ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มนุษย์พยายามอย่างมากในการที่จะควบคุมธรรมชาติ ต่อสู้กับโรคภัย เอาชนะความเจ็บป่วย เราประกาศชัยชนะต่อโรคระบาด ข้ามขีดจำกัดของร่างกาย เราเปลี่ยนถ่ายปลูกอวัยวะ เราแก้ไขความบกพร่อง เราสร้างสภาพแวดล้อมที่เชื่อว่าจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี เราอยู่ในบ้านและในพื้นที่สะอาดมากขึ้น สารพัดสิ่งที่กินและใช้ถูกล้าง ถูกทำให้ปลอดเชื้อ หรือกำจัดมันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การเช็ด การล้าง สิ่งรอบตัวและร่างกายของเราด้วยสิ่งที่กำจัดแบคทีเรียเป็นสิ่งที่ทั่วไปปฏิบัติกัน แต่ในโลกที่ความเจริญและมาตรฐานการดำรงชีวิตแบบสมัยใหม่เหล่านี้กลับพบปัญหาสุขภาพ ภูมิแพ้ ที่พุ่งสูงขึ้น จนเกิดการตั้งคำถามว่า หรือเรากำลังมาผิดทางกันแน่นะ? ชีวิตในโลกที่สะอาดเกินไปอาจไม่ได้ทำให้เราแข็งแรงขึ้นแต่กลับทำให้อ่อนแอลงรึเปล่า?

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นเราใช้ชีวิตอยู่ร่วมรวมถึงใช้ประโยชน์ของจุลินทรีย์/จุลชีพ (Microorganism) มาโดยตลอดในวัฒนธรรมโบราณ ทว่าความก้าวหน้าที่สำคัญในช่วงศตวรรษที่ 16 เมื่อกล้องจุลทัศน์ทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นโลกของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และหลังจากนั้นในช่วงเวลาหลายร้อยปี มนุษย์ได้เริ่มทำความรู้จักกับจุลินทรีย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และอื่น ๆ โดยรับในแง่มุมที่เลวร้ายว่าสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคภัย แม้ในเวลาต่อมาเราจะมีความเข้าใจมากขึ้นว่าจุลินทรีย์เหล่านี้มีทั้งตัวก่อโรคและตัวที่เป็นประโยชน์ซึ่งสามารถนำมาใช้ทำเป็นยา หรือเป็นหนึ่งส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมอาหารทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการหมักดอง ทำไวน์ เหล่า ขนมปัง และชีส แต่เรามีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของจุลินทรีย์เหล่านี้ดำรงชีวิตของเราอยู่น้อยมากทั้งที่เราอยู่กับมันมาตั้งแต่กำเนิด ต้องขอบคุณความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การวิเคราะห์และเข้าถึงข้อมมูลรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งชีวิตนั้น ๆ (Genome) ที่ทำให้เราได้เริ่มเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเราและจุลินทรีย์ทั้งหมดในร่างกาย ว่ามันมีความสำคัญกับเราอย่างชนิดที่ว่าหากขาดมันไป เราอาจไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ และเมื่อเจาะจงไปที่อวัยวะที่มีนาดใหญ่ที่สุดของเราอย่างผิวหนัง หากขาดหรือเสียสมดุลของจุลชีพเหล่านี้ไปผิวของเราก็จะอ่อนแอและเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้เช่นกัน

มารู้จักกับ Microbiome และ Microbiota

ประชากรจุลิทรีย์หรือจุลชีพที่ตั้งรกรากในร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส ยีสต์ รา เราเรียกว่า Microbiota (เป็นคำใหม่ที่มาใช้แทน Microflora) โดยสามารถแยกย่อยไปตามสถานที่ตั้งรกราก อย่างเช่นในระบบลำไส้ก็เรียก Gut Microbiota บนผิวหนังก็เรียก  Skin Microbiota ส่วน Microbiome การศึกษาเกี่ยวกับจีโนมหรือข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของ Microbiota และความสัมพันธ์ของมันที่มีต่อจีโนมของมนุษย์

จุลินทรีย์เหล่านี้อยู่ร่วมกัน (Coexist) กับมนุษย์เราด้วยความสัมพันธ์ที่ต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดย Microbiota นั้นเปรียบได้ดั่งผืนป่าที่เต็มไปด้วยความหลายหลายทางชีวภาพที่ต้องการพื้นที่ อาหาร อาศัยอยู่ร่วมกัน หรือครอบครองเพื่อแย่งพื้นที่กัน แต่ละพื้นที่ในร่างกายมนุษย์จะมีเอื้อสภาพวะให้กับจุลินทรีย์ต่างชนิด ต่างสายพันธุ์ ให้เติบโตได้ต่างกันไป  จุลินทรีย์ที่อาศัยประจำถิ่นและไม่ก่อให้เกิดโรคจะครอบครองพื้นที่และกันจุลินทรีย์แปลกถิ่นหรือชนิดที่ก่อโรคไม่ให้เข้ามาเพิ่มจำนวนและช่วยปกป้องเราจากการเจ็บป่วยหรือเกิดโรคได้

สังคมของจุลินทรีย์ยังเอื้อประโยชน์ในเชิงของการทำงานของเซลล์และร่างกายของเจ้าของที่อีกด้วย หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับเรื่อง Microbiota โดยเฉพาะกับเรื่องระบบลำไส้และการย่อยอาหารที่มีผลต่อสุขภาพ เพราะแบคทีเรีย จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จะช่วยให้ระบบการย่อยอาหาร รวมไปถึงภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรง และยังส่งผลด้านสุขภาพหลายอย่าง จึงมีการรับประทานอาหารที่มีแบคทีเรียชนิดดีที่ยังมีชีวิตเข้าไปเพื่อหวังให้เพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดีในร่างกาย หรือที่เราเรียกว่า Probiotics ซึ่งอาหารประเภทนี้ได้แก่อาหารที่มีการ ferment อย่างเช่นนมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ นอกจากนี้ยังมีการเสริมอาหารที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดที่ดี อย่างเช่นพวกเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำ กระอะมิโน ซึ่งพบได้ในผัก ผลไม้ และธัญพืช ซึ่งเรียกโดยรวมว่า Prebiotics

Source : Development of the gut microbiota in infancy and its impact on health in later life – Allergology International Volume 66, Issue 4, October 2017, Pages 515-522

การศึกษา Microbiome ทำให้พบว่ามนุษย์เราแต่ละคนมีความหลากหลายของ Microbiota ที่มากน้อยไม่เท่ากัน และมีความเฉพาะตัว(Unique) จนเปรียบเหมือนกับลายนิ้วมือของคน ๆ นั้นเลยก็ว่าได้ แต่ Microbiota ก็สามารถถูกเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ สภาพแวดล้อม การดำเนินชีวิต

ข้อมูลที่น่าสนใจคือการพัฒนาการของ Microbiota ในร่างกายของเราเริ่มตั้งแต่การกำเนิดเลยก็ว่าได้ นักวิจัยพบวิธีให้กำเนิดเด็กทารกนั้นมีผลโดยตรงกับ Microbiota ของทารก โดยการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติเด็กจะได้รับจุลิทรีย์มาจากช่องคลอดของแม่ ทำให้ Microbiota ของเด็กที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติจะถูกครอบครองโดยเชื้อ Lactobacillus กับ Prevotella และ Sneathia เป็นหลัก แต่เด็กที่คลอดด้วยวิธีการผ่า ทารกจะได้รับจุลินทรีย์ที่ติดกับผิวหนังของแม่ ซึ่งจะเป็นเชื้อ Staphylococcus กับ Corynebacterium และ Propionibacterium เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช่วงหลังจากการคลอดก็ยังมีปัจจัยที่สำคัญอย่างเช่นการเลี้ยงด้วยนมแม่ซึ่งนมแม่อาจมีสายพันธุ์ของแบคทีเรียกมากถึง 600 สายพันธุ์และยังไม่นับสารอาหารอื่นๆที่เอื้อต่อการพัฒนาการของแบคทีเรียในระบบลำไส้ของเด็ก อาหารที่เด็กเริ่มกินหลังจากหย่านมแม่ก็ส่งผลต่อการพัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายของ Microbiota ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพในอนาคตของคน ๆ นั้นเอง
(Source : Defining the Human MicrobiomeThe human microbiome: an emerging tool in forensics, Delivery mode shapes the acquisition and structure of the initial microbiota across multiple body habitats in newbornsDevelopment of the human gastrointestinal microbiota and insights from high-throughput sequencing., Development of the gut microbiota in infancy and its impact on health in later life)

Microbiota : You Are What You Live

Microbiota มีความเฉพาะตัวไปในแต่ละคน และการใช้ชีวิต สภาพแวดล้อม สิ่งที่เราสัมผัส สิ่งที่เรากิน ล้วนส่งผลกับการพัฒนาการของระบบนิเวศอันซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วนี้ แน่นอนว่าความเจริญและการใช้ชีวิตสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก (Westernization) นำมาซึ่งความสะดวกสบายและการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้ช่วยชีวิตคนจำนวนมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบกับระบบนิเวศของจุลชีพในร่างกายของเราหรือไม่อย่างไร?

Source : Meta Analysis of Skin Microbiome: New Link between Skin Microbiota Diversity and Skin Health with Proposal to Use This as a Future Mechanism to Determine Whether Cosmetic Products Damage the Skin – Cosmetics 2017, 4(2), 14

ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ที่น่าสนใจที่นำข้อมูล Microbiota ของกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในสภาพสังคมที่แตกต่างกัน จากคนที่อาศัยที่แหล่งที่ห่างไกลจากการเข้าถึงของความเจริญยุคใหม่ คนที่อาสัยอยู่ในชนบท กับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่เข้าถึงความเจริญแบบตะวันตก มาเทียบกันและพบว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลหรือความเจริญสมัยใหม่ยังไม่เข้าถึงนั้น มีความหลากหลายของสายพันธุ์และปริมาณของ Microbiota ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เข้าถึงความเจริญแบบตะวันตก ข้อมูลนี้ยังบอกอีกด้วยว่าในกลุ่มตัวอย่างที่ผิวไม่แข็งแรงหรือมีปัญหาโรคผิวหนัง จะมีความหลากหลายของ Microbiota ที่น้อยกว่าคนที่มีผิวแข็งแรง ไม่ว่าจะเขาจะอยู่ในชนบทก็ตาม

การใช้ชีวิตสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก หรือ Westernization นั้นเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราอยู่อาศัยไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมมากขึ้น อาหารที่เรากินก็เปลี่ยนไปตั้งแต่แต่ในแง่ของสัดส่วนอาหารที่กินเข้าไป มีพืชผักน้อยลง มีโปรตีนและไขมันที่มากขึ้น มีการปรุงแต่งและ process อาหารเพื่อความสะดวก การยืดอายุ การเก็บรักษา หรือแม้แต่เพื่อการลดต้นทุน การดูแลสุขอนามัยของตัวเองที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกำจัดเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ วิธีที่เราคลอดและเลี้ยงดูเด็กทารก ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลกับ Microbiota ของเรา

Source : The Impact of Antibiotics on the Gut Microbiota as Revealed by High Throughput DNA Sequencing – Discov Med 13(70):193-199, March 2012.

ประเด็นเรื่องยาปฏิชีวนะ หรือ Antibiotics เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงกันอย่างมากเพราะการใช้พร่ำเพรื่อและขาดความตระหนักถึงผลกระทบนั้นกำลังก่อปัญหาในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื้อยาและทำให้ทางเลือกในการรักษาโรคติดเชื้อนั้นมีน้อยลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันเราพบเชื้อโรคดื้อยาที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทุกแขนงบนโลกนี้แล้ว และผลกระทบที่คนส่วนใหญ่เจอกันก็คือการที่ยาปฏิชีวนะที่ยิ่งออกฤิทธิ์กว้างก็ยิ่งส่งผลกระทบกับแบคทีเรียหรือเชื้อที่ดีไปด้วย (เป็นเหตุผลที่การกินยาปฏิชีวนะอาจทำให้เกิดเกิดปัญหาท้องเสียเนื่องจากแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ก็ถูกทำลายไปพร้อมกับแทคทีเรียก่อโรค) หรือการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ผิว หรือยาพ่นในช่องปากติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เกิดการติดเชื้อราหรือเชื้ออื่น ๆ ได้เนื่องจากแบคทีเรียชนิดดีประจำถิ่นถูกทำลายจนเปิดช่องให้สายพันธุ์อื่นมาเติบโตแทน

ข้อมูลความหลากหลายของ Microbiota ที่น้อยกว่าของคนที่อาศัยในเมืองทันสมัยเมื่อเทียบกับคนที่ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมห่างไกลความเจริญ กับตัวเลขของปัญหาโรคภูมิแพ้และโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองในกลุ่มคนที่อาศัยในเมืองสมัยใหม่ที่พุ่งสูงขึ้น อาจเป็นสิ่งที่สนับสนุนแนวคิดของ Hygiene Hypothesis หรือสมมุติฐานที่เชื่อว่าการใช้ชีวิตที่สะอาดหรือกลัวเชื้อโรคจนเกินไปนั้นส่งผลให้มนุษย์สัมผัสกับจุลลินทรีย์ทั้งที่ก่อโรคและไม่ก่อโรคน้อยลงอันเป็นผลให้การพัฒนาของระบบภูมิคุ้มกันของร่ายกายไม่ดีเท่าที่ควร

Source : Jim Perkins

ระบบภูมิคุ้มกันของเรามีทั้ง Innate Immune System หรือภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดและไม่มีความจำเพาะ เช่นผิวหนัง เยื่อบุ เยื่อเมือก ความเป็นกรด เป็นด่าง ปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกาย เซลล์บางชนิด ที่มีไว้ป้องกันการรุนรานจากสิ่งไม่พึงประสงค์เข้าสู่ระบบของร่างกาย ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามพันธุกรรมได้ อีกส่วนคือ  Adaptive Immune System หรือภูมิคุ้มกันจำเพาะ ซึ่งสามารถเรียนรู้สิ่งแปลกปลอม ตอบสนอง และจดจำ เพื่อให้ร่างกายสามารถตอบสนองกับสิ่งแปลกปลอมจำเพาะนั้น ๆ ได้ไวขึ้นในอนาคต ซึ่งหลักการของวัคซีนที่ใช้เชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนแรงฉีดเข้าร่างกายก็เพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันจำเพาะได้ทำความรู้จักกับเชื้อโรคนั้นในระดับที่ไม่เป็นอันตรายและสามารถสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้ร่างกายสามารถจัดการกับการติดเชื้อในครั้งต่อไปได้มันท่วงทีจนทำให้ร่างกายไม่เจ็บป่วยได้

Adaptive Immune System  ยิ่งได้รับการเทรนก็จะยิ่งทำให้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถตอบสนองกับสิ่งแปลกปลอมได้หลากหลาย และ Microbiota ที่มีความหลากหลาย ก็มีส่วนสำคัญในการที่จะฝึกสอนและเทรนให้รู้จักว่าสิ่งไหนที่มีประโยชน์และสิ่งไหนที่ควรกำจัดทิ้ง นอกจากนี้เรายังพบว่าพวกแบคทีเรียประจำถิ่นนั้นครอบครองพื้นที่ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอาศัยของตัวเองและขัดขวางการอยู่อาศัยของเชื้อชนิดอื่นหรือแม้แต่ชนิดเดียวกันแต่คนละสายพันธุ์ก็ตาม เช่นการสร้างไบโอฟิลม์ หรือการสร้าง Antimicrobial Peptides หรือสารที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของคู่แข่ง ซึ่งในบางกรณีมันหมายถึงการยับยั้งแบคทีเรียหรือเชื้อที่จะเข้ามาก่อปัญหาหรือก่อโรคให้กับเราได้ การศึกษาในหนูทดลองพบว่าหนูที่กำเนิดถูกเลี้ยงมาในสภาพที่ปราศจากเชื้อจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีและอย่างน้อยในหนูทดลองก็พบว่าแม้จะมาสัมผัสและเทรนระบบภูมิคุ้มกันในภายหลังก็สายไปแล้ว แต่ในมนุษย์จะเป็นแบบเดียวกันหรือไม่เรายังไม่รู้ได้เพราะว่ายังไม่มีการศึกษาแบบนี้ในมนุษย์และคงไม่สามารถทำการทดลองได้เนื่องจากคงติดปัญหาเรื่องจริยธรรมและมนุษยธรรมนั่นแหล่ะ

เรายังต้องการข้อมูลแวดล้อมด้านอื่นเพื่อที่จะยืนยันทฤษฏี Hygiene Hypothesis แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราพอจะสรุปได้คือวิถีชีวิตของเรามีผลกระทบกับความหลากหลากของ Microbiota และความสะอาดที่มากไปก็อาจจะไม่ดีกับสมดุลของ Microbiota รวมไปถึงระบบภูมิค้มกันของเรา และการใช้ยาปฏิชีวนะนั้นส่งผลต่อ Microbiota ที่มีประโยชน์ของเราอย่างมาก แนวคิดในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและสอดประสาไปกับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้จึงเป็นแนวทางในอนาคตที่เราควรจะมุ่งไป

(Source : Meta Analysis of Skin Microbiome: New Link between Skin Microbiota Diversity and Skin Health with Proposal to Use This as a Future Mechanism to Determine Whether Cosmetic Products Damage the SkinThe Impact of the Gut Microbiota on Human Health: An Integrative ViewInteractions between the microbiota and the immune systemThe gut microbiome shapes intestinal immune responses during health and diseaseThe Impact of Antibiotics on the Gut Microbiota as Revealed by High Throughput DNA SequencingRole of the Microbiota in Immunity and inflammation)

Skin Microbiota สมดุลที่กำหนดชะตากรรมของผิว

Source : The Role of Cutaneous Microbiota Harmony in Maintaining a Functional Skin Barrier. – J Drugs Dermatol. 2017 Jan 1;16(1):12-18.

ความสัมพันธ์ของ Microbiota กับผิวหนังของเรานั้นเป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกันแบบ Symbiosis พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในขณะที่มนุษย์ให้ที่อยู่อาศัยกับจุลชีพเหล่านี้ด้วยอาหารและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการอยู่อาศัย เจ้าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่จับจองพื้นหล่านี้ก็นำประโยชน์สู่เจ้าของด้วยเช่นกัน อย่างแรกคือเป็นเหมือนชั้นปราการทางชีวภาพในการปกป้องไม่ให้เชื้อที่อาจก่อโรคเข้ามาเติบโตหรือรุกรานพื้นที่จนก่อปัญหาได้ คอยเทรนให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรงขึ้น สารกลุ่มเอนไซม์ต่าง ๆ ที่แบคทีเรียหลั่งออกมาอาจเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการพัฒนาของผิวโดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้น Stratum Corneum ที่เป็นชั้นปราการปกป้องผิวหรือ Skin Barrier นั่นเอง

ในทางการแพทย์เรารับรู้กันมานานพอสมควรแล้วแหล่ะว่าผิวของเราก็มีเชื้อประจำถิ่นที่ดีเช่นเดียวกันกับในระบบลำไส้ แต่ข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี และข้อจำกัดว่าแบคทีเรียบนผิวของเรานั้นหลายตัวไม่สามารถที่จะเพาะเลี้ยงขึ้นมาได้ทำให้การศึกษาและการตรวจสอบนั้นยังมีช่องโหว่อยู่ แต่เทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงรหัสพันธุกรรมของจุลชีพเหล่านี้ได้มากกว่าแต่ก่อนเผยข้อมูลที่พลิกแนวคิดไปอย่างมากมาย

Source : The skin microbiome – Nat Rev Microbiol. 2011 Apr; 9(4): 244–253.

นักวิทยาศสตรได้พบว่าบนผิวของเราในแต่ละจุดของร่างกาย ก็จะมีความหลากหลายของชนิดและสายพันธุ์ของจุลชีพที่แตกต่างกันไป ซึ่งมักจะสอดคล้องกับสภาวะที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของเชื้อเหล่านี้ เช่นความชื้น แหล่งอาหาร ค่าความเป็นกรดด่าง และแต่ละคนก็จะมี Microbiota ในแต่ละจุดที่มีความหลากหลายที่ต่างกันไป

แม้ว่าแต่ละคนจะมีความหลากหลายและแตกต่างของ Microbiota บนพื้นผิวที่ไม่เหมือนกัน แต่ในกลุ่มของผู้ที่มีปัญหาของผิว อย่างเช่นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง  Atopic Dermatitis โรคสะเก็ดเงิน Psoriasis หรือแม้แต่สิว Acne จะมีความหลากหลายและปริมาณของ Microbiota บนผิวที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เกิดรอยโรค ผิวส่วนที่เกิดรอยโรคจะมีความหลากหลายของ Microbiota ที่ต่ำกว่าและมีสายพันธุ์ที่กระตุ้นให้เกิดโรคหรือการอักเสบในสัดส่วนที่สูงกว่าปกติซึ่งแสดงถึงสมดุลที่เสียไป

Source : Propionibacterium acnes strain populations in the human skin microbiome associated with acne. – J Invest Dermatol. 2013 Sep;133(9):2152-60

การเข้าถึงข้อมูลพันธุกรรมของ Microbiota ก็ยังพลิกความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของจุลชีพด้วยกันเอง ตัวอย่างที่น่าสนใจมากมาจากหนึ่งในแบคทีเรียบนผิวหน้าที่คนทั่วไปอย่างๆ เราน่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุดอย่าง Propionibacterium Acnes หรือ P.Acne ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดการอักเสบของสิวและการกำจัดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการรักษาสิวโดยเฉพาะสิวอักเสบมาอย่างยาวนาน แต่การศึกษาในยุคหลังพบว่าจริง ๆ แล้วคนที่เป็นสิวและไม่เป็นสิวนั้นก็มีเชื้อ P.Acne ยู่ในปริมาณที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่เมื่อลงลึกลงไปในระดับสายพันธุ์ของแบคทีเรียก็จะพบว่า คนที่เป็นสิวจะมีบางสายพันธุ์ของ P.Acne ที่มากกว่า ในขณะที่คนที่ไม่มีปัญหาผิวมีสายพันธุ์นั้นของ P.Acne ที่น้อยกว่า กลายเป็นว่าไม่ใช่เชื้อ P.Acne ทั้งหมดที่เป็นตัวก่อปัญหา และการสร้างสมดุลของสายพันธุ์ P.Acne อาจจะเป็นอีกทางออกของการรักษาสิวก็เป็นได้

Source : Clinical efficacy of emollients in atopic dermatitis patients – relationship with the skin microbiota modification – Clin Cosmet Investig Dermatol. 2017; 10: 25–33.

นอกจากนี้ยังพบว่า การอักเสบของผิวและการอักเสบของสิวนั้น ก็มีเชื้อตัวอื่นที่เข้ามามีบทบาทสำคัญเช่นเชื้อกลุ่ม Staphylococci อย่าง Staphylococcus aureus ที่ก็กระตุ้นการอักเสบผ่านช่องทางของ TLR-2 ได้เช่นกัน และในผู้ป่วยโรคผิวหนังดังกล่าว ในจุดที่มีรอยโรคก็จะพบปริมาณของเชื้อกลุ่ม Staphylococci ที่สูงกว่า แสดงให้เห็นถึงสมดุลของ Microbiota นั้นได้เสียไป แนวทางในการสร้างสมดุลของ Microbiota จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่น่าสนใจในการต่อสู้กับโรคผิวหนังเหล่านี้

แต่บางทีก็อาจจะเร็วไปที่จะสรุปไปเลยว่าเชื้อตัวไหนดี ตัวไหนเลว เพราะจากการหาข้อมูลก็พบว่ามีการให้คามเห็นเรื่องปัญหาในการเปรียบเทียบข้อมูลของการศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับพันธุกรรมของ Microbiota จากในแง่ของการเก็บตัวอย่าง กรรมวิธี การวิเคราะห์ที่ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเป็นสากล รวมไปถึงการปนเปื้อนของตัวอย่างที่อาจทำให้การอ่านค่าที่ได้มีความคลาดเคลื่อน เรายังคงต้องการข้อมูลอีกมากในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในระบบนิเวศที่ซับซ้อนนี้

(Source : The skin microbiomeSkin microbiota: Microbial community structure and its potential association with health and diseaseThe Role of Cutaneous Microbiota Harmony in Maintaining a Functional Skin Barrier.Skin microbiome and acne vulgaris: Staphylococcus, a new actor in acne.A systematic review and meta-analysis on Staphylococcus aureus carriage in psoriasis, acne and rosacea.Propionibacterium acnes strain populations in the human skin microbiome associated with acne. Clinical efficacy of emollients in atopic dermatitis patients – relationship with the skin microbiota modificationPropionibacterium acnes: Disease-Causing Agent or Common Contaminant? Detection in Diverse Patient Samples by Next-Generation SequencingThe effect of probiotics on immune regulation, acne, and photoaging)

Skin Microbiota VS เครื่องสำอาง

อ่านกันมาถึงตรงนี้เราน่าจะเข้าใจตรงกันว่าความหลากหลายและความสมดุลของ Microbiota นั้นเป็นอีกตัวชี้วัดถึงสขภาพของผิว และสภาพแลดล้อมการใช้ชีวิตของเรานั้นมีผลกับ Microbiota ของผิวเราโดยตรง เครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช็ด ล้าง ถู ทา ขัด จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบกับ Microbiota ของเราอย่างแน่นอน แต่จะออกมาในแง่บวกหรือลบก็แล้วแต่กรณีไป

การทำความสะอาด การสัมผัสกับส่วนผสมที่อยู่ในเครื่องสำอาง สารฆ่าเชื้อ นั้นมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ของ Microbiota บนผิวของเราและมีการศึกษาที่เชื่อมโยงสิ่งนี้กับปรากฏการณ์ของปัญหาผิวผื่นภูมิแพ้ที่มากขึ้นในสังคมสมัยใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญและสมดุลอันละเอียดอ่อนของ Microbiota ก็นำไปสู่ยุคใหม่ของเครื่องสำอางที่เคารพและช่วยส่งเสริม Microbiota ของผิวให้แข็งแรงเพื่อประโยชน์ในการดูแลผิวได้เช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญมองว่าทิศทางในอนาคตของเครื่องสำอางจะต้องมีการศึกษาส่วนผสมและผลิตภัณฑ์ในแง่ของผลกระทบที่มีต่อ Microbiota ของผิว ส่วนผสมบางอย่างอาจจะมีผลในแง่ลบกับ Microbiota และส่วนผสมบางอย่างอาจจะมีผลที่ช่วยบำรุง Microbiota ได้และปัจจุบันก็มีการศึกษาในลักษณะนี้ออกมาแ้วเช่นกัน

จากภาพรวมที่เห็นในวงการเครื่องสำอาง การตื่นตัวในแง่ของ Microbiome / Microbiota นั้นจะอยู่กันในหมู่ของนักวิจัย นักพัฒนา และผู้ที่ทำงานในวงการเครื่องสำอาง เห็นได้ชักมากในหัวข้อในงานสัมมนา และส่วนผสมใหม่ ๆ ของซัพพลายเออร์ที่ออกมาในระยะไม่กี่ปีมานี้ ผู้บริโภคในต่างประเทศส่วนหนึ่งก็เริ่มให้ความสำคัญ เริ่มมีแบรนด์ออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้คอนเซปต์ของ Microbiome กันออกมาอยู่บ้าง ส่วนในประเทศไทยนั้นเราเห้นการพูดคุยกันในกลุ่มเล็กของผู้ที่เกี่ยวข้อง ในวงการแพทย์ แต่ในระดับของผู้บริโภคยังมีความตระหนักถึงเรื่องนี้กันอยู่น้อย

Probiotics Skincare VS Prebiotics Skincare

การติดตามข่าวสารผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆจากต่างประเทศเราอาจะได้เห็นเครื่องสำอางบำรุงผิวที่เคลมว่าเป็น  Probiotics Skincare โดยหวังทาลงไปบนผิวแล้วจะไปทำให้สมดุลของแบคทีเรียบนผิวดีและมีความหลากหลายขึ้นจนผิวมีสุขภาพดีขึ้นและอาจแก้ไขปัญหาสิวหรือผิวแพ้อ่อนแอได้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจใช้ส่วนผสมที่ผ่านการหมักบ่มด้วยจุลชีพหรือเป็นสารสกัดจากยีสต์ จากแบคทีเรีย หรืออื่น ๆ แม้ว่าเราจะยังไม่รู้ว่าปลายทางแล้วผลของการทาผลิตภัรฑ์นั้นส่งผลต่อ Microbiota ของผิวอย่างไร แต่การจะเคลมว่าเป็น Probiotics Skincare นั้นก็น่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิด หรือ Misleading เนื่องจากการเป็น Probiotics จะต้องนำแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตไปในพื้นที่นั้นและหวังให้มันไปเจริญเติบโตอยู่ได้ (นึกถึง Probiotics อย่างพวกโยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ ที่จะต้องมีแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นถึงจะเป็นประโยชน์) หรืออย่างน้อยก็อยู่ในสภาวะจำศีล เช่นอาหารเสริมที่เป็นแบคทีเรียชนิดดีในรูปของแห้ง (ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะรอดจากกรดในกระเพาะอาหารไปถึงและเติบโตในลำไส้ได้มากน้อยแค่ไหน) เราต้องไม่ลืมว่าเครื่องสำอางไม่สามารถบรรจุสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ (เป็นเหตุผลว่าทำไมเครื่องสำอาง Stem Cell จริง ๆ ถึงไม่มีอยู่จริง มีแต่เครื่องสำอางที่สกัดสารบางอย่างออกจาก Stem Cell ออกมาใช้ ไม่ได้มีเซลล์ที่มีชีวิตบรรจุอยู่ในผลิตภัณฑ์) และเราก็ไม่อยากให้มีสิ่งมีชีวิตอยู่ในเครื่องสำอางที่เราใช้ เพราะนั่นอาจหมายถึงการเน่าเสียของผลิตภัณฑ์ได้ (เป็นเหตุผลว่าทำไมเครื่องสำอางต้องมีสารกันเสียหรือระบบที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตหรือแพร่กระจายของจุลชีพ หากมีการตรวจพบจุลชีพใด ๆ ในเครื่องสำอางคืองานเข้าฝ่าย QA อย่างรุนแรง)

ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้เองส่วนตัวจึงมีควาเห็นว่า Probiotics Skincare นั้นไม่มีจริงด้วยข้อจำกัดของการทำเครื่องสำอางเอง ไม่มีจุลินทรีย์ที่มีชีวิต หรือจุลินทรีย์ที่มีสภาพสมบูรณ์ถูกนำมาใส่ในเครื่องสำอางบำรุงผิวโดยตั้งใจ (เว้นแต่จะปนเปื้อนมาโดยไม่ตั้งใจ และนั่นเป็นหายนะ) แต่ผลิตภัณฑ์ที่เคลมว่าเป็น Probiotics Skincare นั้นอาจให้ผลดีกับผิวหรือเปล่า ก็เป็นไปได้เพราะว่วนผสมของสารสกัดจากยีสต์ แบคทีเรีย หรือสารที่ได้มาจากการหมักบ่มหลายตัวก็เป็นส่วนผสมที่ดี บางตัวต้านอนุมูลอิสระ บางตัวต้านการอักเสบ บางตัวเสริมความแข็งแรงของชั้นปกป้องผิวได้ (แต่สารสกัดเหล่านั้นก็ไม่นับว่าเป็น Probiotics) และถึงแม้นักวิทยาศาสตร์สามารถนำเสนอรูปแบบของ Probiotics Skincare ได้จริง (อาจจะเป็น Probiotics ในสภาพจำศีลแบบเม็ดหรือผงแห้งที่บรรจุแยกเป็นพิศษ แล้วผสมกับตัวเบสที่มีความชื้นหรือน้ำเพื่อทาหรือพอก) แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ดีก็ได้หากมองในแง่ที่ว่าผิวของแต่ละคนมีความหลากหลายของชนิดและสายพันธุ์ที่เฉพาะตัว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรานำเสนอไปมันจะเข้ากันหรือเหมาะกับทุกคนไป? แล้วถ้าเกิดผิวมีแผลหรือมีส่วนที่ไม่สมบูรณ์มันจะติดเชื้อไหม?

แนวทางที่เป็นไปได้ของเครื่องสำอางและมีอยู่จริงแล้วน่าจะเป็น Prebiotics Skincare ที่ส่วนผสมหรือตัวผลิตภัณฑ์นั้นเอื้อต่อการพัฒนาความหลากหลายและสมดุลของ Microbiota บนผิว เนื่องจากหลักการของ Prebiotics คือการให้สารอาหารที่เหมาะกับการพัฒนาของ Microbiota ซึ่งสารอาหารเหล่านี้อาจมาในรูปของส่วนผสมที่อยู่ในเครื่องสำอางอยู่แล้ว เช่นแร่ธาตุต่าง ๆ หรือสารสกัด โปรตีน เปปไทด์ ที่เป็นไปได้ในการพัฒนาสูตรเครื่องสำอาง

(Source : Meta Analysis of Skin Microbiome: New Link between Skin Microbiota Diversity and Skin Health with Proposal to Use This as a Future Mechanism to Determine Whether Cosmetic Products Damage the SkinThe Role of Cutaneous Microbiota Harmony in Maintaining a Functional Skin Barrier.,

จากทั้งหมดนี้เราคงจะสรุปได้ว่า การคงอยู่ของระบบนิเวศน์ขนาดเล็กในร่างกายและบนพื้นผิวของเรานั้นสำคัญต่อการทำงานและสุขภาพของร่ายกายเรา และวิถีชีวิตแบบยุคสมัยใหม่โดยขาดความเข้าใจและขาดความเคารพในสมดุลของสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพที่พุ่งสูงขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน เราต้องเปลี่ยนแนวคิดและรู้จักที่อยู่ร่วมกับเพื่อนตัวจิ๋วเหล่านี้อยู่ถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยเริ่มต้นจากหาจุดสมดุลที่พอเหมาะในการใช้ชีวิต ความสะอาดที่มากเกินพอดีก็ทำให้สมดุลเสียระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่ก้ไม่ใช่จู่ๆ  จะเปลี่ยนปุปปัปหักดิบไปกระโดดโคลนตมหวังว่าจะให้ร่างกายแข็งแรงกันในวันนี้พรุ่งนี้ ระบบภูมิคุ้มกันของเราอาสัยการเรียนรู้และการพัฒนา มันต้องใช้เวลาอยู่เหมือนกัน

สิ่งสำคัญคือการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือต้านจุลชีพที่เราต้องระมัดระวังและไม่ควรใช้พร่ำเพื่อแบบที่เคยเป็นมาเพราะมันส่งผลกระทบกับ Microbiota เราอย่างจริงจัง เจ็บคอ เป็นหวัด ไม่ได้แปลว่าต้องกินยาปฏิชีวนะเสมอไปเพราะมันไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเสมอไป บางทีติดไวรัสแต่กินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียไปก็ไมไ่ด้ช่วยให้หายไวขึ้นแต่เชื้อแบคทีเรียที่ดีกลับซวย ตายงง ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด

และสำหรับเครื่องสำอางที่เราใช้บนผิวแล้วนั้น รู้กันไหมว่าโดยปกติแล้วเราไม่มีความจำเป็นต้องทำความสะอาดผิวด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีสารกำจัดแบคทีเรียเลยเพราะในสภาพการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันมันไม่มีผลแตกต่างกับสบู่ที่ไม่มีสารกำจัดเชื้อแบคทีเรียเลยล่ะ!!!

รู้อย่างนี้แล้ว ถ้ารักผิว ก็ต้องดูแล Microbiota ให้ดีนะจ๊ะ