เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทาง Dove ได้ส่งผลิตภัณฑ์ Dove Beauty Bar มาให้ที่บ้าน ซึ่งทำให้ปูเป้นึกย้อนไปถึงสมัยที่ Dove เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ตอนนั้นโฆษณาของ Dove เป็นอะไรที่ฮือฮามากเพราะใส่ส่วนผสมของมอยซ์เจอไรซิ่งมิลค์มาถึง 1/4 ก้อนแน่ะ!!!

แน่นอนว่าปูเป้ก็ถอยมาลองแน่นอน จำได้ว่าสมัยนั้น Dove แบบก้อนจะนำเข้าจากอเมริกาด้วย (แต่ที่ขายตอนนี้ผลิตที่อินโดนีเซียแล้ว) ซึ่งมันก็ต่างจากสบู่ก้อนจากที่เคยใช้ทั่วไปจริง ๆ เพราะใช้แล้วผิวไม่แห้งตึงเลย ในตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่า Dove นั้นแตกต่างจากสบู่ก้อนทั่วไปอย่างไร ทำไมมันถึงไม่ทำให้ผิวแห้ง? และทำไมถึงเรียกว่า Beauty Bar แทนที่จะเป็น Soap Bar? เวลาล่วงเลยมาสิบกว่าปีตอนนี้ปูเป้รู้แล้วว่ามันแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งวันนี้ก็จะเอามาเล่าให้ทุกคนฟังกันอีกเช่นเคย

เป็นอันที่เข้าใจกันดีว่า “น้ำ” กับ “น้ำมัน” นั้นเข้ากันไม่ได้ ดังนั้นการทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำนั้นไม่สามารถชำละล้างคราบมันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงต้องใช้ส่วนผสมที่เรียกว่า “Surfactant” หรือ “สารลดแรงตึงผิว” ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษตรงที่โมเลกุลของ Surfactant จะมีทั้งส่วนที่ชอบน้ำและชอบน้ำมัน เหตุนี้จึงทำให้ Surfactant สามารถช่วยดึงน้ำมันและสิ่งสกปรกที่ปกติจะไม่ละลายในน้ำให้หลุดออกมาได้ (Surfactant มีชื่อเรียกแบบทั่วไปว่า “Detergent” หรือ “สารทำความสะอาด” แต่จริง ๆ แล้ว Surfactant ใช้ประโยชน์มากกว่าทำความสะอาด และเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราแทบทุกอย่างเลย)

Soap หรือ สบู่ (เพี้ยนเสียงมาจากภาษาโปรตุเกศที่ออกเสียงว่า “ซาปู” หรือ Sabu) เป็นรูปแบบเริ่มแรกของ Surfactant ที่มนุษย์ผลิตขึ้นซึ่งทำด้วยกระบวนการง่าย ๆ โดยใช้ “ไขมันจากพืชหรือสัตว์” (หรือ Fatty Acid) มาทำปฏิกิริยากับ “ด่าง” (ส่วนใหญ่จะเป็น Sodium Hydroxide หรือ โซดาไฟ) จนเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Saponification เกิดเป็น “สบู่” ซึ่งการทำสบู่แบบโบราณนี้ง่ายมากจนทำเองได้ที่บ้านด้วยส่วนผสมที่มีเพียง ไขมัน+โซดาไฟ+น้ำ กับอุปกรณ์ในห้องครัวนิดหน่อยเท่านั้นเอง (แต่มันก็แอบอันตรายอยู่บ้างถ้าไม่ระวังให้ดี)

ประเด็นก็คือสบู่แบบโบราณนี้มีค่า pH เป็นด่างค่อนข้างสูง โดยปกติแล้วจะอยู่ที่ 9 – 10 แต่สูงกว่านี้ก็มี ซึ่งค่า pH ยิ่งสูง ก็ยิ่งเป็นด่างมาก ดึงน้ำมันออกจากผิวได้มาก และยิ่งระคายเคืองมากตามไปด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากประเด็นเรื่องการระคายเคืองและทำให้ผิวแห้งแล้ว ข้อจำกัดของสบู่คือการเข้าทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในน้ำจนสารที่ไม่สามารถละลายในน้ำลอยขึ้นมาที่พื้นผิว หรือที่เราเรียกกันว่า “ไคลสบู่”

จากข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรูปแบบใหม่ขึ้นมา

Dove Beauty Bar ถูกนำเสนอในตลาดครั้งแรกเมื่อปี 1955 ในฐานะนวัตกรรมด้านการทำความสะอาดผิวพรรณใหม่ล่าสุดในยุคนั้น ทำให้มีผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่ที่เรียกว่า Syndet Bar ขึ้นมา คำว่า Syndet ย่อมาจาก Synthetic Detergent (หรือ Synthetic Surfactant) โดยผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Syndet Bar จะต้องมีส่วนผสมของสารทำความสะอาดสังเคราะห์เป็นหลัก และมีส่วนผสมของสบู่น้อยกว่า 10% และปรับค่า pH อยู่ 5.5 – 7

โดยส่วนผสมทั้งหมดของ Dove White Beauty Bar มีดังนี้

Ingredients : Sodium Lauroyl Isethionate, Stearic Acid, Sodium Palmitate, Water, Lauric Acid, Sodium Isethionate, Sodium Stearate, Cocamidopropyl Betaine, Sodium Palm Kernelate, Fragrance, Glycerin, Sodium Chloride, Zinc Oxide, Citric Acid, Tetrasodium EDTA, Tetrasodium Etidronate, Titanium Dioxide (CI 77891).

ค่า pH ของผิวตามปกติจะอยู่ที่ 4.5-6.5 ซึ่งมีความเป็นกรดอ่อน จึงทำให้ Syndet Bar หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความสะอาดสังเคราะห์นั้นมีความอ่อนโยนกับผิวมากกว่าสบู่โดยทั่วไป ซึ่งในวันนี้ปูเป้ก็เลยเอาวิธีทดสอบความแตกต่างของสบู่กับ Syndet Bar อย่างง่าย ๆ มาให้ชมกัน

พอดีว่าเดือนที่แล้วปูเป้แวะไปที่ Tsuruha เจอสบู่ถ่านภูเขาไฟสำหรับทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย ก็ลองซื้อมาดูแต่ยังไม่ได้แกะใช้ อ่านส่วนผสมแล้วมันเป็นสบู่แบบโบราณแน่ ๆ จึงเอามาทำการทำสอบเทียบกับ Dove Beauty Bar ซึ่งเป็น Syndet Bar ระดับตำนาน แล้วก็แถบวัดค่า pH ซึ่งหาได้ตามร้านขายอุปกรณณ์ทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป

วิธีทดสอบก็ง่ายมาก แค่ลูบน้ำลงบนผลิตภัณฑ์แล้วถูเบา ๆ เพื่อละลายผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับน้ำ หลังจากนั้นก็แปะแผ่นวัดความเป็นกรดด่างลงไปสักแปปนึงก็หยิบขึ้นมาอ่านค่าที่ได้

ผลที่ออกมาก็จะเห็นได้ว่า สบู่ถ่านก้อนสีเทา ๆ นั้นมีค่า pH 10 ซึ่งเป็นด่างพอสมควร ในขณะที่ Dove Beauty Bar มีค่า pH 7 หรือเป็นกลางเหมือนกับน้ำที่เราใช้ล้างหน้านี่แหล่ะ

ทาง Dove ยังแนะนำว่า Dove Beauty Bar นี้ยังอ่อนโยนพอที่จะใช้กับผิวหน้าได้อีกด้วยล่ะ ซึ่งถ้าไป Google หาข้อมูลดูเราก็จะพบว่าในต่างประเทศ มีคนใช้ Dove Beauty Bar ล้างหน้ากันเยอะทีเดียว และถ้าเป็นสูตรที่ไม่ใส่น้ำหอม ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการทำความสะอาดผิวหน้าที่แพทย์ผิวหนังแนะนำอีกด้วย (แต่ประเทศไทยไม่มีจำหน่าย)

ปูเป้มั่นใจว่าหลาย ๆ คนคงจะเริ่มคิดในใจว่า ของแบบนี้เอาไปล้างหน้าได้ด้วยหรอ? ปกติชั้นเอาไปใช้ฟอกตัวอย่างเดียว ใช้กับหน้าแล้วหน้าจะไม่แหกรึ? แต่จริง ๆ แล้วหลักการของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวตัวกับผิวหน้า มันไม่ได้แตกต่างกันหรอก เพียงแต่ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าก็ควรจะมีความอ่อนโยนเป็นหลัก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยน จะเอามาใช้กับผิวหน้าหรือผิวตัวก็ได้ทั้งนั้นแหล่ะ

แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ปูเป้ก็ยังไม่เคยลองเอาเจ้า Dove Beauty Bar มาล้างหน้าเลยสักครั้ง จะหมู่หรือจ่า ปูเป้คงต้องขอตัวไปลองก่อนแล้วได้ผลอย่างไรก็จะนำมาเล่าให้ฟังกันอีกทีในโอกาสหน้า

ps. บอกไว้ก่อนเผื่อจะมีคนถาม… เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เห็นเป็นก้อน ๆ นั้นแท้จริงแล้วมันเป็น “สบู่” หรือเป็น “Syndet Bar”? วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือดูที่ส่วนผสมนั่นเอง ถ้าเจอ Sodium Cocoate / Sodium Tallowate / Sodium Palm Kernelate / Sodium Stearate / Sodium Palmitate เป็นสารทำความสะอาดหลัก หรืออยู่เป็นลำดับต้น ๆ ของส่วนผสม ก็แปลว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นเป็น “สบู่”

(Source : Personal cleanser technology and clinical performance., Types of Bar Soaps, What is the Difference Between Soap & Surfactants?, A Better Cleansing Bar Makes a Big Difference, Skin and Hair Cleansers )