ในเดือนนี้ทาง Estée Lauder ได้เปิดตัว Micro Essence สูตรใหม่หลังจากที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมาเลยถึง 8 ปี โดยคราวนี้เน้นชูเรื่องความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการหมักบ่มทางชีวภาพด้วยส่วนผสม Bio-Ferment ที่ทำหน้าที่เป็น Postbiotics ให้ผิวแข็งแรง ชุ่มชื้น เปล่งปลั่ง อย่างอ่อนโยน

ต้องเล่าย้อนความว่า Micro Essence Skin Activating Treatment Lotion สูตรเก่าเปิดตัวมาในปี 2014 มาเพื่อเป็นเอสเซนส์น้ำที่ใช้คู่กับเซรั่ม Advanced Night Repair โดยที่น้ำตบ Micro Essence จะมีส่วนผสมของ Lactobacillus Ferment  (ตัวใหม่ในขณะนั้น) ที่เสริมการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวของเซลล์เคราติน (Differentiation) ในขณะที่เซรั่ม Advanced Night Repair (สูตรเก่าในขณะนั้น) จะช่วยเพิ่มการแบ่งตัว (Proliferation) ของเซลล์เคราติน  เมื่อใช้คู่กันจึงจะทำให้การพัฒนาตัวของผิวชั้นนอกเป็นไปได้ด้วยดีทั้งการแบ่งตัวและการพัฒนาตัว ส่งผลให้ผิวมีความสมบูรณ์แข็งแรง 

แต่ว่า  Advanced Night Repair Synchronized Multi-Recovery Complex สูตรล่าสุดที่เปิดตัวในปี 2020 ที่ผ่านมามีการใส่ Lactobacillus Ferment ตัวใหม่ที่ว่านี้เอาไว้แล้ว (อิงตามข้อมูลการจดสิทธิบัตร) จึงทำให้ทางแบรนด์จำเป็นต้องอัพเกรดสูตรของ Micro Essence ตัวใหม่เพื่อให้มีจุดขายที่แตกต่างนั่นเอง

โดยเอสเซนส์ใหม่ทั้งสองสูตรจะยืนพื้นด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน แต่ต่างกันที่ส่วนผสมเพิ่มเติมของสูตรสีฟ้า Estée Lauder : Micro Essence Treatment Lotion with Bio-Ferment จะเน้นส่วนผสมสารสกัดจากข้าวที่ให้ความชุ่มชื้น  ส่วน Estée Lauder : Micro Essence Treatment Lotion Fresh with Sakura Ferment จะมีส่วนผสมของสารหมักบ่มดอกซากุระและสารสกัดจากสาหร่ายที่ช่วยปรับสมดุลเรื่องน้ำมันบนผิว

โดยคราวนี้ทางแบรนด์ชูคำสำคัญอย่าง Postbiotic 12+ ซึ่งเคลมว่าเป็นสารที่ได้มาจากการหมัก Prebiotics คู่กับ Probiotics เพื่อให้ได้ Postbiotic อันอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์กับผิว และปูเป้ยังไม่เคยพูดถึงคำว่า Postbiotic มาก่อน จึงคิดว่าเราต้องมาทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานของคำที่เกี่ยวข้อง อย่าง Prebiotics – Probiotics – Postbiotics ตามหลักการเพื่อไม่ให้สับสน ซึ่งในที่นี้ปูเป้จะอิงจากนิยามของ ISAPP (International Scientific Association for Probiotics and Prebiotics) นะฮะ

Prebiotics – Probiotics – Postbiotics

Probiotics (โพรไบโอติก) คือเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีที่ยังมีชีวิตซึ่งเป็นชนิดที่มีผลดีต่อสุขภาพของ Host (โฮสต์) หรือเจ้าของพื้นที่ที่มันไปอาศัยอยู่ (ถ้าเป็นพิษหรือก่อผลเสียกับผู้ที่มันอยู่อาศัย เราจะเรียกว่า Phatogen หรือเชื้อที่ก่อโรคนั่นเอง) โดยอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพเหล่านี้เรียกว่า Prebiotics (พรีไบโอติก) อย่างพวกสารกลุ่มน้ำตาลและเส้นใยละลายน้ำได้บางชนิด สามารถพบได้ในกระเทียม กล้วย อะไรทำนองนี้

ส่วนคำว่า Postbiotics นั้นมีมาสักพักใหญ่แล้วและมักพูดว่ามันคือสาร Metabolite ที่จุลินทรีย์ที่ดีผลิตออกมา แต่พึ่งมีฉันทามติในวงวิชาการถึงนิยามอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ว่า Postbiotics คือสิ่งที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่มีชีวิต (คือมาทั้งเซลล์เลยแต่ว่าตายไปแล้ว ปลุกหรือเลี้ยงต่อไม่ได้แล้ว) และ/หรือ เศษซากส่วนประกอบของจุลินทรีย์เหล่านั้น ที่มีประโยชน์กับร่างกายของผู้ที่รับเข้าไป โดยอาจประกอบไปด้วยมีผลพลอยได้ที่จุลชีพผลิตขึ้น (Metabolite) เช่นเปปไทด์ เอนไซม์ โปรตีน และอื่น ๆ ติดมาด้วยหรือไม่ก็ได้

สรุปสั้น ๆ คือ Postbiotic ต้องมีจุลินทรีย์ที่ไม่มีชีวิตแล้วหรือมีเศษส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่ให้ประโยชน์กับร่างกาย  ส่วนจะมี Metabolite ติดมาด้วยหรือไม่มีก็ได้  ถ้ามีแต่ Metabolite แต่ไม่มีตัวเซลล์ที่ไม่มีชีวิตหรือส่วนประกอบของเซลล์ ก็จะไม่นับว่าเป็น Postbiotic ตามนิยามสากลนี้

สกินแคร์กับ Prebiotics – Probiotics – Postbiotics

ในช่วงที่ผ่านมา กระแสเรื่อง Microbiome หรือความเข้าใจเรื่องความสำคัญของระบบนิเวศของเชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นที่มีต่อสุขภาพของผิวนั้นเป็นอะไรที่บูมมาก (อ่านเพิ่มเติมได้ในบความ Microbiome’ The Future of Skincare) ซึ่งคำว่า Probiotics เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการเติมแบคทีเรียที่ดีลงไปเพื่อปรับสมดุล จึงถูกนำมาใช้ในการโฆษณาว่าเป็น Probiotic Skincare หรือมีส่วนผสมของ Probiotics ลงไปเพื่อปรับสมดุลเชื้อบนผิวให้ดีขึ้นมีกันอย่างแพร่หลาย ทว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องและผิดหลักการทางวิทยาศาสตร์และกฏพื้นฐานของเครื่องสำอาง

เหตุผลสำคัญประการแรกคือ เชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Probiotic ที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างเช่นกลุ่ม Lactobacilus และ Bifidobacterium หรืออื่น ๆ จะถูกนับเป็นผลิตภัณฑ์ Probiotic ได้จริง ๆ ก็ต่อเมื่อเชื้อเหล่านั้นยังอยู่ในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าตายหรือเป็นซากไปแล้วก็ไม่นับว่าเป็น Probiotic เพราะไม่สามารถทำงานในฐานะของ Probiotic ได้นั่นเอง

ที่สำคัญที่สุดคือกฏหมายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้มีการกำหนดว่าห้ามตรวจพบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค จึงเป็นเหตุผลที่เครื่องสำอางจำเป็นต้องมีระบบของสารกันเสียเพื่อยับยังการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย รา ยีสต์ ที่ไม่เอื้อต่อการมีชีวิตของเชื้อที่ไม่ดี (Phatogen) และเป็นสภาวะที่ไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของแบคทีเรียที่ดี (Probiotic) ด้วยเช่นกัน

จากข้อจำกัดพื้นฐานเหล่านี้ จึงสรุปได้ว่าปัจจุบันไม่มีเครื่องสำอางตัวใดบนโลกใบนี้ที่วางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ที่สามารถเป็น Probiotic Skincare ได้อย่างแท้จริง  และมีกรณีแบรนด์ถูกฟ้องร้องเรื่องการโฆษณาเกินจริงเรื่อง Probiotic Skincare มาแล้วในต่างประเทศ

ในทางเทคนิคและทางกฏหมายแล้ว เครื่องสำอางในปัจจุบันจึงสามารถมีได้เพียงส่วนผสมที่เป็น Prebiotics และ Postbiotics เท่านั้น และนิยามที่ชัดเจนของ Postbiotic ที่ถูกบัญญัติขึ้นอย่างเป็นทางการ ทำให้สารหมักบ่มที่มีการ Filtrate หรือกรองเอาส่วนประกอบของเซลล์หรือชิ้นส่วนของจุลินทรีย์ออกไป จนเหลือแต่พวกโปรตีน เปปไทด์ และ Metabolite อื่น ๆ จะไม่ถูกนับว่าเป็น Postbiotic ตามนิยามของ ISAPP ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

นอกจากนี้ปัจจุบันยังไม่มีนิยามของ Prebiotic Skincare และ Postbiotic Skincare เป็นลายลักษณ์อักษรในทางกฏหมาย จึงยังไม่มีมาตรฐานเข้ามาควบคุมในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องเข้าใจและใช้วิจารณญาณของตัวเองล่

Product’s Formula

Estée Lauder : Micro Essence Treatment Lotion with Bio-Ferment (100ml / 2,500 BAHT – 200ml / 4,700 BAHT) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถ้าอ่านส่วนผสมข้างกล่องอย่างเดียวจะไม่ทราบเลยว่าส่วนผสม Lactobacillus Ferment ในสูตร มาจากส่วนผสม 2 ตัว ที่ดันมีชื่อ INCI เดียวกัน จึงถูกรวบเอาไว้ด้วยกันเมื่อระบุไว้ข้างกล่อง

ตัวแรกคือที่เคลมเอาไว้ว่าเป็น Postbiotic 12+ คือส่วนผสมใหม่ที่ทางแบรนด์บอกว่าว่าอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับผิวมากกว่า 12+ ชนิดและเสริมการเพิ่มขึ้นของ Filaggin ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญในการพัฒนาและความแข็งแรงของปราการปกป้องผิว รวมถึงปริมาณของ Natural Moisturizing Factor ที่ให้ความชุ่มชื้นในผิวตามธรรมชาติอีกด้วย

จากการค้นข้อมูลปูเป้คาดว่าน่าจะเป็น LACTOBIOTYL ของบริษัท Silab (INCI : Lactobacillus Ferment, Maltodextrin) ซึ่งเคลมว่าเป็น Postbiotic หรือสารที่ได้มาจากการหมักบ่มแบคทีเรีย Lactobacillus arizonensis กับสารสกัดจากโฮโอบา และเคลมถึงคุณสมบัติในการเพิ่มขึ้นของ Filaggin และเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการสร้างลิพิด ปรับสมดุลของ Microbiota จึงทำให้ผิวชุ่มชื้น แข็งแรงขึ้น และมีความกระจ่างใส ซึ่งสอดคล้องไปกับเคลมของผลิตภัณฑ์ ถ้าไม่ใช่ตัวนี้ก็เป็นไปได้ว่าทาง Estee Lauder มีการผลิตขึ้นมาใช้เองครับ

อีกตัวคือ 98.9% Bio-Active Lactobacillus Ferment อันนี้เป็นส่วนผสมเดิมที่มีอยู่ในสูตรเก่า ซึ่งจากการค้นข้อมูลพบว่า Micro Essence Skin Activating Treatment Lotion สูตรเก่ามีการจดสิทธิบัตรเอาไว้ และพบว่า Lactobacillus Ferment นี้อาจมาจากผู้ผลิตได้ถึง 3 เจ้า (ไม่ใช่ Adasomes™ จาก AGI Dermatics ที่ใช้ในเซรั่ม Advanced Night Repair)

โดยจากสิทธิบัตรระบุว่า Lactobacillus Ferment (เข้มข้น 1% ตามสูตรที่ระบุในสิทธิบัตร) ตัวนี้เมื่อรวมเข้ากับ Bifida Ferment Lysate (เข้มข้น 5% ตามสูตรที่ระบุในสิทธิบัตร) และส่วนผสมของน้ำแร่ที่มีแร่ธาตุไม่น้อยกว่า 250 ppm จะช่วยเสริมการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวของเซลล์เคราติน (Differentiation) และเพิ่มโปรตีน Filaggin จึงทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น มีความชุ่มชื้นจากภายมากขึ้น

ส่วนผสมที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่ก็คือ Sodium Hyaluronate ที่คราวนี้ใส่มา 2 รูปแบบ แต่ไม่บอกว่าขนาดโมเลกุลเท่าไหร่บ้าง แต่คือเคลมเรื่องการให้ความชุ่มชื้นที่ยาวนานขึ้น กับ Dipotassium Glycyrrhizate ที่ช่วยต้านการระคายเคือง  สารสกัดที่มีเพิ่มมาในเอสเซนส์สูตรสีน้ำเงินคือ  Hydrolyzed Rice Extract ที่อาจจะเป็นส่วนผสมที่มีชื่อว่า Aquarize IS™ โดยบริษัท ASHLAND ที่เคลมว่าช่วยเสริมการแสดงออกของ Filaggrin รวมไปถึงคอลลาเจนด้วย

ส่วนผสมอื่น ๆ ที่ยกมาจากสูตรเก่า ได้แก่  Acetyl Hexapeptide-8  หรือที่รู้จักกันในชื่อ Argireline ถูกเคลมในเรื่องของการลดเลือนริ้วรอย การทดสอบในมนุษย์พบว่าเปปไทด์ตัวนี้ช่วยลดริ้วรอยและลดความหยาบกร้านของผิวได้  Anthemis Nobilis (Chamomile) Flower Extract ที่ช่วยต้านการระคายเคือง Caffeine มีข้อมูลว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เสริมการไหลเวียนใต้ผิว เสริมความชุ่มชื้นผิว และมี Acetyl Glucosamine กับ Betaine และ Trehalose เป็นตัวช่วยอุ้มความชุ่มชื้น

สูตรทั้งหมดยังคงปราศจากส่วนผสมของสี น้ำหอม แอลกอฮอล์ชนิดระเหยไวเช่นเคย

Ingredients : Water\Aqua\Eau, Bifida Ferment Lysate, Propanediol, PEG-75, Lactobacillus Ferment, Acetyl Hexapeptide-8, Acetyl Glucosamine, Sodium Hyaluronate, Anthemis Nobilis (Chamomile) Flower Extract, Caffeine, Dipotassium Glycyrrhizate, Hydrolyzed Rice Extract, Betaine, Maltodextrin, Carbomer, Tromethamine, Citric Acid, Trehalose, Butylene Glycol, Caprylyl Glycol, PPG-5-Ceteth-20, Pentylene Glycol, Disodium EDTA, Sodium Citrate, Phenoxyethanol, Potassium Sorbate. <ILN49455>

Usage & Result

เนื้อผลิตภัณฑ์ของ Estée Lauder : Micro Essence Treatment Lotion with Bio-Ferment สูตรใหม่นี้ดูด้วยตาเปล่าจะรู้สึกว่าไม่แตกต่างจากเดิม  แต่ถ้าลองประคบผลิตภัณฑ์ด้วยมือจะพบว่าสูตรใหม่นั้นซึมกลืนเข้าสู่ผิวไวกว่าสูตรเก่า และให้ความชุ่มชื้นได้ดีกว่าอย่างรู้สึกได้  ตัวผลิตภัณฑ์ไม่มีส่วนผมของน้ำหอมแต่มีกลิ่นอ่อน ๆ ของส่วนผสมที่ใส่มา ถือว่าใช้ง่าย และเหมาะกับทุกสภาพผิวที่ต้องการเอสเซนส์น้ำที่ให้ความชุ่มชื้นที่ดี

วิธีการใช้ สามารถลงผลิตภัณฑ์ด้วยมือ โดยใช้ในปริมาณเท่าเหรียญ 5 หรือ 10 บาท (ส่วนตัวปูเป้ใช้ปริมาณเท่าเหรียญ 10) สำหรับทั่วใบหน้าและลำคอ ประคบอย่างเบามือจนซึมเข้าสู่ผิวก่อนลงเซรั่มเป็นขั้นตอนต่อไป

หากรู้สึกว่าผิวไม่อิ่มเอิบ ต้องการความชุ่มชื้นที่มากขึ้นเป็นพิเศษกว่าการประคบด้วยมือ ให้ลองใช้คู่กับสำลีในการประคบซับไปเรื่อย ๆ ตัวสำลีจะช่วยอุ้มเนื้อเอสเซนส์เอาไว้ไม่ให้ระเหยออกไปได้โดยง่าย ทำให้สามารถประคบเพื่อ Infuse ความชุ่มชื้นเข้าสู่ผิวได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการใช้ในปริมาณเท่ากันกับมือการใช้ด้วยมือเปล่า

โดยสำลีที่แนะนำให้ใช้เพื่อการนี้คือ Silcot : Moist Touch ที่ไม่กินเนื้อเอสเซนส์ ไม่เป็นขุย และมีทรงที่เหมาะกับการใช้แปะเพื่อมาส์กอัดความชุ่มชื้นในจุดที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษอีก 3-5 นาทีได้เป็นอย่างดี

หากเงินไม่ใช่ปัญหา เอสเซนส์ตัวนี้ทำเป็นมาส์กได้ วิธีนี้อัดความชุ่มชื้นให้ผิวฟูได้ดีทีเดียว  ตรงไหนที่ผิวขาดน้ำหรือแห้งกร้านจะรู้สึกได้เป็นพิเศษ  โดยใช้ปริมาณ 13-15 มิลลิลิตรเพื่อชุบแผ่นมาส์กอัดเม็ดให้ชุ่ม และแปะหน้าทิ้งไว้สัก 10 นาที ก่อนลอกออก และใช้เอสเซนส์ที่ยังเหลือประคบผิวหน้าและลำคอ ก่อนบำรุงผิวในขั้นตอนถัดไป

Conclusion

โดยสรุปแล้ว Estée Lauder : Micro Essence Treatment Lotion with Bio-Ferment เป็นการปรับปรุงสูตรที่น่าจะรับฟังคำเรียกร้องจากผู้ใช้ในหลายด้าน อัดความชุ่มชื้นในทันทีได้ดีกว่าเก่า โดยมีส่วนผสม Postbiotics ตัวใหม่ที่ช่วยเสริมสมดุลของ Microbiota ทำให้ผิวแข็งกระจ่างใสยิ่งขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะในเรื่องของเนื้อสัมผัสที่ซึมเข้าสู่ผิวง่ายขึ้น หนึบผิวน้อยลงนี่เป็นการปรับปรุงที่ทำให้ปูเป้รู้สึกว่าเราใช้เอสเซนสตัวนี้ในสภาพอากาศบ้านเราได้ง่ายขึ้น

เอสเซนส์ตัวนี้เหมาะกับทุกสภาพผิว ทุกเพศ ที่มองหาเอสเซนส์ที่ส่วนผสมของสารบำรุงที่เข้มข้น ให้ความชุ่มชื้นดี เสริมความแข็งแรงของผิว มีความต่อต้านร้ิวรอยแบบกรุบกรอบ และที่สำคัญคือความอ่อนโยน ปราศจากส่วนผสมของสี น้ำหอม แอลกอฮอล์ครับ

สำหรับคำถามว่า “จะแพ้มั้ย” “ใช้แล้วอุดตันรึเปล่า?” เป็นคำตอบที่ปูเป้บอกไม่ได้ครับ อาการแพ้เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในทุก ๆ คน สำหรับการอุดตันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและการดูแลผิวโดยรวมของแต่ละคนเอง นอกจากนี้คนเรายังไวต่อการอุดตันของสารแต่ละตัวไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตาม ควรทดสอบและทดลองใช้ก่อนทุกครั้ง

***Sponsored Item***

Estée Lauder : Micro Essence Treatment Lotion with Bio-Ferment
100ml / 2,500 BAHT – 200ml / 4,700 BAHT
Skin Type : All Skin Type / Sensitive Skin /
Outstanding : Hydration / Barrier Repair / Soothing / Anti-Aging

Estée Lauder : Micro Essence Treatment Lotion with Bio-Ferment
FORMULA
GENTLENESS
SENSORY
RESULT
PUPE LOVE IT
PROS
  • เนื้อสัมผัสที่ซึมเข้าสู่ผิวไวขึ้นแต่ชุ่มชื้นมากกว่าเดิม
  • ส่วนผสมใหม่ที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของผิว ปรับสมดุลผิว ต้านการระคายเคือง
4.0Overall Score

Related Posts