ในระยะไม่กี่ปีมานี้กระแสของผลิตภัณฑ์ที่เคลมว่าปกป้องผิวจากผลกระทบของแสงสีฟ้าหรือแสงที่มองเห็นได้ (Visible Light) เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเหมือนว่านับวันทุกสิ่งอย่างรอบตัวเราดูจะสามารถทำร้ายผิวไปได้เสียทั้งหมด แต่ก่อนที่เราจะรีบปิดหลอดไฟทุกดวงในบ้าน หรือปรี่วิ่งกระโจนเข้าใส่ผลิตภัณฑ์ที่เคลมไว้อย่างอลังการเหล่านั้น เราควรมีความเข้าใจเสียก่อนว่า เจ้าแสงสีฟ้าหรือแสงที่มองเห็นได้นี้ มันทำร้ายผิวได้จริง? ผลิตภัณฑ์ที่เคลมว่าปกป้องผิวได้มันมีประสิทธิภาพแค่ไหน? และมันคุ้มค่ากับการที่เราจะลงทุนหรือไม่กันเสียก่อน

อะไรคือ Visible Light?

เป็นที่รู้กันมาอย่างยาวนานแล้วว่ารังสี UV หรือ Ultraviolet (ในที่นี้จะพูดถึง UVB-UVA) ซึ่งมีช่วงคลื่นที่ 290 – 400 นาโนเมตร นั้นทำร้ายผิวและส่งผลเสียนานับประการ และแม้ว่ารังสี UV จะเป็นเพียงพลังงานเพียง 3-7% ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่เราได้รับจากสิ่งที่แผ่มาโดยดวงอาทิตย์ แต่ UV ก็เป็นสาเหตุของปัญหาผิวกว่า 80% เลยทีเดียว

พลังงานที่เราได้รับจากแสงแดดอีกกว่า 44% นั้นคือช่วงคลื่นของ Visible Light ซึ่งอยู่ในช่วงคลื่น 400 – 700 นาโนเมตร ซึ่งมันก็คือแสงสีรุ้ง 7 สีไล่จากโทน ม่วง – คราม – น้ำเงิน – เขียว – เหลือง – แสด – แดง ที่เรามองเห็นได้เวลาเกิดรุ้งกินน้ำ หรือการแยกช่วงแสงด้วยการตกกระทบของปริซึมในชั่วโมงเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่เราจะมาทำความเข้าใจกันในบทความนี้อย่างเข้มข้น

แสงสีฟ้า Blue Light หรือมักถูกเรียกว่า High-Energy Visible Light (HEV) นั้นคือช่วงคลื่นที่ 400-450 นาโนเมตร (บางตำราก็บอกว่าถึง 500 นาโนเมตร) ซึ่งใกล้กับช่วงของ UVA-I มาก มีโอกาสก่อความเสียหายกับผิวได้สูง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงคลื่นที่สารกันแดดที่เราใช้กันทั่วไปส่วนใหญ่ไม่สามารถป้องกันหรือดูดซับไว้ได้ จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

พลังงานส่วนที่เหลือกว่า 53% คือรังสีอินฟาเรด Infrared ที่มีช่วงคลื่นตั้งแต่ 700 นาโนเมตร ถึง 1000000 นาโนเมตร (หรือ 1 มิลลิเมตร) พลังงานในช่วงคลื่นนี้สร้างความร้อนและเป็นสิ่งที่เราได้รับมากที่สุดในแต่ละวัน และเป็นช่วงคลื่นที่ทะลุทะลวงได้มากสุด

คลื่นทั้งสามกลุ่มที่ว่ามานี้ล้วนก่อให้เกิดผลในแง่ลบกับผิวได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่ออนุมูลอิสระและการทำร้ายเซลล์ในระดับที่ลึกไปต่างกัน จากข้อมูลเราจะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าคลื่นที่รุนแรงแต่ทะลุทะลวงต่ำแถมเรายังเจอในปริมาณที่น้อยเพียง 3-7% ของปริมาณพลังงานจากดวงอาทิตย์ทั้งหมดอย่างรังสี UV กลับเป็นสาเหตุของความเสียหายของผิวกว่า 80% ซึ่งการศึกษาที่น่าสนใจพบว่า เมื่อเราเผชิญกับแสงแดดและเกิดความเสียหายในระดับเซลล์ขึ้นนั้น กว่า 50% ของอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากรังสี UV และรองลงมาคือ Visible Light ตามมาด้วยคลื่น Infrared

จริง ๆ แล้วนักวิทยาศาสตร์รู้ถึงผลกระทบของ Visible Light ว่ามีผลเสียกับผิวมาอย่างนานหลายสิบปีแล้ว แต่เหตุผลที่มันถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลังมานี้เนื่องจากชีวิตประจำวันของคนเราอยู่กับแหล่งแสงประดิษฐ์มากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นแสงจากหลอดไฟ ทีวี จอคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์โฟน แทปเลต ที่เรามักถือใกล้กับผิวหน้าเพียงหนึ่งฟุตหรืออาจจะน้อยกว่าก็สร้างความกังวลให้กับพวกเราว่าแสงเหล่านี้จะก่อปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงปัญหาผิวได้  ประจวบเหมาะกับการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครื่องสำอางและความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อการปกป้องผิวจากรังสี UV กันอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องหาแง่มุมอื่นเพื่อสร้างความน่าสนใจเป็นจุดขายที่แตกต่างหรือเหนือกว่าให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ภัยจากแสงสีฟ้าจึงเข้ามาตอบโจทย์ทางการตลาดในจังหวะที่ทุกอย่างลงตัว และจึงเป็นที่มาของบทความที่ทุกคนกำลังอ่านกันอยู่นี้

(Source : The Skin Aging Exposome, Free Radicals Induced by Sunlight in Different Spectral Regions – In Vivo Versus Ex Vivo Study, Textbook of Cosmetic Dermatology – 5th Edition ; Photodamage: Protection)


ด้านมืดของแสงสว่าง : เมื่อ Visible Light สามารถทำร้ายผิวได้คล้ายกับรังสี UV

เราได้ยินเรื่องการพูดถึงผลกระทบของแสงสีฟ้าที่อาจมีต่อดวงตากันมามากพอสมควรแล้วและปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ของผู้เชี่ยวชาญว่ามันอันตรายกับดวงตามากขนาดนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าแสงสีฟ้ามันก็น่าจะมีผลกระทบกับดวงตาจริง แต่สิ่งที่กระทบกับดวงตามากที่สุดคือการใช้สายตาอย่างต่อเนื่องมากเกินไปต่อให้ไม่มีแสงสีฟ้าก็ตาม

สำหรับวงการความงามนั้นแม้ว่าการศึกษาถึงผลกระทบของแสงที่มองเห็นได้หรือ Visible Light ที่มีต่อผิวพรรณนั้นจะมีออกมาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการศึกษาของผลกระทบที่มาจากรังสี UV แต่การศึกษาที่ออกมาในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านค่อนข้างสรุปไปในทางเดียวกันว่า Visible Light โดยเฉพาะในช่วงคลื่นของ High-Energy Visible Light (HEV) หรือแสงสีฟ้า (Blue Light) นั้นมีผลกระทบในแง่ลบกับผิวจริง ไม่ว่าจะเป็นการก่ออนุมูลอิสระโดยเฉพาะ Reactive Oxygen Species (ROS) และยังรวมไปถึงกระตุ้นกลไกการอักเสบ และรวมไปถึงการเกิด Photodamage ที่เร่งการเกิดริ้วรอยก่อนวัย และความหมองคล้ำของผิวด้วย

จากข้อมูลที่หามาได้ทั้งการศึกษาที่ทดสอบในเซลล์กับผิวหนังเพาะเลี้ยงรวมไปจนถึงกับมนุษย์ พบว่า Visible Light กระตุ้นกลไกการอักเสบ และเอนไซม์ที่ทำลายคอลลาเจนอย่าง MMP-1 รวมไปถึงการลดการแสดงออกของ Type-I Procollagen อีกด้วย ซึ่งโมเลกุลต่าง ๆ เหล่านี้มักถูกนำมาใช้เป็น marker หรือตัวชี้วัดในการเคลมถึงประสิทธิภาพของเครื่องสำอางในการปกป้องผิวจากผลกระทบของ Visible Light

การศึกษาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างคลื่นที่พีคในช่วง 385 นาโนเมตร ซึ่งอยู่ในช่วงของปลาย UVA1 อันเป็นจุดบอดของสารกันแดดที่ใช้ในปัจจุบัน เทียบกับช่วงคลื่นพีคที่ 405 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงของ Blue Light ที่มีพลังสูงมากเพราะใกล้กับคลืนของ UVA สุด และพบว่าทั้งสองช่วงนี้ต่างก็มีผลกระทบกับผิว มีการเพิ่มขึ้นของ marker หรือตัวชี้วัดว่าเกิดความเสียหายของผิว แต่ช่วงคลื่นของปลายของ UVA1 ก็ยังก่อความเสียหายมากกว่าช่วงต้นของ Blue Light เป็นส่วนใหญ่

[สรุป]

Visible Light โดยเฉพาะ HEV/Blue Light นั้นก่อให้เกิดความเสียหายกับผิว ทั้งในแง่ของอนุมูลอิสระ การอักเสบ และโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดริ้วรอยก่อนวัยได้คล้ายกับรังสี UV  และ UV มีความรุนแรงมากกว่า HEV/Blue Light ในการก่อความเสียหายกับผิว

(Source : Infrared Plus Visible Light and Heat From Natural Sunlight Participate in the Expression of MMPs and Type I Procollagen as Well as Infiltration of Inflammatory Cell in Human Skin in Vivo, Irradiation of Skin with Visible Light Induces Reactive Oxygen Species and Matrix-Degrading Enzymes, The UV/Visible Radiation Boundary Region (385–405nm) Damages Skin Cells and Induces “dark” Cyclobutane Pyrimidine Dimers in Human Skin in vivo, Blue Light-Induced Oxidative Stress in Live Skin)


Visible Light ทำให้ผิวหมองคล้ำได้จริงหรือไม่?

เป็นที่ทราบกันดีว่าเม็ดสีเมลานิน เป็นสิ่งที่เซลล์เมลาโนไซต์สร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายจากรังสี UV แต่การศึกษาก็ชี้ว่า Visible Light โดยเฉพาะช่วงคลื่น HEV /  Blue Light นั้นกระตุ้นการเพิ่มขึ้นของเมลานินคล้ายกับรังสี UV แต่มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ในรายละเอียดอยู่บ้าง

ความเข้าใจโดยพื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการสร้างเมลานิน (Melanogenesis) ที่เราเข้าใจกันก็คือ เมื่อผิวเจอกับแสงแดด (ซึ่งมีทั้ง UV / Visible Light) จนถูกทำร้าย เซลล์เกิดความเสียหาย มีการส่งสัญญาณจากเซลล์ผิวไปยังเซลล์เมลาโนไซต์ เพื่อเริ่มกระบวนการ Melanogenesis ในการสร้างถุงเม็ดสี สังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน และส่งผ่านเข้าไปยังเซลล์ผิวเพื่อปกป้องผิว

แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่ทราบคือกว่ากระบวนการ Melanogenesis จะเกิดขึ้นนั้นใช้เวลาประมาณ 2 – 3 วันหลังจากที่ผิวสัมผัสกับแสงแดดจนเสียหาย ซึ่งเราเรียกว่า Delayed Tanning เป็นการสร้างเม็ดสีขึ้นมาใหม่ และความหมองคล้ำที่เกิดขึ้นนั้นก็อยู่ยั่งยืนนานหลักหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน หากการสร้างเม็ดสีมีความผิดปกติมากก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Hyperpigmentation เป็นฝ้า กระ จุดด่างดำ โดยปัจจุบันก็มีการค้นพบกลไกใหม่ ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามรูปที่แปะให้ดูด้านบนซึ่งปูเป้บอกตามตรงว่าส่วนตัวก็จำได้ไม่หมดเหมือนกัน และปูเป้คิดว่าสำหรับผู้บริโภคทั่วไปอย่างเรา ๆ นั้นก็ไม่จำเป็นต้องจำหรือรู้เยอะขนาดนั้นด้วย แค่อยากเอามาให้ดูว่าในช่วงเวลาแค่ 10 ปี ที่ผ่านมา โลกเราไปไกลม๊ากกกกกกกกก

ความหมองคล้ำอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในทันทีหลังจากที่เจอแสงแดดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยการสังเคราะห์เมลานินใหม่ แต่มาจากการที่สาร Pre Melenin ที่ยังคงมีความใสซึ่งมีการกระจายตัวอยู่ในชั้นผิวอยู่แล้วนั้นเกิดการออกซิเดชั่นจนกลายเป็นสีเข้มขึ้นเมื่อผิวเจอกับแสงแดดและเกิดความเสียหายอันมาจากอนุมูลอิสระ ซึ่งก็แบ่งเป็นอีก 2 ประเภท เริ่มที่ Immediate Pigment Darkening (IPD) เป็นความหมองคล้ำโทนสี เทา-ดำ ที่เกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที แต่คงอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จางหายไป แต่หากเจอพลังงานที่มากขึ้น ผิวมีความเสียหายจากอนุมูลอิสระมากขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือ Persistent Pigment Darkening (PPD) ซึ่งก็มีการเกิดแบบเดียวกับ IPD เพียงแต่จะเป็นความหมองคล้ำโทนน้ำตาล ซึ่งจะเกิดขึ้นในไม่กี่ชั่วโมงและจางไปภายใน 24 ชั่วโมง หรืออย่างมากก็ไม่กี่วัน โดยการเกิด PPD นี้ถูกใช้ในการวัดประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสี UVA ของผลิตภัณฑ์กันแดดอีกด้วย (เพราะว่า UVB ไม่กระตุ้น IPD และ PPD)

การเกิดความหมองคล้ำทั้ง 3 แบบนี้ถูกกระตุ้นด้วยช่วงคลื่นขอรังสี UV และ Visible Light ที่ต่างกันไป และยังมีปัจจัยเกี่ยวกับพื้นฐานความเข้มของสีผิวตามมาตรฐานของ Fitzpatrick Scale อีกด้วย จึงขออธิบายก่อนว่าโดยปกติแล้วคนเอเชียผิวโทนขาวแบบญี่ปุ่นหรือจีนจะอยู่ที่ Skin Type 2-3 (II-III) ส่วนคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไทยผิวสีน้ำผึ้งไล่ไปจนคนเอเชียใต้ที่ผิวเข้ม จะอยู่ที่ Skin Type 4-6 (IV – VI)

ช่วงพีคของคลื่นที่กระตุ้นการเกิด Immediate Pigment Darkening (IPD) อยู่ที่ 380 – 500 นาโนเมตร ซึ่งอยู่ในช่วงของ UVA1 และ HEV / Blue Light การศึกษาที่ทำในกลุ่มคนเอเชียที่มีผิวน้ำผึ้งและผิวเข้ม (Type IV -V) พบว่ารังสี UV และ Visible Light กระตุ้นให้เกิด IPD ไม่ต่างกัน

ในส่วนของ Persistent Pigment Darkening (PPD) เป็นที่ทราบกันแต่เดิมว่า UVA สามารถกระตุ้น PPD ได้ แต่ปัจจุบันเราทราบแล้วว่า Visible Light ก็สามารถกระตุ้น PPD ได้โดยเฉพาะกับผิวระดับ IV–VI

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า UVA สามารถกระตุ้นให้เกิด PPD ได้มากกว่า Visible Light อย่างมีนัยสำคัญ และโดยรวมเมื่อเทียบในค่าพลังงานที่เท่ากันนั้น รังสี UV มีผลต่อการกระตุ้นความหมองคล้ำได้มากกว่า Visible Light ถึง 25 เท่าเลยทีเดียว

ส่วน Delayed Tanning นั้นถูกกระตุ้นได้โดยทั้ง UVB กับ UVA รวมไปถึง Visible Light แต่มีรายละเอียดที่ต่างกัน โดย UVB ซึ่งจะก่อให้เกิดการแดงอักเสบของผิว (Erythema) นั้นจะก่อให้เกิด Delayed Tanning ได้มากกว่า UVA

ส่วน Visible Light ก็สามารถกระตุ้นให้เกิด Delayed Tanning ได้เช่นกัน แต่ว่ามันจะเกิดกับคนที่มีโทนผิวเข้มระดับ IV–VI  นอกจากนี้ Visible Light ความเข้มข้นสูงยังทำให้เกิดการแดงของผิว (Erythema) กับโทนผิวเหล่านี้ได้ด้วยเพราะปริมาณเมลานินในผิวยิ่งหนาแน่น ผิวยิ่งสีเข้ม ก็ดูดแสงมากกว่าจึงสามารถเกิดความร้อนได้มากขึ้นตาม

สำหรับคนที่มีผิวโทนอ่อน มีการศึกษาที่ทดลองกับผิวคนคอเคเชียนผิวขาว โทนผิวระดับ II และพบว่า Visible Light ไม่สามารถทำให้เกิด Delayed Tanning และไม่เกิดการแดงของผิว แม้จะเจอในความเข้มข้นสูงมากก็ตาม

การศึกษายังเผยให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกช่วงคลื่นของ Visible Light ที่จะส่งผลในการสร้างเม็ดสีที่เท่ากัน ในการศึกษาหนึ่งได้เปรียบเทียบ HEV / Blue Light ที่ 415 นาโนเมตร กับแสงสีแดงในช่วง 630 นาโนเมตร พบว่าแสงสีแดงมีผลต่อการเกิดความหมองคล้ำไม่มากนัก ในขณะที่แสงสีฟ้าสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างเมลานินได้อย่างชัดเจน ซึ่งการศึกษาอื่นในเวลาต่อมาพบว่าแสงสีฟ้าอาจกระตุ้นการสร้างเมลานินผ่านกลไกของที่ค้นพบใหม่อย่าง Opsin-3 ที่กระจายอยู่ในเซลล์เมลาโนไซต์ของชั้นผิว ซึ่งกลไกนี้แตกต่างจากเมลานินที่ถูกกระตุ้นโดย UVB และไม่เกี่ยวข้องกับอนุมูลอิสระ ทำให้สารต้านอนุมูลอิสระทั่วไปอาจไม่ได้ผลในการลดการเกิดความหมองคล้ำที่เกิดจากกลไกที่พบใหม่นี้ แม้ปัจจุบันเรายังไม่เข้าใจการทำงานของมันเท่าไหร่ แต่ที่แน่ ๆ คือคนที่มีโทนผิวเข้มระดับ IV–VI จะได้รับผลตรงนี้มากกว่าคนที่มีผิวโทนอ่อน

[สรุป] 

Visible Light โดยเฉพาะในช่วงของ HEV / Blue Light นั้นสามารถกระตุ้นความหมองคล้ำทั้ง IPD กับ PPD และ Delayed Tanning ได้เหมือนกับรังสี UV โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่มีโทนผิวสีเข้มตาม Fitzpatrick Scale Type 4-6 (IV – VI) จะถูกกระตุ้นโดย Visible Light – HEV / Blue Light ได้มากกว่าผู้ที่มีผิวสีอ่อน และรังสี UV ยังมีความรุนแรงในการกระตุ้นมากกว่าถึง 25 เท่าเมื่อเทียบกับปริมาณพลังงานที่เท่ากัน นอกจากนี้ HEV / Blue Light ยังทำให้เกิดความหมองคล้ำผ่านกลไกที่ค้นพบใหม่อย่าง Opsin-3 ที่ต่างจากรังสี UV แต่ยังต้องมีการศึกษาในรายละเอียดมากกว่านี้

(Source : Intrinsic and extrinsic regulation of human skin melanogenesis and pigmentation, Are there mechanistic differences between ultraviolet and visible radiation induced skin pigmentation?, Regulation of human skin pigmentation and responses to ultraviolet radiation, Effects of ultraviolet radiation, visible light, and infrared radiation on erythema and pigmentation: a review, Involvement of Photooxidation of Melanogenic Precursors in Prolonged Pigmentation Induced by Ultraviolet A, Impact of Long-Wavelength UVA and Visible Light on Melanocompetent Skin, Visible Light Induces Melanogenesis in Human Skin through a Photoadaptive Response, Sun Protection Factors in Evaluation of Sunscreen Potency: The Persistent Pigment Darkening Method, Sunscreens: A review, Immediate pigment darkening and persistent pigment darkening as means of measuring the ultraviolet A protection factor in vivo: a comparative study, Differences in Visible Light-Induced Pigmentation According to Wavelengths: A Clinical and Histological Study in Comparison With UVB Exposure, Melanocytes Sense Blue Light and Regulate Pigmentation Through Opsin-3, Human nonvisual opsin 3 regulates pigmentation of epidermal melanocytes through functional interaction with melanocortin 1 receptor, Differences in visible light‐induced pigmentation according to wavelengths: a clinical and histological study in comparison with UVB exposure)


สารกันแดดมาตรฐานส่วนใหญ่ไม่สามารถป้องกัน Visible Light / Blue Light ได้

สิ่งที่เราใช้ในการปกป้องผิวจากผลกระทบจากพลังงานของดวงอาทิตย์มาอย่างยาวนานคือผลิตภัณฑ์กันแดด หรือ Sunscreen ซึ่งประกอบไปด้วยสารกันแดดที่แบ่งเป็นสองกลุ่มหลักอย่าง Chemical Sunscreen (Organic Sunscreen) ที่ดูดซับรังสี UV ในช่วงคลื่นจำเพาะของสารแต่ละชนิด กับ Physical Sunscreen (Inorganic Sunscreen) ซึ่งเป็นแร่ธาตุอย่าง Titanium Dioxide และ Zinc Oxide ที่โดยทั่วไปเราเข้าใจว่ามันจะทำหน้าที่ในการกระเจิง สะท้อนรังสีออกไปเป็นหลัก โดยขนาดของอานุภาคแร่ธาตุมีผลต่อช่วงคลื่นที่สามารถสะท้อนได้

แต่ข้อมูลใหม่ ชี้ว่ากลไกสำคัญของสารกลุ่ม Physical Sunscreen ในการปกป้องผิวจากรังสี UV นั้นก็ใช้คุณสมบัติในการดูดซับมากกว่าการสะท้อนออกไปอย่างที่เคยเข้าใจกัน และมีการเสนอในวงวิชาการว่าเราควรเปลี่ยนชื่อจาก Physical Sunscreen ไปเป็น Insoluble Sunscreen มากกว่า (แต่ในบทความนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความความสับสน เราจะขอใช้คำว่า Physical Sunscreen ไปก่อน)

สารกันแดดกลุ่ม Chemical Sunscreen (Organic Sunscreen) นั้นเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายเนื่องจากสารกลุ่มนี้มีความใส ไม่ก่อความทึบบนผิว จึงใช้ได้ง่ายกับทุกสภาพผิว มีตัวเลือกหลากหลายชนิดตามแต่คุณสมบัติ ข้อจำกัด และต้นทุนของผลิตภัณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยสารกันแดดในกลุ่มนี้แต่ละสามารถดูดซับรังสี UV ในช่วงคลื่นที่แตกต่างกันไป บางตัวดูดซับได้แค่ UVB บางตัวได้แค่ UVA หรือตัวที่เลิศสุด ๆ อย่าง Tinosorb S (Bis-Ethylhexyloxyphenol Methoxyphenyl Triazine) ที่เป็น Broad Spectrum หรือปกป้องผิวได้ครบทั้ง UVBUVA (อิงตามมาตรฐานของ FDA ที่กำหนดว่าต้องมี Critical Wavelength ที่ 370 นาโนเมตร) แต่กระนั้นแล้วในปัจจุบันเราก็ยังไม่มีสารกันแดดในกลุ่ม Chemical Sunscreen  ตัวใดเลยที่สามารถปกป้องผิวจาก Visible Light ได้ (อันที่จริงต้องบอกว่าแค่ช่วงปลายของรังสี UVA ที่ 380 นาโนเมตรขึ้นไปก็เป็นจุดบอดที่สารกันแดดจำนวนน้อยมากในปัจจุบันที่จะดูแลจุดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

สารกันแดดกลุ่ม Physical Sunscreen ที่นิยมใช้อย่าง Titanium Dioxide และ Zinc Oxide ถูกศึกษาในแง่ของการนำมาใช้เพื่อปกป้องผิวจาก Visible Light กันมาอย่างยาวนานทีเดียวเนื่องจากคุณสมบัติของตัวมันเองสามารถสะท้อนช่วงคลื่นได้มากถึง 700 นาโนเมตร แต่ทว่าในโลกของความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้นเนื่องจากคุณการสะท้อนช่วงคลื่นของ Visible Light ได้นั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ Titanium Dioxide และ Zinc Oxide เห็นเป็นสีขาว และยิ่งสะท้อน Visible Light ได้มากเท่าไหร่ยิ่งมีความทึบมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งความขาวและทึบของมันนี้ถูกใช้เพื่อเป็นพิกเมนต์หรือ Opacifying Agent ที่ทำให้เกิดความทึบหรือการปกปิดบนพื้นผิวสารพัด ตั้งแต่คุณสมบัติในการปกปิดของเมคอัพอย่างรองพื้นและคอนซีลเลอร์ ไปยันการปกปิดพื้นผิวของสีทาบ้าน

เทคโนโลยีอันก้าวหน้าและการศึกษาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้เราทราบว่า Titanium Dioxide และ Zinc Oxide นี้มีคุณสมบัติที่ต่างไปตามขนาดอานุภาค เมื่อเราย่อขนาดมันให้เล็กลง มันจะมีคุณสมบัติในการดูดซับและสะท้อนรังสีในช่วงของ UV ที่สูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามก็จะสะท้อนคลื่นแสงในช่วงของ Visible Light ได้น้อยลงจนถึงขั้นที่ดูเกือบโปร่งใสได้  การมีตัวเลือกของอานุภาคของ Physical Sunscreen ที่เล็กลงในระดับนาโนคือเหตุผลที่ทำให้ปัจจุบันเราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีเนื้อที่นวลเนียน เข้ากับผิวได้ง่าย และไม่ทำให้หน้าขาวลอยวอกเป็นเกอิชาเหมือนสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ในขณะเดียวกันนั่นก็หมายความว่ามันเสียคุณสมบัติในการปกป้องผิวของเราจากพวก Visible Light ไปเยอะด้วยนั่นเอง

จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าขนาดอานุภาคเล็กไปก็ไม่ใช่จะดี แม้จะโปร่งจนบางใสแต่คุณสมบัติในการกันรังสี UV ก็จะน้อยลงอย่างมาก แต่ถ้าขนาดใหญ่ไปก็จะสะท้อน Visible Light มากไปจนทำให้ดูขาววอกได้ง่ายเมื่อทาลงบนผิวซึ่งไม่เหมาะกับการใช้งานจริงเนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคใช้กันแดดในปริมาณที่น้อยกว่ามาตรฐานที่ควรจะใช้ (1 ช้อนชา ทั่วใบหน้า) จนได้ประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสี UV น้อยกว่าที่ควรจะได้ โดยการศึกษาชี้ว่าขนาดอานุภาคที่ 40 – 60 นาโนเมตรเป็นอะไรที่สมดุลดี และนอกจากนี้การเคลือบพื้นผิว (Surface Treating / Coating) ก็มีผลต่อคุณสมบัติเหล่านี้เช่นกัน

[สรุป]

สารกันแดดแบบ Chemical Sunscreen (Organic Sunscreen) ที่มีในปัจจุบันไม่สามารถปกป้องผิวจาก Visible Light ได้  ส่วนสารกลุ่ม Physical Sunscreen (Inorganic Sunscreen) แม้โดยตัววัสดุดั้งเดิมจะสามารถสะท้อนคลื่นได้กว้างมากและดูจะสามารถสะท้อนปกป้องผิวจาก Visible Light ได้ แต่ไม่สามารถเอามาใช้งานได้ในชีวิตจริง และแม้การย่อขนาดโมเลกุลลงจะทำให้มันใช้งานได้โดยลดความขาวลอยบนผิวแต่ก็ลดประสิทธิภาพในการสะท้อนช่วงแสง Visible Light ไปเช่นกัน วงการเครื่องสำอางจึงต้องหากลวิธีในการทำให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองสามารถมีเคลมหรือโฆษณาถึงคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าหรือ Visible Light ได้โดยที่ยังสามารถใช้ทาในชีวิตประจำวันได้อยู่ ไม่ใช่ทาแล้วหน้าขาววอกเป็นผีจูออน

(Source : Irradiation of Skin with Visible Light Induces Reactive Oxygen Species and Matrix-Degrading Enzymes, Metal oxide sunscreens protect skin by absorption, not by reflection or scattering, The New Sunscreens among Formulation Strategy, Stability Issues, Changing Norms, Safety and Efficacy Evaluations, Effects of particle size, surface coating, and color of titanium dioxide and iron oxides on their ability to protect against UV and blue/visible light)


ทำความเข้าใจคำเคลมการปกป้องผิวจาก Blue Light / HEV ในเครื่องสำอาง

การจะเคลมหรือโฆษณาประสิทธิภาพใด ๆ ก็ตามของเครื่องสำอางลงบนฉลากของผลิตภัณฑ์หรือบนสื่อโฆษณาในหลาย ๆ ประเทศรวมถึงในประเทศไทยนั้น จำเป็นจะต้องมีการยื่นเอกสารแนบตามที่ระเบียบกำหนดไว้โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศนั้น ๆ เพื่อให้คำเคลมคำโฆษณาที่จะใช้นั้นมีอะไรรองรับบ้างไม่ใช่อยากจะเขียนจะเคลมอะไรก็มโนแต่งเติมสาดมันเข้าไป ซึ่งแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่ทำถูกต้องตามกฏหมายก็จะรู้ตัวดีว่าจะพูดจะเคลมอะไรก็ลำบาก ไม่งั้นวันดีคืนดีจะมีหมายศาลส่งมาถึงบริษัทได้เพราะข้อหาโฆษณาเกินจริงหรือผิดกฏหมายเครื่องสำอาง ดังนั้นผลิตภัณฑ์อะไรที่เคลมได้เว่อวังอลังการจนดูดีเกินกว่าจะเป็นจริงได้ เรามั่นใจได้เลยว่าคำเคลมพวกนั้นไม่ได้ผ่านมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างแน่นอน

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สกินแคร์บำรุงผิว มากมายที่เคลมว่าสามารถปกป้องผิวหรือลดผลกระทบจากแสงสีฟ้าเหล่านี้ได้อยู่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์กลุ่ม Sunscreen และโดยหลักการทำงานแล้วปูเป้จำแนกมันออกเป็น 2 กลุ่มหลักดังนี้

1. HEV Blue Light Scattering / Absorbing

อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่าช่วงคลื่นของแสงสว่างที่มีความรุนแรงที่สุดอยู่ในช่วงของแสงสีฟ้า และส่วนผสมที่สามารถปกป้องผิวจากช่วงคลื่นตรงนี้ได้อย่างสารกลุ่ม Physical Sunscreen (Inorganic Sunscreen) ที่สามารถใช้งานในชีวิตประวันได้จริง ไม่ทำให้ผิวดูขาวลอยจนเกินไปนั้นจะต้องถูกย่อขนาดลงมาในระดับนาโนซึ่งส่งผลต่อการสะท้อนช่วงคลื่นของแสงได้น้อยลง นี่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นการปกป้องผิวจากแสงได้ตลอดทั้งช่วงของ Visible Light จึงยังสิ่งเป็นไปไม่ได้ในเครื่องสำอาง

ทางเลือกในการสะท้อนหรือดูดซับคลื่นในช่วง HEV / Blue Light ซึ่งก่อปัญหามากที่สุดเป็นหลัก ด้วยการเลือกใช้ส่วนผสมที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนและดูดซับเฉพาะช่วงคลื่นนี้อย่างเหมาะสมจึงมีความเป็นไปได้จริงมากกว่า

Iron Oxide คือส่วนผสมที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าช่วยปกป้องผิวจาก HEV / Blue Light และมันถูกใช้อยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาโดยตลอด เจ้า Iron Oxide ทำหน้าที่เป็น Pigment เม็ดสีที่ผสมกันจนเกิดเป็นสีสันต่าง ๆ ของเมคอัพหลากสีสัน ผลิตภัณฑ์พวกสร้างงานผิวอย่างแป้งหรือรองพื้นจะใช้สามสีหลักได้แก่ แดง เหลือง และดำ ในสัดส่วนที่ต่างกันในการสร้างเฉดสีต่าง ๆ ตามแต่โทนสีผิว

มีการทดสอบกันมาอย่างยาวนานย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงยุคปี 90 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบันว่าการใส่ Iron Oxide ลงในผลิตภัณฑ์กันแดด โดยเฉพาะใส่คู่กับกับ Physical Sunscreen นั้นช่วยเสริมการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าได้ โดยปริมาณ Iron Oxide ในความเข้มข้นที่สูงขึ้นก็ให้ค่าการปกป้องที่มากขึ้น นอกจากนี้ขนาดอานุภาคของและเฉดสีก็เป็นอีกตัวแปรเช่นกัน โดยมีการศึกษาว่าอานุภาคที่มีขนาดเล็กมีประสิทธิภาพสูงกว่าขนาดใหญ่

โดยปกติแล้วกันแดดแบบฟิซิคอลล้วนมักจะก่อปัญหาให้กับคนที่มีโทนผิวเข้มเพราะทาแล้วหน้าจะดูเทาหนักมาก ขนาดฝรั่งผิวขาวบางทียังไม่รอด แล้วคนไทยที่ผิวคมเข้มจะไปเหลืออะไร การผสมสีของ Iron Oxide ลงไปเพื่อสร้างเฉดสีเนื้อที่กลืนเข้ากับสีผิวได้จึงสามารถแก้ข้อจำกัดในการใช้งานส่วนนี้ได้ และยังให้การปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าเพิ่มไปอีกด้วย โดยในระยะเวลาที่ผ่านมาวงการเครื่องสำอางมีความพยายามในการพัฒนาวัตถุดิบในกลุ่มนี้มาตลอด เพื่อให้การทำสูตรผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริงมีความเป็นไปได้และทำได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน

พูดแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือตลอดเวลาที่เราใช้กันแดดแบบเจือสีเนื้อ (Tinted Sunscreen) หรือแม้แต่พวก Base Makeup อย่างพวก Foundation รองพื้นต่าง ๆ ผิวของเราก็จะได้รับการปกป้องจากแสงสีฟ้า HEV / Blue Light เพิ่มไปด้วยโดยปริยายแม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะไม่ได้เคลมถึงคุณสมบัติอะไรพวกนี้เลยก็ตาม เพียงแต่จะได้รับการปกป้องมากน้อยแค่ไหนเราก็คงบอกไม่ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีตัวชี้วัดที่ใช้กันเป็นมาตรฐานนั่นเอง นอกจากนี้การดูส่วนผสมบนกล่องก็ไม่สามารถบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์มีปริมาณของ Iron Oxide  มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากกฏหมายในการระบุฉลากเครื่องสำอางนั้นมีการยกเว้นให้สารกลุ่มเม็ดสี Pigment ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องระบุโดยเรียงตามความเข้มข้นที่ใช้ และส่วนใหญ่เขาจะใส่ลงมาหลังสุดของส่วนผสม

แต่ก็ยังมีสารกันแดดที่ค่อนข้างมีความพิเศษและผู้ผลิตเรียกว่ามันเป็น Organic Particles ซึ่งมีคุณสมบัติทั้งดูดซับและสะท้อนกระจายคลื่นรังสีอย่าง Tinosorb M (Methylene Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol) และ Tinosorb A2B (Tris-Biphenyl Triazine) ที่ทางผู้ผลิตเคลมว่านอกจากจะมีประสิทธิภาพในการกัน UV ที่ทรงประสิทธิภาพมากแล้ว มันยังมีคุณสมบัติในการปกป้องกว้างไปถึงช่วงของ HEV / Blue Light อีกด้วย แต่ถ้าจะให้ปกป้องได้แบบจริงจังก็ต้องใส่เยอะหน่อย และสารกันแดดสองตัวนี้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงกว่าสารกันแดดทั่วไป จึงน่าจะเป็นตัวเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความพรีเมี่ยมหน่อย

มีการศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจมากและขอหยิบยกมาแสดงให้ดู เขาเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดด A และ B ซึ่งทั้งสองตัวมีสารกันแดดเหมือนกัน [Octocrylene + Tinosorb M + Tinosorb S + Avobenzone + Titanium Dioxide] สิ่งที่แตกต่างกันคือสูตร A มีการผสม Iron Oxide ลงไปด้วย หลังจากนำมาทาเทียบกันในปริมาณต่าง ๆ ผลปรากฏว่า การผสม Tinosorb M กับ Titanium Dioxide นั้นทำให้ตัวผลิตภัณฑ์สามารถให้การปกป้องในช่วงคลื่นของแสงสีฟ้ามาได้เล็กน้อย แต่การเติม Iron Oxide นั้นเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องจาก HEV / Blue Light รวมไปจนถึงช่วงคลื่นที่ไกลกว่านั้นของ Visible Light อย่างเห็นได้ชัด

อีกส่วนผสมที่ถูกใช้กันเยอะมากเพื่อใช้เคลมคุณสมบัติในการปกป้องผิวจาก HEV / Blue Light ก็คือส่วนผสมที่มีชื่อว่า Liposhield™ (INCI : Melanin) ซ่งผู้ผลิตเคลมว่าเป็นการสกัดเอาสารเมลานินจากพืชมาผ่านกรรมวิธีที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะ จนได้คุณสมบัติในการดูดซับช่วงคลื่นของ HEV / Blue Light เพื่อปกป้องผิว ซึ่งมีข้อดีคือสามารถนำมาใช้ในสูตรผลิตภัณฑ์ได้ง่ายจึงเป็นเหตุผลที่ถูกนิยมใช้กันมากในผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด แต่จะมีประสิทธิภาพแค่ไหนเราก็ยังไม่ค่อยมีข้อมูลเท่าไหร่

(Source : Efficiency of Opaque Photoprotective Agents in the Visible Light Range, Protection Afforded by Sunscreens Containing Inorganic Sunscreening Agents Against Blue Light Sensitivity Induced by Aminolevulinic Acid, Prevention of Melasma Relapses With Sunscreen Combining Protection Against UV and Short Wavelengths of Visible Light: A Prospective Randomized Comparative Trial, Effects of particle size, surface coating, and color of titanium dioxide and iron oxides on their ability to protect against UV and blue/visible light, Beyond sun protection factor: An approach to environmental protection with novel mineral coatings in a vehicle containing a blend of skincare ingredients, Impact of Photostability and UVA/UVA-Blue Light Protection on Free Radical Generation)

2. Protect from HEV Blue Light – Visible Light Induced Skin Damages

อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้นของบทความแล้วว่าผลกระทบของ Visible Light โดยเฉพาะช่วงแสงสีฟ้าในแง่ของการก่อความเสียหายให้กับผิวนั้นคล้ายกับรังสี UV เพียงแต่ไม่รุนแรงเท่า ไม่ว่าจะเป็นการก่ออนุมูลอิสระ การอักเสบ ทำให้ผิวแก่ก่อนวัย และในเมื่อสารดูดซับรังสี UV ที่ใช้โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถดูดซับช่วงคลื่นของแสงสีฟ้าได้ อีกวิธีที่วงการเครื่องสำอางใช้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองสามารถเคลมถึงคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากแสงเหล่านี้ได้ด้วยการใช้ส่วนผสมที่มีคุณสมบัติในการลดโมเลกุลที่เป็นตัวชี้วัด (Marker) ว่าผิวได้เกิดความเสียหายจากคลื่นแสงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน หรือสารสกัดต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ หรือมีผลในการลดโปรตีนที่ทำลายคอลลาเจน หรือแม้แต่ลดการเกิดเม็ดสี

ขอยกตัวอย่างเครือ Biersdrof ที่เป็นเจ้าของ NIVEA และ Eucerin ที่ผลิตภัณฑ์กันแดดของเขาเกือบทั้งหมดพึ่งพาสารกันแดดแบบ Chemical Sunscreen เป็นหลัก เขาพึ่งตีพิมพ์การศึกษาออกมาใหม่ว่าสาร Licochalcone A ในรากชะเอมเทศ ( INCI : Glycyrrhiza Inflata Root Extract) ซึ่งถูกใช้อยู่ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ของเขานั้น มีคุณสมบัติในการลดอนุมูลอิสระ ROS ที่เกิดจากช่วงแสงสีฟ้าได้เป็นอย่างดี และยังกระตุ้น Nrf2 หรือโปรตีนต้านอนุมูลอิสระตามธรรชาติในผิวให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การทดสอบในมนุษย์พบว่ากันแดดที่ผสม Licochalcone A สามารถปกป้องปริมาณสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ในชั้นผิวได้เป็นอย่างดี ซึ่งการศึกษาอื่นก่อนหน้าพบว่าแสงสีฟ้านั้นลดปริมาณสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ในชั้นผิวซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดความเสียหายจากอนุมูลอิสระ แม้แต่ในคนที่มีผิวสีอ่อน Skin Type-II ก็ตาม

อีกตัวอย่างมาจากการศึกษาของเครือ Johnson & Johnson ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของ Neutrogena ก็ได้ตีพิมพ์การศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าการผสมสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง Tanacetum Parthenium Extract + สารสกัดจากถั่วเหลือง และวิตามิน E ก็สามารถลดทั้งอนุมูลอิสระ (ROS) ลดกลไกการอักเสบ (IL-1) และลดโปรตีนที่ทำลายคอลลาเจน (MMP-1) ได้ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์กันแดดที่ไม่มีสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้

ทั้งนี้โดยปกติแล้วการทำสูตรกันแดดที่ดีจำเป็นจะต้องมีสารต้านอนุมูลอิสระผสมลงไปอยู่แล้ว เพราะสารกันแดดบางชนิดก็เพิ่มอนุมูลอิสระได้ขณะที่มันดูดซับรังสี UV ดังนั้นผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะแค่ไปทำการศึกษาเพิ่มว่ามีคุณสมบัติในการลดโมเลกุลที่เป็นตัวชี้วัดที่ถูกกระตุ้นโดย HEV Blue Light – Visible Light เหล่านี้ ก็สามารถเอามาเคลมเพิ่มว่าช่วยปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าได้แล้วแม้จะไม่ได้มีการเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์เลย

(Source : High-energy Visible Light at Ambient Doses and Intensities Induces Oxidative Stress of skin-Protective Effects of the Antioxidant and Nrf2 Inducer Licochalcone A in Vitro and in Vivo, Blue-Violet Light Irradiation Dose Dependently Decreases Carotenoids in Human Skin, Which Indicates the Generation of Free Radicals, Irradiation of Skin with Visible Light Induces Reactive Oxygen Species and Matrix-Degrading Enzymes)

[สรุป]

ปัจจุบันเทคโนโลยีหรือส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เคลมว่าช่วยปกป้องผิวจากแสงสีฟ้า HEV Blue LightVisible Light ทั้งหลายสามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน นั่นก็คือ

1. ใช้ส่วนผสมที่มีคุณสมบัติในการดูดซับ หรือสะท้อนช่วงคลื่นของแสงสีฟ้าเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผิว ด้วยการเลือกใช้ Titanium Dioxide และ/หรือ Zinc Oxide ในขนาดอานุภาคการเคลือบพื้นผิวอย่างสมดุลจนทำให้ได้รับค่าการปกป้องผิวจากรังสี UV ได้ดีมากพอและมีความทึบที่ต่ำพอจนทำให้ใช้ทากับผิวได้ง่ายและยังพอที่จะสะท้อนช่วงคลื่นของ HEV / Blue Light หรือจะใช้พลังเงินเข้าช่วยโดยการสาด Tinosorb M และ Tinosorb A2B เข้าไป  แล้วก็เสริมเพิ่มไปด้วย Iron Oxide เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก ส่วนทางเลือกที่ดูใช้ง่ายอย่างการใช้ Liposhield™ ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์นั้นสามารถสร้างเคลมได้ง่าย แต่จะมีประสิทธิภาพแค่ไหนเราก็ไม่ค่อยมีข้อมูล

คนที่เคยสงสัยว่าทำไม Work From Home ทำงานอยู่บ้านมาเป็นเดือน แต่ผิวกลับดูหมองคล้ำลงกว่าตอนต้องแต่งหน้าไปทำงานทุกวัน ก็อาจเป็นไปได้ว่าการที่การที่คุณแต่งหน้าลงรองพื้นทุกวันเท่ากับผิวคุณได้รับการปกป้องจากแสง Blue Light มากกว่าปกติ และเมื่อคุณไม่แต่งหน้า ไม่ลงรองพื้น ก็เท่ากับผิวได้รับการปกป้องจากแสงสีฟ้าน้อยลง ซึ่งการเกิดขึ้นของความหมองคล้ำจากแสงสีฟ้าส่วนหนึ่งไม่สามารถลดได้ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระได้

2. ลดผลกระทบหรือลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก HEV Blue LightVisible Light ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านการอักเสบ หรือส่วนผสมใด ๆ ที่จะไปลดหรือควบคุมตัวชี้วัดว่าเกิดความเสียหายขึ้นกับผิว เพื่อแสดงให้เห็นคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าและเอาเคลมได้


ไม่มีการควบคุมและไม่มีมาตรฐานกลางเพื่อใช้กำกับผลิตภัณฑ์ที่จะเคลมการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้า

ในขณะที่เวลาเราเลือกผลิตภัณฑ์กันแดด เราสามารถเลือกจากการดูฉลากโดยพิจารณาค่า SPF ในการชี้ประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจาก UVB ซึ่งมีมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียว ส่วนค่าการปกป้องผิวจาก UVA นั้นบ้างก็ใช้ PA บ้างก็ใช้ PPD หรืออื่น ๆในการระบุเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจได้ง่าย ถึงในปัจจุบันจะยังไม่มีมาตรฐานของค่าการปกป้องจาก UVA แบบเดียวกันทั่วโลก แต่หลักการที่ใช้วัดก็สามารถเทียบเคียงกันได้ ซึ่งค่าการปกป้องผิวจาก UVB และ UVA ที่ระบุบนฉลากนี้จะถูกควบคุมด้วยกฏระเบียบของเครื่องสำอางในแต่ละประเทศหรือกลุ่มเศรษฐกิจนั้น ๆ

ทว่าเมื่อพูดถึงค่าการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้า HEV / Blue Light / Visible Light นั้น ในปัจจุบันขณะที่ทำบทความนี้ เรายังไม่มีมาตรฐานอะไรมาใช้ตรวจ ชี้วัด หรือมาควบคุมตรงนี้เลยแม้แต่นิดเดียว….

เมื่อไม่มีมาตรฐานและกฏระเบียบข้อตกลงที่ใช้ร่วมกัน เท่ากับว่าการเคลมเรื่องการปกป้องแสงสีฟ้าของแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นไม่ได้ถูกควบคุม ไม่มีตัวชี้วัดที่ทุกผู้ผลิตต้องใช้ทดสอบร่วมกัน ไม่มีวิธีมาตรฐานในการวัดค่าหรือวัดประสิทธิภาพที่ได้ ผู้บริโภคอย่างเราไม่มีทางรู้ได้เลยถึงประสิทธิภาพที่แท้จริง และไม่มีทางที่จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่เคลมถึงคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าเหล่านี้ได้ เว้นแต่คุณจะเอาเงินไปทุ่มแล้วจ้างสถาบันทำการทดสอบทางคลีนิคเทียบกันด้วยเงินของคุณเอง

นอกจากนี้ จุดบอดที่สำคัญอย่างหนึ่งของการตรวจสอบเคลมของเครื่องสำอาง นั่นก็คือผู้ยื่นจดแจ้งผลิตภัณฑ์สามารถใช้เอกสารประกอบจากผู้ผลิตส่วนผสมหรือ Raw Material เพื่อยื่นประกอบในการรับรองเคลม โดยไม่จำเป็นต้องทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จ หรือ Finished Product ก็ได้ กล่าวคือ ถ้าคุณใช้ส่วนผสม A จากบริษัทหนึ่งที่เคลมว่าเป็นสารไวท์เทนนิ่ง แต่คุณใส่ไปแค่เศษซากจนหวังผลไม่ได้ หรือคุณดันไปใส่คู่กับส่วนผสมอื่น ๆ ที่ดันบังเอิญไปลดประสิทธิภาพของมัน จนไม่มีประสิทธิภาพจริง คุณก็ยังสามารถเคลมว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นไวท์เทนนิ่งได้ เพราะใช้เอกสารของ Raw Material จากผู้ผลิตสาร A ไปยื่นนั่นเอง

ตรงนี้สำคัญมาก เพราะว่าการผสมส่วนผสมที่มีประโยชน์ลงไปรวมกัน ไม่ได้แปลว่าส่วนผสมนั้นจะมีประสิทธิภาพอย่างที่คิด อาจจะมากกว่า หรืออาจจะด้อยกว่า หรือบางทีอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเลยก็ยังมี ส่วนผสมบางตัวไม่ใช่แค่ใส่ลงไปให้ถึงความเข้มข้น แต่ยังต้องมีเงื่อนไขของระบบนำพา ตัวทำละลายที่เหมาะสม และอาจรวมไปถึงค่าความเป็นกรดด่างของผลิตภัณฑ์อีกด้วย การทดสอบผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จแล้วหรือ Finished Product อีกครั้งในการทดสอบทางคลีนิคจึงให้ข้อมูลของประสิทธิภาพที่เชื่อถือได้มากกว่า แต่มันจะเพิ่มต้นทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมาก และมีแต่แบรนด์ใหญ่หรือทุนหนาที่มักจะทำกัน และถ้าทุนหนามากรวมไปถึงมีการพัฒนาส่วนผสมหรือเทคนิคอะไรของตัวเองด้วย อาจจะตีพิมพ์การศึกษาในวารสารทางวิชาการอีกด้วย

Picture From : Allergisa

แสงแดดมีผลกระทบและก่อปัญหาผิวและก่อให้เกิดการไหม้ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง ทำให้ผลิตภัณฑ์กันแดด Sunscreen นั้นมีผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงมีการควบคุม มีการกำหนดมาตรฐานในการทดสอบและระบุค่า SPF / PA บนฉลากอย่างเข้มงวด เพราะต่อให้คุณจะใส่สารกันแดดที่ตามทฤษฏีแล้วมันน่าจะให้การปกป้องที่ดีแค่ไหน แต่ค่าการปกป้องจากรังสี UV ที่จะได้นั้นก็มีตัวแปรต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของเนื้อผลิตภัณฑ์ การละลายของสารกันแดดในสูตร ความเสถียรของสารกันแดด คุณสมบัติในการเกาะตัว การกระจายตัว การก่อชั้นฟิลม์บนผิว การมีกฏหมายบังคับว่าต้องทดสอบกับ Finished Product ด้วยวิธีการที่กำหนดไว้เท่านั้นถึงจะให้เอาตัวเลขผลที่ได้มาระบุลงบนฉลากและเคลมได้จึงจำเป็นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ

แต่ถึงกระนั้นแม้จะมีการควบคุมขนาดนี้ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าการยอมให้ทดสอบแบบ In-Vitro ในห้องแลปเพื่อยื่นจดแจ้ง อาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงในการใช้งานบนผิวหนังมนุษย์ เทียบกับการทดสอบแบบ In-Vivo ก็ได้ และในขณะเดียวกัน การทดสอบ In-Vivo ในมนุษย์ ก็เจอปัญหาเรื่องโทนสีผิวของเชื้อชาติที่ต่างกัน ก็ให้ผลในการอ่านค่าที่ต่างกันด้วย และอาจเป็นเหตุที่ทำให้มีการศึกษาที่พบว่ากันแดดที่วางขายนั้นไม่ใช่ทั้งหมดที่จะให้ค่าการปกป้องได้เท่าตามที่ระบุบนฉลากจริงแม้จะทาในปริมาณมาตรฐานที่ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตรแล้วก็ตาม

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีการตีพิมพ์การศึกษาที่ใช้เสนอว่าอาจจะนำมาพิจารณาเพื่อเป็นมาตรฐานในการทดสอบค่าการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้า ซึ่งเราอาจจะต้องรออีกหลายปีกว่าที่มีการออกมาตรฐานออกมาบังคับใช้ หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้ เพราะแม้แต่ค่าการปกป้องผิวจาก UVA นั้น ผ่านมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว ยังไม่มีการ Harmonization ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกเลย  แต่การไม่มีมาตรฐานอะไรในการตรวจหรือวัดค่าการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าเหล่านี้ เป็นจุดบอดที่สำคัญที่เราจำเป็นต้องตระหนักเอาไว้

(Source : A Method to Assess the Protective Efficacy of Sunscreens Against Visible Light-Induced Pigmentation, A novel method for evaluating sun visible light protection factor and pigmentation protection factor of sunscreens., Standardization of organoid culture for evaluation of melanogenesis induced by UVB, UVA and visible light., A novel method for evaluating sun visible light protection factor and pigmentation protection factor of sunscreens.)

[สรุป]

โดยสรุปแล้ว เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ถ้าคุณสนใจอยากจะหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องผิวของคุณจากแสงสีฟ้า HEV / Blue Light / Visible Light คุณอาจจะมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารกันแดดแบบ Physical อย่าง Titanium Dioxide / Zinc Oxide  หรือสารกันแดดไฮโซอย่าง Tinosorb M / A2B ที่มีการเจือสีเนื้อจากส่วนผสมของ Iron Oxide และมีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระหลาย ๆ ชนิดในนั้น

แต่คุณไม่มีทางรู้ได้อย่างแน่ชัดว่ามันมีประสิทธิภาพในการใช้งานจริงแค่ไหน คุณได้รับการปกป้องระดับไหน และไม่สามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพว่าผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่ให้การปกป้องที่สูงกว่า ตราบใดก็ตามที่ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานในการทดสอบและบังคับใช้ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นเพียงเคลมทางการตลาดที่มีจุดบอดสำคัญ โดยบางผลิตภัณฑ์ที่เคลมการปกป้องผิวจากแสงสีอาจจะมีการวิจัยทางคลีนิคลงทุนสูงตีพิมพ์งานวิจัยใหญ่โตไฮโซโบว์ใหญ่ แต่บางผลิตภัณฑ์ที่เคลมการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าอาจจะแค่ซื้อส่วนผสมสำเร็จรูปมาสะเด็ดใส่ เอาเอกสารจากผู้ผลิตสารไปยื่นประกอบ โดยไม่ต้องทดสอบประสิทธิภาพในผลิตภัณฑ์สำเร็จที่ออกมาวางขายเลยด้วยซ้ำ


HEV / Blue Light – Visible Light ก็มีประโยชน์กับผิวพรรณ

การหมุนของโลกทำให้เกิดวัฏจักรของกลางวันและกลางคืน ช่วงเวลาของแสงสว่างและความมืด แสงในแต่ละช่วงเวลาของวันจะมีอุณหภูมิของแสงที่ต่างกันไป สิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ก็วิวัฒนาการมากับวัฏจักรนี้ แสงจึงมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของยีนที่มีผลต่อวงจรนาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) ผ่านตัวรับต่าง ๆ ในเซลล์ ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ของเรา และมีการตอบสนองและการทำงานมากน้อยในแต่ละช่วงของที่ต่างกันไป

ในช่วงเวลากลางวันมีแสงสีฟ้าทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวจึงทำให้เราใช้ชีวิตทำงานทำมาหากินกันในตอนกลางวันเป็นหลัก และเมื่อถึงเวลาตอนเย็นแสงสีฟ้าในธรรมชาติจะน้อยลงเรื่อย ๆ และเป็นสัญญาณให้เรารู้ว่าถึงเวลาที่จะพักผ่อน แต่เนื่องจากชีวิตปัจจุบันเราไม่ได้อยู่กับแสงธรรมชาติอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มีแสงประดิษฐ์จากหลอดไฟฟ้า และเราก็คงได้ยินกันมาไม่น้อยว่าแสงประดิษฐ์เหล่านี้ก็รบกวนนาฬิกาทางชีวภาพของเราไปไม่น้อย โดยเฉพาะแสงสีฟ้าที่จะไปลดการหลั่งเมลาโทนินซึ่งสำคัญกับการนอนหลับและการซ่อมแซมในระหว่างการพักผ่อนของเรา จึงทำให้เรานอนหลับยาก หรือคุณภาพในการนอนไม่ดี จึงเป็นเหตุผลที่เราควรจะหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าในช่วงเวลาตอนกลางคืนนั่น

ผิวของก็มีวงจรในแต่ละช่วงของวันที่ต่างกันไป อย่างในตอนกลางวันเป็นช่วงเวลาที่ผิวจะต้องเจอกับปัจจัยลบที่จะเข้ามาทำร้ายผิวมากที่สุดจึงเป็นช่วงที่ผิวจะมีการยึดเกาะกันแน่นที่สุดและมีการแบ่งตัวองเซลล์ผิวน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงกลางคืนที่มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวมากที่สุดและเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนและซ่อมแซมจึงทำให้ยามกลางคืนนั้นเวลาเราทาอะไรลงไปก็จะแทรกผ่านไปได้มากกว่าแต่ในขณะเดียวกันก็สูญเสียความชุ่มชื้นได้มากกว่าตอนกลางวันด้วยเช่นกัน

เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงแสงสว่างได้ แสงจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเราในทุกแง่มุม และถึงแม้จะมีข้อมูลว่าช่วงคลื่นของแสงสว่างมีผลกระทบในแง่ลบกับผิวโดยเฉพาะแสงสีฟ้า แต่ก็มีการศึกษาและการใช้งานช่วงคลื่นของแสงในช่วงต่างเพื่อประโยชน์ในการดูแลผิว บำรุงผิว หรือแม้แต่รักษาโรคผิวหนังอย่างเช่นสิวอีกด้วย ซึ่งเราเรียกรวม ๆ ว่า Phototherapy แม้แต่แสงสีฟ้าที่ว่าเลวร้ายนักหนา ก็มีประโยชน์หากมีการควบคุมและใช้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกับคนที่เป็นสิวที่มีข้อจำกัดในการใช้ยาหรือไม่ค่อยตอบสนองกับการรักษาด้วยวิธีอื่น

(Source : Molecular components of the mammalian circadian clockBiological Rhythms in the Skin)

เราจะไม่เจาะจงรายละเอียดว่าแสงแต่ละช่วงคลื่นนั้นมีประโยชน์ในการดูแลปัญหาผิวในแง่ไหนบ้าง แต่ใครที่สนใจสามารถไปอ่านได้จากแหล่งข้อมูลที่เราแปะไว้ให้ด้านล่าง แต่โดยหลักแล้วการแล้ว Phototherapy จะมีเงื่อนไขเรื่องการใช้ช่วงคลื่นจำเพาะเจาะจง ค่าพลังงานและปริมาณแสงที่ส่งจากแหล่งกำเนิดไปยังผิว เวลาที่ใช้งาน ซึ่งเป็นเรื่องของมาตรฐาน ความปลอดภัย ถ้าใครสนใจจะซื้อหามาใช้ ก็ต้องพิจารณาเรื่องความน่าเชื่อถือเป็นหลัก และจำเป็นต้องปกป้องดวงตาในขณะใช้ด้วยทุกครั้งหากเป็นการสวมครอบใบหน้า

(Source : The effects of narrowbands of visible light upon some skin disorders: a review)


ความเห็นส่วนตัวของปูเป้เกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดนี้

โดยส่วนตัวแล้วปูเป้นั้นค่อนข้างให้ความสำคัญกับอิทธิพลของแสง โดยเฉพาะแสงสีฟ้าพอสมควร แต่เป็นในแง่ของการใช้ชีวิต และคุณภาพการนอนหลับพักผ่อนเป็นหลัก แต่สำหรับเครื่องสำอางที่เคลมในเรื่องผลกระทบจาก HEV Blue Light – Visible Light โดยเฉพาะนั้นปูเป้ยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าไหร่นัก คือแน่นอนว่าเราตระหนักถึงผลกระทบที่มันก่อ แต่ไม่ได้ถึงกับวิตกจริตจนเกินไป ด้วยเหตุผลดังนี้

– เรายังไม่มีตัวชี้วัดที่จับต้องได้และเป็นมาตรฐานกลางในการดูประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าของผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่าย และโดยปกติแล้วเราควรใช้สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของสารแอนติออกซิแดนท์เป็นประจำอยู่แล้ว ไม่นับว่าคนที่สนใจในการดูแลผิวจะมีการใช้สารไวท์เทนนิ่ง สาร Anti-Aging คู่ไปกับผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นประจำ ดังนั้นเราอาจไม่จำเป็นต้องไปหาผลิตภัณฑ์ที่มีเคลมพวกนี้เฉพาะมาเพิ่มก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีการทารองพื้น หรือกันแดดแบบเจือสี เพราะมีส่วนผสม Iron Oxide ผสมอยู่

– ผลกระทบของรังสี UV ยังเป็นตัวการหลักที่ก่อปัญหาผิวกว่า 80% ที่เกิดขึ้น และหากคุณใช้ชีวิตในอาคารเป็นหลักและกังวลเรื่องแสงจากหลอดไฟ คอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอสมาร์ทโฟนของคุณจะก่อปัญหาผิวได้นั้น ก็ต้องบอกว่าแสงสว่างจากอุปกรณ์พวก หรือแสงไฟในบ้าน ในอาคาร มีพลังงานที่น้อยกว่าแสงสว่างจากดวงอาทิตย์มากมายนักแบบเทียบกันไม่ได้เลย คงไม่มีใครใช้แสงที่มีพลังงานสูงเทียบเท่ากับสปอตไลท์สนามกีฬามาใช้ในบ้าน หรือคงไม่มีใครเอาหน้าไปอังหลอดไฟจำนวนมากใกล้ๆ ตลอดเวลา ซึ่งส่วนตัวมองว่าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระก็ช่วยลดผลกระทบของแสงเหล่านี้ที่อาจก่อกับผิวในชีวิตประจำวันได้ไม่ยาก

– ถ้าคุณไม่ได้มีอาการผิดปกติของผิว ประเภท Photosensitive หรือผิวแพ้แสง หรือมีไวต่อส่วนผสมที่เป็น photosensitizer ซึ่งก่อให้เกิด Phototoxic หรือก่อผลเสียกับผิวเมื่อเจอแสง ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าแสงกลุ่มนี้จะก่อความเสียหายที่รุนแรงจนผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถจัดการหรือดูแลได้

สิ่งที่ปูเป้แนะนำอยากแนะนำคือ ถ้าคุณกังวลเรื่องผลกระทบของแสงมากขนาดนั้น คุณควรตระหนักว่าอุณภูมิแสงหรือสีของหลอดไฟที่ใช้ในบ้านมีผลต่อสุขภาพของคุณโดยตรงโดยเฉพาะในแง่ของการพักผ่อนนอนหลับ จึงควรมีตัวเลือกของแสงสว่างภายในบ้าน โดยมีแสงสว่างทั้งเฉดสีขาวแบบ Day Light ซึ่งมีแสงสีฟ้ามากโดยเฉพาะบนโต๊ะทำงานเพื่อกระตุ้นให้คุณตื่นตัว และมีตัวเลือกของแสงที่อุ่นกว่าอย่าง Warm White เพื่อลดปริมาณแสงสีฟ้าที่คุณจะได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน โดยในช่วงเย็นหลังเลิกงาน ในตอนกลางคืนก่อนจะเข้านอน ควรใช้ไฟโทนสี Warm White  และไม่จำเป็นเป็นต้องเปิดแสงให้สว่างจ้า เพื่อลดผลกระทบจากแสงสีฟ้าในการทำให้คุณนอนหลับยากขึ้น ถ้าทำแบบนี้ได้ก็จะช่วยให้คุณหลับง่ายขึ้นเมื่อถึงเวลาเข้านอน และเมื่อคุณภาพในการนอนหลับของคุณดี มันส่งผลกับผิวของคุณให้ดีตามไปด้วย ส่วนผลกระทบกับผิวก็ทาสกินแคร์ที่มีสารต้านอนูมูลอิสระหลาย ๆ ชนิดเสริมเข้าไปเสริม

นอกจากนี้คุณยังสามารถเลือกใช้กระจกหรือฟิลม์ติดกระจกที่กรอง UVA และกรองแสงสีฟ้าส่วนใหญ่ได้ เพราะแสงสว่างจากดวงอาทิตย์มีความเข้มข้นและมีความแรงกว่าแสงจากหลอดไฟในบ้าน เท่านี้คุณก็จะได้รับผลกระทบจากแสงสีฟ้าได้น้อยที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องขังตัวเองในห้องมืด ปิดม่านจนมิด

แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกทำอะไร จะใช้อะไร จะซื้ออะไร คุณก็มีสิทธิที่จะทำเพราะมันก็เงินของคุณและชีวิตของคุณเองนั่นแหล่ะ

หวังว่าบทความนี้จะตอบคำถามที่คุณค้างคาใจและให้ความกระจ่างในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องขอแสงสีฟ้า แสง Visible ที่เกี่ยวข้องกับผิวพรรณให้กับทุกคนที่แวะเข้ามาอ่านได้ไม่มากก็น้อย หากมีข้อผิดพลาดหรือตกหล่นข้อมูลในส่วนไหน ก็ต้องขออภัยล่วงหน้าขอความกรุณาชี้แนะและให้ข้อมูลเพิ่มเพื่อแก้ไขด้วยครับ

 

*** Disclaimer : This article is for education / information purpose ***