พอดีว่าทาง KANEBO เขามีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าอยู่หลายแบบ และอยากให้คนรู้จักการ ‘Double Cleansing’ หรือการทำความสะอาด 2 ขั้น ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมมาจากญี่ปุ่น ซึ่งปูเป้มองว่าเป็นโอกาสดีมาก ๆ ที่จะมาทำคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์กับทุกคน ด้วยการปูพื้นฐานความเข้าใจในหลักการ ขจัดความเชื่อผิด ๆ และแนะนำการเลือกและวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสภาพผิวอีกด้วย

“ความพอดี” คือหัวใจสำคัญในการทำความสะอาดผิว

ผิวของเรามีสมดุล และภาวะสมดุลที่ว่านั้นก็คือความพอดีของระดับน้ำมันและไขมันซึ่งทำหน้าที่ช่วยเก็บกับกักลดการระเหยออกของความชุ่มชื้น ซึ่งผิวที่ชุ่มชื้นก็จะมีความอ่อนนุ่ม ไม่หยาบกร้าน และยืดหยุ่น เป็นผิวที่มีสุขภาพดี

ระดับน้ำมันที่มากเกินไปทำให้ผิวรู้สึกเหนอะหนะ มันวาว ดูหมอง ไม่สวยงาม อาจเกิดการอุดตันผิว และการเกิดออกซิเดชั่นจากมลภาวะทางอากาศภายนอกทำให้เกิดการอักเสบที่ทำให้ผิวอ่อนแอและแก่เร็ว  แต่การทำความสะอาดที่มากเกินไป ดึงน้ำมันและไขมันที่จำเป็นออกจากผิวมากเกินไปจะทำให้ปราการปกป้องผิวอ่อนแอ ผิวขาดความชุ่มชื้น หยาบกร้าน และเกิดปัญหาผิว ผด ผื่น สิว และการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นอีกเช่นกัน

ดังนั้นการเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจึงมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ 2 ส่วนที่เราต้องจำคือ

1. เลือกผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับประเภทของสิ่งสกปรกหรือสิ่งทีต้องการทำความสะอาดออกจากพื้นผิว  เลือกได้เหมาะสมก็จะทำความสะอาดได้ง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องใช้เวลานานหรือต้องล้างซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนระคายเคืองผิว

2. เลือกพลังในการทำความสะอาดให้เหมาะกับปริมาณของสิ่งตกค้างบนผิวเลือกได้เหมาะสม ก็จะไม่ใช้ตัวที่มีพลังมากไปทำให้ผิวระคายเคืองหรือแห้งได้ง่าย หรือมีพลังน้อยไปจนเหลือสิ่งตกค้างบนผิว

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหลากหลายรูปแบบมากมายหลาย format ไม่ว่าจะเป็น ออยล์ บาล์ม ครีม โลชั่น เจล น้ำ โฟม บาร์ก้อน ผง แผ่น และการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ที่แปลกประหลาดยิ่งขึ้นก็ทำให้หลายคนสับสน บางคนก็เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เขียนว่า Cleansing = Makeup-Remover ล้างเครื่องสำอาง และ Cleanser = ทำความสะอาดผิว โฟมล้างหน้า ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะคำว่า Cleansing กับ Cleanser บนฉลากผลิตภัณฑ์เป็นแค่ Adjective หรือ Noun ตามหลักไวทยากรณ์ทางภาษาเท่านั้น ไม่สามารถจดจำนำไปใช้เพื่อแบ่งประเภทผลิตภัณฑ์ได้ในทุกกรณี  ใครที่เคยจำมาแบบนี้ขอให้โยนทิ้งไปให้หมดจ้า

ปูเป้อยากให้คุณจำว่า การแบ่งประเภทของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดนั้น เมื่อมาดูที่หลักการพื้นฐานของการทำงานและการสร้างสูตรเครื่องสำอาง เราจะสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ซึ่งได้แก่

Detergent-Based ซึ่งเจลหรือโฟมล้างหน้าที่เราใช้ประจำทุกวันเช้า-เย็น จะจัดอยู่ในหมวดนี้

Emolients / Solvent-Based ซึ่งได้แก่ผลิตภัณฑ์ที่เน้นลบทำความสะอาดเมคอัพหรือแม้แต่ครีมกันแดดชนิดที่ติดทนเป็นพิเศษ

1. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบ Detergent-Based

เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดผิวทั่วไป ใช้ล้างความมันบนผิวที่หลั่งมาตามธรรมชาติหรือจากสกินแคร์ที่เราทาลงไปบน เหมาะกับการล้างกันแดดแบบ Chemical ล้วน หรือ มอยซ์เจอไรเซอร์แบบเจือสีจาง ๆ หรือแป้งฝุ่นที่ล้างออกไม่ยากนักได้ในขั้นตอนเดียว

ตัวสำคัญคือส่วนผสมของ “Surfactant” หรือสารลดแรงตึงผิวซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีส่วนหัวที่ชอบน้ำและหางที่ชอบน้ำมัน จึงสามารถเข้าไปจับกับน้ำมันหรือสิ่งที่ไม่ละลายในน้ำ ล้อมรอบเป็น Micelle ให้แขวนลอยอยู่น้ำได้  ซึ่งเป็นพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (Detergent) และการสร้างอิมัลชั่นซึ่งเป็นพื้นฐานของผลิตภัณฑ์สกินแคร์ำรุงผิว และเมคอัพเกือบทั้งหมด

ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Detergent Based อาจจะมีฟองหรือแทบไม่มีฟองก็ได้แล้วแต่ชนิดของสารลดแรงตึงผิวที่ใช้ ซึ่งเป็นเรื่องประจุของสารลดแรงตึงผิว ที่ไม่ได้จำเป็นต้องอธิบายตรงนี้ แต่สิ่งสำคัญคือผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ต้องใช้ร่วมกับน้ำหรือต้องมีส่วนผสมของน้ำเป็นจำนวนมากอยู่ในสูตรเสมอ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นอีกสองกลุ่มย่อยตามประเภทของสารลดแรงตึงผิวได้แก่

1.1 Soap-Based : สารสบู่เป็นสารลดแรงตึงผิวอย่างแรกที่มนุษย์รู้จักตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการเอาไขมันมาทำปฏิกิริยากับด่างเรียกว่า Saponification สบู่ก้อนแบบดั้งเดิมอาจมีความเป็นด่างสูง ขจัดน้ำมันออกได้มากแต่ก็ทำให้ผิวแห้งได้ง่าย  สบู่ใสกลีเซอรินซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในเวลาต่อมานั้นมีค่า pH เป็นด่างที่อ่อนและมีความอ่อนโยนกับผิวมากขึ้น

ข้อดีของสารสบู่คือสามารถสร้างสูตรที่ก่อฟองโฟมนุ่มแน่นซึ่งผู้บริโภคชื่นชอบได้ ตัวฟองล้างออกได้ง่ายและไม่ทิ้งความลื่นบนผิว แต่ข้อจำกัดของสารสบู่ที่สำคัญคือมันทำปฏิกิริยากับน้ำกระด้างหรือมีแร่ธาตุจำนวนมาก เกิดเป็นไคลสบู่ตกค้างบนผิวซึ่งอาจระคายเคือง หรือรู้สึกไม่สะอาด หรืออาจอุดตันผิวได้  ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งเมื่อถูกนำไปใช้ในต่างสถานที่ซึ่งคุณภาพน้ำประปาต่างกัน ก็จะให้ความรู้สึกหลังใช้ไม่เหมือนกันนั่นเอง

โฟมล้างหน้าที่ฟองโฟมนุ่มแน่นที่ปัจจุบันเราชอบใช้กันส่วนมากจัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดยเลือกใช้กรดไขมันชนิดต่าง ๆ (Myristic Acid, Lauric Acid, Palmitic Acid, Etc.) ซึ่งกำหนดคุณภาพและลักษณะของฟองที่จะออกมาได้มากกว่าการทำสบู่แบบดั้งเดิม มาทำปฏิกิริยากับด่าง ซึ่งมักเป็น Potassium Hydroxide ที่ให้สารสบู่ที่นุ่มและละลายเข้ากับน้ำง่ายกว่า โดยมีส่วนผสมที่ช่วยเรื่องความชุ่มชื้น (Glycerin, Polyquaternium, etc.) ช่วยลดความรู้สึกตึงแห้งกร้านหลังล้างหน้า และมีการใส่สารกลุ่ม Chelating Agent (EDTA) เพื่อช่วยลดการเกิดไคลสบู่เมื่อเจอกับแร่ธาตุในน้ำประปาได้ในระดับหนึ่ง

1.2 Synthetic Surfactant / Bio-Based Surfactant : สารลดแรงตึงผิวกลุ่มนี้โดยหลักการแล้วถูก Synthesis หรือสังเคราะห์ขึ้นโดยมนุษย์และหลายตัวก็ไม่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  ในอดีตนั้นสารทำความสะอาดสังเคราะห์นั้นผลิตจากสารตั้งต้นที่เป็นผลพลอยได้จากปิโตรเลียม และในตอนนี้เรามักใช้ Synthetic Surfactant จากกลุ่มที่ได้มาจากปิโตรเลียม  ส่วน Bio-Based Surfactant นั้นใช้เรียกสารทำความสะอาดสังเคราะห์ที่สารตั้งต้นมาจากวัตถุดิบชีวภาพที่สามารถสร้างหรือปลูกทดแทนได้ เช่นพวกน้ำมันจากพืช  น้ำตาล กรดอะมิโน

สารทำความสะอาดสังเคราะห์ที่เราคุ้นกันอย่างเช่น Sodium Laurth Sulfate (SLES) นั้นเดิมมาจากปิโตรเคมี แต่ปัจจุบันก็สามารถมาจากน้ำมันมะพร้าวหรือปาล์มได้ ในเครื่องสำอางที่คุณภาพดี ๆ ปัจจุบันนิยมใช้ Bio-Based Surfactant เช่นพวก Coco Glucoside ที่มาจากมะพร้าวและน้ำตาล หรือ Sodium Methyl Cocoyl Taurate และ  Sodium Lauroyl Glutamate ที่มาจากกรดอะมิโน ซึ่งมีความอ่อนโยนกับผิว และดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า (ถ้าตัววัตถุดิบตั้งต้นไม่ได้มาจากการถางป่าฝนเขตร้อนเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันหรือมะพร้าวนะ)

ข้อดีของสารทำความสะอาดสังเคราะห์คือทำให้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสามารถมีค่า pH เป็นกรดอ่อนใกล้เคียงกับผิวได้ และไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำกระด้างเหมือนสบู่ แต่ยังไม่สามารถก่อฟองโฟมได้นุ่มและแน่นละเอียดเท่าสารสบู่  ซึ่งฟังดูเผิน ๆ แล้วสารทำความสะอาดสังเคราะห์น่าจะอ่อนโยนกับผิวมากกว่าสารสบู่  แต่ในความเป็นจริงนั้นแม้ว่าสารทำความสะอาดสังเคราะห์หลายตัวจะอ่อนโยนจริง แต่สารบางตัวเช่น Sodium Lauryl Sulfate (SLS) ก็ไม่ได้อ่อนโยนเลยเพราะว่าดึงความมันออกจากผิวหรือจับกับโปรตีนบนผิวได้ดี การตกค้างบนผิวของสารลดแรงตึงผิวก็ทำให้ไขมันของชั้นปราการผิวเสียหาย แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาของตัวอย่างเช่น SLS ยังสามารถถูกปรับปรุงได้ด้วยเทคนิคการผสม Betaine เพื่อลดการระคายเคือง มีสิทธิบัตรที่ใช้โพลิเมอร์บางชนิดที่ไปจับกับสารลดแรงตึงผิวที่มีขนาดเล็กนี้ให้เป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้นจึงไม่แทรกลงไปในชั้นผิว ลดโอกาสการเกิดการระคายเคืองผิว

จะเห็นได้ว่าความอ่อนโยนของสารลดแรงตึงผิว ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ และส่วนผสมที่ใส่เข้ามาเสริมหรือปรับปรุงคุณภาพอีกด้วย  การดูภาพรวมและความพอดีลงตัวของสูตรจึงสำคัญกว่าการดูสารทำความสะอาดแยกเป็นตัว ๆ ไป  ปัจจุบันมีบางผลิตภัณฑ์ผสมสารลดแรงตึงผิวทั้งสารสบู่และสารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์ เพื่อหวังให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ฟองโฟมที่น่าพึงพอใจแต่ปรับปรุงเรื่องความอ่อนโยนกับผิวให้ดีขึ้นด้วยล่ะ การดูส่วนประกอบข้างกล่องเครื่องสำอางเป็นแค่ข้อมูลคร่าว ๆ เบื้องต้น แต่การทดลองใช้กับผิวของเราเองจะบอกได้ดีที่สุดว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ทำความสะอาดได้พอดี เหมาะกับผิวของเราหรือไม่ และเป็นเหตุผลที่ปูเป้จะแนะนำให้คุณลองขอตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาทดลองใช้ดูก่อน (ถ้ามี) จะดีที่สุด

2. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบ Emollients / Solvent-Based

 

กลุ่มนี้แหล่ะที่เอาไว้ทำความสะอาดพวกเมคอัพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรองพื้น คอนซีลเลอร์ หรือสีสันแต่งแต้มแก้ม ตา ปาก รวมไปถึงกันแดดแบบ Physical ล้วนหลายตัว เพราะผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มักจะมีสารกลุ่มน้ำมันและ/หรือซิลิโคนเป็นปริมาณมาก เพื่อกระจายพิกเมนต์และเพื่อให้มันติดกับผิวหน้าและริมฝีปากของเราได้โดยไม่ละลายเวลาเหงื่อออกหรือเลื่อนหลุดเวลาที่น้ำมันบนผิวถูกผลิตออกมา

ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางที่ติดแน่นเหล่านี้ จึงใช้หลักการ like dissolve like คือใช้ส่วนผสมของ Emollients พวกน้ำมัน ไขมัน และ/หรือ ซิลิโคน ชนิดต่าง ๆ (Mineral Oil, Isohexadecane, Caprylic/Capric Triglyceride, Cyclopentasiloxane, etc) ในการเป็นตัวทำละลาย (Solvent) เครื่องสำอาง พิกเมนต์ สีสัน (Lake/Dyes) ที่ติดแน่นกับผิวออกมาก่อน  และใช้สารกลุ่ม Surfactant ที่มีค่า HLB สูงซึ่งที่มีคุณสมบัติในการเป็น Emulsifier / Solubilizer ในการช่วยดึงเอาเมคอัพต่างๆ ที่ถูกละลายด้วยน้ำมัน/ซิลิโคนออกมาแล้ว ให้รวมเข้ากับน้ำและถูกดึงหลุดออกจากผิวได้อย่างง่ายดาย

ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดที่ดีขึ้นแต่อ่อนโยนกับผิวมากขึ้น ล้างออกจากผิวได้สะดวก มีสูตรและกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนมากกว่าเดิมมาก เมื่อเทียบกับเมื่อหลายร้อยปีก่อนที่หญิงเกอิชาใช้น้ำมันดอกคามีเลียบริสุทธิล้วนเพื่อละลายเมคอัพสีขาวทึบออกจากผิวหน้า หรือโคลด์ครีมเนื้อข้นคลั่กหนึบหนับที่ใช้กันมานับพันปี 

Double Cleansing คืออะไร และมีข้อดีอย่างไร?

ผลิตภัณฑ์จำพวก Emollients / Solvent Based นั้นโดยทั่วไปแล้วจะสามารถดึงเมคอัพต่าง ๆ ออกจากผิวได้อย่างง่ายดายหมดจด แต่ยังอาจหลงเหลือความมันตกค้างเอาไว้บนผิวบ้าง  จึงมีการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบ Detergent Based ตามอีกครั้งเพื่อดึงความมันส่วนเกินนี้ออกไปโดยไม่รบกวนสมดุลผิวมากเกิน เหลือไว้แต่ผิวที่สะอาดและพร้อมกับการบำรุงผิวด้วยสกินแคร์ตามสภาพผิว  เป็นที่มาของการทำความสะอาดแบบ 2 ขั้นตอนหรือ Double Cleansing อันเป็นพื้นฐานของสกินแคร์ญี่ปุ่นและวัฒนธรรมการดูแลผิวนี้ก็ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว

ข้อดีของ Double Cleansing คือมันตอบโจทย์หลักการพื้นฐานของการทำความสะอาดผิวที่ดีซึ่งต้องทำให้ผิวสะอาดปราศจากสิ่งตกค้าง และในขณะเดียวกันก็ต้องอ่อนโยนและรบกวนผิวให้น้อยที่สุด

การใช้ Emollients / Solvent Based เพื่อทำละลายเมคอัพที่ติดแน่นให้หลุดออกจากผิวโดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงในการถูนวดหรือขัดซ้ำ ๆ  และค่อยใช้ Detergent Based ที่อ่อนโยนดึงความมันที่หลงเหลือติดอยู่ออกมา จึงเป็นมิตรกับผิวมากกว่าการพยายามทำความสะอาดเมคอัพที่ติดผิวแน่นหนาด้วยผลิตภัณฑ์ Detergent Based อย่างเดียวซึ่งจะไม่สามารถทำความสะอาดได้หมด ถ้าพยายามใช้สารลดแรงตึงผิวในปริมาณมากก็เพิ่มโอกาสระคายเคือง หรือถ้าจะล้างซ้ำหลาย ๆ รอบจนกว่าจะสะอาด การลูบถูขัดผิวซ้ำ ๆ ก็เป็นการรบกวนผิวมากเกินไป

แม้ว่าปัจจุบันจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่สามารถล้างเมคอัพและทำความสะอาดผิวในขั้นตอนเดียว โดยไม่ต้องล้างโฟมล้างหน้าซ้ำ (เช่น Cleansing Oil บางชนิด) หรือเช็ดโดยไม่ต้องล้างน้ำซ้ำอีกครั้ง (เช่นพวก Micellar Water) แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก็อาจไม่ได้เหมาะกับผิวของทุกคนเสมอไป หรืออาจจะให้สัมผัสหลังการล้างที่ไม่ถูกจริต จึงทำให้การทำความสะอาด 2 ขั้นตอนอย่าง Double Cleansing ยังคงอยู่ยั่งยืนยงมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

การเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบ Emollients / Solvent-Based

ถ้ามีการแต่งหน้าแบบจัดเต็ม ผลิตภัณฑ์ประเภทออยล์หรือครีมที่มีปริมาณ Emolients สูง จะสามารถละลายเมคอัพได้ง่ายโดยไม่ต้องออกแรงมากในการนวดถู ซึ่ง KANEBO : Instant Off Oil (180ml /1,250 BAHT) เป็นออยล์ที่ละลายเครื่องสำอางออกมาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง แต่ถ้าใครอยากได้ความรู้สึกนุ่มนวลมากขึ้น KANEBO : Softening Cream Cleansing (120ml / 1,200 BAHT) ที่เนื้อครีมเข้มข้นจะเปลี่ยนเป็นเนื้อออยล์นุ่ม ๆ ไม่ไหลเลอะเทอะ ใช้สะดวก ก็ทำละลายเมคอัพ ครีมกันแดด ออกได้อย่างสบาย ๆ ก่อนที่จะล้างออกด้วยน้ำสะอาด ผลิตภัณฑ์ของเขามีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของ Tea Topia ที่ปูเป้ชอบเพราะมันผ่อนคลายมาก ๆ ด้วยล่ะ

ส่วนของ Point-Makeup ที่มักติดแน่นเป็นพิเศษอย่างรอบดวงตาและริมฝีปาก อาจนำสำลีชุบน้ำหมาด ๆ มาเสริมพลังในการดึงเมคอัพออกจากผิวด้วยการเพิ่มพื้นผิวทางกายภาพเพื่อดึงเมคอัพออกจากผิวได้มากขึ้นและการเก็บเศษเมคอัพที่ละลายออกมาไว้กับสำลี เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้แรงกดนวดที่มากขึ้น วิธีนี้สามารถใช้เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ล้าง Point-Makeup แบบ Bi-Phase ที่แบ่งเป็น 2 ชั้นและต้องเขย่าขวดก่อนใช้ก็ได้ครับ

สำหรับคนที่แต่งหน้าอย่างบางเบา หรือต้องการความรู้สึกสบายผิว หรืออาจไม่ชอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำมัน บาล์ม หรือครีม  ก็เลือกใช้ Micellar Water ซึ่งมีทั้ง Emollients กับ Solvent เพื่อช่วยละลายเมคอัพ สิ่งสกปรก และมี Surfactant/Emulsifier ที่ช่วยรวมสิ่งสกปรกที่ละลายออกมาเข้ากับน้ำจำนวนมากในสูตร ให้หลุดติดไปพร้อมกับสำลีที่ลูบผ่านผิวไปจะตอบโจทย์กว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ผู้ผลิตมักบอกว่าไม่ต้องล้างน้ำหรือโฟมล้างหน้าตาม แต่ส่วนตัวปูเป้จะล้างหน้าด้วยน้ำหรือโฟมซ้ำเสมอครับ เพราะส่วนตัวเคยลองเช็ดเมคอัพแล้วไม่ล้างน้ำซ้ำแล้วสิวขึ้น เป็นกับทุกยี่ห้อแบรนด์เลยเพราะว่าปูเป้เป็นผิวที่อุดตันง่ายล่ะ

อันนี้ทางคาเนโบก็มีลูกครึ่งระหว่าง Micellar Water กับ Toner อย่าง KANEBO : Clear Cleansing Toner (180ml / 1,500 BAHT) ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวเช็ดเมคอัพบางเบาเพื่อทำความสะอาดผิวก็ได้ หรือใช้เป็นขั้นตอนโทนเนอร์เช็ดหลังจาก Massage Cream เพื่อเอาความมันส่วนเกินจากผิวก่อนลงขั้นตอนบำรุงตามปกติ

การเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบ Detergent Based

ผลิตภัณฑ์ Soap-Based นั้นให้ฟองมาก ละเอียด นุ่มและแน่น ซึ่งจำเป็นต้องตีฟองก่อนใช้เพื่อกระจายสารทำความสะอาดให้อานุภาคฟองไปจับกับน้ำมันที่ตกค้างบนผิว โดยไม่ต้องใช้แรงในการถูหรือเสียดสีกับผิว   สูตรของผลิตภัณฑ์มีผลอย่างมากต่อความรู้สึกหลังใช้ว่าจะแห้งกร้านมากหรือรู้สึกสบายผิวไม่แห้งเกินไป  โฟมล้างหน้าที่ใช้แล้วผิวไม่ค่อยแห้งมักมีส่วนผสมให้ความชุ่มชื้นอย่าง Glycerin เป็นปริมาณมาก และมีสารที่ช่วยคงความชุ่มชื้นให้ติดกับผิวชั้นนอกเอาไว้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ล้างหน้าของ KANEBO ทั้งสามตัวเป็น Glycerin Base และให้ฟองที่นุ่มมาก  แต่สิ่งที่ต่างกันคือ KANEBO : Comfort Stretchy Wash (130g / 1,800 BAHT) จะมีส่วนผสมของสารให้ความชุ่มชื้นสูงที่สุดในแบรนด์ ส่วน KANEBO : Refreshing Creamy Wash (120ml / 1,000 BAHT) เป็นโฟมล้างหน้าตัวที่มีมาก่อนหน้า ส่วนตัวปูเป้มองว่าเป็นตัวที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงแต่ความนุ่มยังไม่เท่าตัว Strechy Wash ครับ สำหรับ KANEBO : Scrubbing Mud Wash (130g / 900 BAHT) จะยืนพื้นด้วยสารทำความสะอาดที่คล้ายกับสองชนิดก่อนหน้า โดยเพิ่มส่วนผสมของโคลนลาวาจากโมรอคโคช่วยดูดซับความมัน และเม็ดขัดผิวจากโปรตีนไหมที่แตกตัวได้ ไม่บาดผิว  ตัวนี้เป็นตัวที่ปูเป้ใช้บ่อยที่สุด เพราะว่าปรับการใช้ได้ 3 รูปแบบ ทั้งเป็นมาส์กดูดซับความมันแบบเร่งด่วน หรือผสมน้ำเล็กน้อยก่อนถูวนเพื่อเป็นสครับขัดผิวที่ใช้ได้ทุกวัน และยังสามารถนำมาตีฟองได้หนานุ่มอีกด้วย แถมราคาก็ยังน่ารักที่สุดอีกด้วย

การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวแบบ Soap-Based นั้นจำเป็นจะต้องตีฟองให้หนานุ่มทุกครั้งเพื่อกระจายสารทำความสะอาดจะช่วยให้มีความอ่อนโยนมากกว่าโดยเฉพาะคนที่มีผิวแห้งได้ง่าย เนื่องการบีบโฟมผสมน้ำเล็กน้อยแล้วปาดลงไปบนผิวเลยจะทำให้สารทำความสะอาดมีความเข้มข้นและดึงน้ำมันออกมาได้มากกว่า อาจทำให้ผิวแห้งเกินไปได้

ตัวช่วยในการตีฟองอย่างเช่นตาข่ายตีฟองของมูจินี้ จะช่วยให้เราได้ฟองโฟมหนานุ่มดุจโฟมโกนหนวดภายในไม่กี่วินาที เพียงบีบโฟมล้างหน้าลงบนตาข่าย ผสมน้ำพอประมาณ และถูวนตาข่ายบนฝ่ามือจนเป็นฟอง

ส่วน Synthetic Surfactant / Bio-Based Surfactant นั้นก็มีทั้งตัวที่ปราศจากฟอง มีฟองน้อย หรือมีฟองมากหน่อย แล้วแต่คนชอบ  ซึ่งโดยส่วนตัวปูเป้ชอบสารทำความสะอาดที่มาจากกรดอะมิโน เพราะมีความอ่อนโยนกับผิวมาก  ไม่แห้งตึง และในขณะเดียวกันก็ให้ฟองในปริมาณที่มากและนุ่มฟู แม้จะไม่เท่ากับสารสบู่ แต่ถือว่าโดดเด่นในกลุ่มสารทำความสะอาดสังเคราะห์ ซึ่ง KANEBO : Refreshing Powder Wash (0.4gX32 / 1,200 BAHT) ก็มีสารทำความสะอาดจากกรดอะมิโน และปูเป้ก็เคยให้เป็น Favorite ประจำปีเอาไว้ด้วย

Double Cleansing เหมาะกับใคร?

หากคุณมีการแต่งหน้าด้วยเมคอัพ หรือใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดชนิด Phisical ล้วนหรือเป็นส่วนประกอบหลัก ในเบสซิลิโคนหรือเบสที่ติดผิวดีมาก ก็เหมาะที่จะทำ Double Cleansing หลังจากที่คุณกลับมาถึงบ้านทันที เพื่อปลดลดภาระของผิวออกจากเครื่องสำอาง มลภาวะ และไขมันที่มีการออกซิเดชั่น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบต่อผิว

เหตุผลที่ปูเป้แนะนำให้ทำความสะอาดผิวทันทีที่กลับถึงบ้าน เพราะว่าการอุดตันจากน้ำมัน หรือผลเสียจากการออกซิเดชั่นของมลภาวะที่ติดค้างบนผิว ยิ่งปล่อยไว้นานก็ยิ่งทำร้ายผิวครับ โดยหลังจากทำความสะอาดแล้วและคุณยังไม่อยากลงสกินแคร์แบบจัดเต็ม คุณสามารถพ่นสเปรย์ให้ความชุ่มชื้น หรือมอยซ์เจอไรเซอร์เนื้อเบา ๆ เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง และเมื่อคุณจะเข้านอน ก็ค่อยไปล้างหน้าด้วยน้ำเปล่า หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยน ตามด้วยลงสกินแคร์บำรุงผิวเต็มรูปแบบก่อนเข้านอนตามปกติ

แต่ถ้าคุณใช้สกินแคร์ทั่วไป ทากันแดดที่ไม่ติดทนหรือเป็น Chemical ล้วน ส่วนเมคอัพก็ใช้เพียงแป้งฝุ่นธรรมดาที่ล้างออกได้ง่าย การใช้ผลิตภัณฑ์ Detergent-Based ก็อาจเพียงพอกับการทำความสะอาดแล้วครับ

หรือถ้าคุณไม่ได้แต่งหน้าแต่รู้สึกสบายใจกว่ากับการทำ Double Cleansing หลังจากที่ต้องออกไปเจอฝุ่นมลภาวะในเมืองมาทั้งวัน หรือจะทำบ้างสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้งเพื่อเป็นการ Deep-Clean ผิว ก็สามรถทำได้ ไม่ได้ผิดหรือเป็นข้อห้ามแต่อย่างใด

สิ่งสำคัญของการใช้สกินแคร์ ขอแค่ให้ภาพรวมเราได้ผลลัพธ์ของผิวที่มีสุขภาพดี คุณภาพดี ไม่แห้งไป ไม่มันเกิน ไม่เกิดปัญหาผิวอย่างสิวหรือการอักเสบระคายเคือง ก็ถือว่าวิธี ขั้นตอน และผลิตภัณฑ์ที่คุณใช้นั้นเหมาะสมกับสภาพผิวและไลฟ์สไตล์ของคุณแล้วล่ะ

สำหรับใครที่สนใจผลิตภัณฑ์ KANEBO ก็สามารถแวะไปที่เคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ โดยสามารถรับบริการตรวจสภาพผิวและรับผลิตภัณฑ์ตัวอย่างโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook : KANEBO Global  หรือสามารถช็อปออนไลน์ได้ทาง Central Online และ M Online เลยฮะ