หลังจากที่ได้รู้ถึงปัจจัยยที่มีผลกระทบและกระบวนการผลิตเม็ดสีแล้ว เราก็จะสามารถเข้าใจเกี่ยวกับกลไลในการของฤิทธิ์ของสารไวท์เทนนิ่ง (Skin Lightening / Whitening /De-pigment Agent) กันได้ไม่ยากเลย มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลกระทบ เราก็แค่หลีกเลี่ยงหรือไม่ก็ยับยั้งการทำงานในแต่ละจุด โดยมีทั้งหมด 5 จุดสำคัญที่จะช่วยลดการผลิตเม็ดสีเมลานินได้

1. ลดการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก

– Sunscreen (สารกรองรังสี UV) ถึงแม้จะไม่จัดเป็นสารไวท์เทนนิ่ง แต่การปกป้องผิวจากรังสี UV จะช่วยลดการเกิด DNA Damage ลดการอักเสบและระคายเคืองของผิว ผลทางอ้อมก็คือลดการส่งสัญญาณไปกระตุ้นการผลิตเม็ดสีนั่นเอง การปกป้องผิวเป็นประจำทุกวันด้วยยากันแดดที่มีค่า SPF 30 และค่า PA+++ เป็นต้นไปนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานที่ทุกคนควรทำ

2. ลดการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ผิว (Keratinocyte) ไปยังเซลล์ผลิตเม็ดสี (Melanocyte)

– Melanostatine®5 (Nonapeptide-1) ของบริษัท Unipex เป็นส่วนผสมที่ช่วยขัดขวางไม่ให้เปปไทด์ α-MSH เข้าไปจับกับตัวรับสัญญาณ MC1R receptor ทำให้กระบวนส่งสัญญาณเพื่อกระตุ้นการผลบิตเม็ดสีขาดช่วงลง จึงลดการเพิ่มขึ้นของเม็ดสีตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเลยทีเดียว แต่ตัวนี้ไม่ค่อยเห็นคนใช้กันเท่าไหร่

– Sepiwhite MSH® ( Undecylenoyl Phenylalanine) โดยบริษัท Seppic เป็นสารไวท์เทนนิ่งที่ทำงานโดยการขัดขวางการส่งสัญญาณของเปปไทด์ α-MSH เช่นกัน สารตัวนี้ส่วนตัวใช้แล้วเห็นผลค่อนข้างไวนะ และจะเห็นผลไวยิ่งขึ้นถ้าใช้ร่วมกับสารผลัดเซลล์ผิวอย่าง AHA / BHA

2.1 ลดการอักเสบและการระคายเคืองที่เกิดขึ้นจากรังสี UV (Inhibition of UV inflammation) ที่จับมาอยู่ในหมวดนี้เพราะว่าหลักการทำงานพื้นฐานของมันก็คือเมื่อการอักเสบและการระคายเคืองในเซลล์ลดลง เซลล์เคราตินก็จะลดการผลิตและส่งสัญญาณที่ไปกระตุ้นการสร้างเมลานินให้น้อยลงด้วย (และเมื่อลดการอักเสบลงก็จะทำให้ “รอยแดง” ที่ไม่เหมือนกับ “รอยดำ” จากเมลานิน สามารถจางลงได้ด้วย)

– Tranexamic Acid & Tranexamic Acid Derivative นั้นเป็นที่นิยมใช้กันอย่างมาในผลิตภัณฑืไวท์เทนนิ่งจากญี่ปุ่น โดยบรัท Shiseido เป็นเจ้าแรกที่จดสิทธิบัติในการนำ Tranexamic Acid มาใช้เป็นสารไวท์เทนนิ่งเมื่อปี 2002 (ซึ่งสิทธิบัตรมีอายุ 5 ปี หลังจากนั้นเจ้าอื่น ๆ ก็สามารถนำมาใช้ได้แล้ว) สารตัวนี้มีคุณสมบัติเป็น Anti-Plasmin ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในการลดการอักเสบของผิวและลดการส่งสัญญาณของเปปไทด์ α-MSH จึงลดกาผลิตเม็ดสีผิวได้นั่นเอง

ทาง CHANEL ได้พัฒนา Tranexamic Acid Cetyl Ester ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ของ Tranexamic Acid และจดสิทธิบัตรเอาไว้เมื่อปี 2009 (ก่อนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ CHANEL : Le Blanc ในปี 2011) ซึ่งมีกลไกในการออกฤทธ์เหมือนกับ Tranexamic Acid แต่เขาเคลมว่าการปล่อยสารจะเป็นไปอย่างช้า ๆ และต่อเนื่องจึงมีความอ่อนโยนและมีประสิทธิภาพสูงกว่า

Chamomilla Extract นั้นจะช่วยลดการอักเสบของผิวที่เกิดขึ้นจากรังสี UVB ได้เป็นอย่างดี กลไกการทำงานของมันคือลดการหลั่ง endothelin-1 (หนึ่งใน Cytokine ที่กระตุ้นการอักเสบ) ผลก็คือลดการสื่อสารระหว่างเซลล์ผิวและเซลล์ผลิตเม็ดสี การผลิตเม็ดสีจึงลดลง ซึ่งสารตัวนี้เคยถูกจดสิทธิบัตรโดยบริษัท KAO ไว้เมื่อปี 1998 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของวงการไวท์เทนนิ่งในญี่ปุ่นเพราะก่อนหน้านั้นสารไวท์เทนนิ่งทุกตัวจะเน้นไปที่การขัดขวางเอนไซม์ไทโรสิเนสเป็นหลัก ส่วนผสมนี้เป็นการเปิดทางให้นักวิจัยเริ่มค้นหาหนทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาสารไวท์เทนนิ่งในเวลาต่อมา

2.2 สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ก็อาจเป็นสารไวท์เทนนิ่งได้อีกทางหนึ่งเหมือนกัน ความคิดเบื้องหลังนี้เกิดขึ้นจากสมุมติฐานที่ว่า ผลของอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากรังสี UV นั้นก็ไปเสริมหรือกระตุ้นกระบวนการผลิตเม็ดสี (Melanogenesis) ได้เช่นกัน เพราะว่ารังสี UV กระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระแรงสูง (Reactive Oxygen Species / ROS) ซึ่งตัวที่อันตรายหลัก ๆ มีสามชนิดคือ อนุมูลซูเปอร์ออกไซด์ (Superoxide Anion) อนุมูลไฮดรอกซิล (Hydroxyl Radical) และ อนุมูลไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ซึ่งเจ้าเอนไซม์ Tyrosinase ที่เป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญของกระบวนการผลิตเม็ดสีนั้นจะขยันมากขึ้นเมื่อมีอนุมูลซูเปอร์ออกไซด์ (Superoxide Anion) เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ อนุมูลไนตริกออกไซด์ (Nitrix Oxide) ยังเป็นตัวที่ก่อให้เกิดการอักเสบได้อีกด้วย

ถึงแม้ว่าเซลล์ของเราจะมีกลไกในการปกป้องตัวเองจากอนุมูลอิสระเหล่านี้อยู่แล้วตามธรรมชาติ (ด้วยเอนไซม์ที่เป็นแอนติออกซิแดนท์ในเซลล์อย่าง Superoixde Dismutaste, Catalase และ Glutathione Peroxidase) แต่สภาพแวดล้อมในปัจจุบันนั้นกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระมากกว่าที่ระบบตามธรรมชาติจะควบคุมและยับยั้งเอาไว้ได้หมด เป็นที่มาของภาวะที่เรียกว่า “Oxidative Stress” หรือเรามักได้ยินหรือเห็นในศัพท์โฆษณาว่า “ความเครียดจากมลภาวะ” นั่นเอง

พูดมาซะยืดยาว แต่ก็สรุปได้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะตัวที่มีการวิจัยแล้วว่าช่วยลดผลกระทบจากรังสี UVA หรือ UVB หรือช่วยเพิ่มปริมาณเอนไซม์แอนติออกซิแดน์ในเซลล์ผิวได้ ก็อาจจะส่งผลต่อการลดการผลิตเม็ดสีได้ทางอ้อม ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้บ่อยก็ได้แก่พวกวิตามินซี สารสกัดจากชาเขียว และสารสกัดอื่น ๆ อีกเยอะแยะตาแป๊ะไก่…

3. ขัดขวางกระบวนการ Melanogenesis / ขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase

– Hydroquinone (1,4-dihydroxybenzene) เป็นสารไวท์เทนนิ่งที่เป็น Gold Standard มากว่า 40 ปี (หากมีสารไวท์เทนนิ่งตัวอื่นที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ก็จะต้องนำมาเปรียบเทียบกับเจ้าไฮโดรควินโนนนี่แหล่ะ) ซึ่งในประเทศไทยนั้น Hydroquinone เป็นสารรขึ้นทะเบียนยา ไม่สามารถผสมในเครื่องสำอางได้

จริง ๆ แล้ว Hydroquinone เรียกได้ว่าเป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเป็นไวท์เทนนิ่งเลยก็ว่าได้ เพราะการทำงานของมันนั้นกว้างมาก ตั้งแต่กระตุ้นการสร้าง ROS ขึ้นมาเพื่อทำลายเยื่อหุ้มและโปรตีนของเอนไซม์ Tyrosinase ลดการสร้าง DNA และ RNA ของเซลล์เมลาโนไซด์ แต่สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นจุดด้อยของไฮโดรควินโนน เพราะถือว่ามันเป็นพิษกับเซลล์เมลาโนไซต์มาก (Melanocyte Cytotoxicity) และมีโอกาสที่จะทำให้เซลล์ที่ผลิตเม็ดสีเสียหายไปอย่างถาวรซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคด่างขาวได้ นอกจากนี้ Hydroquinone ยังก่อให้เกิดการระคายเคืองได้หากใช้อย่างไม่ระวัง ใครที่จะใช้ Hydroquinone ก็ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และเหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะก่อการระคายเคืองของผิวด้วยจ้า

– Arbutin / Deoxyarbutin เป็นสารกลุ่มที่เป็นอนุพันธ์ของ Hydroquinone โดย Arbutin ถูกพัฒนาขึ้นและจดสิทธิบัตรโดย Shiseido เมื่อปี 1989 ซึ่งมีคุณสมบัติที่คล้ายกับ Hydroquinone แต่ว่ามีความปลอดภัยกว่า (คือเกิด Melanocyte Cytotoxicity น้อยกว่า และไม่ส่งผลกระทับกับ mRNA) แน่นอนว่าประสิทธิภาพก็น้อยกว่า Hydroquinone ด้วยเหมือนกัน

ตัว Arbutin แบ่งบ่อยออกเป็นอีกสองตัวคือ Alpha Arbutin (INCI = Alpha Arbutin) และ Beta Arbutin (INCI = Arbutin) โดย Alpha Arbutin มีประสิทธิภาพมากกว่า (ใช้ในความเข้มข้น 0.2 – 2%) สามารถทนกับสูตรผสมที่เป็นกรดได้ตั้งแต่ pH 3.5 – 6.5 ส่วน Beta Arbutin มีประสิทิภาพน้อยกว่า (ต้องใช้ในความเข้มข้นที่ 1 – 5%) ไม่ค่อยทนกรด จะต้องอยู่ในสูตรเครื่องสำอางที่มากกว่า pH 6.5 ขึ้นไป

การที่ Beta Arbutin สัมผัสกับกรดเป็นเวลานาน มันจะเกิดการ Hydrolysis ไปเป็น ไฮโดรควินโนนได้ แต่กระบวนการนี้ใช้เวลาพอดู (ไม่ใช่เจอกันปุ๊ปแล้วไปหมดทันที) ข้อควรระวังนี้จึงใช้กับผู้ที่จะทำการผสมสูตรเครื่องสำอางครับ ว่าไม่ควรผสม Beta-Arbutin มาคู่กับอะไรที่เป็นกรด สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ นั้นไม่ต้องกังวลตรงนี้จ้า สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Beta Arbutin คู่กับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ AHA/BHA หรือแม้แต่วิตามินซีที่เป็นกรดได้ ไม่ต้องกังวลอะไร

ตัวใหม่มาแรงก็คือ Deoxyarbutin (INCI – Tetrahydropyranyloxy Phenol) ที่ว่ากันว่าดีกว่า Beta Arbutin* (INCI : Arbutin)อยู่หลายอย่าง ที่แน่ ๆ คือมีความปลอดภัยมากกว่าเพราะทำปฏิกิริยา Melanocyte Cytotoxicity น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ Beta Arbutin* (INCI : Arbutin) และ Hydroquinone นอกจากนี้ยังกดโปรตีนของเอนไซม์ Tyrosinase ด้วย (ในขณะที่ Arbutin และ Hydroquinone ไม่มีผลตรงนี้) *ยังไม่มีการทดสอบเพื่อเปรียบเทียบ Deoxyarbutin กับ Alpha Arbutin จ้า

– Vitamin C / Vitamin C Derivatives เป็นวิตามินที่ได้รับการศึกษามากที่สุดตัวหนึ่ง รูปแบบมาตรฐานคือ L-Ascorbic Acid (AA) ที่ละลายในน้ำ มีความไม่คงตัวสูง เสื่อมได้ง่าย ต้องใช้ความเป็นกรด ในการทำงาน (pH ต่ำว่า 3.5) และควรมีความเข้มข้นตั้งแต่ 5% ขึ้นไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้จะมีประโยชน์กับผิวอยู่หลายด้าน แต่ก็มีความยุ่งยากในการนำมาใช้งานเราจึงไม่ค่อยเห็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น L-Ascorbic Acid เข้มข้นออกมาสู่ท้องตลาดนัก ข้อจำกัดนี้ทำให้มีการพัฒนา “อนุพันธ์ของวิตามินซี” ขึ้นมา

Magnesium Ascorbyl Phosphate (MAP) ถูกจดสิทธิบัตรในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1988 โดยการเกี่ยวพันธะของวิตามินซีเข้ากับแมกนีเซียมทำให้มีความคงตัวมากขึ้น การวิจัยถูกทำขึ้นโดยใช้ความเข้มข้นสูงถึง 10% และแสดงให้เห็นว่าช่วยลดจุดด่างดำได้

Sodium Ascorbyl Phosphate (SAP) ถูกพัฒนาตามหลังและจดสิทธิบัตรโดย Shiseido ในปี 1994 โดยมีข้อได้เปรียบกว่า MAP ตรงที่ Sodium สามารถทำละลายได้ง่ายกว่า Magnesium จึงใช้ในสูตรเครื่องสำอางได้ง่ายกว่า(และ SAP มีความเสถียรกว่า MAP)

Ascorbyl Glucoside (AA2G) ถูกจดสิทธิบัตรในญี่ปุ่นเมื่อปี 1994 ซึ่งเป็นการเกี่ยววิตามินซีเข้ากับกลูโคส (น้ำตาล) ซึ่งการทดสอบพบว่า Ascorbyl Glucoside ทำงานได้นานกว่าวิตามินซีรูปแบบ SAP และใช้ในความเข้มข้นที่น้อยกว่า (สูงสุดที่ผู้ผลิตแนะนำคือ 2%) แต่จุดบอดคือการวิจัยในเรื่องของการเป็นไวท์เทนนิ่งนั้นใช้ Ascorbyl Glucoside คู่กับ Niacinamide (แถมใช้เครื่องความถี่วิทยุในการผลักเข้าผิวด้วย) ดังนั้นคุณสมบัติของ Ascorbyl Glucoside ยังมีข้อกังขาอยู่บ้าง

3-O-Ethyl Ascorbic Acid ถูกพัฒนาขึ้นและจดสิทธิบัตรโดย Shiseido เมื่อปี 2005 (แน่นอนว่าตอนนี้สิทธิบัตรหมดอายุแล้ว บริษัทอื่น ๆ สามารถนำมาใช้ได้ตามสบาย) ความคิดพื้นฐานในการพัฒนาวิตามินซีรูปแบบนี้ขึ้นมาเกิดจากปัญหาที่มีอนุพันธ์วิตามินซีรุ่นก่อนที่จะเอาวิตามินซีเข้าไปเกี่ยวกับโมเลกุลอื่น ๆ ซึ่งต้องใช้กระบวนการทางเอนไซม์บนผิวในการแตกพันธะออกมาก่อนที่ผิวจะสามารถนำวิตามินซีไปใช้ได้ ซึ่งเอนไซม์บนผิวของแต่ละคนมีไม่เท่ากันทำให้ปริมาณวิตามินซีที่จะเข้าไปในผิวจริง ๆ นั้นมีความไม่แน่นอน

วิตามินซี 3-O-Ethyl Ascorbic Acid ไมได้เกี่ยวพันธะกับอะไร แต่เป็นการเพิ่ม Ehtyl เข้าไปในคาร์บอนที่สามของโมเลกุลวิตามินซี ซึ่งจะหลีกเลี่ยงการ Oxidation ของวิตามินซีได้ ปัจจุบันว่ากันว่าวิตามินซีรูปแบบนี้มีความคงทนที่สุด และเป็นรูปแบบที่ผิวสามารถนำไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแตกตัวด้วยเอนไซม์บนผิว

– Kojic Acid เป็นสารที่ได้จากกระบวนการหมักบ่มเชื้อรา/เห็ดในตระกูล (Acetobacter, Aspergillus และ Penicillium) การทำงานโดยไปจับกับอะตอมของทองแดงที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase โดยถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1988 ในญี่ปุ่นและเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่มีข่าวคึกโครมในช่วงปี 2003 ว่า Kojic Acid อาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ ทำให้ทางการของญี่ปุ่นทำการแบนสารตัวนี้ชั่วคราวเพื่อทำการทดสอบและได้ข้อสรุปในปี 2005 ว่า Kojic Acid มีความปลอดภัย ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง ทำให้ Kojic Acid ยังถูกใช้กันจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี Kojic Acid มีปัญหาเรื่องความเสถียรในสูตรของเครื่องสำอาง และอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน (Contact Dermatitis) จึงมีการพัฒนาเป็น Kojic Acid Tripeptide ซึ่งได้ผลในการขัดขวาสงการทำงานของ Tyrosinase มากกว่า Kojic Acid ถึง 90% แต่ยังไม่เห็นเจ้าไหนเอาสารตัวนี้ออกมาใช้กันเพราะการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2009 นี่เอง เราอาจจะได้เห็นไวท์เทนนิ่งตัวใหม่ที่ใช้สารตัวนี้หลังจากปีนี้ไปก็ได้

– Ellagic Acid เป็นสารกลุ่ม Polyphenol ที่มีอยู่ในพืชตามธรรมชาติ (สตรอว์เบอรี่ ชาเชียว ทับทิม และอื่น ๆ อีกมากมาย) หลักการในการทำงานนั้นคล้ายกับ Kojic Acid นั่นแล และใช้ในความเข้มข้น 0.5 – 1% ก็ให้ผลในการลดจุดด่างดำที่ดีแล้ว นี่เป็นส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์ในเครือ Loreal มายาวนาน

– Glycyrrhiza Glabra (licorice) หรือสารสกัดจาก “ชะเอม” นั้นมีสารออกฤทธิ์หลักคือ Glabridin ซึ่งมีคุณสมบัติในการขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase นอกจากนี้สารสกัดจากชะเอมยังมีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ (Anti-Inflammatory) ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จึงช่วยลดผลกระทบจากรังสี UVB ที่จะไปกระตุ้นการผลิเม็ดสี รวมถึงลดรอยแดงได้ด้วย

– Aleosin เป็นหนึ่งในสารสำคัญที่ได้มาจากว่านหางจรเข้ มีคุณสมบัติในการขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinanse และยังทำงานสอดประสานกันกับ Arbutin เพื่อให้ผลในการลดการผลิตเม็ดสีได้ดียิ่งขึ้น

– Potassium Methoxysalicylate / Potassium 4-methoxy salicylicate (4MSK) ถูกจดสิทธิบัตรโดย Shiseido เมื่อปี 2003 โดยแบรนด์ที่นำมาใช้เป็นแบรนด์แรกน่าจะเป็น IPSA และเริ่มนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ชั้นสูงในเครืออย่าง Shiseido และ Cle de Peau Beaute เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลักในการทำงานคือการขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase แบบ competitive inhibition ซึ่งคล้ายกับ Arbutin

– Linoleic Acid นอกจากจะเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ที่ดี ช่วยลดการอักเสบ เสริมสร้างความแข็งแรงของ Skin Barrier แล้ว ยังมีคุณสมบัติในการเร่งการเสื่อมสลายของเอนไซม์ Tyrosinase จึงส่งผลให้การผลิตเม็ดสีโดยรวมลดลง ทดสอบโดยใช้ linoleic Acid 0.1% บรรจุในไลโปโซมเป็นระบบนำพาสาร

– Tetrahydromagnolol (5,5′-Dipropyl-Biphenyl-2,2′-Diol) หรือในชื่อทางการค้าว่า Magnolignane ซึ่งเป็นสารไวท์เทนนิ่งที่ทาง Kanebo ได้จดสิทธิบัตรเอาไว้เมื่อปี 2005 โดยมีงานวิจัยที่ทาง Kanebo ตีพิมพ์เอาไว้ 2 ฉบับบอกว่า สารสกัดตัวนี้ในความเข้มข้น 0.5% สามารถช่วยลดจุดด่างดำที่เกิดขึ้นจากรังสี UVB ได้ โดยหลักการทำงานคือเข้าไปขัดขวางกระบวนการ Maturation ของเอนไซม์ Tyrosinase จึงส่งผลให้การผลิตเมลานินลดลงนั่นเอง

– Rhododendrol (4-(4-Hydroxyphenyl)-2-butanol) หรือชื่อทางการค้าคือ Rhododenol ซึ่งเป็นสารไวท์เทนนิ่งที่จดสิทธิบัตรโดย Kanebo เมื่อปี 2007 ซี่งเป็นสารไวท์เทนนิ่งตัวล่าสุดของทางบริษัทนั่นเอง หลักการทำงานของมันคือการ competitive inhibition สารตัวนี้จะไปจับกับ เอนไซม์ Tyrosinase เพื่อขัดขวางไม่ให้สารตัวอื่นเข้ามากระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinaseได้ ผลจึงทำให้การผลิตเม็ดสีถูกขัดขวาง (ซึ่งเป็นการทำงานคนละรูปแบบกับ Magnolignane)

4. ขัดขวางการส่งถุง Melanosome ไปยังเซลล์ผิว / ขัดขวางการเจริญเติบโตของถุง Melanosome

– Glycine Soja (Soy)t ถั่วเหลือมีสารจำพวก Isoflavones และมีคุณสมบัติเป็น Serine Protease Inhibitors ที่เข้าไปลดการทำงานของ Protease Activated Receptor–2 Pathway (PAR-2) ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการดูดกลืนถุงเม็ดสีของเซลล์ผิว (keratinocyte phagocytosis of melanosomes) นอกจากนี้ยังขัดขวางการลำเลียงถุง Melanosome ไปยังเซลล์ผิวอีกด้วย นอกจากนี้สารประกอบของถั่วเหลือยังมีคุณสมบัติเป็นแอนติออกซิแดนท์และลดการอักเสบได้ในตัว ให้มองหาส่วนผสมที่ระยุว่า Glycine Soja (Soybean) Seed Extract, Soy Isoflavones, Genistein, Daidzein หรืออะไรทำนองนี้จ้า

– Vitamin B3 (Niacinamide) หนึ่งในวิตามินสารพัดประโยชน์ที่มีคุณสมบัติที่ดีกับผิวหลายด้าน และในแง่ของการเป็นไวท์เทนนิ่งนั้น Niacinamide ทำหน้าที่ในการลดส่งถุง melanosome ไปยังเซลล์ผิว มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบและเสริมประสิทธิภาพของสารไวท์เทนนิ่งอื่น ๆ ด้วย สารในกลุ่ม Niacin อื่น ๆ ควรจะมีคุณสมบัติเดียวกันตามทฤษฏี

– Pisum Sativum (Pea) Extract หรือสารสกัดจากถั่วลันเตา มีชื่อทางการค้าว่า ACTIWHITE ของบริษัท Laboratoires-Serobiologiques มีกลไกในการทำงานที่ลึกลงไปในระดับยีนส์ โดยไปลดการแสดงออกของยีนส์ PMEL17 ที่มีผลต่อการพัฒณาของถุง Melanosome ซึ่งเป็นการลดการผลิตเม็ดสีตั้งแต่แรก และยังทำงานในการลดการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase ด้วย

5. เร่งการผลัดเซลล์ผิว

– Alpha Hydroxy Acid (AHA) / Poly Hydroxy Acid (PHA) / Beta Hydroxy Acid (BHA) / Lipo Hydroxy Acid (LHA) สารกลุ่มผลัดเซลลืผิวนี้จะไปเร่งการผลัดเปลี่ยนเซลล์เคราตินที่เสื่อมสภาพและหมองคล้ำไปด้วยเมลานินให้หลุดออกไป การผลัดเซลล์ไม่ได้มีผลกับการผลิตเม็ดสีโดยตรง แต่ให้ผลทางอ้อมในการเป็นไวท์เทนนิ่ง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Skincare Basic #8 : All About Exfoliants)

– Vitamin A / Retinoid สารกลุ่มวิตามินเอที่ใช้เครื่องสำอางส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ Retinyl Palmitate , Retinyl Linoleate และ Retinol ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนรูปไปเป็น Tretinoin เพื่อกระตุ้นกับ Retinoid Receptor ในเซลล์ผิวได้ มีผลในการ Regulate Cell/DNA ให้เซลล์ผิวทำงาน แบ่งตัวและมีการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวเป็นปกติ

สารกลุ่ม Retinoid ยังมีคุณสมบัติที่เข้าไปลด Tyrosinase/TRP-1 Protein Expression เพื่อขัดขวางการผลิตเม็ดสีผิวไปในตัวอีกด้วย แต่ข้อเสียที่พบได้บ่อยคือมีโอกาสระคายเคืองผิว ทำให้เกิดอาการลอก แดง ได้ง่าย ควรใช้อย่างระวังและปรับปริมาณและความถี่ในการใช้ให้เหมาะสมกับสภาพผิวของเรา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Skincare Basic #9-2 : Vitamin A)

– Placenta Extract หรือสารสกัดจาก “รก” นั่นเอง แต่เดิมจะใช้สารสกัดจากรก “วัว” แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นรก “หมู” หรือ “แกะ” แทนเพราะความหวาดกลัวเรื่องโรควัวบ้า… Placenta Extract นั้นถูกใช้มานานมากและในญี่ปุ่นจัดเป็นสารไวท์เทนนิ่งยุคดึกดำบรรพ์ มีสารประกอบของกรดอะมิโนจำและแร่ธาตุอยู่ในปริมาณเข้มข้นมาก และช่วยในเรื่องของการเร่งการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวชั้นนอกโดยไม่ก่อการระคายเคือง แต่ก็มีข้อมูลที่ระบุว่า Placenta Extract อาจเพิ่มกระบวนการผลิตเม็ดสีเมลานินผ่าน enhancement of tyrosinase gene expression ได้ด้วย

– Octadecenedioic Acid เป็นสารที่มีประโยชน์รอบด้าน ทำได้หลายอย่างมากจนตอนแรกไม่รู้จะจับมันไปลงตรงไหนดี เพราะทั้งมีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ (ฆ่าเชื้อแบคทีเรียสิวได้ด้วย จึงคิดว่าผลในการลดการอักเสบนี้มาจากการลดการติดเชื้อมากกว่า) เสริมการเปลี่ยนแปลง/พัฒนาการของเซลล์เคราติน (Keratinocyte Differentiation) จึงช่วยเรื่องการผลัดเซลล์ และมีคุณสมบัติในการเป็นไวท์เทนนิ่งโดยการลด mRNA และ Protein expression ของเอนไซม์ Tyrosinase ส่งผลให้กระบวนการ Melanogenesis ลดน้อยลง

ข้อเสียอย่างเดียวของ Octadecenedioic Acid คือละลายในน้ำมัน (แถมละลายได้ยากด้วย) ความเข้มข้นที่ผู้ผลิตสารแนะนำคือ 1% (ซึ่งการวิจัยใช้ที่ 2%) ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Octadecenedioic Acid มักมีสารกลุ่มซิลิโคนหรือ Alcohol มาเพื่อปรับเนื้อสัมผัสให้ไม่เหนอะหนะ ส่วนผสมตัวนี้พบได้บ่อยในผลิตภัณฑ์ Nivea และ Eucerin (เพราะเป็นเครือเดียวกัน)

ที่เอามาพูดถึงนี้เป็นแค่ “ส่วนหนึ่ง” ของสารไวท์เทนนิ่งที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ยังมีสารไวท์เทนนิ่งอื่น ๆ และสารสกัดจากพืชที่มีคุณสมบัติหรือสารประกอบที่ช่วยเรื่องลดการผลิตเมลานินอีกเกือบร้อยชนิด (เท่าที่มีการศึกษา) ซึ่งจะทยอยอัพเดทส่วนผสมที่น่าสนใจต่อไปอนาคต หรือใครที่สนใจก็สามารถไปอ่านเอาใน Source ที่แนบไว้ด่านล่างนี้

(Source : The Hunt for Natural Skin Whitening Agents, The melanogenesis and mechanisms of skin-lightening agents – existing and new approaches, Quasi-Drugs Developed in Japan for the Prevention or Treatment of Hyperpigmentary Disorders., Topical Agents Used in the Management of Hyperpigmentation, Skin Lightening and Depigmenting Agents , Octadecenedioic Acid: an alternative to azelaic acid, adds skin lightening, A new mechanism of action for skin whitening agents: binding to the peroxisome proliferator-activated receptor., Skin Lightening – Light and smooth and even)

สิ่งสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับสารไวท์เทนนิ่ง / ผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่ง
1. “ไม่มี” สารไวท์เทนนิ่งตัวใดเลยที่สามารถ “หยุด” หรือ “ยับยั้ง” หรือ “ตัดการส่งสัญญาณ” ในการผลิตเม็ดสีได้อย่าง “สมบูรณ์แบบ” เฉกเช่นกันเดียวกัน “ยากันแดด” ไม่มีมีตัวใดสามารถปกป้องผิวเราจากรังสี UV ได้ 100% การหลบเลี่ยงแสงแดดและปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตเม็ดสีที่ผิดปกติจึงเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วย

2. “ไม่มี” สารไวท์เทนนิ่งชนิดใดเลยที่สามารถเข้าไปจัดการในทุกกลไกของการผลิตเมลานินได้ในหนึ่งเดียว ผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งหรือชุดบำรุงผิวที่ดีหรือคาดหวังผลได้ ควรจะมีส่วนผสมที่ทำงานในการจัดการกับทุกกลไกในการผลิตเมลานินให้ครอบคลุมทั้ง 5 จุดสำคัญ

3. กระ ฝ้า หรือจุดด่างดำ ไมได้ใช้สารไวท์เทนนิ่งที่แตกต่างกันออกไป เพียงแต่อาจจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของสารไวท์เทนนิ่งที่มากกว่าปกติเท่านั้น

4. กระ ฝ้า หรือจุดด่างดำที่มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ ฮอร์โมน นั้นอาจจะไม่สามารถทำให้หายไปได้ แต่การปกป้องผิวจากรังสี UV ร่วมกับการใช้สารไวท์เทนนิ่งจะช่วยทำให้จางลงหรือไม่เข้มขึ้นได้

5. สารไวท์เทนนิ่ง ไม่สามารถเปลี่ยนสีผิวที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดได้อย่างปลอดภัย (คือคนดำสามารถขาวได้นะ แค่ใช้สารที่เป็นพิษกับเซลล์ผลิตเม็ดสีอย่างรุนแรงจนเซลล์ตายชนิดถาวร ซึ่งไม่มีใครแนะนำให้ทำหรอก)

6.. “รอยดำ” ต่างจาก “รอยแดง” ผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งที่มีคุณสมบัติในการลดการผลิตเมลานิน (ที่เป็นสาเหตุของรอยดำ) จะไม่สามารถช่วยลด “รอยแดง” (ที่เกิดจากการอักเสบของผิว) ได้ แต่สารไวท์เทนนิ่งที่มีคุณสมบติในการลดการอักเสบของผิวอย่าง Vitamin C หรือสารที่มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิวพร้อใลดการอักเสบไปด้วยอย่าง Salicylic Acid (BHA) ก็จะช่วยทั้งลดรอยดำและรอยแดงไปได้พร้อมๆ กัน

7. ผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งที่ดูไม่น่าเชื่อถือ ไม่บอกข้อมูลบนฉลากอย่างครบถ้วนตามกฏหมาย ทาแล้วสิวยุบ ขาวไว อยากให้ระวังเอาไว้เพราะอาจจะใส่สารปรอทซึ่งเป็นพิษกับเซลล์ผิวอย่างรุนแรง อาจจใส่ สเตียรอยด์ที่มีผลกระทบกับผิวในระยะยาวทำให้ผิวอ่อนแอบางลง อาจจะมีการใส่ไฮโดรควินโนน และกรดวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารขึ้นทะเบียนยา (ห้ามใส่ในเครื่องสำอาง) การใช้ไปเรื่อย ๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจเกิดผลข้างเคียงในระยะยาวที่รุนแรงถึงขั้นเสียโฉมได้

8. การที่ผิวคุณมีสีผิวที่อ่อนลง เท่ากับมีปริมาณเมลานินชนิดที่ช่วยดูดซับรังสี UV ตามธรรมชาติน้อยลงด้วย การปกป้องผิจากแสงแดดด้วยการหลบแดด ทากันแดด กางร่มนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้ไวท์เทนนิ่งจะดีกว่า (เปลืองตังเปล่า ๆ )

9. วิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ผิวของเรามีสีผิวสม่ำเสมอ ไม่คล้ำ ก็คือการป้องกันเอาไว้แต่เนิ่น ๆ ด้วยการทากันแดดเป็นประจำ ดูแลเรื่องความชุ่มชื้นให้ดี หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะการระคายเคืองหรือการอักเสบให้กับผิว

10. ควรมีระเบียบวินัยในการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ และให้หาจุด “พอดี” ในการใช้ผลิตภัณฑ์ อย่าจัดหนักหรือยัดทุกอย่างลงไปบนผิวเพียงเพราะหวังจะให้ได้ผลเร็ว เพราะว่าผิวของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีขีดจำกัดในการรับ หรือทนต่อการระคายเคือง การอุดตันไม่เท่ากัน อะไรที่มากไปย่อมส่งผลเสียกับผิวได้