เก่าไป…ใหม่มา เป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้จนชินตาในวงการเครื่องสำอาง แต่ใช่ว่าของซึ่งมาใหม่แทนที่จะดีกว่าเสมอไป ในมุมมองทางด้านการตลาดแล้ว การปรับสูตรผลิตภัณฑ์ที่มีวางจำหน่ายมายาวนาน อาจเสี่ยงต่อการเสียกลุ่มฐานลูกค้าเดิมที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์แบบเก่าไปได้…หากของใหม่ที่มาแทนไม่ “เจ๋ง” พอ…

นับตั้งแต่ปี 1997 ที่ Biotherm นำเสนอ AquaSource มอยซ์เจอไรเซอร์สุดแสนชุ่มฉ่ำด้วยคุณค่าของสารสกัดแพลงก์ตอนน้ำแร่ร้อนกว่า 5,000 ลิตร จนถึงปี 2004 ก็ได้ปรับสูตรใหม่อีกครั้งเป็น AquaSource Non-Stop เติมเต็มความชุ่มชื้นได้ยาวนาน 24 ชั่วโมง และล่าสุดในปี 2011 นี้ก็นำเสนอสูตรล่าสุด กับ “AquaSource” (ที่ปูเป้จะเรียกว่า AquaSource 3.0 นะฮะ) ที่เคลมว่ามอบความชุ่มชื้นได้ยาวนานถึง 48 ชั่วโมง และล้ำลึกถึง 5 ชั้นผิว พอดีว่าปูเป้ได้เจ้า AquaSource 3.0 ตัวล่าสุดนี้มาทดสอบตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา วันนี้จึงขอมาแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้อ่านทุกคนได้เก็บเป็นข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจนะครับ 🙂

จากการสังเกตุด้วยตนเองและจากข้อมูลที่ได้มา Biotherm ดูจะพยายามปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็น Natural เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยมากขึ้น ในแง่ของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้นสามารถเห็นได้ตั้งแต่ “กล่อง” ที่ปรับจากรูปทรงผืนผ้าเล็กน้อย เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่พอดีกับขนาดของกระปุกครีม เป็นการออกแบบที่ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อที่จะได้ขนส่งผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นในแต่ละครั้ง (ลดการสิ้นเปลืองพลังงานไปได้นิดนึง)

นอกจากนี้ส่วนของ Product Insert หรือแผ่นข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ปกติจะพับเป็นทบหนา ๆ ใส่มาในกล่องก็ถูกตัดออกไป แต่พิมพ์ข้อมูลผลิตภันฑ์ลงบนกล่องแทน มีรอยปรุที่ทำเตรียมเอาไว้สามารถแกะออกมาอ่านได้โดยสะดวก (ก้นกล่องบอกว่ากระดาษนี้นำมาจากแหล่งผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยนะ) ส่วนตัวกระปุกก็ใช้แก้วรีไซเคิลถึง 40% ในการผลิต

ความแตกต่างของ AquaSource เวอชั่น 2.0 (เก่า) และ AquaSource เวอชั่น 3.0 (ใหม่) นอกจากจะปรับราคาลงเหลือ 1,500 บาท (ลดลง 300 บาท) ยังมีการปรับปรุงในแง่ของส่วนประกอบให้ดีขึ้นอีกด้วย (น่าดีใจที่ราคาถูกลง แต่ส่วนผสมดีขึ้น)

ใน Biotherm : AquaSource 3.0 Normal/Combination Skin (ปริมาณ 50 มิลลิลิตร / ราคา 1,500 บาท) รุ่นใหม่นั้นได้มีการเพิ่มคุณสมบัติในการเติมความชุ่มชื้นและเก็กกักความชุ่มชื้นให้ผิวมากขึ้น (เขาเคลมว่ามอบความชุ่มชื้นยาวนาน 48 ชั่วโมงเลยนะ) จะเห็นได้ว่ามีการเพิ่ม Glycerin ซึ่งเป็นตัวให้ความชุ่มชื้นมาในปริมาณมากขึ้น ลดปริมาณ Alcohol Denat ที่อาจทำให้ผิวแห้งกร้านได้ลง ตัดส่วนผสมซิลิโคนชนิดแห้งเร็วอย่าง Cyclohexasiloxane ออก และเพิ่มซิลิโคนชนิดเคลือบปกป้องผิวอย่าง Dimethicone เข้ามาแทน

ส่วนผสมใหม่ล่าสุดคือ Mannose ซึ่งเป็นสารกล่มน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ Biotherm เคลมว่าช่วยเก็บล็อคความชุ่มชื้นเอาในชั้นผิวได้ยาวนาน ปกติแล้ว Mannose จะมีอยู่ในเนื้อไม้ของพืชเพื่อช่วยในการอุ้มน้ำนั่นเอง ปูเป้เชื่อว่าเขาคงนำ Mannose มาใส่ใน AquaSource เพราะหวังว่ามันจะทำหน้าที่ได้อย่างเดียวกัน แต่ส่วนตัวยังหาข้อมูลอะไรเกี่ยวกับ Mannose เมื่อนำมาทาลงไปบนผิวไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่สารกลุ่มน้ำตาลมีคุณสมบัติเรื่องความชุ่มชื้นได้ดีอยู่แล้ว ส่วนจะล็อคความชุ่มชื้นได้เหมือนกับตอนที่มันอยู่ในต้นพืชรึเปล่าคงต้องการวิจัยที่ตีพิมพ์ในอนาคตกันต่อไป

ส่วนผสมอีกตัวที่นำมาเป็นจุดขายคือ Thermal Plankton Cellular Water หรือ Vitreoscilla Ferment นั่นเอง จากข้อมูลที่เคยทำเอาไว้คราวก่อน (ที่นี่) เขาบอกว่าเจ้าแพลงก์ตอนน้ำแร่ร้อนแห่งเทือกเขา Pyrenees ในฝรั่งเศษนี้ มีองค์ประกอบใกล้เคียงกับองค์ประกอบสำคัญหลายชนิดในเซลล์ผิวของมนุษย์มาก การนำเอา Thermal Plankton Cellular Water มาใช้จึงไม่ใช่แค่การเติม “น้ำ” ให้ผิว แต่เหมือนเติม “น้ำเลี้ยงเซลล์” ที่เขาว่าอุดมไปด้วยสารอาหาร ประกอบไปด้วยวิตามิน กรดอมิโน วิตามินรวมกันกว่า 36 ชนิดเลยทีเดียว…. โคตรฟังดูดีอ่ะ!!! แต่ยังไม่มีการวิจัยมาพิสูจน์ในเรื่องนี้ ปูเป้เลยถือว่าส่วนผสมตัวนี้ต้องใช้วิจารณญาณของแต่ละคนในการเลือกซื้อครับ

ส่วนผสมของสารบำรุงอื่น ๆ ก็คือวิตามินอี ส่วนโปรวิตามินบี5 นั้นได้ถูกตัดออกไปใน AquaSource 3.0 โดยไม่ทราบเหตุผล… อ้อ!!! มีส่วนผสมของสารกลุ่ม Menthol เย็นซาบซ่าอย่าง Menthoxypropanediol ด้วยนะ ถึงจะมีในปริมาณที่น้อย มีสารให้ความชุ่มชื้นเยอะแยะเพื่อมาชดเชย และส่วนตัวจะลองใช้แล้วยังไม่เจอผลเรื่องการระคายเคืองอะไร แต่ขอบอกเอาไว้สำหรับคนที่ต้องการหลีกเลี่ยงครับ 🙂

AquaSource 2.0 Normal/Combination Skin

Ingredients : Water, Alcohol Denat., Cyclohexasiloxane, Glycerin, Prunus Armeniaca (Apricot) Kernel Oil, Butylene Glycol, Butyrospermum Parkii (Shea) Butter, Carbomer, Triethanolamine, Dimethicone, Tocopheryl Acetate, Panthenol, Hexylene Glycol, Phenoxyethanol, Parfum, Chlorphenesin, Xanthan Gum, Magnesium Gluconate, Serine, 2-Oleamido-1, 3-Octadecanediol, Citrulline, Cholesterol, Limonene, Fructose, Glucose, Tocopherol, Vitreoscilla Ferment Extract, Biosaccharide Gum-1, Disodium EDTA, Butylphenyl Methylpropional, Hexyl Cinnamal, Benzyl Salicylate, Urea, Menthoxypropanediol, Zinc Gluconate, Linalool, Ceramide 3, Hydroxypalmitoyl Sphinganine, Citral, Dextrin, Hydroxyisohexyl 3-Cyclohexene Carboxaldehyde, Benzyl Alcohol, Copper Gluconate, Hexyl Nicotinate, Sucrose, Glutamic Acid, Manganese Gluconate, CI 42090, CI 19140, Aspartic Acid, Alanine.

AquaSource 3.0 Normal/Combination Skin
Ingredients : Water, Glycerin, Dimethicone, Alcohol Denat., Prunus Armeniaca (Apricot) Kernel Oil, Butyrospermum Parkii (Shea) Butter, Mannose, Carbomer, Phenoxyethanol, PEG/PPG/Polybutylene Glycol-8/5/3 Glycerin, Tocopheryl Acetate, Divinyldimethicone/Dimethicone Copolymer, Chlorphenesin, Xanthan Gum, Sodium Hydroxide, Serine, 2-Oleamido-1,3- Octadecanediol, Citrulline, Cholesterol, Ammonium Polyacryldimethyltauramide, Limonene, Vitreoscilla Ferment, Tocopherol, Disodium EDTA, C12-13 Pareth-23, Hexyl Cinnamal, C12-13 Pareth-3, Menthoxypropanediol, Benzyl Salicylate, Zinc Gluconate, Ceramide 3, Hydroxypalmitoyl Sphinganine, Linalool, Citral, Hydroxyisohexyl 3-Cyclohexene Carboxaldehyde, Benzyl Alcohol, CI 42090, CI 19140, Parfum.

ความแตกต่างในแง่ของเนื้อผลิตภัณฑ์ก็เห็นได้อย่างชัดเจนเลยล่ะ เนื้อผลิตภัณฑ์ของ 2.0 จะเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนรุ่นใหม่ 3.0 จะเป็นสีเขียวอมฟ้า ถึงจะเป็นมอยซ์เจอไรเซอร์เนื้อเจลทั้งคู่แต่ก็ให้สัมผัสขอเนื้อเจลที่แตกต่างกันพอดูถ้าสังเกตุให้ดี ๆ

เนื้อเจลของ AquaSource 2.0 จะมีลักษณะเป็นเนื้อซอร์เบ (Sorbet) เป็นเนื้อทรายหน่อย ๆ แต่ AquaSource 3.0 จะเป็นเนื้อเจลที่เนียนกว่า เนื้อข้นกว่าเล็กน้อย จะยิ่งเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อปาดลงไปบนผิวและสังเกตุการกระจายตัว จะเห็นว่า AquaSource 3.0 จะกระจายตัวได้ดีกว่า

ข้อดี

– ให้ความชุ่มชื้นดี
– เนื้อสัมผัสชุ่มฉ่ำ เกลี่ยง่าย
– ประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย (มีข้อมูลด้านล่าง)
– ราคาถูกลงกว่ารุ่นเก่า
– ส่วนผสมมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเก่า

ข้อเสีย

– มีส่วนผสมของน้ำหอม
– บรรจุภัณฑ์แบบกระปุก
– มีส่วนผสมของ Menthoxypropanediol

โดยสรุปแล้ว Biotherm : AquaSource 3.0 Normal/Combination Skin มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งในแง่ของราคาที่ถูกลง การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในแง่ของส่วนประกอบสามารถปรับลดส่วนผสมของแอลกอฮอล์ลงและตัดส่วนผสมของซิลิโคนชนิดแห้งเร็วออกไปได้โดยไม่เสียคุณลักษณะของเนื้อเจลที่ให้เนื้อสัมผัสดี คุณสมบัติในการให้ความชุ่มชื้นน่าประทับใจมาก

สิ่งที่น่าจะปรับปรุงเป็นอย่างต่อไปคือเรื่องของน้ำหอมเพราะส่วนตัวยังรู้สึกว่ากลิ่น Strong ไปหน่อย ถ้าลดปริมาณให้เบากว่านี้ได้จะดีมาก (หรือถ้าไม่มีน้ำหอมเลยจะดีที่สุด) และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแบบกระปุกซึ่งใช้ลำบาก และไม่ค่อยสะอาดในการใช้เท่าไหร่ (ขอเป็นแบบหลอดบีบทึบแสงหรือขวดปั้มจะถูกใจปูเป้มากมาย)

-:- AQUASOURCE 3.0 Variation -:-
นอกจากการใช้ AquaSource 3.0 เป็นมอยซ์เจอไรเซอร์เติมความชุ่มชื้นให้กับผิวแล้ว ปูเป้ยังลองประยุกต์ใช้ได้อีกหลายรูปแบบเลยล่ะ

1. AquaSource Sleeping Mask – หลังจากการทำความสะอาด เช็ดโทนเนอร์ ลงเซรั่มบำรุงแล้ว ให้ใช้ AquaSource ปริมาณเท่าเหรียญ 10 บาท เกลี่ยเป็นชั้นหนา ๆ ให้ทั่วหน้า เว้นรอบดวงตาและปากเอาไว้ แล้วก็เข้านอนโดยไม่ต้องล้างออก (ใครที่ชอบนอนดิ้น พลิกไปพลิกมา ก็ต้องเปลี่ยนปลอกหมอนกันบ่อยหน่อยนะ)

2. AquaSource Supra – วันไหนที่ไม่ได้ออกไปโดนแดดแรง ๆ นอกบ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องซัดยากันแดด SPF 50 เพื่อปกป้องผิวจากรังสี UV หรอก ลองผสม AquaSource 3.0 เข้ากับ Biotherm : UV Supra D-Tox SPF50/PA+++ ในปริมาณที่เท่ากัน ก็จะได้เป็นมอยซ์เจอไรเซอร์เนื้อกึ่งเจลกึ่งโลชั่นบางเบาที่ปกป้องผิวจากรังสี UV ได้ด้วย (ได้ค่า SPF ประมาณ 20 – 25 ) จะผสมกับครีมกันแดดยี่ห้ออื่นก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่าเนื้อผลิตภัณฑ์จะสามารถเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้นะครับ

3. AquaSource with a hint of B.B Cream – ลองผสม AquaSource กับ Biotherm : White D-Tox B.B Cream SPF25/PA+++ ในสัดส่วนที่ชอบ ก็จะได้ลุคของผิวที่บางเบาและชุ่มฉ่ำกว่าเดิม แม้จะไม่ได้ปกปิดอะไรเท่าไหร่แต่จะขับผิวให้ดูดีอย่างเป็นธรรมชาติมากเหมือนผิวกระจ่างจากข้างในจริง ๆ

ส่วน Biotherm : AquaSource 3.0 Dry Skin สีชมพูสำหรับผิวแห้งปูเป้ไม่มีรุ่นเก่าจะมาเทียบให้ดู และก็ไม่เคยใช้อีกต่างหาก (เพราะเห็นว่าสำหรับผิวแห้งก็ไม่คิดจะซื้อแล้ว) แต่คราวนี้ได้สูตรสำหรับผิวแห้งมาลองด้วย ขอบอกว่าชอบเลยล่ะ กลิ่นอ่อนกว่าสูตรสำหรับผิวมันมากมาย เนื้อครีมดูข้น แต่กลับเบากว่าที่คิดเมื่อลองปาดลงบนผิว สัมผัสแรกที่ได้จะรู้สึกเย็นและชุ่มผิวมาก ไม่เหนอะหนะผิวด้วย (สูตรนี้ใช้ทำ Sleeping Mask แล้วหน้านุ่มมากกกกกก คนผิวแห้งควรลองทำโดยด่วน แต่ไม่เหมาะกับคนเป็นสิวง่ายนะฮะ)

ส่วนผสมของตัวเบสจะเน้น Dimethicone กับ Shea Butter และ Apricot Oil มากกว่าอีกสูตรหนึ่ง มีพวก Emulsifier และ Thickener อย่าง Stearyl Alcohol และอื่น ๆมาทำให้เนื้อข้นขึ้น สารสำคัญอื่น ๆ เหมือนกับสูตรสำหรับผิวมันครับ ข้อดีและข้อเสียก็มาแบบเดียวกัน ย้อนกลับไปอ่านข้างบนได้เลย

Ingredients : Water, Dimethicone, Glycerin, Butyrospermum Parkii (Shea) Butter, Prunus Armeniaca (Apricot) Kernel Oil, Alcohol Denat., Ammonium Polyacryldimethyltauramide, Stearyl Alcohol, Mannose, Tocopheryl Acetate, Panthenol, Phenoxyethanol, Glyceryl Linoleate, PEG/PPG/Polybutylene Glycol-8/5/3 Glycerin, Polyperfluoromethylisopropyl Ether, Dimethicone/Vinyl Dimethicone Crosspolymer, Glyceryl Stearate, Glyceryl Oleate, Caprylyl Glycol, Dimethiconol, Acrylates/Steareth-20 Mathacrylate Copolymer, Serine, 2-Oleamido-1,3- Octadecanediol, Magnesium Gluconate, Citrulline, Cholesterol, Limonene, Vitreoscilla Ferment, Tocopherol, Disodium EDTA, Sodium Hydroxide, Glyceryl Linolenate, Hexyl Cinnamal, Benzyl Salicylate, Menthoxypropanediol, Linalool, Ceramide 3, Hydroxypalmitoyl Sphinganine, Citral, Hydroxyisohexyl 3-Cyclohexene Carboxaldehyde, Benzyl Alcohol, CI 19140, Geraniol, CI14700, Parfum.

สำหรับคำถามว่า “จะแพ้มั๊ย” “ใช้แล้วอุดตันรึเปล่า?” เป็นคำตอบที่ปูเป้บอกไม่ได้ครับ อาการแพ้เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในทุก ๆ คน สำหรับการอุดตันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและการดูแลผิวโดยรวมของแต่ละคนเอง นอกจากนี้คนเรายังไวต่อการอุดตันของสารแต่ละตัวไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตาม ควรทดสอบและทดลองใช้ก่อนทุกครั้ง…