ไอวี่ / Ivy หรือ ตีนตุ๊กแกฝรั่ง เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่บรรดาคอนเทนต์ชวนปลูกต้นไม้ในบ้าน หรือไม้ฟอกอากาศ นำมาพูดถึงมากเป็นอันดับต้น ๆ ด้วยความสวยเก๋มีสไตล์แบบที่จะเห็นได้ตาม Pinterest หรือ Instagram แต่งบ้านสวย ๆ แต่อนิจจา การเลี้ยงไอวี่ให้คงสวยและรอดชีวิตได้กลับไม่เห็นง่ายเหมือนคอนเทนต์ลวก ๆ ที่ก็อปกันมา แปลมาจากเวปต่างประเทศ ใช้รูปที่หามาจากกูเกิ้ลรูป หรือซื้อมาถ่ายรูปแล้วก็จบไป แต่ไม่เคยเลี้ยงเองจนรอด
เราเองในฐานะคนที่ปลูกอะไรก็ตายมาก่อน แต่เริ่มปลูกต้นไม้ในห้องแบบจริงจังเพราะย้ายมาห้องใหม่แล้วอยากมีสีเขียวที่มีชีวิตอยู่ในห้อง ก็ลองผิดลองถูกและพยายามทำความเข้าใจ จนสามารถมีคอลเลคชั่นของต้นไอวี่หลายสิบแบบ และวันนี้เราจะมาแชร์หลักสำคัญในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของน้องไอวี่ของคุณแบบไม่กั๊กเลย
ก่อนอื่นสิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจเกี่ยวกับต้นไม้ทุกชนิดคือ ต้นไม้ต่างต้องการปัจจัยสำคัญอย่าง แสง / น้ำ / สภาพแวดล้อม อย่าง วัสดุปลูก อุณหภูมิ ความชื้น / ธาตุอาหาร แต่จะต้องการอะไรมากน้อยแตกต่างกันไป หรืออ่อนไหวกับความเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน ก็แล้วแต่ชนิดของต้นไม้ ต้นอะไรที่บอกว่าเลี้ยงง่าย บอกว่าทนแค่ไหน แต่เอามันไปอยู่สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะ มันก็ตายได้ทั้งนั้น
แม้ว่าไอวี่จะเป็นวัชพืชอย่างหนึ่งในถิ่นที่มันอยู่อาศัย ไอวี่ไม่ใช้พืชท้องถิ่นของไทย และไม่ใช่ต้นไม้ที่เอาไปโยนไว้ตามพงไม้ข้างบ้านเราแล้วมันจะอยู่รอดได้ ดังนั้นเพื่อที่จะให้น้องไอวี่ของเรารอด และงอกงามได้ เราต้องเข้าใจธรรมชาติของไอวี่เสียก่อนว่าแบบไหนที่เหมาะกับน้อง
1. แสง
แม้จะบอกว่าไอวี่เหมาะเป็นพืช Indoor Plant ปลูกในบ้านได้ แต่ที่ไม่รอดกันเพราะส่วนใหญ่เอาน้องไปอยู่ที่แสงสว่างไม่มากพอ ไอวี่ชอบแสงอย่างมากแต่ต้องไม่ใช่แสงจัด ๆ จากดวงอาทิตย์โดยตรง จะต้องเป็นแสงที่ผ่านการกรอง ผ่านสแลนกรองแสง หรือถ้าเป็นแสงจากหน้าต่างก็เป็นหน้าต่างด้านที่ไม่รับแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง เป็นแสงแบบ indirect sunlight หรือถ้าหน้าต่างของคุณเจอแสงจากดวงอาทิตย์สาดแบบตรง ๆ ช่วงบ่ายอย่างห้องของปูเป้แล้วล่ะก็ จำเป็นต้องมีม่านโปร่งกรองแสงมาช่วย
แสงที่น้อยไป ไอวี่จะค่อย ๆ อ่อนแอและตาย แต่แสงจัดจากดวงอาทิตย์โดยตรงของประเทศไทยจะทำให้ไอวี่ไหม้และตายอีกเช่นกัน ถ้าไม่มีแสงธรรมชาติ หรือถ้าห้องมีแสงจากหลอดไฟแบบ Day Light ที่สว่างมาก ๆ ก็พอจะอยู่ได้เช่นกัน แต่เป็นไปได้ให้ใช้หลอดไฟสำหรับปลูกต้นไม้โดยตรงจะดีกว่า
2. น้ำ
ข้อผิดพลาดส่วนใหญ่ของนักปลูกพืชสมัครเล่น หรือแม้แต่คนที่ปลูกมานานแต่ก็พลาดท่าให้กับไอวี่ ก็คือการให้น้ำมากไปจนเน่า ไอวี่เป้นต้นไม้ที่รากเน่าได้ง่ายมากถึงมากที่สุด อาการเมื่อรากพังรากเน่าคือตเนจะค่อยดูเฉา ใบฟุบ เพราะรากไม่สามารถดูดน้ำและสารอาหารมาเลี้ยงได้ คนที่ไม่เข้าใจยิ่งพยายามรดน้ำมากขึ้น และสุดท้ายต้นไม้ก็ตาย และต้นต่อไปก็จะตายเร็วกว่าเดิมเพราะคิดว่าต้นก่อนี่ตายเพราะว่าให้น้ำไม่พอ วนเป็นลูปจนท้อแท้ถอดใจ
ถ้าคุณปลุกไอวี่ในดินหรือวัสดุปลูกโดยทั่วไป จะปลอดภัยที่สุดถ้าเราจะเลี้ยงไอวี่แบบแห้ง ๆ หน่อย ควรรดน้ำต่อเมื่อดินในกระถางแห้งเสียก่อน แห้งแบบแห้งยันก้นกระถาง ไม่ใช่แห้งแค่หน้าดินแล้วข้างในยังชุ่มอยู่ พอดินในกระถางแห้งจนกระถางเบาลงค่อยรดน้ำทีเดียวให้ชุ่ม และรอจนดินในกระถางแห้งก่อนจึงรดครั้งต่อไป เท่านี้ก็ลดโอกาสที่ไอวี่จะรากเน่าตายได้มากแล้ว
อย่างไรก็ดี การปล่อยให้แห้งไปก็ไม่ดี การรดน้ำน้อยเกินไปต้นไอวี่ก็จะโตช้า ถ้าเกิดซ้ำบ่อย ๆ เข้าก็สามารถเกิดอาการปลายใบเป็นสีน้ำตาลและเริ่มร่วงได้เหมือนกัน ถ้าปล่อยดินแห้งมากจนน้องใบฟุบเพราะขาดน้ำ หากนานเกินไปจนเกินจุดรากน้องก็จะพังเหมือนกัน สังเกตุคือรดน้ำลงไปผ่านไปสักคืนนึงก้านใบก็ยังไม่กลับมาแข็งเต่งตึง คือน้องเตรียมลาโลกอย่างแน่นอน ให้เตรียมมาตรการฉุกเฉินในการปลุกชีพน้องด้วยการตัดปักชำได้เลย ซึ่งมีวิธีบอกไว้ในด้านล่างของบทความนี้
3. วัสดุปลูก
วัสดุปลูกไอวี่ต้องมีมีความโปร่งและระบายน้ำดีมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกต้นไม้ในห้อง ที่มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อรา หรือมีการระบายอากาศที่แย่กว่าการปลูกนอกบ้านอยู่แล้ว ไม่มีสูตรที่ตายตัวสำหรับตรงนี้ แต่โดยส่วนตัวดินที่ใช้ปลูกไอวี่ในบ้านคือวัสดุปลูกพวกตะบองเพชรหรือไม้อวบน้ำ เพราะว่าระบายอากาศดี และไม่อัดแน่นจนเพิ่มโอกาสรากเน่าได้ง่าย
ส่วนตัวใช้ [หินภูเขาไฟเบอร์ 0 + Perlite + Vermiculite + Akadama + ดินใบก้ามปูร่อน + พีทมอสสูตรแคกตัส] อย่างละ 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันเพื่อเป็นวัสดุปลูก จะผสมผงเชื้อไตรโคเดอม่าซึ่งเป็นเชื้อราชนิดดีลงไปเพื่อช่วยลดโอกาสเกิดรากเน่าก็ได้บ้าง
ปกติที่เขาขายกันจะไม่ใช้วัสดุปลูกแบบนี้หรอกเพราะต้นทุนมันสูงกว่า ซึ่งเราจะเอามาเปลี่ยนเองที่บ้าน วัสดุปลูกแบบที่เราใช้จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการแน่นอัดตัวเมื่อใช้ไปนาน ๆ จากประสบการณ์เทียบแล้วนี่เป็นวัสดุปลูกที่ทำให้เราดูแลไอวี่ให้รอดตายได้ง่ายและนานกว่าแบบอื่น ๆ เคยลองใช้แค่พีทมอสผสมกับ Perlite เยอะ ๆ แบบที่ฝรั่งแนะนำกันก็ยังพบว่าโอกาสเน่ายังมากกว่า และใช้ไปแค่ครึ่งปีวัสดุปลูกก็จะเริ่มแน่นแล้ว
เช่นเดียวกับวัสดุปลูกทุกชนิด พอถึงจุดหนึ่งสารอาหารจะร่อยหรอ ต้นไม้จะไม่ค่อยโตหรือเจอใบเหลือร่วงขาดธาตุอาหาร การเติมปุ๋ยหรือมูลไส้เดือนลงไปจะช่วยได้ แต่เมื่อต้นไม้โตเกินและถึงคราวย้ายกระถางควรควรเปลี่ยนวัสดุปลูก การเปลี่ยนวัสดุปลูกใหม่สักปีละครั้ง หรือสังเกตุว่าวัสดุเริ่มเสื่อมหรือต้นไม้เริ่มโทรมค่อยเปลี่ยนก็ได้
4. ชนิดของวัสดุที่ใช้ทำกระถาง
วัสดุแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกันไป กระถางดินเผาโง่ ๆ แม้จะหนักและแตกง่าย แต่มีข้อดีอย่าหนึ่งที่สำคัญคือวัสดุมีรูพรุนและสามารถปล่อยให้น้ำและอากาศระบายออกไปได้ ทำให้โอกาสในการเกิดรากเน่าของต้นไม้เกิดได้น้อยลง กระถางเซรามิคที่ไม่เคลือบก็มีคุณสมบัติเดียวกัน
ในทางตรงกันข้าม กระถางพลาสติด กระถางไฟเบอร์กลาส แม้จะสวย มีน้ำหนักเบา ตกไม่แตก แต่ไม่ปล่อยให้ความชื้นผ่าน ทำให้วัสดุปลูกอมความชื้นได้นานกว่า
คุณสมบัติของวัสดุกระถางนี้ มีผลต่ออัตราการระเหยของความชื้นของวัสดุปลูก ยกตัวอย่างเช่น วัสดุปลูกเดียวกัน ในกระถางขนาดเท่ากัน วางไว้ในจุดเดียวกัน แต่ดินที่อยู่ในกระถางดินเผาหรือเซรามิคไม่เคลือบ จะแห้งไวกว่าดินที่อยู่ในกระถางพลาสติกหรือไฟเบอร์กลาส เมื่อความชื้นในดินระเหยไปได้ไม่เท่ากัน ความถี่ในการให้น้ำก็จะต้องต่างกันไปด้วย
ส่วนตัวลองใช้มาทุกแบบ เราแนะนำว่าใช้เป็นกระถางกินเผาหรือเซรามิคไม่เคลือบ จะดีที่สุด ส่วนตัวจะแนะนำกระถางเซรามิคแบบไม่เคลือบที่มีพื้นผิวสวย ๆ จะทำให้ต้นไม้ดูสวยขึ้นอีกหลายเท่า แต่ต้องเตรียมใจไว้เลยว่าค่ากระถางจะแพงกว่าต้นไม้มากหลายเท่าอีกเช่นกัน
5. อุณหภูมิและความชื้น
แม้จะบอกไปว่าไอวี่รากเน่าได้ง่ายมาก ควรเลี้ยงไอวี่ให้แห้ง ๆ อย่าให้เปียกชุ่มตลอดหรือมีน้ำขัง แต่ไอวี่ชอบอากาศที่มีความชื้นหน่อย อากาศที่แห้งหรือแล้งมาก ๆ นอกจากจะไม่เอื้อต่อการโตแล้ว ยังเป็นช่วงที่ศัตรูพืชอันดับ 1 ของไอวี่ อย่างไรแมงมุม หรือ Spider Mite บุกอย่างหนักอีกด้วย การปลูกในบ้านโดยเฉพาะในห้องปรับอากาศนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสเปรย์น้ำให้กับใบและเถาของไอวี่ ถ้าเป็นไปได้ก็ทำทุกวัน วันละหนึ่งครั้ง ถ้าไม่ค่อยมีเวลาจะน้อยกว่านั้นก็ได้ แต่ต้องสเปรย์ที่ใต้ใบด้วยเพื่อลดโอกาสในการเกิดการระบาดของ Spider Mite แต่แรก
ไอวี่ไม่ชอบสภาพร้อนอบอ้าวหรือแห้งแล้ง ไอวี่จะงอกงามดีในสภาพอากาศที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส อากาศแบบ 20-25องศาในห้องแอร์คือดีมาก แต่ใช่ว่าไอวี่จะอยู่รอดนอกห้องแอร์ไม่ได้ เพราะฟาร์มต้นไม้ที่เพาะไอวี่ในไทยเขาก็ไม่ปลูกกันในห้องแอร์ เพียงแต่ปลูกในโรงเรือนที่มีม่านกรองแสง ระบายอากาศดี และมีความชื้น ซึ่งความชื้นและการระบายอากาศนั้นทำให้อุณหภูมิไม่ร้อนเกินไป ก็งอกงามได้เช่นกัน
6. สารอาหาร
จริงๆ แล้วไอวี่เป็นวัชพืชแหล่ะ มันไม่ต้องการการประคบประหงมอะไรมาก ปุ๋ยให้ออสโมโค๊ตสักปีละ 1 – 2 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว แต่สามารถเพิ่มอาหารเสริมทางใบได้สัปดาห์ละครั้ง อย่างพวกสาหร่ายสกัด หรือธาตุอาหารรองสำหรับพืชใบ หาได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทำสวนทั้งหลาย
คำถามยอดนิยม ที่ไม่มีวันได้คำตอบเหมือนกัน และไม่มีใครตอบแทนกันได้ จากที่อธิบายไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ทั้งตัววัสดุที่ใช้ปลูก ทั้งขนาดและวัสดุของกระถางที่ปลูก ทั้งสถานที่ตั้งของต้นไม้ว่ามีความชื้นมากน้อยแค่ไหน หรือในบ้านหรือนอกบ้าน ในบ้านเปิดแอรืหรือไม่ ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้อัราการระเหยความชื้นของดินแตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเจาะจงได้ว่าให้รดน้ำกี่วันครั้ง คุณต้องดูเองว่าดินคุณแห้งถึงข้างในเมื่อไหร่ ก็ค่อยรดเมื่อนั้นจ้า
ศัตรูพืชอันดับหนึ่ง และสาเหตุการตายของนองไอวี่นอกเหนือจากรากเน่า คือ ไรแมงมุม หรือ Spider Mite สังเกตได้จากพลิกใต้ใบดูแล้วเห็นมีตัวอะไรกลม ๆ สีน้ำตาล สีดำ สีแดง หรือมีใยขาว ๆ อยู่ใต้ใบ หรือส่องไฟย้อนหาแสงแล้วเห็นมีจุดด่างเป็นจุด ๆ กระจายอยู่ทั่ว นั่นคือความเสียหายจากใบที่โดน ไรแมงมุม เจาะดูด น้องจะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ใบจะเปลี่ยนสีและร่วง
ถ้าเราเช็คใบของน้องอย่างสม่ำเสมอ และเจอแต่เนิ่น ๆ โอกาสรอดของน้องจะมีอยู่มาก แต่ถ้ามาเจอหลังจากเห็นว่าใบน้องร่วงแบบผิดปกติ และแพร่กระจายไปเยอะแล้ว โอกาสน้องจะกลับดาวต้นไม้มีสูงถึง 80%
วิธีจัดการกับ ไรแมงมุม หรือ Spider Mite หากพบเจอการระบาดแล้วก็เห็นมีหลายวิธีที่ใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นการพ่นน้ำ หรือน้ำผสมน้ำยาล้างจานแบบจาง ๆ เข้าไปทุก ๆ วัน หรือการฉีดน้ำล้างใบเพื่อเอาตัวและไข่ของไรแมงมุมออก โดยทำทุก 3 วันไปเรื่อย ๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ วิธีนี้พอทำได้อยู่หากคุณมีน้องไอวี่แค่ไม่กี่ต้น หรือมีการระบาดเพียงเล็กน้อย
ถ้ามีต้นไม้อยู่เยอะ ปลูกใกล้กัน และการระบาดเข้าขั้นหนักแล้วล่ะก็ ตัวที่ได้ผลดีคือการใช้สารฆ่าไรแมงมุม อย่าง ไพริดาเบน ผสมน้ำฉีดให้ทั่ว โดยเน้นที่ใต้ใบอย่างให้พลาด ฉีดซ้ำทุก 3 วัน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าการระบาดจะคุมได้ สารตัวนี้ซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทำสวน เวลาฉีดก็ระวังหน่อยเพราะมันเป็นสารเคมีที่มีพิษ โดยเฉพาะถ้าที่บ้านมีสัตว์เลี้ยง หรือมีเด็กเล็ก ๆ
ข้อควรระวังคือตัวไอวี่ก็เป็นพิษกับสัตว์เลี้ยง ดังนั้นปลูกให้ห่างจากแมวหรือสุนัขไม่ให้มากัดกิน
เพื่อที่จะลดโอกาสการเจอไรแมงมุมบุกแต่แรก ควรหมั่นเช็คใต้ใบเสมอ และเวลาที่เราซื้อต้นไม้มาใหม่ ควรจะมีการแยกพื้นที่ก่อนเพื่อป้องกันโรคและแมลงที่จะมาจากต้นไม้ต้นใหม่มาติดกับต้นไม้ในห้อง เปลี่ยนวัสดุปลุก เปลี่ยนกระถาง ล้างใบ ฉีดยา จนมั่นใจว่าต้นไม้ใหม่มีสภาพที่แข็งแรงดี ก่อนนำมาปลูกรวมกันจะดีที่สุด
ไม่ว่าจะมือใหม่ หรือปลูกต้นไม้มาแล้วนับปี การที่น้องไอวี่ในการดูแลของคุณจู่ ๆ ก็จะสู่ขิตกลับไปอยู่ดาวต้นไม้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แม้ว่าคุณเป็นมือโปรแค่ไหนก็ตาม อย่างในรูปด้านบนคือหลังจากกลับจากทริปญี่ปุ่น 11 วัน ก็เจอน้องในสภาพที่รากพังเพราะปล่อยให้แห้งจนเกินไป รดน้ำก็ไม่ฟื้น
โชคดีน้องไอวี่คือวัชพืช การเพาะหรือการช่วยน้องจากสภาพใกล้ตายนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แทนที่จะให้คุกกี้ทำนายกันว่าน้องจะรอดหรือกลับมาฟื้นได้ไหม และปล่อยให้เงินของสูญสลายไปกับซากต้นไม้แห้งกรัง จะเป็นการดีกว่าหากจะตัดน้องในสภาพที่พึ่งเริ่มเหี่ยวระยะแรก มาล่อรากแล้วค่อยเอาลงปลูกในกระถางเริ่มใหม่ปลูกอีกรอบ
หรือต้นไอวี่ของคุณอาจจะงอกงามดี แต่พอถึงจุดหนึ่งมันจะยาวไปจนรก หรือถึงจุดหนึ่งที่สารอาหารจากกระถางใบจิ๋วมันจะไม่เพียงพอต่อการให้เถาอันยาวเฟื้อยนั้นงอกงามต่อไปได้โดยมีสภาพที่ดี การตัดแต่งจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ และส่วนที่ตัดก็สามารถนำไปเพาะเป็นต้นใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็น
จากการทดลอง เราพบว่าวิธีที่ง่ายที่สุด แต่อาจจะใช้เวลาสักหน่อย ในการขยายพันธ์ไอวี่ คือการตัดมาปักในน้ำ ถ้าก้านที่ตัดมามีสภาพที่แข็งแรงดี อาจจะเหี่ยวจากการขาดน้ำบ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่หรือมีโรคติดมา โอกาสรอดงอกราก มีมากถึง 90%
การเพาะโดยการปักลงดินนั้นทำได้เฉพาะกับไอวี่ที่มีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีเท่านั้น และจากที่ตัวเองทดลองดูพบว่าโอกาสสำเร็จมีต่ำกว่าการล่อรากด้วยน้ำ ดังนั้นถ้าทำเองที่บ้าน ไม่ได้จะเพาะขาย มีฮอร์โมนเร่งราก ยาฆ่าเชื้อมาคลุกแล้วล่ะก็ จับปักลงน้ำเป็นตัวเลือกที่สะดวกชีวิตที่สุด
วิธีก็ง่ายมาก แค่หาขวดน้ำเปล่าที่ล้างให้สะอาด ใส่น้ำประปาจนเต็ม ใช้กรรไกรที่สะอาด เช็ดแอลกอฮอล์ให้เรียบร้อย ตัดน้องไอวี่ที่มีความยาวสักหน่อย ริดใบที่ 2 – 3 ข้อแรกออก แล้วก็ปักลงไปในขวดได้เลย ทิ้งเอาไว้ในจุดที่มีแสงสว่างกำลังดีส่องถึง ผ่านไปสัก 2 สัปดาห์น่าจะเริ่มเห็นรากงอกแล้ว บางสายพันธุ์ก็เร็วกว่านั้น บางพันธุ์ก็ใช้เวลานานกว่า ตัวอย่างในรูปด้านบนคือหลังจากตัดมาปักวันแรก และหลังจากที่ผ่านไป 5 เดือน
ในช่วงที่รอรากงอกนี้ตามหลักการให้เปลี่ยนน้ำทุก 2 วัน แต่ส่วนตัวพบว่า ในขวดปากแคบแบบขวดโซดา ไม่เปลี่ยน 6 วันก็ยังอยู่ได้ ขวดปากแคบนั้นลดการที่น้ำจะเน่าเสียได้มาก ถ้าใส่วัสดุที่ปากกว้าง จะมีฝุ่นละอองตกลงไปได้มากกว่า น้ำจะเสียและทำให้ก้านเน่าได้ง่ายกว่า
หากรากงอกมาเยอะแล้ว และคุณต้องการจะเลี้ยงในน้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็สามารถทำได้ แต่น้องไอวี่จะไม่ค่อยโต หรือโตก็ช้ามาก ๆ ซึ่งแล้วแต่สายพันธ์ของไอวี่ บางต้นคือโตต่อ บางต้นไม่โตเลย แต่น้องจะไม่ตาย เว้นแต่จะมีการติดเชื้อและเน่าคาขวด
การเลี้ยงน้องในขวดน้ำแบบนี้ค่อนข้างสะดวกชีวิตพอสมควร เพราะเคยทิ้งเอาไว้นานสุดไปญี่ปุ่นมา 20 วัน กลับมาก็ยังอยู่รอดกันครบ ตราบใดก็ตามที่น้ำในขวดยังเหลือมากพอที่รากจะดูดน้ำมาได้ ตัวอย่างต้นไอวี่ที่ปักในขวดแก้วนี้อยู่มา 11 เดือนแล้ว และอยู่ในสภาพที่แทบจะเหมือนเดิม
หากรากงอกเยอะแล้ว ต้นไม้ดูแข็งแรง สามารถย้ายมาปลูกในกระถางได้ตามปกติ แค่ระวังอย่าทำรุนแรงมากในตอนที่เอาลงกระถาง และใช้น้ำจากขวดที่เราปลูกนั่นแหล่ะ รดเป็นน้ำแรกหลังจากที่ลงดิน
หากคุณอยากจะเอาน้องไอวี่มาปลูกในน้ำ ต้องตัดมาและมาให้รากงอกใหม่ในน้ำเท่านั้น ถ้าเอามาทั้งต้นและรากที่มีอยู่เดิมมาล้างและปักน้ำ คือเน่า เพราะว่ารากที่งอกมาในการปลูกด้วยดิน ไม่สามารถปรับตัวมาอยู่ในน้ำได้จ้า
ท้ายที่สุดนี้ การปลูกต้นไม้สำคัญคือมีความเข้าใจธรรมชาติของมัน แต่แม้เราจะเข้าใจ ทว่าหากสภาพพื้นที่ของเราไม่เอื้อต่อต้นไม้ชนิดนั้น มันก็อยู่กับเราไม่รอด มีทางเลือกแค่เราจะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของเราให้เหมาะกับต้นไม้ที่จะปลูก หรือเลือกต้นที่จะปลูกให้สามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมของเราได้
ถ้าสภาพแวดล้อมของคุณไม่เหมาะที่จะปลูกไอวี่จริง ๆ และไม่อยากจะถึงขั้นต้องเปลี่ยนทุกอย่างให้ปลุกไอวี่ได้ ก็ไม่ต้องฝืน ต้นไม้อะไรก็สวยได้ แม้แต่พลูด่างธรรมดาราคาถูก แต่ขอแค่อยู้ในกระถางที่สวยเข้ากับห้อง โตมาได้ฟอร์มที่สวย ใบที่สมบูรณ์ ก็งดงามไม่แพ้ใครเลยทีเดียว