพื้นผิว แรงที่ใช้ในการทา วิธีที่ใช้ในการทา ล้วนมีผลต่อการเกิดฟิลม์ของชั้นกันแดด จากการศึกษาเราพบว่าคนส่วนใหญ่ทากันแดไม่สม่ำเสมอเอาเสียเลย และส่วนของใบหน้าที่ถูกละเลยในการทาครีมกันแดดมากที่สุดคือบริเวณขมับและใบหู

(Source : Sunscreen application by photosensitive patients is inadequate for protection.)

– นอกจากนี้เชื้อชาติยังมีผลต่อค่า ​SPF ที่ทดสอบได้อีกด้วย (ปัญหานี้จะคุ้นเคยกันดีเมื่อแลปในเอเชียทดสอบผลิตภัณฑ์กันแดดที่นำเข้าจากยุโรป) นั่นก็เพราะว่า การจำแนกแบบ Fitzpatrick–Pathak skin typing system อาจนำมาใช้กับคนเอเชียไมไ่ด้ทั้งหมด การทดสอบของคนญี่ปุ่นพบว่า ประเภทผิวที่ MED น้อย (คือผิวไหม้ง่ายมาก) มาทดสอบได้ค่า SPF ที่สูงกว่าคนที่มี MED สูง (ผิวไหม้ยากกว่า)

(Source : The relationship of sun protection factor to minimal erythema dose, Japanese skin type, and skin color.)

– UVA นั้นมีผลต่อการเกิดการแดงของผิวเมื่อสัมผัสกับแสงแดดด้วย การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ถึงแม้การวัดค่า SPF นั้นจะวัดค่าการปกป้องผิวจากรังสี UVB แต่สูตรของกันแดดที่มีความสามารถในการปกป้องผิวได้ครบทั้งรังสี UVB และ UVA (Board Spectrum) นั้นจะจะทำให้เกิด MED น้อยกว่ากันแดดที่มีแต่สารกรองรังสี UVB แต่เพียงอย่างเดียวเมื่อได้รับปริมาณรังสีที่เท่ากัน

(Source : sunscreen’s labeled sun protection factor may overestimate protection at temperate latitudes: a human in vivo study.)

– ความเสถียรของสารกันแดด อุณหภูมิที่ทำการทดสอบ มาตรฐานของอุปกรณ์ เช่น Solar Simulator นั้นมีผลอย่างมากต่อผลที่ได้ออกมา

(Source : The long way towards the ideal sunscreen–where we stand and what still needs to be done.)

 

ครีมกันแดดที่บอกว่า
ปกป้องผิวยาวนาน 8 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง ทำได้จริงรึ?

ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีใครสามารถระบุระยะเวลาที่แน่นอนได้ว่ากันแดดที่เราทาลงไปบนผิวมันจะกันแดดได้นานเท่าไหร่ เนื่องจากตัวแปรหลายอย่าง เช่น

– กันแดดสามารถเลื่อนหลุดหรือละลายเมื่อโดนกับน้ำ เหงื่อ น้ำมันที่ขับออกมาทางรูขุมขน การซับ เช็ด ขัด ถู เสียดสี ปัจจัยเหล่านี้ลดประสิทธิภาพในการปกป้องผิวลง

– สีผิวหรือปริมาณเมลานินในผิวเราไม่เท่ากัน จึงทำให้การไหม้แดดของเราใช้เวลาไม่เท่ากัน

– ผลิตภัณฑ์ที่เคลมว่าปกป้องยาวนาน 8ชั่วโมง 12 ชั่วโมง อาจจะเคลมโดยใช้ผลทดสอบความเสถียรของสารกันแดดว่าคงอยู่ได้นานเท่าไหร่บนเครื่องมือทดสอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าในการใช้งานจริงกันแดดจะปกป้องผิวเราได้นานขนาดนั้น เพราะถ้ากันแดดมันละลาย เลื่อน หลุด ก็จะด้อยประสิทธิภาพลง ต้องทาซ้ำอยู่ดี โดยหากทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีเหงื่อ หรือโดนน้ำ เราต้องทากันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

นอกจากนี้การศึกษาพบว่าการทากันแดดอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอหากคุณไม่ต้องการเป็นมะเร็งผิวหนัง การหลบเลี่ยงแดด กางร่ม และหาร่มเงาเท่าที่จะทำได้ การงดออกกลางแจ้งในช่วงที่มีรังสี UVB เข้มข้น (ช่วงเที่ยงวัน)

(Source : Sunscreen is not enough to prevent deadly skin cancer)

 

กันแดดที่บอกว่าปกป้องผิวได้ทันทีไม่ต้องรอ 20 นาที นี่ทำได้จริงหรือ?



ตามหลักสากลโลกนั้น การทากันแดดควรรอ 20 นาทีก่อนไปสัมผัสแดด

เหตุผลเพราะว่าเมื่อเราทากันแดดลงไปบนผิวนั้น ต้องใช้ระยะเวลาให้ฟิลม์ของกันแดดแห้งเซ็ทตัวดีก่อนที่จะมีประสิทธิภาพในการกันแดดได้ดีที่สุด (ย้ำว่ากันแดดที่เซ็ทตัวบนพื้นผิว ไม่ได้ต้องซึมลงไปในผิว)

กันแดดที่เคลมว่าปกป้องผิวได้ทันทีที่ทานั้น อาจจะใช้ส่วนผสมของสารกันแดดแบบ Inorganic หรือ Physical Sunscreen ที่เราคุ้นเคยอย่าง Titanium Dioxide และ Zinc Oxide ซึ่งทำหน้าที่ที่ในการสะท้อนและกระเจิงแสง (การศึกษาใหม่ ๆ พบว่ามันทำหน้าที่ดูดซับด้วย) ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ทำได้ทันทีก็จริง แต่การเซ็ทตัวของฟิลม์กันแดดที่สมบูรณ์จะทำให้การเรียงตัวของอนนุภาคเหล่านี้แน่นขึ้นและปกป้องผิวได้ดีกว่าการทาลงไปใหม่ๆ อยู่ดี

ดังนั้นเพื่อความชัวร์ จงรอ 20 นาทีก่อนไปออกแดด

 

เราต้องทากันแดดในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะ?

การทาครีมกันแดดเพื่อให้ได้การปกป้องเท่ากับค่า SPF ที่ระบุบนฉลาด ต้องใช้กันแดดในปริมาณที่แนะนำ 2 mg/cm2
 ซึ่งโดยประมาณก็เท่ากับการใช้กันแดดในปริมาณ ปริมาณ 2 ข้อนิ้ว สำหรับกันแดดเนื้อครีมหรือเนื้อที่ค่อนข้างอยู่ตัวหน่อย สำหรับกันแดดที่เหลวเป็นน้ำให้ทาด้วยปริมาณเท่าเหรีญ 5 บาท 2 เหรียญ นำมาทาทั่วใบหน้าและลำคอ

แต่การทากันแดดในปริมาณที่เยอะขนาดนั้นในรอบเดียวเป็นเรื่องที่ยากและให้สัมผัสที่ไม่ดีนัก จึงมีการศึกษาและแนะนำให้แบ่งกันแดดเป็นสองส่วนโดยทาส่วนแรกและรอให้เซ็ทตัวเล็กน้อยก่อนที่จะทาส่วนที่สองซ้ำอีกรอบ จะเป็นการทำให้เราได้ปริมาณของกันแดดที่ใกล้เคียงกับปริมาณที่แนะนำที่สุดจากการศึกษา

ซึ่งนี่เป็นวิธีที่ปูเป้ใช้ประจำในชีวิตประจำวัน โดยทากันแดดส่วนแรกทั่วใบหน้า และส่วนที่สองนั้นจะทาเน้นตรงจุดที่เป็นไฮไลท์ของผิวอย่างหน้าผาก โหนกแก้ม จมูก คาง ซึ่งเป็นจุดที่รับแสงมากและมักจะเกิดปัญหาจุดด่างดำและไหม้แดดได้ง่ายกว่าจุดอื่น ๆ หากใครที่ทากันแดดในปริมาณที่น้อยกว่านี้ ค่ากันแดดที่ได้จะเหลือเท่าไหร่นั้น ปัจจุบันยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งผู้อ่านทุกคนต้องนำข้อมูลไปตัดสินกันเอาเองว่าจะเชื่อแบบไหน

(Source : Relationship between sun-protection factor and application thickness in high-performance sunscreen: double application of sunscreen is recommended.)

 

บทสรุป

เป็นที่แน่ชัดว่าคนทั่วไปทากันแดดในปริมาณที่น้อยกว่าที่แนะนำ 2 – 4 เท่า เนื่องจากความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อการใช้กันแดดนั้นยังไม่ดีพอ แต่ปัจจุบันเรามีความเข้าใจเรื่องของการใช้กันแดดที่ดีขึ้น เข้าใจถึงความสำคัญของปริมาณที่มีผลต่อค่า SPF ที่ได้จริง (อย่างน้อยอ่านมาหมดนี่ก็ต้องรู้แล้วป่ะ?)

ในอดีตนั้นกันแดดมีเนื้อที่หนัก เหนียว ทำให้ผิวมัน หรือไม่ก็ทำให้ผิวขาวลอย ทำให้การทากันแดดในปริมาณที่แนะนำนั้นอาจจะทำไม่ได้ในชีวิตจริง แต่เทคโนโลยีของเครื่องสำอางและสารกันแดดในปัจจุบันนั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์กันแดดก้าวข้ามขีดจำกัดเหล่านี้ไปได้ กันแดดยุคใหม่นั้นสามารถมอบเนื้อสัมผัสที่ทางเบา ไม่เหนอะหนะ ติดผิวได้ทนนาน ไม่ทำให้ผิวขาวลอย ทำให้การทากันแดดในปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ได้ยากเย็นหรือเป็นเพียงเรื่องในอุดมคติอีกต่อไป ปัจจัยที่เหลือคงเป็นเรื่องของราคา ซึ่งก็น่าดีใจที่เดี๋ยวนี้ก็มีกันแดดคุณภาพดี เนื้อสัมผัสเลิศในราคาที่ไม่สูงจนเกินไปมาให้เลือกใช้กันมากขึ้น

ก็หวังว่าบทความนี้จะทำให้เราเข้าใจเรื่องของ SPF และเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องทากันแดดในปริมาณที่เยอะพออีกด้วยนะจ๊ะ ขอให้ทุกคนสนุกท่ามกลางแสนอาทิตย์อย่างปลอดภัย กลับมาตัวไม่ไหม้ ยังสวยฉ่ำหล่อเฟี้ยวเหมือนเดิมทุกคน

*** Disclaimer : This article is for education / information purpose ***