ตอนนี้ดูเหมือนกระแสรักป่ารักธรรมชาติจะมาแรงเป็นพิเศษในบ้านเรา แต่กระแสรักษ์ธรรมชาตินั้นมีมายาวนานแล้วในประเทศอื่นที่ไกลบ้านเราพอสมควร การแสวงหาความเป็นธรรมชาติและใช้ชีวิตแบบ Go Green เข้าไปสู่วิถีชีวิตในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เสื้อผ้า อุปกรณ์ของใช้ หรือแม้แต่เครื่องสำอางที่ทาลงบนผิว ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เคลมว่าเป็น Natural เป็น Organic จึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็นจนสร้างความสับสนให้เราพอสมควรว่าแบรนด์ต่าง ๆ เหล่านี้มันต่างกันอย่างไร อันไหนมีความเป็นธรรมชาติมากกว่ากัน?

ไม่ต้องแปลกใจที่ผู้บริโภคนักช็อปและผู้ที่หลงไหลในความงามอย่างพวกเราจะสับสน เพราะแม้แต่ในวงการเครื่องสำอางก็ยังต้องมีการตีความ จำแยก แยกประเภท และพยายามที่จะตั้งมาตรฐานต่าง ๆ กันขึ้นมาแต่ก็ยังไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไหร่ ปัจจุบันเรายังไม่มีกฏหมายหรือข้อบังคับที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก มีแต่มาตรฐานที่กำหนดขึ้นในแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค หรือเป็น Private Standart ที่กำหนดขึ้นโดยหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชนหรือรัฐบาล


ดังนั้นวันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ Natural Skincare และนิยามขอบเขตของคำต่าง ๆ ที่เราควรรู้เพื่อที่จะเข้าใจเกี่ยวกับเทรนด์ของเครื่องสำอางที่เขาอ้างว่ามาจากธรรมชาติกันมากขึ้น

แค่ไหนถึงจะจัดว่าเป็น Natural Ingredients

ส่วนผสมที่ถูกใช้ในเครื่องสำอางมีมากมายแต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะสามารถเรียกว่าเป็น Natural หรือมาจากธรรมชาติได้ ซึ่งบางทีมันก็ขัดกับความรู้สึกที่ว่าของทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเกิดขึ้นมาจากความว่างเปล่าคงไม่ได้ยังไงมันก็ต้องมีวัตถุดิบตั้งต้นที่มันเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้อยู่ดี มันจะไม่เป็นธรรมชาติได้ยังไงกัน (วะ)

ยกตัวอย่าง Mineral Oil ที่ถูกระบุว่าเป็นส่วนผสมที่ไม่ได้จัดเป็น Natural Ingredients นั้นก็มาจากกระบวนการกลั่นปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบซึ่งมันก็มาจากซากพืชซากสัตว์ทับถมกันมาเป็นเวลานาน (ตามทฤษฏีมีกันมานะ) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใต้พื้นโลกตามธรรมชาติเหมือนกัน ทำไมมันถึงไม่เป็น Natural Ingredients ล่ะ? เขาก็ให้เหตุผลว่าที่มาของ Mineral Oil มันไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่หรือปลูกทดแทนได้ ดังนั้นเงื่อนไขของการเป็น Natural Ingredients จะต้องรวมไปถึงการเป็นส่วนผสมที่สามารถปลูกหรือสร้างมาทดแทนได้ (Renewable) และต้องยั่งยืน (Sustainable)

ดังนั้นส่วนผสมอะไรก็ตามที่มาจากปิโตรเคมีจะไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนผสมจากธรรมชาติ จึงทำให้ส่วนผสมบางอย่างเช่น Glycerin ซึ่งสามารถผลิตมาจากปิโตรเคมีก็ได้หรือจะมาจากพืชก็ได้นั้น เราก็ต้องมาจำแนกในส่วนประกอบว่าเฮ้ย เราใช้ Glycerin จากพืชนะแก เรารักษ์โลก แต่ถามว่ามันจะต่างจาก Glycerin จากปิโตรเลียมไหม? ก็ไม่ต่างหรอก (ก็โครงสร้างทางเคมีมันเหมือนกันมันจะไปต่างกันได้ยังไง) แต่ที่มาต่างกัน ความรักษ์โลกมันก็ต่างกัน ความรู้สึกที่ได้และผลทางใจ ความสบายใจก็ต่างกัน Propylene Glycol ซึ่งเป็นตัวทำละลาย ตัวให้ความชุ่มชื่น และช่วยนำพาส่วนผสมเข้าสู่ผิวนั้นก็มาจาก Glycerin ซึ่งแต่เดิมก็มาจากปิโตรเลียมแต่ปัจจุบันก็สามารถทำมาจากพืชได้เช่นกัน

ส่วนผสมที่มาจากปิโตรเลียมมักจะมีราคาที่ถูกกว่า และส่วนผสมสังเคราะห์ก็สามารถคุมคุณภาพได้ง่ายกว่า มันก็เลยถูกใช้อย่างแพร่หลายมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันกระแสโลกสีเขียวมาแรงก็เลยทำให้ตัวเลือกจากธรรมชาติจึงมีราคาที่ถูกลงกว่าแต่ก่อนเนื่องจาก Demand ของตลาดที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

Silicone จัดเป็นส่วนผสมธรรมชาติรึเปล่า?

Silicone มีส่วนประกอบจาก Silicon ซึ่งหาได้มากมายบนพื้นทรายของโลกเรา ถึง Silicon ดูยังไงก็เป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ แต่ Silicone เป็นโครงสร้างโพลิเมอร์บนแบคโบนของ Silicon และ Oxygen เข้ากับโมเลกุลอื่นซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ไม่มีเกิดขึ้นเองในธรรมชาติแต่เกิดได้จากการสังเคราะห์เท่านั้น สารกลุ่มซิลิโคนจึงไม่เข้าข่ายส่วนผสมจากธรรมชาติไปโดยปริยาย

Natural Ingredients มาจากสัตว์ได้ไหม?

แม้ว่าสัตว์หลายชนิดจะสามารถเพาะเลี้ยงขึ้นมาได้ แต่เนื่องจากแนวคิดรักษ์โลก โลกสีเขียว มักรวมไปถึงการปกป้องสัตว์ด้วย ส่วนผสมที่ได้มาจากการฆ่าสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะสามารถเพาะเลี้ยงได้หรือไม่ก็ตามจะไม่ถูกนับว่าเป็น Natural Ingredients ไปโดยปริยาย ไม่นับว่าเครื่องสำอางจากธรรมชาติบางชนิดมีแปะป้ายว่า Vegan เพื่อให้คนที่เป็นมังสวิรัติใช้ได้อย่างสบายใจด้วยนะ นอกจากนี้เครื่องสำอางจากธรรมชาติจะต้องไม่ทดสอบในสัตว์ทดลองอีกด้วยล่ะ  แต่ส่วนผสมที่ได้มาจากสัตว์และสามารถเก็บมาได้โดยที่ไม่ต้องฆ่ามันอย่างเช่น นม น้ำผึ้ง  ก็นับว่าเป็น Natural Ingredients ได้ เขาว่าแบบนี้นะ

Natural Derivatives คืออะไร?

คือส่วนผสมที่ได้จากธรรมชาติแต่ผ่านกระบวนการจนได้ไปเป็นสารอื่น ยกตัวอย่างเช่นเอาน้ำมันมะกอก เอามาทำเป็น Emulsifier อย่าง Cetearyl Olivate & Sorbitan Olivate เพื่อเอามาแทนการใช้ PEG หรือ Polyethylene Glycol ในการทำอิมัลชั่นของเครื่องสำอาง หรือใช้ข้าวโพดมาผ่านกระบวนการให้ได้ Propanediol เพื่อใช้เป็นตัวทำละลายและตัวให้ความชุ่มชื่นแทน Propylene Glycol เป็นต้น

ผู้ที่เข้าลัทธิเครื่องสำอางจากธรรมชาติแบบเคร่งครัดอาจไม่ยอมรับแนวคิดนี้และมองว่าส่วนผสมจากธรรมชาติที่แท้จริงจะต้องไม่ผ่านกระบวนการที่ทำให้มันเปลี่ยนรูปร่างไปจากที่มันเป็นไปในธรรมชาติสิ ซึ่งอันนั้นก็แล้วแต่คนจะคิด เพราะว่าหน่วยงานด้าน Organic บางแห่งก็ยอมรับส่วนผสมที่เป็น Natural Derivatives นะส่วนคุณจะยอมรับหรือไม่อันนี้แล้วแต่ เอาที่สบายใจ แต่จะบอกไว้ว่าถ้ารับไม่ได้คุณคงจะหาเครื่องสำอางใช้ยาก (มากกกกก) หน่อยล่ะ

วิธีการจำแนกประเภท Natural Skincare

ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลกในการกำหนดกฏเกณฑ์เพื่อแบ่งประเภทผลิตภัณพ์ที่เคลมว่ามาจากธรรมชาติเหล่านี้ แต่โดยหลักการแล้วเราจะแบ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้เป็น 3 แบบโดยคร่าว  ๆ ได้แก่ Nature Inspired Skincare กับ Natural Skincare และ Organic Skincare

เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เราลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่า หนึ่งในสถานที่เหมาะสมในการหาตัวอย่างคงจะหนีไม่พ้น Sephora เพราะว่ามีสารพัดแบรนด์ความงามชั้นนำรวมกระจุกกันอย่างคับคั่ง และมีแบรนด์ที่ใช้ภาพลักษณ์ความเป็นธรรมชาติเพื่อเป็นจุดขายอยู่มากพอสมควรทีเดียว  มาดูกันว่าจากการพิจารณาของเราแล้วนั้น แบรนด์ไหนจะตกอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติระดับใดกันบ้าง

Nature Inspired Skincare

ก็คือผลิตภัณฑ์ที่สร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้ดูว่ามาจากธรรมชาตินะ แต่ส่วนประกอบและสูตรผสมของผลิตภัณฑ์ก็เหมือกับเครื่องสำอางที่วางขายทั่วไป มีส่วนผสมของสารสังเคราะห์ สารที่ได้จากปิโตรเลียม ทดสอบในสัตว์ทดลอง คือสิ่งที่เห็นเป็นเพียงภาพการตลาด ทั้งนี้ไมไ่ด้หมายคามผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ดีนะ เพียงแต่มันอาจไม่ได้เป็นอะไรที่ทำให้คุณได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้นในแบบที่คุณคาดหวัง แต่ถ้าไม่ได้อะไรมากเรื่องความเป็นธรรมชาติก็ใช้ไปเหอะ (เราเองก็ใช้)

แบรนด์ที่ตกอยู่ในกลุ่มนี้ก็อย่างเช่น KENZOKI ที่มีการสื่อสารว่าใช้ส่วนผสมหลักจากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นดอกบัว ดอกซากุระ แต่เมื่อมองที่ส่วนประกอบแล้วนอกเหนือจากสารสกัดจากพืชที่ถูกยกขึ้นมา ตัวเบสก็ประกอบไปด้วยสารสังเคราะห์ ซิลิโคน อย่างเช่นตัวกันแดดก็ใช้สารกันแดดแบบ Chemical ด้วย ซึ่งมันก็มีประสิทธิภาพที่ดีนะ แต่ไม่นับว่าเป็น Natural Ingredients เท่านั้นเอง

June Jacobs เป็นแบรนด์สปาที่ก็ชูพลังของส่วนผสมจากธรรมชาติอีกเหมือนกัน แม้บางผลิตภัณฑ์อย่างสเปรย์บำรุงผิวหน้านั้นสามารถสร้างสูตรที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำสกัดหรือน้ำบ่มดอกไม้หรือพืชมาเป็นเบส และตามด้วยสารกันเสียจากธรรมชาติอีกนิดหน่อย แต่จากที่เราไปเช็คส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ดูเราพบว่าโดยรวมแล้วอย่างพวกเซรั่ม มอยซ์เจอไรเซอร์ ก็ดูเหมือนกับเครื่องสำอางทั่วไปในการใช้ส่วนประกอบสังคราะห์เข้ามาทำสูตร

This Works เป็นแบรนด์ที่น่ารักและดูมีภาพลักษณ์ที่เป็นบรนด์แนวธรรมชาติยุคใหม่เก๋ไก๋ มีการระบุส่วนผสมบางชนิดเช่น Essential Oil ว่าเป็นแบบออร์แกนิคด้วย ผลิตภัณฑ์ตัวนี้คือสเปรย์พ่นหมอนเพื่อให้กลิ่นหอมจากลาเวนเดอร์ คาโมไมล์ป่า ช่วยให้หลับสบาย โดยส่วนตัวเรามองว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้สามารถทำให้ใช้ส่วนประกอบจากธรรมชาติทั้งหมดได้ง่ายหน่อย แต่ก็ยังมีการใช้ PEG-40 Hydrogenated Castor Oil เป็น Emulsifier สังเคราะห์อยู่ดีทั้งที่จะไปใช้ตัวอื่นก็ได้ แต่มองอีกมุมการใช้ส่วนประอบจากธรรชาติทั้งหมดเป็นข้อจำกัดค่อนข้างมากในการทำสูตรซึ่งส่งผลต่อความเสถียรและอายุในการเก็บรักษาด้วยเหมือนกัน

แบรนด์อื่น ๆ ที่อยู่ใน Sephora ซึ่งตกในกลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ก็ได้แก่ Boscia กับ Fresh และ Erborian

Natural Skincare

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะต้องมีส่วนประกอบของสารสังเคราะห์ให้น้อยเข้าไว้ ตัวหลักจะต้องเป็นส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบที่ไม่ได้ผ่านการดัดแปลงเลย หรือเป็น Natural Derivatives ก็ได้ ตรงนี้ยังไม่มีมาตรฐานอะไรที่จะชี้ชัดไปเลยว่าต้องมีส่วนผสมจากธรรมชาติอย่างต่ำเท่าไหร่ มีสารสังเคราะห์ได้ไม่เกินเท่าไหร่ บางแบรนด์อาจจะมีการระบุมาให้เลยว่าผลิตภัณฑ์ของฉันตัวนี้เป็น Natural 85% นะ อะไรก็ว่ากันไป แต่ถ้าไม่ระบุมาเราก็ไม่มีทางรู้อย่างแน่ชัดได้เลยล่ะ

แอบแปลกใจเหมือนกันที่แบรนด์อย่าง Arcona ซึ่งเป็นแบรนด์สปาหรูหราจากเมืองมายาฮอลลีวู้ดที่ภาพดูไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติเลยแต่กลับใช้ส่วนประกอบโดยรวมของผลิตภัณฑ์เป็น Natural Ingredients ซะส่วนใหญ่ และบางอย่างก็เป็นส่วนประกอบจากฟาร์มออร์แกนิคด้วย ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้อัด Actives Ingredients มาเยอะ และก็ไม่แคร์ด้วยว่ามันจะธรรมชาติหรือสังเคราะห์มาทำให้เราสามารถได้สิ่ที่ดีที่สุดจากทั้งธรรมชาติและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน เราชอบแบรนด์นี้เป็นการส่วนตัวในหลายแง่มุมล่ะ

อีกแบรนด์ที่ตกอยู่ในกลุ่มนี้ก็คือ Caudalie จากฝรั่งเศส

 

Organic Skincare

จะต้องมีส่วนผสมที่ได้รับการรับรองแล้วว่าเป็น Organic และจะต้องมีสัดส่วนของส่วนผสมแบบ Organic และส่วนผสมจากธรรมชาติในสัดส่วนที่ผ่านมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามที่หน่วยงานหรือสถาบันนั้น ๆ กำหนดขึ้น ซึ่งหน่วยงานหรือสถาบันเหล่านี้ก็มีมาตรฐานต่างกันไป ที่พบเจอบ่อยก็จะมี ECOCERT เป็นหน่วยงานเอกชนของฝรั่งเศส  Soil Association จากอังกฤษ USDA Organic ของรัฐบาลอเมริกา อะไรทำนองนี้ ซึ่งส่วนประกอบนั้นจะเป็น Organic ได้ก็ต้องผ่านมาตรฐานหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดินที่ปลูกก็ต้องห้ามมีการใช้สารเคมีฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมีเป็นเวลากี่ปี พืชที่ปลูกก็ต้องห้ามมีการปนเปื้อน GMO และอีกสารพัดอย่าง ซึ่งล้วนแต่ทำให้ต้นทุนของมันสูงขึ้นทั้งนั้น

สกินแคร์แบบนี้อาจจะให้มีส่วนผสมจากธรรมชาติได้มากถึง 100% แต่ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดนั้นเพราะว่าเหลือพื้นที่ไว้สัก 1% สำหรับสารกันเสียสังเคราะห์บ้างก็ได้ เพราะว่าสิ่งสุดท้ายที่เราต้องการในเครื่องสำอางที่จะปาดลงบนหน้าเรานั้นคือเครื่องสำอางที่เน่าเสียและเต็มไปด้วยจุลชีพหาใช่สารกันเสียสังเคราะห์ไม่….

แบรนด์ที่อยู่ในกลุ่มนี้น้อยมากเพราะว่าข้อจำกัดของการทำสูตรมันค่อนข้างเยอะและมีตุ้นทุนที่สูงหน่อย หนึ่งในตัวเลือกก็คือ Estelle & Third จากประเทศอังกฤษ ส่วนผสมจะมีการระบุมาชัดเจนว่ามาจากธรรมชาติกี่เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนผสมออร์แกนิคเป็นจำนวนเท่าไหร่ จึงทำให้ผ่านมาตรฐานของ ECOCERT และได้รับโลโก้มาแปะบนกล่องอย่างถูกต้อง

ต้องบอกเพิ่มเติมว่า บางแบรนด์ที่เป็น Natural Inspired Skincare หรือ Natural Skincare อาจจะมีบางผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นธรรมชาติสูงกว่าตัวอื่น ๆ ที่เขามีขายในแบรนด์ บางทีอาจจะเป็น Organic Skincare เลยก็ได้ เพราะด้วยผลิตภัณฑ์ตัวนั้นอาจจะมีข้อจำกัดในการทำสูตรที่น้อยกว่า (เช่นพวกน้ำมันบำรุงผิว โทนเนอร์ หรือ สเปรย์บำรุงผิว) หรือบางกลุ่มผิตภัณฑ์อาจทำขึ้นมาเพื่อให้เป็น Organic Skincare แต่โดยรวมแล้วผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในแบรด์ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าข่ายเป็น Organic Skincare ได้ ก็จะไม่นับว่านั่นเป็นแบรนด์แบบ Organic Skincare ได้

สิ่งที่ควรระวังคือบางครั้งก็มีผู้ผลิตหัวหมอบางราย แค่ใช้ส่วนผสมที่ได้รับการรับรองว่าเป็น Organic ใส่มาในสูตรแค่หน่อยนึง แล้วก็ไปถือวิสาสะเอาสัญลักษณ์การเป็น Organic มาแปะไว้บนฉลาก ซึ่งไม่ถูกต้อง การที่ผลิตภัณฑ์ที่ทำสำเร็จพร้อมใช้จะได้รับตราประทับจากหน่วยงานต่าง ๆ ก็ต้องผ่านมาตรฐานและรับการตรวจสอบ (และจ่ายเงิน) ให้กับหน่วยงานนั้นก่อนอยู่ดี

ทิ้งท้ายให้คิด

ก่อนจะจากกันไป เราจะบอกว่าเครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติ หรือจะเป็นออร์แกนิค ไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าเคื่องสำอางที่ไม่เป็นธรรมชาติหรือมีสารสังเคราะห์ และยังไม่มีการศึกษาและงานวิจัยที่สามารถสรุปแบบนั้นได้ ในทางกลับกันส่วนผสมที่มาจากธรรมชาตินั้นสามารถคุมคุณภาพได้ยากกว่าสารสังเคราะห์และมีโอกาสปนเปื้อนได้จากสภาพแวดล้อมที่มันเติบโตขึ้นมา ดังนั้นหากคุณจะใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติก็ควรจะเลือกใช้แบรนด์ที่น่าเชื่อถือและมีการคุมคุณภาพเป็นอย่างดี

กับดักเครื่องสำอางธรรมชาติที่คนมักตกหลุมคือความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติจะอ่อนโยนกว่า หรือมีโอกาสแพ้ได้น้อยกว่า หรือบางคนอาจคิดว่าไม่ทำให้เกิดอาการแพ้เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเพราะส่วนผสมจากธรรมชาติบางอย่างระคายเคืองผิวได้ (ยกตัวอย่างว่านหางจรเข้ เจลมันดีกับผิว แต่โดนยางของมันไปก็ระคายเคืองได้นะ) ส่วนผสมของกลิ่นหอมไม่ว่าจะมาจากการสังเคราะห์หรือธรรมชาติอย่าง Essential Oil ก็มีโอกาสก่อให้เกิดอาการแพ้ได้แล้วแต่คนอีกเช่นกัน

การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ อาจไม่ได้มาจากพื้นฐานของแนวคิดว่ามันดีหรือปลอดภัยกับผิวมากกว่าก็ได้นะ แต่อาจมาจากมุมมองว่าเราควรมีความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ก็ได้เช่นกัน เราเลือกใช้ส่วนผสมที่ไม่ได้มาจากปิโตรเคมีหรือการสังเคราะห์เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ ลดการใช้พลาสติกก็จะลดมลภาวะและขยะที่เราปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำซึ่งสุดท้ายก็จะส่งผลกลับมาสู่ตัวเราอยู่ดีไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้นเราขอให้มองเครื่องสำอางจากธรรมชาติเหล่านี้เป็น “ทางเลือก” ที่คุณสามารถเลือกได้เหมือนกับอาหารละกัน คือคุณจะเลือกกินอาหารทั่วไป กินเนื้อแดง จะกินมังสวิรัติ หรือจะเลือกกินแต่อาหารออร์แกนิคเพราะมองว่ามันดีต่อสุขภาพมากกว่าหรือเพราะกลัวเป็นมะเร็ง (ทั้งที่ในความเป็นจริงต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิตก็อาจเป็นมะเร็งได้อยู่ก็ตาม) หรือเลือกใช้แล้วรู้สึกสบายใจว่าฉันช่วยลดภาระให้กับสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ เราถือว่ามันคือทางเลือกที่คุณเลือกได้ เอาที่ทำแล้วสบายใจ ไม่เดือดร้อนตัวเอง ไม่เดือดร้อนใคร และถ้ามันทำให้เราสวยขึ้นด้วย ก็ทำไปเถอะ…