“มลภาวะ” หรือ “มลพิษ” เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่จำความได้ ไม่มีใครคิดว่ามลภาวะเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพและในวงการเครื่องสำอางเราจะได้ยินคำโปรยสรรคุณของผลิตภัณฑ์ว่าช่วยต่อต้านมลภาวะและผลเสียที่เกิดจากภัยที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เหล่านี้ แต่เราเคยตั้งคำถามกันในใจบ้างไหมว่าเจ้ามลภาวะนี่คืออะไร มีอะไรบ้าง และมันก่อผลเสียกับเราได้อย่างไร? ที่สำคัญที่สุด เครื่องสำอางจะเข้ามาช่วยปกป้องเราจากสิ่งนี้ได้อย่างไร? ถ้าอยากรู้ก็ต้องตั้งใจอ่านกันให้จบแล้วคุณจะพบความจริงบางอย่างที่คุณอาจจะเข้าใจผิดมาตลอดก็เป็นได้

 

คำว่า Pollution หรือ “มลภาวะ” หรือ “มลพิษ” นั้นหมายถึงความสกปรก มัวหมอง และเป็นอันตราย ซึ่งถูกใช้อยู่ในหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางอากาศก็คือสิ่งสกปรกปนเปื้อนที่ล่องลอยในอากาศ  มลพิษทางน้ำคือการปนเปื้อนสกปรกของน้ำ มลพิษทางเสียงก็คือเสียงที่ดังเกินไปจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอะไรแบบนี้เป็นต้น คำว่า Pollution ในวงการเครื่องสำอางมักจะหมายถึง Air Pollution หรือ มลภาวะทางอากาศเพราะนี่เป็นปัจจัยหลักในสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบในแง่ลบกับผิวของเรามากที่สุดอย่างหนึ่ง

มลภาวะทางอากาศที่เรารับรู้กันในรูปแบบของเขม่าควันเสียจากรถยนต์ ควันเสียจากโรงงาน ควันบุหรี่ ซึ่งถ้ามองลึกลงไปในนั้นจะพบว่ามันมีประเภทของสารมลภาวะที่แยกย่อยไปได้อีกหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่นการเผาไหม้จากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง สิ่งที่ปล่อยออกมาในรูปของควันขาวควันดำนั้นก็จะมีทั้งก๊าซที่เป็นมลพิษซึ่งตรงเราจะมองไม่เห็น ส่วนที่เรามองเห็นก็จะเป็นในส่วนของอานุภาคขนาดเล็ก (PM) ที่มีสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอนเกาะติดอยู่ซึ่งก็ล้วนเป็นสารที่ก่อผลเสียกับเราทั้งนั้น จริง ๆ แล้วรังสี UV ก็จัดเป็นมลพิษทางอากาศด้วยเหมือนกันตามข้อมูลที่หามา แต่ว่าเราจะไม่ถูกถึงในบทความนี้เพราะว่าเราได้ทำบทความเกี่ยวกับรังสี UV และการปกป้องและลดผลกระทบจากมันไปเยอะแล้ว วันนี้เราจะเน้นมลพิษทางอากาศรูปแบบอื่น ๆ กัน

Car pollution

Polycyclic Aromatic Hydrocarbons หรือ PAHs ถูกยกขึ้นมาเป็นตัวแรกเพราะนี่คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรามากที่สุด สารกลุ่มนี้ที่เจอกันเยอะมากก็คือ benzo[a]pyrene ซึ่งมันมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาไม้ เผาป่า เผาฟืนทำกับข้าว แม้แต่การสูบบุหรี่ก็ปล่อยสารเหล่านี้ออกมา สาร PAHs อย่าง benzo[a]pyrene เมื่อเจอเข้ากับรังสี UVA จะก่ออนุมูลอิสระ (ROS) ซึ่งทำลายเซลล์และทำให้เกิดความเสียหายกับผิวในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของริ้วรอยและการกระตุ้นการสร้างเม็ดสีที่ผิดปกติมากขึ้น

สาร PAHs อยู่ได้ในหลายสถานะแต่รูปแบบที่เรามักพบมากที่สุดและคงอยู่ยืนนานในสภาพแวดล้อมนานที่สุดคือสถานะของแข็งซึ่งก็มักจะไปยึดเกาะกับอานุภาคขนาดเล็กที่ล่องลอยในอากาศได้ (PM)

(Source : Synergistic damage by UVA radiation and pollutants.Urban air pollution by polycyclic aromatic hydrocarbons: levels and sources of variability.Airborne particle exposure and extrinsic skin aging.)

Particulate Matter

Particulate Matter หรือ PM เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันบ่อยมากขึ้นทั้งในหน้าข่าวและในโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Particulate Matter คืออานุภาคขนาดต่าง ๆ ที่แขวนล่องลอยในอากาศอาจเป็นโลหะ ฝุ่นผง เขม่า บ้างก็ใหญ่พอที่จะเห็นด้วยตาเปล่าและบ้างก็มีขนาดเล็กมากจนต้องใช้แว่นขยาย ตัวเลขที่ตามหลัง Particulate Matter ก็คือขนาดของอานุภาคที่มีหน่วยเป็นไมครอน (1 ใน 1000 ของมิลลิเมตร) ซึ่ง PM 2.5 ก็คืออานุภาคที่มีขนาดเล็กเพียง 2.5 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่าขนาดโดยเฉลี่ยของเส้นผมที่กว้างประมาณ 50-80 ไมครอน อยู่ 20 – 30 เท่าเลยทีเดียว ขนาดของ Particulate Matter ที่เล็กกว่า 10 ไมครอนจะถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะระบบป้องกันในโพรงจมูกของเราไม่สาารถดักจับเอาไว้ได้จึงเป็นเหตุผลว่าการวัดค่ามลภาวะทางอากาศจะใช้ PM10 และ PM 2.5 เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ

อย่างที่บอกไปว่า Particulate Matter มักไม่ได้มาเดี่ยวๆ แต่มักมีของแถมเป็นพวกสารไฮโดรคาร์บอนติดมาด้วย และด้วยขนาดที่เล็กมากมันจึงสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในโพรงรูขุมขนของเราได้อย่างง่ายได้ การสัมผัสสะสมกับสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ การอักเสบของเซลล์ ทำให้เกิดการริ้วรอยและความเสื่อมชราก่อนวัย

Particulate Matter มักถูกนำมาเป็นตัวสำคัญในการสื่อสารเพราะลักษณะของการเป็นอานุภาคที่ยังสามารถมองเห็นได้ ทำให้ง่ายต่อการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในการลดการยึดเกาะหรือช่วยชำละล้างอานุภาคเหล่านี้ออกจากผิวได้

(Source : Atmospheric aerosols: composition, transformation, climate and health effects.Penetration of microparticles into human skinInteraction of matrix metalloproteinases with pulmonary pollutants.Airborne particle exposure and extrinsic skin aging.)

Atopic Dermatitis

Oxides อย่าง Nitrix Oxide และ Nitrogen Dioxide เป็นก๊าซเสียที่ส่วนใหญ่มักมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ซึ่งทำให้เกิดอนุมูลอิสระ และก่อให้เกิด Lipid Peroxidation ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่แข็งแรงของผิวชั้นนอกจนส่งผลให้เกิดปัญหาผิวอื่น ๆ ตามมา

มีการศึกษาที่พยายามเชื่อมโยงว่าอาการผิวแพ้ Atopic Dermatitis ที่เพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยชาวยุโรปนั้นส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่มีมลภาวะจาก Sulfur Dioxide กับ Nitrix Oxide และ Nitrogen Dioxide โดยมลภาวะเหล่านี้ทำตัวเสมือนกับตัวที่ก่อการระคายเคืองผิว การศึกษาในไต้หวันยังโยงมลพิษจากควันรถบนท้องถนนกับการเกิดผิวหนังอักเสบในเด็กอีกด้วย โดยรวมแล้วมันมีความเชื่อมโยงกับการทดสอบจากญี่ปุ่นที่พบว่าเมื่อนำเซลล์ผิวไปผ่านเข้ากับไอเสียที่ขับจากเครื่องยนต์ดีเซลล์นั้นจะมีการหลังของสาร Cytokines ซึ่งไปเป็นกระตุ้นการเกิดการอักเสบต่อไปได้

(Source : Influence of airborne nitrogen dioxide or formaldehyde on parameters of skin function and cellular activation in patients with atopic eczema and control subjects.Environmental and other major provocation factors in atopic dermatitis.Traffic-related air pollution, climate, and prevalence of eczema in Taiwanese school children.Effect of environmental pollutants on the production of pro-inflammatory cytokines by normal human dermal keratinocytes.)

aerosol

Volatile Organic Compounds (VOCs) เป็นชื่อที่เราไม่คุ้นหูแต่เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ก๊าซระเหยเหล่านี้มาในรูปแบบของก๊าซที่ใช้ในกระป๋องสเปรย์อย่าง Propane และ Butane ในน้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บที่มีส่วนผสมของ Acetone  หรือสีทาบ้านและทินเนอร์ที่ใช้ Methylene Chloridein อะไรทำนองนี้ สีรถใหม่ หรือกลิ่นน้ำมันที่ปั้มน้ำมัน รวมไปถึงควันบุหรี่ก็มีสารประกอบของ VOCs ปะปนอยู่ในปริมาณสูง สาร VOCs เมื่อเจอกับ Nitrix Oxide หรือ Nitrogen Dioxide และแสงแดดจะทำให้เกิดก๊าซ โอโซนซึ่งเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตและผิวพรรณ ซึ่งจะอธิบายต่อไปด้านล่าง

ปัจจุบันเริ่มมีการลดการใช้ VOCs ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันลงแต่ราคาต้นทุนมันก็จะแพงขึ้น หรือถ้าเราจะใช้ก็ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเหล่านี้ในที่เปิดและระบายอากาศสะดวก แต่บางอาชีพอย่างช่างทำเล็บและช่างทำผมในห้องแอร์ที่ปิดแต่มีการใช้ยาทาเล็บ สเปร์กระป๋อง รวมไปถึงน้ำยาเคมีต่าง ๆ นั้นดูจะมีปัญหากับผลจาก VOCs มากหน่อย

จะว่าไปแล้ว Volatile Organic Compounds เป็นคำที่กว้าง ๆ ของสารออร์แกนิคที่ระเหยได้ง่ายเท่านั้นเอง ไม่ได้แปลว่า VOCs จะเลวร้ายหรือรุนแรงเท่ากันไปเสียหมด เพราะเอาจริง ๆ เวลาเราแกะส้ม กลิ่นหอมสดชื่นที่เราได้กลิ่นและรสชาติที่เราได้สัมผัสบนลิ้น ก็คือ Volatile Organic Compounds นั่นแล

(Source : Environmental risk assessment and concentration trend of atmospheric volatile organic compounds in Hyogo Prefecture, Japan.Quality of indoor residential air and health.)

Ozone

Ozone เป็นหนึ่งในสิ่งที่คนไทยมักเข้าใจผิดกันมาก อันจะมาจากคำพูดติดปากว่า “เราไปสูดโอโซน สูดอากาศบริสุทธิ์” หรือแม้แต่คอร์สความงามที่บอกว่า “อบโอโซน” เพื่อบำรุงผิว ซึ่งแท้จริงแล้ว Ozone เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต และเป็นสาร Oxidation ที่ก่อความเสียหายสูงโดยตัวโอโซนเมื่อสัมผัสกับผิวจะไปลดปริมาณของสารแอนติออกซิแดนท์ในผิวของเราไม่ว่าจะเป็นวิตามิน C E และกระตุ้นการเกิด Lipid Peroxidation และการเกิด Protein Carbonylation ซึ่งทำให้โปรตีนของผิวเสื่อมคุณภาพและมีสีที่เหลืองขึ้น

โดยปกติแล้ว Ozone จะมีอยู่น้อยในระดับพื้นผิว แต่ด้วยมลพิษที่คนเราสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอน VOCs กับ Nitrix Oxide และ Nitrogen Dioxide ทำปฏิกิริยากับแสงแดดทำให้เกิดเป็นสารโอโซนขึ้นมานั่นเอง

(Source : Cutaneous responses to environmental stressors)

Research Mexico

จะเห็นได้ว่ามลภาวะหรือมลพิษทางอากาศรูปแบบต่าง ๆ นั้นมีบทบาทและส่งผลกระทบกับผิวในแง่ลบอย่างเห็นได้ชัด การศึกษาใหม่ ๆ ที่เปรียบเทียบสภาพผิวของกลุ่มคนที่อยู่ในเขตเมืองอันอุดมไปด้วยมลภาวะ กับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีมลภาวะน้อยกว่านั้นให้ผลที่ยืนยันข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาอย่างไม่ต้องสงสัย

การศึกษาจากในเมกซิโกชี้ให้เห็นชัดเจนว่ามลภาวะส่งผลกระทบกับปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระของผิว คุณภาพของน้ำมันและ lipid ของผิวก็แย่ลง การผลิตพลังงานของผิวก็น้อยลงกว่าเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในเขตที่อากาศบริสุทธิ์กว่า การศึกษาที่ตีพิมพ์ล่าสุดในปี 2016 ซึ่งทำในเซี่ยงไฮ้ก็ให้ผลเช่นเดียวกันในการสนับสนุนว่ามลพิษทางอากาศส่งผลทำให้ผิวชั้นนอกอ่อนแอลง ส่งผลให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื่นและแห้งกร้านได้ง่ายขึ้น

ผลกระทบของการที่ผิวอ่อนแอลง เกิดอนุมูลอิสระ เกิดการอักเสบ และมี Lipid Peroxidation ที่เพิ่มขึ้นยังอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว และไม่นับไปถึงความเสียหายของเซลล์ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังอีกด้วย

(Source : Consequences of urban pollution upon skin status. A controlled study in Shanghai area.Evaluation of the impact of urban pollution on the quality of skin: a multicentre study in Mexico.Clinical implications of lipid peroxidation in acne vulgaris: old wine in new bottlesEnvironmental pollutants and skin cancer.)

Men-Skin-Care

เครื่องสำอางกับการต้านมลภาวะ?

มลภาวะทางอากาศนั้นส่งผลเสียมากมายมหาศาลกับผิว สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีแต่สะสมบ่อนทำลายเราไปอย่างที่เราไม่รู้ตัว วงการเครื่องสำอางมีการตื่นตัวถึงเรื่องมลพิษที่ส่งผลกับผิวกันมาสักพักใหญ่แล้วโดยเฉพาะในประเทศจีนที่ขึ้นชื่อเรื่องอุดมมลพิษที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในปัจจุบันนี้เราสามารถแบ่งกลไกการทำงานของผลิตภัณฑ์ที่เคลมถึงคุณสมบัติในการต้านมลภาวะ หรือ  Anti-Pollution ได้ดังนี้

Pollutant Removal : คือการทำความสะอาดมลภาวะที่เกาะผิวให้หลุดออกไป ซึ่งจะหมายถึงอานุภาคของฝุ่นละออง หรือ PM ที่มาเกาะผิว โดยใช้ระบบของสารทำความสะอาด หรือใช้เครื่องมือเสริมในการทำความสะอาด เช่นแปรงล้างหน้าไฟฟ้าเป็นต้น

Anti Adhesion : ลดการเกาะติดของมลภาวะบนผิว ซึ่งก็จะหมายถึงมลภาวะประเภทอานุภาคของฝุ่นละออง หรือ PM เมื่อมลภาวะเหล่านี้เกาะผิวได้น้อยลงก็ส่งผลกระมบกับผิวน้อยลงนั่นเอง

Anti Oxidation / Anti-Inflammtion : เป็นการใช้สารสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากอนุมูลอิสระหรือการอักเสบของเซลล์ที่ถูกกระตุ้นจากมลภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบก๊าซหรืออานุภาคฝุ่นละออง

Barrier Repair : เน้นการเสริมความแข็งแรงของผิวชั้นนอกเพื่อต่อต้านผลกระทบจากมลภาวะ เมื่อผิวแข็งแรงขึ้นก็จะมีโอกาสระคายเคืองได้ยากขึ้นเช่นกัน

เนื่องด้วยปัจจุบันเรายังไม่มีมาตรฐานสากลในการวัดค่าการป้องกันหรือปกป้องผิวของเราจากมลภาวะทางอากาศในแบบเดียวกับค่าการป้องกันรังสียูวีอย่าง SPF ที่มีค่าวัดอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคยังไม่มีหลักการที่จะใช้ในการตรวจสอบประสิทธิภาพในการต่อต้านมลภาวะของผลิตภัณฑ์ได้อย่างสะดวก แต่อย่างไรก็ดี การใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน เสริมความแข็งแรงของผิว และมีสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการระคายเคืองที่หลากหลายจะช่วยลดผลกระทบในระยาวจากมลภาวะเพื่อให้ผิวเรามีสุขภาพแข็งขึ้นได้

แต่ถ้าใครสวย รวย เก๋ จะย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในเขตอากาศบริสุทธิ์ ไปอยู่สวิสชิล ๆ ได้ก็คงดี แต่สำหรับเราที่ยังต้องปากกัดตีนถีบใช้ชีวิตในเมืองฟ้าอมรแห่งนี้ก็คงต้องจำใจทนต่อไป ทาสกินแคร์ดี ๆ ที่ช่วยลดผลกระทบจากมลพิษรอบตัวเราลงได้บ้าง หรือเราจะเริ่มกันคนละไม้คนละมือ เริ่มจากตัวเราเองในการที่จะลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น ประหยัดไฟ สนับสนุนพลังงานทางเลือก แยกขยะ และอีกสารพัดวิธีที่เราจะเริ่มทำได้ แต่จะดีกว่านี้ถ้าหน่วยงานรัฐจะยื่นมือลงทำนโยบายสีเขียวอย่างจริงจังหาใช่เอะอะก็ตัดต้นไม้หัวโกร๋น เหลือแต่ตอ หรือขัดแย้งผลประโยชน์จนระบบขนส่งของเราไมได้พัฒนาจนประชาชีก็ไม่อยากจะใช้

พอแค่นี้ดีกว่า กลัวมีคนมาเยี่ยมหน้าประตูบ้านเนอะ