เริ่มต้นปีใหม่ กับผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ช่วยมอบผิวใหม่ที่ดูอ่อนวัยกว่าเดิม กับบูสเตอร์ใหม่ล่าสุดจาก Clinique ที่อัดแน่นไปด้วย Retinol ในความเข้มข้นที่คาดหวังผลได้จริงไม่อิงนิยาย และในเมื่อคราวนี้ Retino เป็นนางเอก ปูเป้จะขอจัดเต็มข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสมตัวนี้แบบอัดแน่นกันเลย
เมื่อกลางปีก่อนเราเห็นข่าวในวงวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางว่าบ้าน Estee Lauder Company กำลังศึกษาเกี่ยวกับอนุพันธ์วิตามินเอ เราก็มั่นใจว่าบูสเตอร์ตัวใหม่นี้ก็คงจะใช้อนุพันธ์วิตามินเอตัวนั้น แต่ผิดคาด!!! สรุปว่าเขาใช้วิตามินเอในรูปแบบ Retinol ล่ะ ซึ่งส่วนตัวเรามองว่าก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะถึงแม้ Retinol จะไม่ได้เป็นส่วนผสมที่ใหม่ แต่ก็เป็นรูปแบบที่มีการศึกษาเยอะมากขึ้น และล่าสุด Retinol ก็ได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณะสุขของญี่ปุ่นในการขึ้นทะเบียนเป็น Quasi-Drug ในประเภทของ Anti-Aging เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาด้วยล่ะ
ผลิตภัณฑ์ Clinique : Fresh Pressed™ Overnight Booster with Pure Vitamin A ตัวนี้จะจำหน่ายเป็นแพ็คคู่มาพร้อม Clinique : Fresh Pressed™ Daily Booster with Pure Vitamin C 10% โดยแพ็คคู่จะมีชื่อว่า Clinique : Fresh Pressed Clinical™ โดยชุดเล็ก 1+1 Vitamin A ขนาด 6ml และ Vitamin C ขนาด 8.5 ml อย่างละหลอด ราคาอยู่ที่ 1,800 บาท ใช้ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งเหมาะกับการซื้อมาทดลองใช้ดู ส่วนชุด 2+2 Vitamin A ขนาด 6ml จำนวน 2 หลอด Vitamin C ขนาด 8.5 ml จำนวน 2 หลอด สนนราคาอยู่ที่ 3,600 บาท
คำแนะนำจากทางแบรนด์คือให้ใช้ Vitamin C ในตอนกลางวัน ส่วน Vitamin A ในตอนกลางคืน ซึ่งก็ฟังดูมีเหตุผลเพราะปกติเราก็จะใช้ Retinol เข้มข้นในตอนกลางคืนอยู่แล้ว แต่ถ้าใครอยากใช้ Vitamin C พร้อมกับ Vitamin A ในตอนกลางคืน จะได้หรือไม่นั้น ขอให้อ่านไปจนถึง FAQs ข้างล่างนะฮะ
Retinol (เรตินอล) เป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามินเอและเป็นรูปแบบที่ก็มีอยู่ในร่างกายของเราตามธรรมชาติ และเป็นวิตามินสำคัญในการทำงานในการทำงานของเซลล์ โดยหลักการแล้วเซลล์จะรับ Retinol เข้าไป และจะมีการเปลี่ยนรูปแบบเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ โดยเปลี่ยนเป็นรูป Retinyl Ester (อย่างเช่น Retinyl Palmitate) เพื่อใช้ในเก็บสะสม (Storage) โดยสามารถเปลี่ยนกลับมาเป็น Retinol ได้เมื่อต้องการ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่นเพื่อใช้ในกระบวนการทำงานของเซลล์ เป็น Retinaldehyde และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น Retinoic Acid ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการศึกษาแล้วว่าจะเข้าไปจับกับตัวรับในเซลล์เพื่อทำงานในการเร่งการสร้างเซลล์ใหม่ ลดเลือนริ้วรอย ลดการอุดตันของสิว
วิตามินเอที่อยู่ในเครื่องสำอางนั้นก็เป็นพวกกลุ่ม Retinyl Ester กับ Retinol และ Retinaldehyde รวมไปถึงอนุพันธ์วิตามินเออื่น ๆ ส่วนสารกลุ่มกรดวิตามินเอ หรือ Retinoic Acid นั้นจัดเป็นยา ไม่สามารถใช้ในเครื่องสำอางได้ ตัวอย่างเช่น Tretinoin (ตัวยาในผลิตภัณฑ์ยา Retin-A และ Renova)
คนชอบสับสนระหว่าง Retinol กับ Retin-A ด้วยความมันอาจจะดูออกเสียงคล้ายกัน และมันเป็นสารกลุ่มวิตามินเอทั้งคู่ แต่มันคือคนละตัวกัน Retinol (เรตินอล) คือรูปแบบหนึ่งของวิตามินเอ เป็นเครื่องสำอาง ส่วน Retin-A (เรติน-เอ) คือชื่อยี่ห้อ ชื่อทางการค้าของยาตัวหนึ่ง ที่ใช้ตัวยากรดวิตามินเอ Tretinoin
จากข้อมูลที่มีในปัจจุบันระบุว่า Retinol นั้นมีฤิทธิ์น้อยกว่า Retinoic Acid ประมาณ 20 เท่า แต่ก็มีข้อดีในแง่ของการระคายเคืองที่น้อยกว่าด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและกลไกในการทำงานของ Retinol มากขึ้น ซึ่งมีการศึกษาทั้งในผิวที่แก่ก่อนวัยจากแสงแดด (Photoaged) และผิวที่แก่ตามธรรมชาติ (Naturally Aged) ซึ่งผลก็ออกมาว่า Retinol สามารถที่จะช่วยลดเลือนริ้วรอยและฟื้นฟูคุณภาพผิวให้ดูอ่อนเยาว์ขึ้นได้ โดยการศึกษาที่รวบรวมมาได้นั้นใช้ Retinol ในความเข้มข้นตั้งแต่ 0.1% ไปจนถึง 1% เลยทีเดียว
(Source : Topical retinol and the stratum corneum response to an environmental threat., A comparative study of the effects of retinol and retinoic acid on histological, molecular, and clinical properties of human skin., Prospective, randomized, double-blind assessment of topical bakuchiol and retinol for facial photoageing., The effects of topical application of phytonadione, retinol and vitamins C and E on infraorbital dark circles and wrinkles of the lower eyelids., Molecular basis of retinol anti-aging properties in naturally aged human skin in vivo, Improvement of naturally aged skin with vitamin A (retinol).)
ในแง่ของประสิทธิภาพในการฟื้นบำรุงผิวกับความเข้มข้นของ Retinol นั้น พบว่าการใช้ Retinol ในความเข้มข้นที่ 0.1% ในการใช้ 8 สัปดาห์นั้นช่วยฟื้นฟูสภาพผิวและริ้วรอยอันมาจากการทำร้ายของแสงแดดได้เมื่อเทียบกับ Vehicle ที่ไม่ได้ผสม Retinol ลงไป
การศึกษาการใช้ Retinol 0.1% ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี ก็ให้ผลออกมาว่ากลุ่มที่ใช้มีสภาพผิวที่อ่อนเยาว์กว่า และตรวจพบการแสดงออกของ Procollagen Type I กับสารกลุ่มไฮยาลูโรนิคแอซิด และโปรตีน Ki67 ซึ่งเป็นตัวที่ใช้ชี้วัดการแบ่งตัว (Proliferation) ของเซลล์
การทดสอบที่เทียบการใช้ Retinol 0.5% กับ Retinol 1.0 % ก็พบว่า ประสิทธิภาพของ Retinol 1.0% นั้นสูงกว่า แต่แม้ความเข้มข้นของ Retinol 0.5% จะให้ผลที่น้อยกว่า แต่ก็อ่อนโยนและระคายเคืองน้อยผิวน้อยกว่าด้วยเช่นกัน
(Source : Treatment of facial photodamage using a novel retinol formulation., One-year Topical Stabilized Retinol Treatment Improves Photodamaged Skin in a Double-blind, Vehicle-controlled Trial, A stabilized 0.1% retinol facial moisturizer improves the appearance of photodamaged skin in an eight-week, double-blind, vehicle-controlled study.)
ข้อมูลที่ปูเป้คิดว่าน่าสนใจมากคือการศึกษาที่เปรียบเทียบการใช้ Retinol 0.1% เทียบกับ Retinoic Acid 0.1% ซึ่งให้ผลออกมาว่า ทั้ง Retinol และ Retinoic Acid ก็ช่วยให้ผิวชั้น Epidermis มีความหนาขึ้น และความแข็งแรงของชั้น Dermal-Epidermal Junction และกระตุ้นการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับคอลลาเจนอย่าง COL1A1 และ COL3A1 ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจพบปริมาณของโปนตีน Collagen 1 และ 3 ที่เพิ่มขึ้น โดย Retinol ให้ผลที่น้อยกว่า Retinoic Acid ตามหลักการทุกอย่าง แต่เป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ Retinol ที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ 0.1% ขึ้นไป นั้นมีผลในการปรับปรุงและฟื้นบำรุงผิวที่ไม่ว่าจะแก่ก่อนวัย หรือแก่ตามวัย
โดยสรุปแล้วส่วนผสม Retinol นั้นมีประสิทธิภาพในการต่อต้านร้ิวรอย ฟื้นฟูผิวที่เสื่อมโทรมก่อนวัยจากแสงแดด กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและสารกลุ่มไฮยาลูโรแนนที่ทำให้ผิวเต่งตึง รวมไปถึงอีลาสตินที่ทำให้ผิวมีความยืดหยุ่น โดยมีเงื่อนไขว่าผลิตภัณฑ์จะต้องมีปริมาณของ Retinol ที่มากพอ และต้องมีความเสถียรตลอดอายุการใช้งานอีกด้วย ความเข้มข้นที่สูงกว่านั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าแต่ก็ระคายเคืองผิวมากกว่าเช่นกัน ดังนั้นการหาระดับความเข้มข้นที่ให้ประสิทธิภาพที่สมกุลกับความปลอดภัยและอ่อนโยนจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ผลิตภัณฑ์ Clinique : Fresh Pressed™ Overnight Booster with Pure Vitamin A นั้นเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์บูสเตอร์ที่ผสมสดก่อนใช้ โดย Retinol มาในรูปของเหลวที่มีการ Stabilized ทำให้เสถียรเอาไว้ในระดับหนึ่งแล้วก่อนแยกเก็บส่วนผสมของ Retinol เอาไว้ในแคปซูลแบบ Double-Wall เพื่อปกป้องส่วนผสมนี้จากทั้งแสง ออกซิเจน และความร้อน ที่เป็นศัตรูตัวร้ายที่ทำให้ Retinol เสื่อมสลายได้ง่าย
เมื่อกดผสมลงไปในตัวเบสเซรั่มจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้นของ Retinol อยู่ที่ 0.3% ซึ่งเป็นความเข้มข้นที่สูงที่สุดแล้วตามเงื่อนไขว่าผลิตภัณฑ์สูตรนี้จะสามารถจำหน่ายได้ทั่วโลก (เพราะกฏหมายของ EU กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับใช้กับผิวหน้านั้นสามารถใส่ Retinol ได้มากสุด 0.3% เท่านั้น) ซึ่ง 0.3% ก็เป็นความเข้มข้นที่มากพอที่จะคาดหวังผลได้ แต่ก็ยังไม่มากเกินไปจนต้องกังวลเรื่องการระคายเคืองแบบความเข้มข้นที่สูงกว่า
ตัวเบสของเซรั่มนั้นก็ยังอุดมไปด้วยส่วนผสมที่น่าสนใจโดยจะเน้นไปที่เปปไทด์ต่อต้านริ้วรอย ส่วนผสมของสารต้านการระคายเคือง สารแอนติออกซิแดนท์ และตัวที่ช่วยชดเชยเรื่องความชุ่มชื้น
เปปไทด์ตัวหลักจะมีในรูปแบบของ Acetyl Hexapeptide-8 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Argireline ถูกเคลมในเรื่องของการลดเลือนริ้วรอย การทดสอบในมนุษย์พบว่าเปปไทด์ตัวนี้ช่วยลดริ้วรอยและลดความหยาบกร้านของผิวได้ การทดสอบกับกลุ่มผู้ที่ฉีด BOTOX ก็พบว่าคนที่ฉีดและทาผลิตภัณฑ์ที่มีเปปไทด์ตัวนี้จะช่วยยืดระยะเวลาของผลที่ได้จากการฉีด BOTOX ได้นานขึ้น และอีกตัวคือ Palmitoyl Hexapeptide-12 (pal-VGVAPG) หรือ Biopeptide EL™ โดยบริษัท Sederma เคลมว่าเป็นเปปไทด์ทีกระตุ้นการสร้างอีลาสติน เพื่อความยืดหยุ่นกระชับของผิว ส่วน Whey Protein\Lactis Protein\Protéine Du Petit-Lait คือ คือส่วนผสมที่มีชื่อว่า MPC™ – Milk Peptide Complex ผู้ผลิตสารเคลมว่าช่วยกระตุ้นการสร้างไฮยาลูโรนิคแอซิดในผิวได้ดีมาก ช่วยลดริ้วรอยและเพิ่มความยืดหยุ่นของผิว (ส่วนผสมของเปปไทด์ 3 ชนิดนี้มีอยู่ใน Clinique : Fresh Pressed™ Daily Booster with Pure Vitamin C 10% เช่นกัน)
(Source : A synthetic hexapeptide (Argireline) with antiwrinkle activity., The anti-wrinkle efficacy of argireline, a synthetic hexapeptide, in Chinese subjects: a randomized, placebo-controlled study., Pilot Study of Topical Acetyl Hexapeptide-8 in Treatment of Blepharospasm in Patients Receiving Botulinum Neurotoxin Therapy, In vitro skin penetration of acetyl hexapeptide-8 from a cosmetic formulation., Topical delivery of acetyl hexapeptide-8 from different emulsions: influence of emulsion composition and internal structure., Evaluation of dermal extracellular matrix and epidermal-dermal junction modifications using matrix-assisted laser desorption/ionization mass spectrometric imaging, in vivo reflectance confocal microscopy, echography, and histology: effect of age and peptide applications.)
ส่วนผสมที่ถูกเพิ่มเข้ามาใน Clinique : Fresh Pressed™ Overnight Booster with Pure Vitamin A สำหรับยามคำคืนดูจะเน้นไปที่การเสริมการฟื้นบำรุงผิวจากความเสียหายในตอนกลางวัน ซึ่งได้แก่ Plankton Extract หรือ Photosomes® โดยบริษัท AGI/Dermatics ซึ่งเป็นสารสกัดจากแพลงก์ตอนพืช Anacystis Nidulans โดยในเอกสารการจดสิทธิบัตรเคลมว่าส่วนผสมตัวนี้ช่วยไปฟื้นฟูผิวที่เสียหายจากรังสี UV อีกส่วนผสมคือ Micrococcus Lysate หรือ Ultrasomes® ซึ่งผลิตโดยบริษัท AGI/Dermatics อีกเช่นกัน ผู้ผลิตส่วนผสมเคลมว่าส่วนผสมนี้ช่วยฟื้นฟูผิวหลังจากถูกทำร้ายจากแสงแดด
ส่วนผสมอื่น ๆ จะเน้นไปที่การต้านการระคายเคือง การต้านการอักเสบ และส่วนผสมที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และส่วนผสมให้ความชุ่มชื้น เพื่อที่จะผลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการใช้ Retinol ที่มีความเข้มข้น ผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีส่วนผสมของ Salicylic Acid หรือ BHA แต่ค่า pH นั้นไม่ต่ำพอ และน่าจะมาในปริมาณที่ไม่มาก ส่นผสมตัวนี้น่าจะถูกใช่เพื่อช่วยยืดอายุให้ผลิตภันฑ์มากกว่า ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม สี
Ingredients: Water\Aqua\Eau, Polysorbate 20, Dimethicone, Glycine Soja (Soybean) Oil, Butylene Glycol ,Vinyl Dimethicone/Methicone Silsesquioxane Crosspolymer, Methyl Trimethicone, Bis-PEG-18 Methyl Ether Dimethyl Silane, Lauryl PEG-9 Polydimethylsiloxyethyl Dimethicone, Glycerin, Polysilicone-11, Methyl Gluceth-20, Retinol, Salicylic Acid, Oenothera Biennis (Evening Primrose) Flower Extract, Laminaria Saccharina Extract, Gellidiella Acerosa Extract, Cholesterol , Salvia Sclarea (Clary) Extract, Caffeine, Sigesbeckia Orientalis (St. Paul’S Wort) Extract, Aminopropyl Ascorbyl Phosphate, Plankton Extract Palmitoyl Hexapeptide-12, Glycine Soja (Soybean) Seed Extract, Micrococcus Lysate, Hypnea Musciformis (Algae) Extract, Acetyl Hexapeptide-8, Glycine Soja (Soybean) Protein, Tocopheryl Acetate, Whey Protein\Lactis Protein\Protéine Du Petit-Lait, Sodium Hyaluronate, Acetyl Glucosamine, Caprylyl Glycol, Carbomer, Glyceryl Polymethacrylate, Sodium Hydroxide, PEG-8, Xanthan Gum, Calcium Chloride, Ammonium Acryloyldimethyltaurate/Vp Copolymer, Lecithin, Sodium Citrate, Disodium EDTA, BHT, Sodium Benzoate, Phenoxyethanol.
สำหรับคนที่คุ้นเคยกับการใช้ Clinique : Fresh Pressed™ มาแล้วก็คงเดาได้ไม่ยาก การใช้ผลิตภัณฑ์นั้นต้องเริ่มต้นจากการแกะฟลอยด์ที่ปลายหลอด กดที่ปลายหลอดเพื่อปล่อยวิตามินลงมาผสมกับตัวเบสเซรั่ม เขย่าแรง ๆ ให้เข้ากัน 15 วินาที แล้วสามารถเปิดใช้ได้เลย โดยควรใช้ให้หมดภายใน 7 – 14 วัน (ซึ่งถ้าใช้อย่างต่อเนื่อง มันหมดอยู่แล้วล่ะ)
เนื้อผลิตภัณฑ์เป็นเซรั่มเนื้อละเอียดสีขาวนวลข้น ทาแล้วเคลือบผิวแต่ไม่มันวาว ไม่หนักผิว และไม่มีปัญหากับการเลเยอร์ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่ใช้ และสามารถที่จะผสมเข้ากับสกินแคร์ที่เป็นเบสน้ำตัวอื่น หรือ external phase เป็นน้ำได้ตามปกติ
ปุเป้ทดลองผลิตภัณฑ์มาไม่ถึงเดือน ในแง่ของการลดเลือนริ้วรอยยังไม่สามารถที่จะบอกได้ครับ ผลที่ได้จากการใช้ผลิตภัณฑ์ Retinol จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะมันเน้นไปที่เรื่องของเรื่องโครงสร้างของผิวมากกว่าเน้นไปที่โทนสีผิวที่สังเกตได้ง่ายกว่าจากการใช้ Vitamin C แต่จากข้อมูลที่หามาได้ก็ชี้ว่าความเข้มข้นระดับนี้ช่วยเรื่องต่อต้านริ้วรอยได้เมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ ขึ้นไป แต่สิ่งที่สัมผัสได้ในช่วงที่ใช้คือ สิวอุดตัน สิวเสี้ยนที่จมูก และแก้ม ถูกดันตัวออกมาและสะกิดหลุดออกไปได้ง่ายๆ บางอันหลุดออกมาตอนนวดออยล์ทำความสะอาดผิวหน้าด้วย และผิวรู้สึกเนียนขึ้น
โดยรวมแล้วปูเป้ไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เลย ผิวอาจจะมีแห้งลงเล็กน้อยอาจจะเป็นเพราะช่วงที่ปูเป้ใช้นั้นก็มีเดินทางไปโตเกียวที่อากาศแห้งและเย็น 5 – 10 องศาด้วย แต่พอกลับมากรุงเทพก็กลับเป็นปกติดี ปูเป้เป็นคนที่เคยผ่านการใช้เรตินอลเข้มข้น รวมถึงยากลุ่มกรดวิตามินเอที่แรงกว่านี้มาแล้วทำให้ผิวของปูเป้สามารถใช้ Retinol 0.3% นี้ลงไปที่ผิวโดยตรงได้โดยไม่เกิดปัญหาอะไรเลย แต่สำหรับใครที่ไม่แน่ใจ หรือกังวลเรื่องการรคายเคือง ให้ปรับปริมาณในการใช้เริ่มจากน้อย ๆ หรือผสมเข้ากับเซรั่มหรือมอยซ์เจอไรเซอร์ตัวอื่นก็ได้ครับ
และเพื่อให้ทุกอย่างจบครบในบทความนี้ ปูเป้ขอยกประเด็นที่หลายคนน่าจะมีข้อสงสัยหรือสับสนเกี่ยวกับเรื่องการใช้ Retinol กันซะหน่อย
– ปรับปริมาณที่ใช้ให้เหมาะสม คอยสังเกตดูผิวว่ามีการระคายเคือง แดง แห้ง ลอกหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ให้ปรับลดลง เริ่มจากน้อยแล้วปรบเพิ่มขึ้นจะดีกว่าการใส่อัดเต็มแต่แรกแล้วผิวระคายเคือง
– เติมความชุ่มชื้นให้เพียงพอด้วยมอยซ์เจอไรเซอร์ที่มีเนื้อเหมาะกับสภาพผิว คุณอาจจะต้องปรับมอยซ์เจอไรเซอร์ที่คุณใช้ให้มีความเข้มข้นขึ้นเล็กน้อยเมื่อใช้ Retinol แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผิวของคุณตอบสนองอย่างไร ถ้าผิวไม่ได้แห้ง ได้ระคายเคือง คุณก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน
– ควรปกป้องผิวจากแสงแดดเป็นอย่างดีเพื่อปกป้องผิวที่ถูกฟื้นบำรุงขึ้นมาใหม่ ทาครีมกันแดด หลบแดด กางร่ม เลี่ยงการออกแดดโดยไม่จำเป็น
– ห้ามใช้ Retinol คู่กับยา Benzoyl Peroxide เพราะ Benzoyl Peroxide เป็น Oxidizing Agent ซึ่งมันจะทำลาย Retinol ให้เสื่อมประสิทธิภาพ ห้ามผสมคู่กันเด็ดขาด ไม่ควรทาทับกัน แต่ทาคนละช่วงเวลาได้
– หลีกเลี่ยงทุกพฤติกรรมที่จะเพิ่มการระคายเคืองให้กับผิว เช่นการ ขัด ถู หรือเช็ดผิวแรง ๆ
เคยอ่านมาว่าห้ามใช้ Retinol คู่กับอะไรที่เป็นกรด อย่าง AHA / BHA หรือแม้แต่ Vitamin C จริงหรือไม่?
จะบอกว่าห้ามเด็ดขาดก็คงไม่ใช่ แต่จะให้ไฟเขียวใช้ได้โดยปราศจากข้อควรระวังเลยก็ไม่ถึงขนาดนั้น ความเห็นที่บอกว่าห้ามหรือไม่ควรใช้ Retinol คู่กับอะไรที่เป็นกรดนั้นมีหลัก ๆ อยู่ 2 ประเด็น และเราขอให้ข้อมูลดังนี้
1. ลำพัง Retinol เองก็มีโอกาสระคายเคืองผิวได้อยู่แล้ว การใช้ควบคู่ไปพร้อมกับอะไรที่เป็นกรดอย่าง AHA / BHA ที่มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิว อาจจะเพิ่มการระคายเคืองได้ ซึ่งประเด็นนี้ปูเป้ก็เห็นด้วยว่ามีความเป็นไปได้จริง ๆ แต่ในรายที่ผิวค่อนข้างทนมันก็สามารถใช้กันได้นะ มันมีการศึกษาที่ใช้ทั้งกรดวิตามินเอ และ AHA มาคู่กันด้วยซ้ำ แต่ส่วนตัวเราก็จะไม่แนะนำเท่าไหร่ เพราะลำพังแค่กรดวิตามินเอเดี่ยว ๆ เราก็ใช้แทบไม่ไหวแล้ว ดังนั้นใครที่จะลองใช้ Retinol คู่กับ AHA / BHA ก็ไม่ถึงกับผิดมหันต์ แต่ต้องรับทราบความเสี่ยงของการระคายเคืองที่จะเพิ่มขึ้นและระมัดระวังด้วย
เสริมประเด็นเรื่องการทำงานที่ต่างกันของ Retinol / Vitamin A กับสารผลัดเซลล์ผิวอย่าง AHA / BHA อีกสักหน่อย ส่วนผสมของ Retinol นั้นจะไปเสริมการแบ่งตัวของเซลล์ (Proliferation) ซึ่งเกิดตัวในส่วนล่างสุดของผิวชั้นนอก แต่ในขณะที่ AHA / BHA จะไปทำให้เซลล์ขี้ไคลที่สะสมอยู่ด้านบนสุดของผิวชั้นนอกหลุดผลัดออกไป ดังนั้นมันไม่ได้ทำงานเหมือนกัน แม้ว่าการใช้มากไปจนผิวระคายเคืองจะทำให้เกิดอาการผิวแห้ง ลอก ที่ดูคล้ายกันก็เถอะ
(Source : Retinoic acid and glycolic acid combination in the treatment of acne scars)
2. ประเด็นเรื่องความเป็นกรดจะทำให้ Retinol ด้อยประสิทธิภาพลง โดยอิงข้อมูลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่พบว่าการเปลี่ยนรูปแบบของสารกลุ่มวิตามินเอนั้นจะมีประสิทธิภาพดีในค่า pH ที่ค่อนไปทางเป็นกลางมากกว่าค่อนไปทางเป็นกรด แต่ในการใช้จริง ๆ บนผิวหนังนั้นจะให้ผลแบบเดียวกันรึเปล่าก็ยังไม่มีข้อมูลทีจะมาสรุปได้
แต่เราก็พบการศึกษาที่น่าสนใจซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดสอบนั้นเป็นมีการรวมกันของ Retinol 0.07% ที่ถูกหุ้มไว้ในเปลือกโพลิเมอร์ กับวิตามินซี Ascorbic Acid 3.5% โดยให้ผลที่ดีในการต่อต้านร้ิวรอย และผู้ทำการศึกษายังชี้ว่ามันให้ผลดีกว่าการใช้ Retinol อย่างเดียว หรือ Vitamin C อย่างเดียวอีกด้วย ดังนั้นประเด็นเรื่องการทา Retinol ไปพร้อมกับอะไรที่เป็นกรด จะทำให้ Retinol ทำงานในผิวของเราได้น้อยลงนั้น ยังไม่มีความชัดเจนครับ
(Source : Identification of a Novel Keratinocyte Retinyl Ester Hydrolase as a Transacylase and Lipase, Histological evaluation of a topically applied retinol-vitamin C combination.)
แต่เหตุผลหนึ่งที่เรามักไม่ค่อยเห็น Retinol ใส่มาคู่กับ Ascorbic Acid หรือส่วนผสมที่เป็นกรด หรือในเบสที่เป็นกรด เนื่องจากความเป็นกรดจะทำให้ Retinol เสถียรน้อยลง ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ก็ต้องเพิ่มขั้นตอนและต้นทุนในการทำสูตรเพื่อให้มันเสถียรมากขึ้น เราจึงเห็นผลิตภัณฑ์ Retinol ใส่ผสมมาในเบสที่ไม่เป็นกรด หรือใส่มาพร้อมกับอนุพันธ์วิตามินซีที่มีค่า pH ใกล้เคียงความเป็นกลางมากกว่าเพื่อความง่ายในการทำสูตร
ดังนั้นโดยสรุปแล้ว มันไม่มีข้อห้ามแบบทำไม่ได้เด็ดขาด แต่ก็ไม่เชิงว่าจะใช้ได้โดยไม่ต้องระมัดระวังอะไรเลย ถือว่าเป็นการใช้ที่แอดวานซ์ขึ้นสำหรับคนที่มีความเข้าใจเรื่องสกินแคร์และเข้าใจผิวของตัวเองดีในระดับนึงแล้วดีกว่าเนอะ
คนที่วางแผนจะมีน้อง หรือตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร สามารถใช้ได้ Retinol ได้หรือไม่?
เราแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอยู่จะดีที่สุด และโดยส่วนตัวก็จะแนะนำให้เลี่ยง แม้ว่าจะมีข้อมูลที่ทดสอบแล้วว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผสม Retinol 0.30% ตามมาตรฐานของ EU ในปริมาณการทาที่ 30,000 IU/วัน ไม่มีผลต่อ Retinol ที่ตรวจพบในพลาสม่า แต่ปูเป้ยังแนะให้เลี่ยงไว้ดีกว่าครับ ถ้าอยากฟื้นบำรุงผิว ใช้สารตัวอื่น ใช้ Vitamin C ไปก่อนก็ได้
(Source : Repeated topical treatment, in contrast to single oral doses, with Vitamin A-containing preparations does not affect plasma concentrations of retinol, retinyl esters or retinoic acids in female subjects of child-bearing age., Scientific Committee on Consumer Safety SCCS OPINION ON Vitamin A (Retinol, Retinyl Acetate, Retinyl Palmitate))
โดยสรุปแล้ว Clinique : Fresh Pressed™ Overnight Booster with Pure Vitamin A เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากความสำเร็จของผู้พี่อย่างตัว Vitamin C ซึ่งรูปแบบของ Retinol เป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและคาดหวังผลได้ สูตรผสมทำขึ้นมาอย่างระมัดระวังและแพคเกจจิ้งที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี ไม่นับว่า Retinol ก็ทำงานร่วมไปกับ Vitamin C ได้โดย Vitamin C ให้คุณสมบัติในการเพิ่มความกระจ่างใสที่ดี ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยเสริมคอลลาเจน ในขณะที่ Retinol ก็เพิ่มการสร้างผิวใหม่ และเสริมความยืดหยุ่นของผิว และทำให้ผิวเต่งตึงขึ้น
สำหรับคำถามว่า “จะแพ้มั้ย” “ใช้แล้วอุดตันรึเปล่า?” เป็นคำตอบที่ปูเป้บอกไม่ได้ครับ อาการแพ้เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในทุก ๆ คน สำหรับการอุดตันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและการดูแลผิวโดยรวมของแต่ละคนเอง นอกจากนี้คนเรายังไวต่อการอุดตันของสารแต่ละตัวไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตาม ควรทดสอบและทดลองใช้ก่อนทุกครั้ง
***Sponsored Item***
Clinique : Fresh Pressed™ Overnight Booster with Pure Vitamin A
Price : Medium Pack (Vit A x2 + Vit C x2) = 3,600 Baht / Small Pack (Vit A x1 + Vit C x1) = 1,800 Baht
Skin Type : All Skin Type
Outstanding : Anti-Aging / Skin-Renewing / Smoothing / Fragrance-Free
- Retinol 0.3% สามารถคาดหวังผลในการพื้นบำรุงผิวและต่อต้านริ้วรอยได้
- ส่วนผสมของเบสเซรั่มช่วยต้านการระคายเคืองและมีส่วนผสมไฮเทคที่เสริมเรื่องการต่อต้านริ้วรอยเพิ่มได้อีก ปราศจากส่วนผสมของสีและน้ำหอม
- บรรจุภัณฑ์ที่เก็บรักษาวิตามินได้ดี ใช้สะดวก และพกพาไปใช้ยามเดินทางได้ง่าย
- ควรระวังเรื่องการระคายเคืองสำหรับผู้ที่มีผิวระคายเคืองง่าย หรือมีผิวแห้ง หรืออยู่ในอากาศที่อากาศแห้ง