หนึ่งในแบรนด์เกาหลีหน้าใหม่ในบ้านเราแต่เก๋าเกมในแดนกิมจิมาเป็นเวลานานคงจะมีน้อยคนที่ไม่รู้จักแบรนด์ The History of Whoo (เดอะ ฮิสทรี ออฟ ฮูว์) เพราะรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ช่างโดดเด่นต่างจากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เหลือเกิน
คอนเซปต์ของแบรนด์ The History of Whoo คือเคล็ดลับตำรับความงามที่ราชนิกูลแห่งราชสำนักดินแดนตะวันออกใช้เพื่อประทินโฉมมาแต่โบราณ (คำว่า “Whoo” หรือ “ฮูว์”เป็นภาษาเกาหลีแปลว่าจักรพรรดินี) ซึ่งรายละเอียดเหล่านั้นก็ถูกสื่อสารผ่านรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ที่เน้นรายละเอียดแบบเครื่องประดับโบราณที่ดู “เยอะ” ดู “ประดิษฐ์” ดู “มีจริต” ซึ่งเรามองว่าเป็นอะไรที่แบบว่าเห็นถ้าไม่กรี๊ดรักมากอยากได้ ก็คงจะไม่ชอบไปเลยล่ะนะ (ส่วนตัวเราชอบอะไรที่มันดูเรียบ ๆ มากกว่าล่ะ)
ปูเป้รู้จักแบรนด์นี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้ลองซื้อมาใช้เพราะข้อจำกัดของแบรนด์เกาหลีจำนวนไม่น้อยคือเรื่องของการแสดงข้อมูลเรื่องส่วนประกอบที่มักเป็นภาษาเกาหลีที่เราอ่านไม่ออก พอดีทางบริษัท Mille ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศไทยส่งข้อมูลส่วนประกอบเป็นภาษาอังกฤษให้ก็เลยพอมีข้อมูลที่จะมาทำรีวิวให้อ่านกันนะฮะ
ผลิตภัณฑ์ที่จะพูดถึงในวันนี้คือสินค้าใหม่ล่าสุดที่พึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา The History of Whoo : GongJinHyang Seol Whitening Essence (45ml / 7,450 Baht) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เคลมว่าใช้ส่วนผสม “โซลกัมซาน” สมุนไพรตำรับลับอันประกอบไปด้วยสมุนไพร 5 ชนิด ของสาวงามแห่งราชวงศ์อย่าง ‘หยาง กุ้ยเฟย’ ที่ร่ำลือว่าเป็นเลิศทั้งความงามและผิวที่เปล่งประกาย ซึ่งก็ฟังดูดีมีเรื่องราวน่าค้นหา แต่ส่วนประกอบต่างหากที่เราสนใจ!!!
ในแง่ส่วนประกอบนั้นสิ่งที่เราเห็นได้ชัดที่สุดคงจะเป็นส่วนผสมที่เน้นความชุ่มชื่นและความเงาของผิวอย่าง Biosaccharide Gum-1 ที่เป็นตัวดึงโอบอุ้มความชุ่มชื่นได้ดีและเซ็ทตัวเป็นฟิลม์เคลือบปกป้องผิวจากการสูญเสียความชุ่มชื่นกับ Panthenol หรือ Pro-Vitamin B5 dก็มีโครงสร้างโมเลกุลที่อุ้มน้ำได้ดี Squalane กับ Ceramide 3 และ Cholesterol ช่วยเสริมชั้น Lipid ของผิวชั้นนอกเพื่อผิวแข็งแรงขึ้น
ผลิตภัณพ์ตัวนี้มีส่วนผสมที่ได้จากพืชและสมุนไพรรวมกันกว่า 40 ชนิด ซึ่งจะมองว่ามันเป็นเรื่องดีที่ได้ส่วนผสมที่หลากหลายก็ได้ หรือจะมองในแง่ที่ว่าการมีส่วนผสมที่เยอะมากจะยิ่งเพิ่มโอกาสที่เราอาจจะไปแพ้ส่วนผสมตัวใดตัวหนึ่งก็ได้เหมือนกัน
สารสกัดส่วนหนึ่งเป็นส่วนผสมที่เรารู้จักกันดีและมีประโยชน์ในแง่ของการบำรุงผิว อย่างเช่นสารสกัดจากโสมเกาหลี (Panax Ginseng Root Extract) ซึ่งมีสารสำคัญหลายชนิดเช่น Ginsenoside ที่มีคุณสมบัติหลากหายไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านริ้วรอย และช่วยในเรื่องของการลดเลือนจุดด่างดำได้ สารสกัดลูกพุทราจีน (Zizyphus Jujuba Fruit Extract) ช่วยต้านจุลชีพและต้านการอักเสบ สารสกัดลูกพลัมญี่ปุ่น (Prunus Mume Fruit Extract) ช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการผิดเมลานินด้วยคุณสมบัติดังกล่าว พืชสมุนไพรที่อยู่ในนี้มักเป็นพืชที่ใช้ในตำราสมุนไพรในแถบเอเชียมายาวนานและมีการศึกษาในแง่ของการเป็นยาแผนโบราณเมื่อรับประทานบ้างแต่ในแง่ของการเป็นส่วนผสมเครื่องสำอางเพื่อทานั้นยังมีข้อมูลจำกัดพอสมควร ส่วนผสมบางอย่างมีลักษณะของการให้กลิ่นหอมด้วยอย่างเช่นเปลือกอบเชย แซนดัลวู๊ด อะไรทำนองนี้
(Source : Melanin Hyperpigmentation Inhibitors from Natural Resources, Crude Extract from Ziziphus Jujuba Fruits, a Weapon against Pediatric Infectious Disease, Effect of Fruit Extract of Prunus mume on the Scavenging Activity of Reactive Oxygen Species and Melanin Production in B16F1 Cells)
นอกจากส่วนผสมของพืชแล้วก็มีส่วนผสมที่ได้จากสัตว์ด้วย อย่างสารสกัดจากไข่มุก (Pearl Extract) ผงไข่มุก (Pearl Powder) ซึ่งเป็นหนึ่งในตำรับความงามของจีนมาอย่างยาวนาน การศึกษาพบว่าสารเคลือบที่หอยมุกหลั่งออกมาประกอบไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุหลายชนิด ผงไข่มุกเมื่อใช้บนผิวจะมีคุณสมบัติในการให้ความชุ่มชื่นและช่วยต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสที่ผลิตเมลานินจึงช่วยเป็นไวท์เทนนิ่งได้
ในส่วนผสมของไข่มุกและตัวโสมป่าของเขา ทางแบรนด์เคลมว่ามีการช้กระบวนการที่มีชื่อว่า JinJuSamSan (จินจูซานซัน) ในการเพิ่มความร้อนให้กับส่วนผสมเพื่อทวีประสิทธิภาพให้สูงขึ้น อันนี้เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจริงหรือไม่อยากไร แต่เราเคยอ่านว่าโสมเกาหลีหลังจากเก็บมาจะต้องมีการคงคุณค่าของส่วนผสมด้วยการเอาไปอบไอน้ำให้ความร้อนก่อนทำให้แห้ง ความร้อนทำให้สาร Ginsennoside หลายชนิดเข้มข้นขึ้นในตัวรากโสม แต่ในทางตรงกันข้าม Ginsennoside บางตัวจะหายไปเพราะเปลี่ยนรูปไปเป็น Ginsennoside ชนิดอื่นแทน
ส่วนผสมที่เราไม่เคยเจอในเครื่องสำอางที่เราใช้มาก่อนคงจะเป็นสารสกัดจากเขากวาง (Velvet Extract) ซึ่งเราก็ไม่คิดว่ามันจะมีประโยชน์อะไร เขากวางในความรู้สึกของเราก็เหมือนกับเล็บนั่นแหล่ะ แต่ดันไปค้นเจอว่ามีการศึกษาเหมือนกันว่าสารสกัดจากเขากวางมีคุณสมบัติในการกระตุ้นไฟโบรบลาสต์ในการสร้างโปรตีนสำคัญอย่างเช่นคอลลาเจน อีลาสติน และเสริมการเยียวยาบาดแผลอีกด้วย แต่การทดสอบนี้ทำในจานทดลองนอกสิ่งมีชีวิตเราก็เลยไม่รู้ว่าถ้าเอามาทาบนผิวแล้วมันจะแทรกซึมและทำงานได้ผลแบบเดียวกันรึเปล่า
(Source : Stimulation of the Extracellular Matrix Production in Dermal Fibroblasts by Velvet Antler Extract.)
ส่วนผสมโดยภาพรวมเน้นไปที่สารจากพืชสมุนไพรเอเชียแผนโบราณจำนวนมากซึ่งสอดคล้องกับคอนเซต์ของแบรนด์แต่ก็ทำให้มีข้อจำกัดในแง่ของข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่จะมาสันบสนุนเพราะหาค่อนข้างยากเหมือนกัน ส่วนผสมที่ได้จากไข่มุกและเขากวางนั้นเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจในแง่ที่ว่ามันมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มารองรับอยู่เหมือนกันนะ แต่ส่วนผสมจากสัตว์อาจทำให้คนส่วนหนึ่งที่เป็นมังสวิรัติหรือต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติจะรู้สึกไม่สบายใจได้ซึ่งในมุมมองของเรานั้นมันคงเป็นประเด็นถ้าจะเอาไปขายในยุโรปที่คนค่อนข้างจะแอนตี้ส่วนผสมจากสัตว์ แต่ในเอเชียเรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติ
Ingredients : Water, Dipropylene Glycol, Glycerin, Triethylhexanoin, Biosaccharide Gum-1, Dimethicone, 1,2-Hexanediol, Lactobacillus/Soy Bean Ferment Extract, Panthenol, C14-22 Alcohols, Squalane, Diphenylsiloxy Phenyl Trimethicone, Glyceryl Stearate, Glyceryl Stearate, Betaine, Dipentaerythrityl Hexahydroxystearate/Hexastearate/Hexarosinate, Polysorbate 60, Saccharomyces/Barley Seed Ferment Filtrate, Hydrolyzed Potato Protein, Dimethicone/Vinyl Dimethicone Crosspolymer, Macadamia Ternifolia Seed Oil, Panax Ginseng Root Extract, Butylene Glycol, Dipentaerythrityl Hexa C5-9 Acid Ester, Carbomer, Arachidyl Glucose, Butyrospermum Parkii Butter, Hydrogenated Lecithin, Lauryl Dimethicone/Polyglycerin-3 Crosspolymer, Pearl Extract, Acrylates/C10-30 Alkyl Acrylate Crosspolymer, Polymethylsilsesquioxane, Velvet Extract, Fragrance, Atractylodes Japonica Root Oil, Stearic Acid, Dioscorea Japonica Root Extract, Zizyphus Jujuba Fruit Extract, Lilium Cadidum Flower Extract, Chrysanthemum Sinense Flower Extract, Prunus Mume Fruit Extract, Tromethamine , Ceramide 3, Cholesterol, PEG-100 Stearate, Angelica Acutiloba Root Extract, Cornus Officinalis Fruit Extract, Thymus Vulgaris Fruit Extract, Trisodium EDTA, Chaenomeles Sinensis Fruit Extract, Dimocarpus Longan Fruit Extract, Litchi Chinesis Fruit Extract, Polygonatum Officinale Rhizome/Root Extract, Artemisia Princeps Leaf Extract, Camellia Sinensis Leaf Extract, Chrysanthellum Indicum Extract, Cinnamonum Cassia Bark Extract, Diospyros Kaki Leaf Extract, Punica Granatum Fruit Extract, Cimicifuga Simplex Root Extract, Lithospermum Erythrorhizon Root Extract, Papaver Rhoeas Petal Extract, Trifolium Pratense Leaf Extract, Eugenia Caryophyllus Bud Extract, Foeniculum Vulgare (Fennel) Fruit Extract, Nardostachys Chinensis Root Extract, Santalum Album Wood Extract, Zingiber Officinale Root Extract, Citrus Nobilis Peel Extract, Agastache Rugosa Extract, Poria Cocos Extract, Ginkgo Biloba Nut Extract, Morus Alba Bark Extract, Paeonia Albiflora Root Extract, Atractyloides Japonica Rhizome Extract, Ampelopsis Japonica Root Extract, Tribulus Terrestris Fruit Extract, Pearl Powder, CI 77019, CI77891.
เนื้อผลิตภัณฑ์เป็นเซรั่มที่มีความเข้มข้นและเคลือบผิวได้ดี ทิ้งสัมผัสและดูฉ่ำบนผิว มีส่วนผสมของพิกเมนต์ในการช่วยกระจายแสงที่มีขนาดค่อนข้างเล็กแต่ก็ยังพอเห็นได้เมื่อพลิกสะท้อนกับแสง กลิ่นของผลิตภัณฑ์ออกไปทางแนวดอกไม้และมีความเป็น Powdery ผสมอยู่
หลังจากการทดลองใช้เรารู้สึกว่ามันเน้นในการให้ผิวมีความ Glow ผิวดูชุ่มชื่น และดูวาว ให้ผิวดูกระจ่าง ช่วงนี้ผิวไม่ค่อยจะมีปัญหาในเรื่องสิวเราเลยไม่ค่อยมีรอยสิวใหม่ ๆมาให้ดูผลเท่าไหร่ว่ามันช่วยได้ดีแค่ไหน แต่รอยเก่าที่มันมีอยู่แล้วก็ยังดูทรง ๆ ไม่ได้แตกต่างจากเดิมนักในช่วง 1 เดือนที่เราใช้มา
เนื้อสัมผัสโดยตัวของมันเองถือว่าโอเคเลยนะ แต่หากมีการเลเยอร์ผลิตภัณฑ์หลายชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางแบรนด์เองมีคอนเซปต์ให้ใช้เซรั่ม/เอสเซนส์ในแต่ละวันถึง 4 ตัว (เบสิคเอสเซนส์ 2 ตัว และเอสเซนส์เจาะจงปัญหาอย่างเรื่องริ้วรอย และไวทท์เทนนิ่งอย่างละตัว) เนื้อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้จะค่อนข้างฉ่ำและเมื่ออยู่ในอากาศที่ร้อนชื้นอย่างบ้านเราอาจจะรู้สึกว่ามันเยอะไปก็เหมือนกัน เรามองว่าารปรับเนื้อสัมผัสที่คนในประเทศที่ร้อนชื้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ได้ง่ายขึ้นจะทำให้คนเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายกว่าเดิม
โดยสรุปแล้ว The History of Whoo : GongJinHyang Seol Whitening Essence มันคือตำรับสมุนไพรเอเชียโบราณในรูปแบบของเนื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมัยใหม่ ไร้ซึ่ง Active Ingredient ที่ดูไฮเทคอย่างเปปไทด์ หรือโมเลกุลสังเคราะห์ทั้งหลายแบบที่เราเจอกันในเครื่องสำอางทั่วไป ด้วยราคาค่าตัวที่ไม่เบาเลย โดยส่วนตัวเราคงจะเลือกลองตัวเลือกทั่วไปในราคาเบา ๆ ก่อนและนี่คงเป็นทางเลือกในกรณีที่เราลองผลิตภัณฑ์ทั่วไปแล้วยังรู้สึกว่าได้ผลไม่เป็นที่พอใจอยากได้ทางเลือกใหม่ที่ต่างจากไวท์เทนนิ่งที่มีในท้องตลาดแทบจะสิ้นเชิง (มีตัวที่พอจะวัดเทียบเป็นคู่มวยกันได้ก็คือ Sulwhaoo Snowise นี่แหล่ะ)
คอมเมนต์ส่วนตัวของเราที่มีต่อแบรนด์นี้ก็คงจะเป็นเรื่องชื่อผลิตภัณฑ์ ที่อ่านไม่ออก หรือต่อให้เขียนเป็นเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่เข้าใจว่ามันหมายความว่าอะไรเพราะเป็นการทับศัพท์จากภาษาเกาหลีมาอีกที เรามองว่านี่เป็นกำแพงหนึ่งในการทำให้คนเข้าถึงแบรนด์ได้ลำบากกว่าแบรนด์อื่นล่ะ ทางแบรนด์คงต้องทำการบ้านและพยายามในการสื่อสารกับผู้บริโภคกันมากหน่อย
สำหรับใครที่สนใจอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรืออัพเดทว่ามีจำหน่ายที่ใดแล้วบ้าง สามารถแวะเข้าไปเยี่ยมชมและสอบถามได้ทาง Facebook : The History Of Whoo Thailand ได้เลยจ้า
สำหรับคำถามว่า “จะแพ้มั้ย” “ใช้แล้วอุดตันรึเปล่า?” เป็นคำตอบที่ปูเป้บอกไม่ได้ครับ อาการแพ้เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในทุก ๆ คน สำหรับการอุดตันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและการดูแลผิวโดยรวมของแต่ละคนเอง นอกจากนี้คนเรายังไวต่อการอุดตันของสารแต่ละตัวไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตาม ควรทดสอบและทดลองใช้ก่อนทุกครั้ง
***Sponsored Item***
– The History of Whoo : GongJinHyang Seol Whitening Essence
- มีส่วนผสมที่ค่อนข้างแปลกไม่เหมือนใครเมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นที่มีในท้องตลาด
- ช่วยให้ผิวดูชุ่มชื่นและดูมีความฉ่ำของผิว
- มีส่วนผสมของน้ำหอม และมีส่วนผสมของพืชที่ให้กลิ่นหอม
- ส่วนผสมของพืชสมุนไพรหลายตัวมีข้อมูลจำกัดเมื่อนำมาใช้ในเครื่องสำอาง