เครื่องสำอางไม่ว่าจะสีสันหรือประทินผิวที่เราใช้กันอยู่ทุกวันสิ่งสำคัญที่หลายคนคงคำนึงถึงเป็นปัจจัยสำคัญนั่นก็คือต้อง “ปลอดภัย” กับตัวเรา ไม่ก่อผลข้างเคียง ไม่ระคายเคือง ไม่แพ้ ไม่สะสมหรือก่อพิษกับร่างกายของเรา (ที่เราบอกว่าหลายคนแทนที่จะบอกว่าทุกคน เพราะมันก็มีคนที่ยอมใช้เครื่องสำอางที่มีสารอันตราย ใส่สารปรอท ใส่สารบ้าบอเพียงเพราะอยากสวยก็มีนะ) แต่เครื่องสำอางที่ไม่ส่งผลกระทบกับตัวของเรามันส่งผลกระทบกับอย่างอื่นรอบตัวเราแทนหรือไม่? เราเคยคิดกันบ้างรึเปล่าว่าเครื่องสำอางที่เราล้างไหลลงไปในท่อระบายน้ำแล้วมันไปอยู่ตรงไหน?
กระแสการตื่นตัวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเริ่มมบทบาทมากขึ้นในวงการเครื่องสำอาง อย่างน้อยเราก็จะเห็นการโฆษณาหรือหาจุดขายของผลิตภัณฑ์ว่าใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติที่ปลูกทดแทนได้ ลดการใช้สารที่ได้มาจากปิโตรเลียม ไม่มีการทดสอบกับสัตว์ หรือแม้แต่กระบวนการผลิตใช้ไฟฟ้าทั้งหมดจากแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมอะไรแบบนี้เป็นต้น อีกผลกระทบอย่างหนึ่งที่หลายครั้งเราเองก็ไม่ได้ใส่ใจหรือลืมนึกถึงก็คือสารพัดสิ่งที่เราล้างและไหลลงท่อระบายน้ำไปนั่นเอง
การตื่นตัวครั้งใหญ่ที่สุดที่ผ่านมาดูเหมือนจะเป็นเรื่องผลกระทบจากเม็ดบีดส์พลาสติกที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ยาสีฟัน โฟมล้างหน้า เจลอาบน้ำ หรือสครับขัดเนื่องจากมีการศึกษาที่ยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่าอานุภาคของพลาสติกขนาดเล็กนี้สามารถหลุดรอดระบบกรองและบำบัดน้ำเสียจนไหลลงสู่ทะเลและเข้าไปปะปนในระบบห่วงโซ่อาหาร (ส่วนในประเทศไทยเราคิดว่าไม่มีหรอกไอ้ระบบกรองหรือบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงทะเลอะไรนั่น) และในปี 2014 รัฐอิลินอยด์ของอเมริกาเป็นรัฐแรกที่ออกกฏหมายห้ามใช้ไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ต้องล้างออก ซึ่งจุดกระแสการแบนไมโครบีดที่ย่อยสลายไม่ได้ตามธรรมชาติในรัฐอื่นจนรัฐบาลกลางสหรัฐออกกฏหมาย Microbead-Free Waters Act of 2015 ในช่วงปลายปีซึ่งกำหนดว่าเริ่มตั้งปี 2018 เป็นต้นไปจะไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ผสมไมโครบีดที่ย่อยสลายไม่ได้ตามธรรมชาติลงในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งผู้ผลิตต่าง ๆ ก็ตอบสนองโดยเร็วทีเดียว แคนาดา ไอรแลนด์ก็ตามมาติด ๆ กับการแบนไมโครบีดส์ ส่วนอังกฤษก็ประกาศแผนจะแบนส่วนผสมนี้ให้หมดไปจากอังกฤษในสิ้นปี 2017 ส่วนทาง EU กำลังคุยกันอยู่ว่าตกลงจะเอายังไง ล่าสุดที่เห็นข่าวคือนิวซีแลนด์ก็ประกาศแบนไมโครบีดส์แล้วเช่นกัน ส่วนทางฟากเอเชียก็มีไต้หวันและเกาหลีที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ค่อนข้างมากแต่ยังไม่มีกฏหมายที่แน่นอนออกมา ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียใต้และไทยนั้น แน่นอนว่าไม่มีเสียงตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก
การเลี่ยงเม็ดบีสด์นั้นทำได้ง่าย เพียงมองหาคำว่า Polyethyene ในส่วนประกอบก็รู้แล้วว่ามันมีเม็ดบีสต์พลาสติกผสมอยู่รึเปล่า ปัจจุบันเม็ดขัดจากธรรมชาติถูกนำมาใช้กันมากขึ้น แต่ก็ไมไ่ด้หมายความเม็ดขัดจากธรรมชาติจะดีกับผิวเราไปเสียทั้งหมด เพราะเม็ดขัดบางอย่างมีความแหลมคมมากและเป็นผลเสียกับผิวเราของ ตัวอย่างเช่นเปลือกแอพพริคอตเป็นต้น
(Source : Contributing to marine pollution by washing your face: Microplastics in facial cleansers, Personal Grooming Products May Be Harming Great Lakes Marine Life, Microbead-Free Waters Act of 2015, New Zealand to ban microbeads in mid-2018 , Plastic microbeads to be banned by 2017, UK government pledges, South Korea proposing microbeads ban in cosmetics)
กระแสล่าสุดที่ในไทยมีการกระจายข่าวกันบ้างก็คือเรื่องของผลกระทบของครีมกันแดดต่อปะการัง เนื่องจากสารกันแดดและสารกันเสียในเครื่องสำอางนั้นมีผลต่อการตายและฟอกขาวของปะการังด้วยเช่นกัน มีการประมาณการว่าทั่วโลกมีการผลิตสารกันแดดมากถึง 10,000 ตันต่อปี และในแต่ละปีสารกันแดดราว 4,000 – 6,000 ตันถูกปนเปื้อนละลายอยู่ในแหล่งน้ำและส่งผลกระทบกับการฟอกขาวของปะการัง การทดสอบพบว่าสารกันแดดที่มีผลกระทบกับการฟอกขาวของปะการังมากที่สุดคือ Ethylhexyl Methoxycinnamate กับ Benzophenone-3 และ 4-Methylbenzylidene Camphor และสารกันเสียในรูป Butylparaben อย่างไรก็ดียังมีความเห็นส่วนหนึ่งบอกว่าการทดสอบเหล่านี้อาจจะไม่สามารถฟันธงได้เต็มที่เนื่องจากการทดสอบทำในสภาพจำลองและก็ไม่แปลกใจที่เวลาคุณยัดสารเคมีอะไรลงไปมันก็จะทำให้ปะการังตายได้ แต่อย่างไรก็ดีการทดสอบนี้เป็นการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบได้เป็นอย่างดี
Benzophenone-3 หรือในอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า Oxybenzone จะถูกพบบ่อยในกันแดดที่มาจากอเมริกาเนื่องเขามีสารกันแดดให้ใช้ค่อนข้างจำกัด สารกันแดดตัวนี้เสื่อมความนิยมลงมากในระยะเวลาที่ผ่านมาเนื่องจากทำให้แสบผิวได้ขณะใช้ด้วย และไม่ค่อยพบแล้วในผลิตภัณฑ์ที่มาจากเอเชียและยุโรป ส่วน 4-Methylbenzylidene Camphor ก็มักถูกใช้เป็นตัวเสริมความเสถียรให้กับสารกันแดดอย่าง Avobenzone ซึ่งผลิตภัณฑ์ในยุโรปหรือในเอเชียสารกันแดดเหล่านี้มักถูกแทนที่ด้วยสารกันแดดชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าและเสถียรกว่า เราน่าจะเลี่ยงสารกันแดดเหล่านี้ได้ไม่ยาก
ส่งที่น่าเป็นห่วงคือ Ethylhexyl Methoxycinnamate ซึ่งเป็นสารกันแดดที่นิยมใช้แม้แต่ในเอเชียก็ตามเนื่องจากมันมีประสิทธิภาพในการทำละลายสารกันแดดตัวอื่นได้ค่อนข้างดีและมีต้นทุนที่ค่อนข้างถูก การหาสูตรกันแดดที่ไม่มีสารตัวนี้จะเริ่มยากขึ้นกว่าเลี่ยงสารกันแดดสองตัวบนที่กล่าวมาแต่ก็ยังพอมีตัวเลือกได้บ้าง
คำแนะนำในการเลือกกันแดดหากคุณกังวลกับปัญหาที่คุณอาจส่งผลต่อปะการังในผืนทะเล คุณต้องเลือกกันแดดที่ไม่มีส่วนผสมที่ว่ามาแต่เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าสารอื่นๆที่อยู่ในครีมกันแดดจะส่งผลอย่างไรอยู่ดีอีกนั่นแหล่ะ
(Source : Sunscreens Cause Coral Bleaching by Promoting Viral Infection, Toxicopathological Effects of the Sunscreen UV Filter, Oxybenzone (Benzophenone-3), on Coral Planulae and Cultured Primary Cells and Its Environmental Contamination in Hawaii and the U.S. Virgin Islands, No, your sunscreen isn’t killing the world’s coral reefs, Reef-inspired coral sunscreen looks to global market, De novo synthesis of a sunscreen compound in vertebrates)
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีแนวปะการังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกและในขณะเดียวกันออสเตรเลียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการตื่นตัวในการใช้ครีมกันแดดมากที่สุดในโลกเพราะว่าประเทศเขามีรูโหว่ของโอโซนเยอะมาก อากาศร้อน แดดแรง ทางการออสเตรเลียจึงได้ทำการสนับสนุนบริษัทในออสเตรร=เลียในการทำการวิจัยโดยเอาแรงบันดาลใจมาจากกระบวนการปกป้องตัวเองตามธรรมชาติของปะการังมาพัฒนาเป็นสารกันแดดในอนาคตที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและรวมไปถึงปลอดภัยกับมนุษย์อีกด้วย และในฟากอเมริกาก็มีการพบว่าปลาก็มีการสร้างโมเลกุลเพื่อปกป้องตัวเองจากรังสี UV เช่นกันและยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถสร้างสารชนิดนี้ขึ้นมาได้ด้วยตัวเองอาจเป็นหนทางในการผลิตสารนี้จำนวนมากเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์กันแดดในอนาคต
การปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับโลกใบนี้มากขึ้นนั้นอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ช้ากว่าที่เราคาดไว้เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่มักมาพร้อมกับต้นทุนที่ไม่เป็นมิตรกับเงินในกระเป๋า เฉกเช่นเดียวกับเทคโนโลยีเพื่อโลกสีเขียวทุกชนิดที่เกิดมาจาก่อนหน้านี้ แต่หากคิดถึงเพียงแต่เรื่องต้นทุนและเงินโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจนขาดการสนับสนุนเทคโนโลยีทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่มีวันได้เกิดเพราะไม่มีการผลิตที่มากพอที่จะลดต้นทุนมันลงมาได้ แต่ขอบคุณที่มีคนที่เล็งเห็นและพร้อมที่จะลงทุนเพื่อสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหลายเทคโนโลยีจึงเริ่มเป็นจริงในปัจจุบัน
การพัฒนาของมนุษย์คือการทำลายโลกที่อาศัย โดยส่วนตัวคิดว่าเมื่อสังคมหนึ่งเจริญก้าวหน้าไปจนถึงระดับที่ไม่ได้คิดถึงแค่เรื่องปากท้องของตัวเอง จะเริ่มมีเวลามาคิดถึงเรื่องรอบตัวเองมากขึ้น สำรวจสิ่งรอบตัวถึงผลกระทบที่สังคมและความเจริญที่ตัวเองสร้างได้ก่อไว้และเริ่มมองหาวิธีที่จะพัฒนาแก้ไขมันให้ดีขึ้น กระแสรักษ์โลกจึงเป็นกระแสที่มาพร้อมกับความเจริญไปอีกขั้นของสังคมที่มีความรู้ ความเข้าใจ และสายตาที่มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่กระบวนการแก้ไขอย่างแท้จริง ส่วนสังคมที่ท่องเป็นกแก้วนกขุนทองว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าวในอ่าวมีน้ำมันพืชพรรณอุดมสมบูรณ์ คงต้องรอไปก่อน เพราะไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาว่ามีอยู่