ในเดือนพฤศจิกายนนี้ทาง IPSA มีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์ Metabolizer หรือ ME ใหม่หมด และไม่ใช่แค่การเพิ่มหรือเปลี่ยนส่วนผสมบางอย่าง แต่เป็นการปรับแนวคิดและความสัมพันธ์ของ Metabolizer ที่มีต่อผลิตภัณฑ์อื่นของแบรนด์ ให้สมกับการเป็นแบรนด์ที่เคลมว่าช่วยสร้าง Recipe หรือสูตรความงามที่ปรับแต่งตามความต้องการของผิวที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างแท้จริง
ÍPSA (อิปซ่า) ถือกำเนิดมาในปี 1987 ด้วยแนวคิดของสกินแคร์ที่เรียบง่ายและสามารถปรับแต่งตามความต้องการของผิวที่แตกต่างเฉพาะบุคคล ซึ่งปัจจุบัน Customize Skincare เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจและนิยมกัน จึงถือได้ว่า ÍPSA เป็นแบรนด์ที่มีแนวคิดล้ำยุคอย่างมาก โดยผลิตภัณฑ์ที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับแบรนด์และยังคงพัฒนามาจนถึงปัจจุบันก็คือ Metabolizer หรือปัจจุบันเรียกย่อ ๆ ว่า ME (อ่านว่า เอ็ม-อี)
เพื่อที่จะเข้าใจว่า Metabolizer หรือ ME นั้นคืออะไร เราต้องเข้าใจคำว่า Metabolism (เมตาบอลิซึ่ม) เสียก่อน
ความเข้าใจของคนโดยทั่วไปเวลาพูดถึง “เมตาบอลิซึ่ม” ก็มักจะนึกถึงภาพของเรื่องการเผาผลาญเรื่องของพลังงาน แต่แท้ที่จริงแล้วคำว่า Metabolism คือชื่อเรียกกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. Catabolism (แคแทบอลิซึม) เป็นกระบวนการย่อยหรือสลายโมเลกุลขนาดใหญ่ให้เล็กลง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะได้พลังงานมาให้เซลล์ใช้ในการทำงาน สารอาหารที่เรากินเข้าไปก็จะถูกดูดซึม และถูกสลายด้วยกระบวนการนี้เพื่อที่จะนำสารอาหารและพลังงานที่ได้ไปใช้ในการทำงานของเซลล์
2. Anabolism (แอแนบอลิซึม) เป็นกระบวนการสร้าง เป็นการสังเคราะห์โมเลกุลที่จำเป็นกับการทำงาน สื่อสาร ซ่อมแซมเซลล์และโครงสร้างต่างๆที่จำเป็นของร่างกาย กระบวนการนี้จะใช้พลังงานที่ได้จาก Catabolism อีกที
จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้วการทำงานของผิว ไม่ว่าจะการสร้างพลังงานของเซลล์เคราติโนไซต์ในผิวชั้นนอก เซลล์ไฟโบรบลาสต์ในผิวชั้นใน การแบ่งเซลล์ การสังเคราะห์โปรตีนคอลลาเจน อีลาสติน การสังเคราะห์ไขมัน เซราไมด์ การเปลี่ยนสภาพของโมเลกุลให้ความชุ่มชื้นของผิวตามธรรมชาติ ล้วนเป็นกระบวนการทางเคมี และจัดเป็น Metabolism ทั้งสิ้น
โรคทางพันธุกรรม โรคเบาหวาน หรือแม้แต่สภาพผิวที่แห้งหยาบกร้าน ที่ทำให้การทำงานของกระบวนการทางเอนไซม์ และไขมัน ผิดปกติไป ก็จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย และของผิวหนังของเรา
ดังนั้น ÍPSA : Metabolizer แปลตรงตัวก็คือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมกระบวนการเมตาบอลิซึ่ม ซึ่งที่ผ่านมาก็เน้นเรื่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความชุ่มชื้น เหมาะแก่การทำงานของเซลล์ และส่วนผสมต่าง ๆ ที่ไปเสริมกระบวนการสังเคราะห์โมเลกุลที่จำเป็นต่อการทำงานของผิวนั่นเอง
(Source : Skin metabolism, Metabolism and function of skin lipids, Understanding metabolic pathways for skin anti-aging, A Discussion on the Relationship between Skin Lipid Metabolism and Whole-Body Glucose and Lipid Metabolism: Systematic Review)
ปัจจุบัน ÍPSA : Metabolizer ถูกพัฒนาเป็นรุ่นที่ 9 แล้ว แต่ก่อนที่จะพูดถึงรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ก็ต้องขอเกริ่นถึงรุ่นก่อนหน้าก่อน เพราะปูเป้ก็ไม่เคยพูดถึง Metabolizer ตัวปกติเลย (ต่อไปนี้จะใช้คำว่า ME แทน)
ME รุ่นที่ 8 นั้นใช้ส่วนผสมหลักคือ Algaelumina EX ซึ่งเป็นส่วนผสมเชิงซ้อนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโปรตีน Filaggrin ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญที่จะพัฒนาไปเป็น Natural Moisturizing Factor ที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวตามธรรมชาติ ซึ่งความชุ่มชื้นของผิวเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ ซึ่งก็คือกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของผิวนั่นเอง
ใน ME รุ่นที่ 8 จะมี 3 กลุ่มที่จะถูกแทนที่ด้วยรุ่นที่ 9 โดยแต่ละกลุ่มจะมี 4 สูตร แบ่งตามเนื้อสัมผัสที่เหมาะกับสภาพผิวที่มีระดับ Sebum หรือน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวที่ต่างกันไป ซึ่งมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้
ME Regular คือสูตรพื้นฐานสำหรับเสริมการทำงานของเมตาบอลิซึ่ม และส่วนผสมที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ไม่หยาบกร้าน
ME Extra คือสูตรที่นอกจากเรื่องพื้นฐานแล้ว จะเพิ่มคุณสมบัติในการดูแลเรื่องความกระจ่างใสและโทนผิว
ME Superior E คือสูตรที่นอกเหนือจากคุณสมบัติพื้นฐาน ความกระจ่างและโทนผิวแล้ว จะมีส่วนผสมที่เคลมว่าช่วยเรื่องริ้วรอยมาด้วย
ในการสื่อสารเดิมนั้น ผลิตภัณฑ์ ME ก็เปรียบเหมือน Serum + Moisturizer ในขั้นตอนเดียว แต่ก็ทำให้เกิดความเหลื่อมทับซ้อนทั้งในแง่ที่ว่า ÍPSA ก็มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเซรั่ม / ทรีตเมนต์ ซึ่งดูแลปัญหาเฉพาะเรื่องเป็นพิเศษอย่าง White Process ที่ดูแลเรื่องเมลานินและโทนสีผิว และ Targeted Effects ที่ดูแลเรื่องริ้วรอย (แถมแบ่งตามสาเหตุและลักษณะของริ้วรอยที่เกิดขึ้นอีก) และยังมีส่วนผสมสำคัญที่ไปทับซ้อนกันเองอีกด้วย
จากการวิเคราะห์ในแง่ส่วนประกอบและแนวทางในการสื่อสารหลักของ ME รุ่นที่ 9 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ ปูเป้มองว่านี่เป็นการขจัดความทับซ้อนและสับสนที่เคยมีออกไป พร้อมกับชูแนวทางในการสื่อสารใหม่ให้คนเข้าใจถึงแนวคิดของผลิตภัณฑ์ Metabolizer ได้ง่ายขึ้น ด้วยการใช้เรื่อง “ออกซิเจน” กับการทำงานของผิว เพราะออกซิเจนเป็นส่วนสำคัญในกระบวนสันดาบผลิตพลังงานของเซลล์
ME รุ่นที่ 9 ยังได้ทำการยุบแนวคิดการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามปัญหาของผิวอย่าง โทนผิว ริ้วรอย ที่มักจะมาตามวัย เหลือเป็นการแบ่งตามปริมาณออกซิเจนของผิวซึ่งวัดโดยเครื่อง IPSALYZER ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ว่าผิวมีออกซิเจนมาก – น้อย และในแต่ละกลุ่มก็มีผลิตภัณฑ์อีก 4สูตรที่มีเนื้อสัมผัสที่เหมาะกับระดับน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวที่ต่างกันไป รวมทั้งหมด 8 สูตร
ผลที่ได้คือไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไหร่ จะอยู่ในวัยเรียน หรือพึ่งเริ่มทำงาน หรือในวัย 30 + ก็สามารถที่จะใช้ ME สูตรเดียวกันได้ ถ้ามีปริมาณออกซิเจน และน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวระดับเดียวกัน ส่วนใครจะมีปัญหาผิวเรื่องริ้วรอย หรือจุดด่างดำโทนผิวหมองคล้ำ ก็ไปเสริมด้วยผลิตภัณฑ์กลุ่มทรีตเมนต์ดูแลผิวเป็นพิเศษที่ทางแบรนด์มีอยู่โดยที่ส่วนผสมสำคัญไม่ทับซ้อนกัน
ปูเป้มองว่าการปรับใหม่นี้ทำให้ความเป็น Customize Skincare สามารถปรับแต่งตามความต้องการของผิวที่แตกต่างเฉพาะบุคคลของแบรนด์นั้นเข้มแข็งและชัดเจนมากขึ้นทั้งในแง่การสื่อสารและในแง่ของส่วนผสมของผลิตภัณฑ์
ออกซิเจนคือหัวใจสำคัญในการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดบนโลกใบนี้ (ที่พูดว่าเกือบ เพราะว่าปัจจุบันเราพบสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิตแล้ว) ออกซิเจนคือหัวใจสำคัญในกระบวนการสันดาบผลิตพลังงานของเซลล์ในรูปของ Adenosine Triphosphate (ATP) และหนึ่งในของเสียที่ออกมาจากกระบวนการนี้ก็คือ Reactive Oxygen Species (ROS) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งซึ่งมักจะถูกขจัดโดยสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติของเซลล์ในร่างกาย
การศึกษาพบว่าการดูดซับออกซิเจนของเซลล์ อย่างเซลล์ไฟโบรบลาสต์ในผิวชั้นใน นั้นลดน้อยถอยลงไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การทำงานของเซลล์ การฟื้นฟูตัวเอง การซ่อมแซม นั้นด้อยประสิทธิภาพลง เนื่องจากมีการผลิตพลังงานที่น้อยลง
โดยทั่วไปแล้วเซลล์ในร่างกายส่วนใหญ่จะได้รับออกซิเจนผ่านการส่งมาทางเม็ดเลือดแดงที่ส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ผ่านโครงข่ายหลอดเลือดและเส้นเลือดฝอย แต่เซลล์ของอวัยวะบางส่วนนั้นก็ได้รับออกซิเจนจากสภาพแวดล้อมด้านนอกโดยตรงด้วย เช่นเซลล์ cornea ของดวงตาที่สัมผัสและรับออกซิเจนจากอากาศภายนอกโดยตรง นอกจากนี้การศึกษาก็ได้ค้นพบว่าเซลล์ผิวชั้นนอกของเราก็ได้รับออกซิเจนส่วนใหญ่จากอากาศที่อยู่รอบตัวเราด้วยเช่นกัน ส่วนเซลล์ผิวที่อยู่ลึกลงไปในชั้นหนังแท้จะอาศัยออกซิเจนที่ส่งมาจากเส้นเลือดฝอยเป็นหลัก
ÍPSA เคลมว่า ME รุ่นที่ 9 นี้จะมีส่วนผสมของ Blackberry Lily Extract ช่วยให้เซลล์ดูดซับออกซิเจนได้มากขึ้น ผลก็คือเซลล์มีพลังมากขึ้น และทำให้กระบวนการเมตาบอลิซึ่มต่าง ๆ ของผิวมีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น แต่ปูเป้ก็ยังหาข้อมูลที่อธิบายไม่ได้ว่าหลักการที่ว่านี้มีกลไกในการทำงานอย่างไรเหมือนกัน แต่ในแง่ของการสื่อสารเรื่อง “ออกซิเจน” กับคำว่า “เมตาบอลิซึ่ม” ในแง่ของ “การผลิตพลังงานของเซลล์” นั้นทำให้คนเข้าใจได้ง่ายกว่าเดิม และถือว่าแตกต่างจากเคลมของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีก่อนหน้าในเรื่องออกซิเจนซึ่งมักใช้ส่วนผสมที่ปล่อยออกซิเจนออกมา (นึกถึงมาส์กที่เป็นฟองฟู่) หรือแม้แต่ใช้ส่วนผสมของไฮโดเจนเปอร์ออกไซด์ (ซึ่งเป็นออกซิเจนที่ไม่เสถียร เป็น ROS ที่ก่อความเสียหายกับผิว)
แต่นอกเหนือจากเรื่องของคุณสมบัติในการดูดซับออกซิเจนของเซลล์แล้ว แง่มุมที่น่าสนใจก็คือ เครือ Shiseido ผู้เป็นเจ้าของ ÍPSA นั้นได้ประสบความสำเร็จในการแสดงภาพสามมิติของโครงข่ายเส้นเลือดฝอยใต้ผิวเป็นครั้งแรกในปี 2017 และเป็นผู้นำในการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเส้นเลือดฝอยใต้ผิวกับคุณภาพผิวในมิติต่าง ๆ อย่างเช่นสุขภาพผิว ริ้วรอย จุดด่างดำ รวมไปถึงการหาส่วนผสมที่ช่วยพัฒนาโครงข่ายเส้นเลือดฝอยให้มีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งโครงข่ายเส้นเลือดฝอยนี้นอกจากจะเป็นตัวลำเลียงออกซิเจนแล้วก็ยังลำเลียงสารอาหารสู่เซลล์ผิว ซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของผิวอีกเช่นกัน
นับเป็นเทคโนโลยีด้านสกินแคร์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งญี่ปุ่นมีกฏหมายเครื่องสำอางที่ก้าวหน้ามากอย่าง Quasi-Drug เขาก็พอที่จะสื่อสารได้ แต่ประเทศอื่นที่ยังใช้นิยามเครื่องสำอางแบบเดิม ๆ อยู่ก็อาจจะแตะคำเคลมในส่วนนี้ลำบากเพราะมันลึกเกินไป
การใช้ออกซิเจนเป็นตัวสื่อสารหลักของผลิตภัณฑ์อาจจะเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจก็ได้ เพราะรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาของปี 2019 ที่ผ่านมานั้นได้มอบให้กับคนที่ค้นพบและสามารถอธิบายหลักการว่าเซลล์สามารถปรับตัวให้เข้ากับออกซิเจนที่มีอยู่ได้อย่างไร กระแสเรื่องออกซิเจนกับความงามอาจจะกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเหมือนยุคปี 30-40 ก็เป็นไปได้
(Source : The cutaneous uptake of atmospheric oxygen contributes significantly to the oxygen supply of human dermis and epidermis, Cosmetic benefits from modulation of cellular energy metabolism in aging skin, The Nobel Prize in Physiology or Medicine 2019)
สำหรับส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นั้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ ME รุ่นที่ 9 มีทั้งหมด 8 สูตร และส่วนผสมของสารแอคทีฟมีทั้งส่วนที่มีเหมือนกัน และบางตัวที่จะมีเฉพาะในบางสูตร ปูเป้จะขอแบ่งอธิบายแยกส่วนตามนี้
ส่วนผสมพื้นฐาน 4 ชนิด ที่จะมีอยู่ในผลิตภัณฑ์ทั้ง 8 สูตร จะประกอบไปด้วย
– Belamcanda Chinensis Root Extract หรือ Blackberry Lily Extract เป็นส่วนผสมใหม่ล่าสุดใน ME รุ่นที่ 9 ซึ่งเคลมว่าเพิ่มคุณสมบัติให้เซลล์สามารถดูดซับออกซิเจนเข้ามาได้มากขึ้น ซึ่งออกซิเจนนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของกระบวนการเมตาบอลิซึ่มในการผลิตพลังงานของเซลล์ โดยส่งผลให้การเติบโตของเซลล์ดีกว่า
ปูเป้พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนนี้แต่ยังไม่พบการจดสิทธิบัตร หรือข้อมูลการตีพิมพ์ความรู้เรื่องนี้ออกมา ซึ่งโดยปกติแล้วเครือ Shiseido จะมีการเผยแพร่ผ่านงานประชุมทางวิชาการออกมาในช่วงก่อนหน้าหรือหลังผลิตภัณฑ์ที่ใช้แนวคิดหรือความรู้ใหม่ที่เขาค้นพบได้เริ่มวางจำหน่าย แต่คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 อาจมีผลต่อการเผยแพร่ข้อมูลในงานทางวิชาการ เชื่อว่าอนาคตน่าจะมีข้อมูลมากขึ้นว่าหลักการที่เขาเคลมนี้มีรายละเอียดอย่างไร
– Dipotassium Glycyrrhizate เป็นส่วนผสมที่มีอยู่ใน ME Regular ของรุ่นก่อน สารสกัดที่ได้จากรากชะเอมเทศนี้ช่วยลดการระคายเคือง ลดการอักเสบ และช่วยเสริมการเป็นไวท์เทนนิ่งได้
– Tranexamic Acid เป็นส่วนผสมที่มีอยู่ใน ME Extra ของรุ่นก่อน ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมที่ช่วยลดเมลานิน ให้คุณสมบัติเป็นไวท์เทนนิ่งได้ และลดความหยาบกร้านของผิวได้
– Saccharomyces Ferment Lysate Filtrate เป็นส่วนผสมที่มีอยู่ใน ME Superior E ของรุ่นก่อน เป็นส่วนผสมที่ช่วยเรื่องการเสริมการสร้างคอลลาเจน การศึกษาใหม่ล่าสุดของทาง Shiseido ได้ค้นพบว่า โครงข่ายเส้นเลือดฝอยใต้ผิวที่แข็งแรงอาจมีผลต่อความยืดหยุ่นของผิว และส่วนผสมนี้ช่วยกระตุ้น integrin-α5 ซึ่งเสริมความแข็งแรงของโครงข่ายเส้นเลือดฝอยที่มีความหนาแน่นน้อยลงไปตามวัย การศึกษานี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากงาน IFSCC ปี 2019 เพราะเป็นความรู้ใหม่ของวงการเครื่องสำอางเลยทีเดียว
(Source : SHISEIDO YEAST RESEARCH TO HELP CREATE COLLAGEN-BOOSTING SKINCARE PRODUCTS)
ME รุ่นที่ 9 ทั้ง 8 สูตรมีการแบ่งผลิตภัณฑ์ออกในอีก 2 มิติ มิติแรกคือปริมาณออกซิเจนของเซลล์ และมิติที่สองคือระดับ Sebum หรือน้ำมันหล่อเลี้ยงผิว
การแบ่งตามระดับของออกซิเจนในเซลล์ ซึ่งระบุโดยการตรวจวัดด้วยเครื่อง IPSALYZER ซึ่งพิจารณาจากการไหลเวียนโลหิตใต้ชั้นผิว
กลุ่มแรก มีปริมาณออกซิเจนที่สูง จะเป็น ME สูตร 1 – 4 จะมีส่วนผสมเฉพาะคือ Honey หรือสารสกัดจากน้ำผึ้ง ซึ่งเคลมว่าอุดมไปด้วยสารอาหาร ที่จะให้เซลล์นำไปใช้ร่วมกับออกซิเจนในการผลิตพลังงาน แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าการทาน้ำผึ้งจะสามารถซึมเข้าไปได้ถึงขนาดนั้นไหม แต่อย่างน้อยน้ำผึ้งก็เป็น Humectant ให้ความชุ่มชื้นกับผิวได้
กลุ่มสอง มีปริมาณออกซิเจนที่ต่ำ จะเป็น ME สูตร 5 – 8 จะมีส่วนผสมเฉพาะเพื่อยกระดับออกซิเจนของผิว ก็คือ Cinnamomum Cassia Bark Extract ซึ่งมีการจดสิทธิบัตรว่าช่วยกระตุ้นโปรตีน Tie2 (Endothelium-Specific Receptor Tyrosine Kinase 2) ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นโปรตีนยึดเกี่ยวของหลอดเลือดให้แข็งแรง ทำให้การลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนมาสู่เซลล์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ Aesculus Hippocastanum (Horse Chestnut) Seed Extract ซึ่งอุดมไปด้วยสาร Escin และ Aescin ถูกเคลมว่าช่วยเสริมการสร้างพลังงานในเซลล์ ซึ่งน่าจะมาจากข้อมูลที่ว่าในสารสกัดจากพืชตัวนี้มีสารประกอบของ Escin ที่ช่วยเพิ่ม ATP ซึ่งเป็นพลังงานของเซลล์ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าการทาลงไปบนผิวจะช่วยได้ขนาดนั้นจริงไหม แต่อย่างน้อยสารสกัดตัวนี้ก็เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบได้ดี และสาร Aescin ที่มีในพืชชนิดนี้มักใช้ในการจัดการปัญหาที่มาจากความผิดปกติของเส้นเลือด
(Source : Blood vessel maturation, normalization or stabilization agent and wrinkle preventer/improver, Horse Chestnut – Aesculus Hippocastanum: Potential Applications in Cosmetic Skin-care Products, Three treatments for chronic venous insufficiency: escin, hydroxyethylrutoside, and Daflon)
การแบ่งผลิตภัณฑ์ในมิติของระดับน้ำมันบนผิว ยังแบ่งออกเป็นอีก 4 ระดับ ซึ่งวัดจากการใช้แผ่นวัด sebum ตอนตรวจผิวด้วยเครื่อง IPSALYZER
ผิวที่ตรวจมามี Sebum หรือน้ำมันบนผิวมาก จะมีส่วนผสมที่ช่วยลดการเกิดออกซิเดชั่นของน้ำมันบนผิว และต้านการอักเสบ
ระดับน้ำมันบนผิว 75-100 (ME 1 และ ME 5) จะมีส่วนผสมของ Thymus Serpyllum Extract ที่ช่วยต้านการอักเสบ และ Scutellaria Baicalensis Root Extract ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่ดีมาก
ระดับน้ำมันบนผิว 50 -74 (ME 2 และ ME 6) มีปริมาณน้ำมันบนผิวที่มากกว่าปกติเล็กน้อย จะมีส่วนผสมของ Scutellaria Baicalensis Root Extract เพียงตัวเดียว
สำหรับผิวที่มีระดับ Sebum ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวน้อย มีแนวโน้มจะเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ซึ่งความแห้งของผิวจะทำให้การทำงานของเอนไซม์ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของผิวจะแย่ลงตาม จึงมีการเพิ่มส่วนของน้ำมันสกัดจากพืชเพื่อช่วยชดเชยปริมาณน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวที่หายไป
ระดับน้ำมันบนผิว 25-49 (ME 3 และ ME 7) จะมีส่วนผสมของ Rosa Canina Fruit Oil หรือน้ำมัน Rose Hip ที่มีเนื้อบางเบา เต็มไปด้วยกรดไขมันที่ดีกับผิว และมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ
ระดับน้ำมันบนผิว 0-24 (ME 4 และ ME 8) นอกจากจะมี Rose Hip แล้วก็จะมีเพิ่ม Sesamum Indicum Seed Oil หรือน้ำมันเมล็ดงาที่ช่วยเสริมปราการปกป้องผิวและต้านอนุมูลอิสระ
ดังนั้นในภาพรวมของส่วนผสมแล้วนั้น ME รุ่นที่ 9 จึงเป็นการชูจุดเด่นในเรื่องของการเสริมเมตาบอลิซึ่มของผิวโดยใช้ความรู้ที่ได้มาจากเทคโนโลยีที่ศึกษาเรื่องระบบเส้นเลือดฝอยใต้ผิวที่มีผลต่อการทำงานของผิวซึ่งบุกเบิกโดยเครือ Shiseido เอง พร้อมกับคุณสมบัติในการช่วยเรื่องไวท์เทนนิ่งและริ้วรอยแบบเบา ๆ และมีส่วนผสมที่เจาะจงปัญหาของผิวที่มีน้ำมันมากหรือน้อยต่างกันไปอีกด้วย โดยไม่มีส่วนผสมของสีและน้ำหอม
สำหรับส่วนผสมทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ทั้ง 8 สูตร สามารถคลิกไปอ่านได้ทาง ÍPSA : Metabolizer 9th Generation Ingredients List
นอกจากนี้ ME ทั้ง 8 สูตรใหม่นี้ยังถูกสร้างขึ้นด้วยนักวิจัย 8 คน แต่ละคนรับผิดชอบในการสร้าง 1 สูตร ดังนั้นโครงสร้างของเนื้อผลิตภัณฑ์รวมไปถึงเนื้อสัมผัสที่ออกมาจะแตกต่างกันไป
ดูจากรูปแล้วจะเห็นว่าสูตร 1-4 สำหรับคนที่ผิวมีระดับออกซิเจนปกติ จะมีเนื้อที่บางกว่า สูตร 5-8 สำหรับคนที่ผิวมีระดับออกซิเจนน้อยกว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าคนที่ผิวมีออกซิเจนน้อย = เมตาบอลิซึ่มไม่ดีเท่า การพัฒนาตัวของปราการปกป้องผิวจะแย่กว่า ทำให้เก็บกักความชุ่มชื้นได้น้อยกว่า จึงจะมีเนื้อที่เข้มข้นกว่าก็เป็นไปได้
ส่วนตัวปูเป้ตรวจสภาพผิวด้วยเครื่อง IPSALYZER มีระดับน้ำมันที่ 58 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าสมดุลที่ 50 และมีระดับออกซิเจนในผิวต่ำ ก็จะใช้เป็น IPSA : ME 6 ซึ่งมีเนื้อที่ข้นเล็กน้อย สัมผัสที่ได้คือผิวรู้สึกชุ่มฉ่ำและสดชื่นสบายผิวกำลังดีในตอนกลางวัน
แต่ในตอนกลางคืนนอนในห้องแอร์ปูเป้รู้สึกว่า ME 6 ยังเคลือบผิวไม่มากพอ ตื่นมาแล้วหน้าไม่ฉ่ำ ก็เลยปรับไปใช้ ME 7 ในตอนกลางคืนก็รู้สึกว่าเนื้อเข้มข้นดี เคลือบผิวมากพอ ตื่นมาแล้วผิวยังนุ่มชุ่มชื้นอยู่
หรืออีกทางเลือกก็คือใช้ ME 6 เหมือนเดิม แต่ปิดท้ายด้วยการใช้ IPSA : Barrier Serum ที่เหมือนกับเป็นการห่อฟิล์มคลุมผิว ก็พบว่าสามารถคงความชุ่มชื้นได้ทั้งคืนและตื่นมารู้สึกสบายผิวดีเช่นกัน ถือว่ามีทางเลือกในการปรับเปลี่ยนปรับใช้ให้ตอบโจทย์กับผิวได้หลายทาง
โดยการใช้ ME นั้นคือให้ใช้ร่วมกับสำลี IPSA : Silk Cotton ที่นุ่มละเอียด โดยกด 3 ปั้ม และเช็ดลงบนผิวที่สะอาดให้ทั่วผิวหน้า รอบดวงตา และลำคอ ซึ่ง IPSA แนะนำให้ใช้สำลีเพราะสามารถกระจายผลิตภัณฑ์บนผิวได้อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับใครที่กลัวว่าสำลีจะไปกวาดสิ่งที่ทาลงไปในขั้นตอนก่อนหน้า (ถ้ามี) ก็ต้องบอกว่าถ้าเราใช้ในปริมาณ 3 ปั้มตามที่เขากำหนดจริง สำลีจะอิ่มฉ่ำชุ่มโชกไปด้วยตัวผลิตภัณฑ์จนไม่ได้ไปดูดซับผลิตภัณฑ์ที่ทาลงไปบนผิวก่อนหน้า และเราจะใช้การลูบไปบนผิวอย่างเบามือไม่ใช่การถู ดังนั้นจะไม่ได้รบกวนขั้นตอนของเซรั่มที่ลงไปก่อนหน้าจ้า
จากการใช้อย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะมีการปรับสลับใช้สูตรต่าง ๆบ้าง รู้สึกว่าผิวชุ่มชื้นดี คุณภาพผิวพื้นฐานดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้หวือหวา แต่ที่ชอบมากคือเนื้อสัมผัสของผิวหลังจากจบขั้นตอนการบำรุงผิวมันกำลังดี ไม่หนักไป ไม่มันเกิน และความชุ่มชื้นก็กำลังดี ซึ่งเป็นจุดเด่นของ ME อยู่แล้ว เมื่อเทียบกับ ME รุ่นที่ 8 แล้ว เรารู้สึกว่ารุ่นที่ 9 ให้ผลน่าประทับใจกว่ารุ่นเก่าล่ะ
จากประสบการณ์ เราบอกตามตรงว่าโดยรวมแล้วเราก็ยังรู้สึกชอบ ME Ultimate มากกว่าอยู่ดีอีกนิดนึงในแง่ของผลของคุณภาพผิวที่ได้ แต่ในแง่ของเนื้อสัมผัสบนผิวหลังจากการใช้เรารู้สึกว่า ME รุ่นที่ 9 เซ็ทตัวแบบสบายผิวดีกว่า ME Ultimate
นี่ได้ข่าวว่า ME Ultimate จะปรับสูตรใหม่ในช่วงปลายปี 2021 ก็ตั้งตารอเลยว่าถ้า ME รุ่น 9 ดีกว่าเดิมขนาดนี้แล้ว ME Ultimate ที่เรารักเป็นทุนเดิมจะไปได้ถึงขนาดไหน?
โดยสรุปแล้ว IPSA : ME รุ่นที่ 9 เป็นสกินแคร์พื้นฐานที่เหมาะกับคนที่อยากได้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เรียบง่าย มอบคุณภาพผิวขั้นพื้นฐานอย่างความชุ่มชื้น การเพิ่มพลังงานของผิว และเสริมคุณสมบัติในการประคองความกระจ่างใสและการชะลอริ้วรอยเบื้องต้น ด้วยเทคโนโลยีเบื้องหลังของสกินแคร์ที่ไม่เหมือนใคร และสามารถปรับการใช้ให้เหมาะกับปัญหาผิวที่เปลี่ยนไปได้ง่าย
เป็นการปรับแนวคิดของ ME ให้กลับมาเป็นหัวใจสำคัญพื้นฐานของกิจวัตรการบำรุงผิว และสามารถสร้างสรรค์สูตรความงามเฉพาะตัวด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเฉพาะจุดที่ตอบโจทย์กับสภาพผิวและปัญหาผิวที่ต้องการดูแลในปัจจุบันได้โดยไม่ซ้ำซ้อน ส่วนตัวมองว่าหลังจากที่เปลี่ยนคอนเซปต์ของแบรนด์ไปมาหลายรอบ ครั้งนี้คอนเซปต์การเป็น Customized Skincare ดูลงตัวที่สุดแล้ว
ใครที่สนใจ เราแนะนำให้ไปลองตรวจสภาพผิวที่เคาน์เตอร์ IPSA ก่อนจะดีที่สุด เพราะสิ่งที่พิเศษของ IPSA คือระบบการดูแลผิว มากกว่าผลิตภัณฑ์ตัวใดตัวหนึ่ง การตรวจผิวเราจะได้เห็นความจริงที่วัดค่าออกมาได้ และจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับค่าที่ตรวจวัดได้ และเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องคุณภาพผิวในแต่ละมิติก็จะดีขึ้นจริง ๆ ล่ะ
สำหรับคำถามว่า “จะแพ้มั้ย” “ใช้แล้วอุดตันรึเปล่า?” เป็นคำตอบที่ปูเป้บอกไม่ได้ครับ อาการแพ้เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในทุก ๆ คน สำหรับการอุดตันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและการดูแลผิวโดยรวมของแต่ละคนเอง นอกจากนี้คนเรายังไวต่อการอุดตันของสารแต่ละตัวไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตาม ควรทดสอบและทดลองใช้ก่อนทุกครั้ง
***Sponsored Item***
ÍPSA : Metabolizer 9th Generation (ME 1-8)
Price : 175ml / 2,400 BAHT
Skin Type : All Skin Type
Outstanding : Hydration / Anti-Oxidant / Barrier Repair / Fragrance-Free
- เนื้อครีมให้สัมผัสที่ดีมาก และมีประสิทธิภาพในการทำให้ผิวนุ่มชุ่มชื้นแข็วแรง
- อ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม
- สูตร ME1 มีส่วนผสมของเมนทอล
- ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการศึกษาของแบรนด์ผู้ผลิต