ช่วงที่ผ่านมามีกระแสความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและความเชื่อถือของผลิตภัณฑ์กันแดด เพราะค่าที่ระบุบนฉลากและค่าที่วัดได้จากหน่วยงานผู้บริโภคหรืออินฟลูเอนเซอร์นั้นให้ผลที่ออกมาต่างกัน บ้างก็น้อย บ้างก็มากจนน่าตกใจ จนนำมาสู่ความกังวลและคำถามของผู้บริโภคในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ว่าผลิตภัณฑ์ที่เราเลือกหยิบมาใช้นั้นสามารถปกป้องผิวได้จริงแค่ไหน? สามารถป้องกันผิวได้ตามตัวเลขที่ระบุบนฉลากหรือไม่?

ความกังวลสงสัยที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้บริโภคนี้ทำให้เกิดคอนเทนต์ที่นำผลการทดสอบด้วยวิธีต่าง ๆ มาใช้ในเชิงการตลาดเพื่ออวดอ้างสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเอง ใช้ดิสเครดิตหรือโจมตีคู่แข่ง บ้างก็เป็นข้อมูลที่ขาดการมองแบบรอบด้านจนสร้างความสับสนกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้วยกัน ในบทความนี้จึงอยากมาอธิบายให้เกิดความชัดเจนในหลายประเด็น ทั้งเรื่องมาตรฐานการทดสอบในปัจจุบัน และมีสาเหตุใดบ้างที่ผลิตภัณฑ์ที่เราหยิบมาใช้อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพในการปกป้องผิวตรงตามที่ระบุบนฉลาก รวมไปถึงวิธีที่จะป้องกันปัญหาเหล่านั้น

ค่าการป้องกันบนฉลากผลิตภัณฑ์กันแดดนั้นได้มาอย่างไร?

ฉลากของผลิตภัณฑ์กันแดดนั้น โดยพื้นฐานจะมีค่า SPF ที่บ่งบอกระดับการปกป้องผิวจากรังสี UVB ที่ทั่วโลกใช้เหมือนกัน ส่วนค่าที่บ่งบอกระดับการปกป้องผิวจาก UVA นั้นในแต่ละพื้นที่จะต่างกันไป อย่างในเอเชียที่ใช้ ค่า PA (+) โดยอิงจาก JCIA : 2012  ในสหภาพยุโรป (EU) ใช้ตรา UVA Seal/UVA circle ในออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ กับอเมริกาใช้การระบุ Broad-Spectrum และในสหราชอาณาจักรใช้ Boots Star® Rating

การประเมินประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์กันแดดเพื่อยื่นจดแจ้งและระบุบนฉลากนั้นจะมีสองรูปแบบได้แก่ In-Vivo หรือการทดสอบลงบนผิวของมนุษย์  และ In-Vitro หรือการทดสอบบนแผ่นที่ใช้แทนผิวหนังมนุษย์และประเมินด้วยเครื่องมือเฉพาะ

การทดสอบแบบ In-Vivo นั้นเป็นวิธีที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ก็มีข้อจำกัดที่สำคัญที่เป็นการทดสอบแบบ Invasive ซึ่งนำไปสู่ประเด็นเรื่องในเรื่องจริยธรรมใช้มนุษย์มาฉายรังสีที่ก่อความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนัง มีค่าใช้จ่ายที่สูง และใช้เวลานานกว่า ในขณะที่การทดสอบแบบ In-Vitro นั้นไม่มีข้อจำกัดเรื่องจริยธรรม มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า สามารถวัดผลได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว

แม้ฟังดูแล้วเหมือนว่า In-Vitro ดูน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าในทุกด้าน แต่ในความเป็นจริงนั้น การทดสอบ In-Vitro ก็ยังมีปัญหาเรื่องสิ่งที่เอามาใช้ทดแทนผิวหนังในการทดสอบ แม้แผ่นเพลต PMMA ที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็มีประเด็นเรื่องเนื้อผลิตภัณฑ์บางรูปแบบมีความยากง่ายในการเกลี่ยกระจายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกับการทาบนผิวหนังมนุษย์ ซึ่งส่งผลกับการเกิดชั้นฟิล์มของผลิตภัณฑ์กันแดดที่แตกต่างกัน และมีผลต่อค่าที่วัดออกมาได้  ดังนั้นการทดสองทั้งสองรูปแบบก็มีข้อดีและข้อเสียในแบบของตัวเอง

ในอดีตนั้นการทดสอบกันแดดของแต่ละประเทศมีการใช้มาตรฐานที่แตกต่างกันมากมายซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ และเป็นความยุ่งยากในการการทดสอบเพื่อขอจดแจ้ง  แต่ในปัจจุบัน (ปี 2024) มาตรฐานการทดสอบกันแดดของ ISO รุ่นปรับปรุงล่าสุด ทำให้ตลาดสำคัญทั่วโลกอย่าง ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ได้เริ่มใช้นำมาตรฐานเดียวกันมาบังคับใช้  และก็ยังมีการสร้างมาตรฐาน ISO 16217:2020 กับ ISO 18861:2020 ที่เป็นการทดสอบมาตรฐานสำหรับวัดประสิทธิภาพในการทนน้ำออกมาเป็นครั้งแรกอีกด้วย

 

โดยปัจจุบันการทดสอบค่าป้องกันรังสี UVB เพื่อหาค่า SPF (Sun Protection Factor) นั้นมี ISO 24444:2019 (In-Vivo) นั้นถูกยอมรับเป็นพื้นฐานโดยทั่วไป

ส่วนการทดสอบค่าป้องกันรังสี UVA (UVA-PF) จะมี ISO 24442:2022 (In-Vivo) เป็นมาตรฐานที่ปัจจุบันทางญี่ปุ่นและเกาหลียอมรับ ส่วน ISO 24443:2021 (In-Vitro) ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในยุโรป ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ เอเชีย รวมมากกว่า 60 ประเทศ  โดยหลายประเทศสามารถเลือกใช้ได้ทั้งสองแบบ แต่ก็มีบางประเทศอย่างในสหราชอาณาจักรที่ยังใช้มาตรฐาน Boots Star® Rating  ของตัวเอง ส่วนทางอเมริกาก็ยังใช้มาตรฐานของตัวเองด้วยกฏ US FDA ของปี 2021 ซึ่งข้อมูลชี้ว่าโดยภาพรวมแล้วการทดสอบ ISO จะมีมาตรฐานที่เข้มงวดกว่าของอเมริกาอยู่เล็กน้อย

ปัญหาของการได้มาซึ่งค่า SPF ด้วยวิธีต่าง ๆ

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน (ปี 2024) เรายังไม่มีการทดสอบที่เป็นมาตรฐานสำหรับหาค่า SPF ด้วยวิธีแบบ In-Vitro ซึ่งยังเป็นความท้าทายที่สำคัญในวงการเครื่องสำอางทั่วโลก และก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่นำมาสู่ความสับสนของข้อมูลที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้บริโภคและวงการเครื่องสำอางของไทย

ที่จริงแล้วการทดสอบเพื่อหาค่า SPF นั้นมีปัญหาหลายอย่างมาโดยตลอด แม้แต่การทดสอบด้วย In-Vivo บนผิวหนังของมนุษย์ที่มีมานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม เพราะนอกจากจะมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงและเรื่องจริยธรรมแล้ว ยังมีข้อมูลเรื่องประเด็นของการให้ผลในการวัดที่แตกต่างกันไปแต่ละศูนย์ทดสอบ ที่ครีมกันแดดสูตรเดียวกัน แต่ส่งไปตรวจในห้องแลปที่ต่างกัน อาจให้ค่าที่ออกมาต่างกัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อย่างเช่นวิธีที่ใช้ในการเกลี่ยผลิตภัณฑ์ เชื้อชาติและปัจจัยที่อาจมีผลทำให้ผิวมีอาการแดงยากหรือง่ายต่างกัน รวมไปถึงการวัดระดับความแดงของผิว (Minimal Erythemal Dose – MED) จากสายตาของมนุษย์ที่สามารถคลาดเคลื่อนไปในแต่ละคน เป็นต้น

และจากปัญหาที่กล่าวมา การทดสอบด้วย ISO 24444:2019 จึงมีการปรับเปลี่ยนในหลายด้าน อย่างเช่นการเพิ่มข้อกำหนดวิธีในการกระจายและการเกลี่ยผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนขึ้น การเปลี่ยนมาตรฐานการคัดผู้เข้าทดสอบจาก Fitzpatrick Skin Type มาเป็น Individual Typology Angle (ITA)  การเพิ่มสูตรกันแดดอ้างอิงในการทดสอบ รวมไปถึงมิติอื่น ๆ ก็เพื่อหวังว่าจะทำให้การผลการทดสอบที่ออกมาจะให้ผลที่มีความสม่ำเสมอมากขึ้น

ส่วนการทดสอบ SPF แบบ In-Vitro ที่ผ่านมาเรายังไม่มีวิธีที่เป็นมาตรฐาน ISO ออกมา และการทดสอบ SPF แบบ In-Vitro ที่มีใช้กันในปัจจุบันซึ่งมักอิงจากวิธีที่ใช้การทดสอบค่าหาค่าป้องกัน UVA แบบ In-Vitro นั้นยังไม่สามารถใช้เพื่อเชื่อมโยงกับค่า SPF แบบ In-Vivo ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผลที่ออกมาจากการทดสอบแต่ละแบบสามารถมีค่าที่แตกต่างกันอย่างมาก เช่นการทดสอบแบบ In-Vivo ออกมาได้ SPF 50 แต่ผลจาก In-Vitro เหลือแค่ SPF15 เป็นต้น

ผลที่แตกต่างกันอย่างมากนี้อาจมีมาจากหลายสาเหตุปัจจัยและยังเป็นความท้าทายในการหาสิ่งที่จะมาใช้เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน โดยตัวผู้เขียนเองมีความเห็นและมีข้อสังเกตว่า ในขณะที่การทดสอบ SPF แบบ In-Vitro ที่ใช้กันในปัจจุบัน มาจากการวัดช่วงคลื่นที่ตัวกันแดดสามารถกรองหรือกันออกไปได้ ซึ่งเป็นปัจจัยเรื่องการดูดซับรังสียูวีของสารกันแดดเป็นหลัก  แต่การหาค่า SPF แบบ In-Vivo นั้นดูที่การแดงของผิวที่เกิดขึ้น (Minimal Erythemal Dose – MED)  ซึ่งในสูตรกันแดดปัจจุบันนั้นไม่ได้มีแต่สารกันแดดแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถมีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระหรือสารที่มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ ระคายเคือง เพื่อช่วยลดหรือกดอาการแดงที่เกิดขึ้นบนผิวหนังมนุษย์ให้น้อยลง ซึ่งสามารถมีผลต่อค่า SPF ที่ถูกประเมินออกมาให้สูงขึ้น ก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญนี้ก็เป็นได้

การอนุโลมให้ใช้ผลการทดสอบ SPF – In Vitro ในประเทศไทย

ในขณะที่ทั่วโลกยังไม่มีมาตรฐานการทดสอบ SPF แบบ In-Vitro และยังต้องใช้การทดสอบมาตรฐาน ISO 24444:2019 ในการยื่นเป็นหลักที่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่ในไทยตามหลักเกณฑ์การพิจารณา การจดแจ้งเครื่องสำอางนั้นให้แนบรายงานผลการ ทดสอบความสามารถดังกล่าว จากห้องปฏิบัติการของโรงงานผู้ผลิต หรือหน่วยราชการ หรือมหาวิทยาลัย หรือ หน่วยทดสอบ โดยใช้วิธีการทดสอบตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ

ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมานั้น ในประเทศไทยนั้นสามารถยื่นผลการทดสอบ SPF แบบ In-Vitro เพื่อยื่นจดแจ้งเครื่องสำอางได้ ซึ่งในแง่หนึ่งก็สามารถมองได้ว่าการอนุโลมนี้ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของธุรกิจ เอื้อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศได้

แต่ในอีกด้าน หากการอนุโลมนี้ไม่มีการกำหนดมาตรฐานของการทดสอบ SPF แบบ In-Vitro ที่ชัดเจนขึ้นใช้เองในประเทศ เราก็จะไม่มีหลักอ้างอิงว่าจะใช้อะไรเป็นมาตรฐานกลางของขั้นตอน กระบวนการ และอุปกรณ์ใช้ในการตรวจชี้วัด

ความไม่ชัดเจนนี้สามารถนำไปสู่การเอาผลการทดสอบที่ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานร่วมกัน มาใช้เพื่อเป็นคอนเทนต์ก็ดี เพื่อการตลาดเพื่อชูตัวเองหรือโจมตีคู่แข่งก็ดี ก็อาจความความขัดแย้ง ความกังวลสับสน ที่สามารถส่งผลในแง่ลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ในประเทศ ซึ่งไม่ใช่ผลที่ดีต่อภาพรวมของธุรกิจเครื่องสำอางไทย

การทดสอบ In-Vivo แม่นยำและน่าเชือถือว่า In-Vitro จริงหรือ?

สำหรับการทดสอบค่าการป้องกัน UVA นั้น ปัจจุบันเรามีมาตรฐาน ISO 24442:2022 (In-Vivo) และ ISO 24443:2021 (In-Vitro) เป็นที่ยอมรับว่าผลของการทดสอบทั้งสองรูปแบบนั้นหาความเชื่อมโยงกันได้  จึงเป็นวิธีที่ไว้วางใจและน่าเชื่อถือได้ทั้งคู่ตราบใดที่ใช้แลปทดสอบที่ได้มาตรฐาน

แต่การทดสอบการป้องกัน UVB ที่ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานการทดสอบ SPF แบบ In-Vitro ที่เป็นมาตรฐาน ISO เราก็สามารถใช้การทดสอบแบบ In-Vitro เพื่อใช้ในการพัฒนาและหาสูตรที่มีศักยภาพที่สุด ก่อนส่งไปทดสอบแบบ In-Vivo ตามมาตรฐาน ISO 24444:2019 เพื่อยื่นจดแจ้งและระบุลงบนฉลากจะเป็นค่าที่น่าเชื่อถือมากกว่า

ผู้ผลิตหรือเจ้าของกิจการที่มีความจริงจังในเรื่องความน่าเชื่อถือของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ อาจพิจารณาลองใช้คำแนะนำจากการศึกษาที่ชี้ว่าให้นำค่าเฉลี่ยที่ได้จาก 3 – 4 ศูนย์ทดสอบมาใช้เป็นค่าที่ระบุบนฉลาก เพื่อให้ได้เพื่อให้ค่า SPF ที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

มาตรฐานใหม่ของการทดสอบกันแดดในอนาคตอันใกล้

จากความร่วมมือกันของหลายฝ่าย ปัจจุบันนี้ทาง ISO อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติการทดสอบกันแดดอีกสองรูปแบบ

1.  ISO 23675 การทดสอบ SPF แบบ In-Vitro หรือ ซึ่งใช้หลักการ UVR Transmittance Spectroscopy เพื่อใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์กันแดดในรูปแบบอิมัลชั่น และ Hydroalcoholic One-Phase Formulation

2. ISO 23698 ซึ่งใช้หลักการ Hybrid Diffuse Reflectance Spectroscopy (HDRS) เป็นการทดสอบที่ผสมผสานทั้งเทคนิค In-Vitro และ Noninvasive In-Vivo ที่ให้ผลการทดสอบออกมาเหมือนกับการใช้จริงบนผิวหนังมนุษย์โดยไม่ก่อความเสียหายให้กับผู้ทดสอบ  ซึ่งวิธีนี้สามารถใชทดสอบผลิตภัณฑ์กันแดดแบบอิมัลชั่นและแบบเบสแอลกอฮอล์เฟสเดียว เพื่อทดแทน ISO 24444:2019 (SPF In-vivo) และ ISO 24443:2021 (UVA-PF In-Vitro) ได้

มาตรฐานใหม่นี้จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาและต้นทุนในการพัฒนาและทดสอบ โดยที่เพิ่มความแม่นยำและความสม่ำเสมอของผลที่ตรวจวัดได้ โดยข้อมูลคาดว่ามาตรฐานใหม่ของ ISO นี้จะถูกอนุมัติในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2025  

มีสาเหตุใดอีกบ้างที่ทำให้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่วางจำหน่ายในท้องตลาดให้ผลทดสอบออกมาต่ำกว่าค่าที่ระบุบนฉลาก?

จากที่กล่าวมาทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีการทดสอบกันแดดตามมาตรฐานอย่างถูกต้องทุกอย่าง ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจมีใครหรือหน่วยงานใดสุ่มเอาผลิตภัณฑ์จากท้องตลาดไปทดสอบและอาจได้ค่ามาตรงหรือไม่ตรงกับที่ระบุบนฉลาก แต่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้จากข้อจำกัดของการทดสอบกันแดดตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมด

แต่ก็ยังมีอีกหลายกรณี ที่ผลิตภัณฑ์ฯ อาจมีผลการทดสอบที่ต่ำกว่าที่ระบุบนฉลากอยู่มาก ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ดี เช่น

1. เป็นเครื่องสำอางปลอม เครื่องสำอางเถื่อน ใช้ฉลากปลอม ปลอมแปลงฉลาก ไม่มีการจดแจ้ง หรือสวมการจดแจ้งของผลิตภัณฑ์อื่น  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมาย เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องระวังและควรเลือกจากแบรนด์และจากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ และซื้อจากแหล่งที่ไว้ใจได้ หรือร้านค้าอย่างเป็นทางการเป็นหลัก

2. ใส่สารจัดเต็มในสูตรที่นำมาตอนตรวจทดสอบเพื่อยื่นจดแจ้ง แต่สิ่งที่ผลิตขายนั้นไม่ได้ใส่ตามสูตรที่จดแจ้งและระบุไว้ในฉลาก ซึ่งเป็นการทุจจริตที่มาจากผู้ผลิตหรือหรือจากเจ้าของแบรนด์หรือทั้งสองฝ่าย 

3. เกิดจากความไม่เสถียรของสูตรผลิตภัณฑ์  แม้สูตรจะใส่สารกันแดดมาอย่างเต็มที่แบบไม่มีกั๊ก แต่ก็อาจได้ค่าในการปกป้องที่ต่ำลงในผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายหากมีปัญหาเรื่องความเสถียร Stability ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ได้แก่

– ใช้สารกันแดดที่มีความคงตัวต่ำ (Low Photostability) ซึ่งจะด้อยประสิทธิภาพลงเรื่อย ๆ ตามอายุการใช้งาน (Shelf life) และจากสภาพแวดล้อมที่เก็บรักษา ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารกลุ่มนี้อาจทำให้ผลการทดสอบที่ออกมาได้ค่าที่สูงในตอนแรก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป หากมีการสุ่มตัวอย่างมาตรวจวัดก็จะพบว่าผลที่ออกมาจะได้ค่าที่ลดลงและไม่สามารถปกป้องผิวได้ตามค่าที่ระบุเอาไว้บนฉลาก

– การแยกตัวของอิมัลชั่น เช่นมีส่วนของน้ำมันเหลว ๆ แยกชั้นออกมา นอกจากส่งผลต่อความรู้สึกและความมั่นใจของผู้ใช้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลให้เกิดการก่อชั้นฟิลม์ของกันแดดที่เปลี่ยนไปและส่งผลต่อค่า SPF ที่วัดได้ แต่อย่างน้อยสารกันแดดก็ยังอยู่ในรูปที่ยังใช้งานได้อยู่ 

– การตกผลึกของสารกันแดด โดยสังเกตได้จากการตัวผลึกเม็ดเล็ก ๆ ในเนื้อกันแดดที่รู้สึกสากผิวเวลาทา  เป็นปัญหาที่ร้ายแรงมากอันเกิดจากสารกันแดดชนิดดูดซับรังสีบางชนิดที่ตัววัตถุดิบมาในรูปแบบผงและต้องนำมาทำละลายในสูตรก่อนที่จะมีคุณสมบัติในการดูดซับรังสียูวีได้  การตกผลึก (Recrystallization)ในสูตรนั้นจะทำให้สารกันแดดชนิดดังกล่าวหมดประสิทธิภาพในการกางตัวดูดซับรังสีบนชั้นผิวไปโดยสิ้นเชิง

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าความเถียรของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ปัญหานี้สามารถควบคุมได้โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกสารกันแดดที่มีความเสถียร (Photostable) และหากมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์ก็ต้องคำนึงด้วยว่าการเพิ่มสารกันแดดในสูตรโดยไม่ปรับตัวทำละลาย และปัจจัยอื่น ๆ สามารถเร่งให้เกิดการตกผลึกและความไม่เสถียรของผลิตภัณฑ์โดยรวมได้ จึงควรปรึกษาบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะตัวแทนจำหน่ายสารกันแดดรายใหญ่ และการทำการทดสอบเรื่องความเสถียรของผลิตภัณฑ์ในมิติต่าง ๆ รวมไปถึงการทำ Photostablility Test จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาซึ่งนำมาสู่ความเสียหายในการต้องเก็บเรียกคืนผลิตภัณฑ์และทำลายชื่อเสียงของแบรนด์ได้

– – – – – – – – – –

โดยสรุปแล้ว ผลิตภัณฑ์กันแดดในปัจจุบันนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและปลอดภัยขึ้นเรื่อยๆ จากการพัฒนาสารกันแดดและส่วนผสมที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของสารกันแดดใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการพัฒนาวิธีที่จะทดสอบผลิตภัณฑ์กันแดดให้มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น 

ผู้มีอำนาจที่กำหนดกฏและการบังคับใช้ควรอิงมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเป็นสำคัญ หากจะมีการผ่อนปรนเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นก็อย่างน้อยก็ควรมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนขึ้นมาให้ใช้เป็นบรรทัดฐานโดยทั่วกัน

ในขณะที่ผู้ผลิตและเจ้าของกิจการเครื่องสำอางก็ไม่ควรละเลยในเรื่องของการทดสอบผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องประสิทธิภาพ แต่เรื่องของความเสถียรก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่ควรมองข้ามเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้และความยั่งยืนของแบรนด์ด้วยครับ

*** ขอขอบคุณบริษัท Catalite ที่เอื้อเฟื้อและอำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลในการทำบทความนี้ ***