สำหรับปูเป้มีสองสิ่งที่ได้ต่อสู้มาอย่างยาวนานเพื่อให้ได้มาใช้ในบ้านนั่นก็คือ เครื่องซักผ้าฝาหน้า และเครื่องอบผ้า เหตุผลที่บอกว่าต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาก็น่าจะคล้ายกับหลาย ๆ คน นั่นก็คือผู้ยิ่งใหญ่ของบ้าน (ในกรณีของเราก็คือแม่) ยืนกรานเสียงแข็งว่าไม่เอา เครื่องซักผ้าฝาหน้าเนี่ยสมัยย้ายมาอยู่บ้านนี้ก็เคยใช้ ปัญหาเยอะ น้ำรั่วซึม นู่นนี่นั่น (นั่นมัน 30 กว่าปีมาแล้วป่ะ… เราก็เถียงในใจ) เครื่องอบผ้านะเพื่อนม๊าก็มีแล้วเนี่ยใช้แล้วผ้าหด เสื้อผ้าเสีย พัง กรอบแห้ง (เรื่องนี้รีรันมาตั้แต่สมัยเรายังอยู่มัธยมต้น ซึ่งปัจจุบันเทคโนโนโลยีมันไปถึงไหนแล้ว) คนยังมีภาพความเชื่อ มายาคติแบบเดิม ๆ กับสิ่งเหล่านี้ เครื่องซักผ้าฝาหน้าไม่ดี เครื่องอบผ้าไม่จำเป็น ทำผ้าพัง เปลืองไฟ
โอกาสอันประจวบเหมาะตรงที่ว่าเราต้องรีโนเวทสองชั้นบนของบ้านและดาดฟ้าต้องถูกทุบทิ้งทั้งหมดเพื่อทำหลังคาใหม่ เราจะไม่มีที่ตากผ้า มันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แม่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ในที่สุดเครื่องอบผ้าเครื่องแรกก้ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในครอบครัว และเมื่อได้ประจักษ์แล้วว่าเทคโนโลยีมันช่างทำให้ชีวิตง่ายและดีงาม ล่าสุดเครื่องซักผ้าฝาหน้าที่โดนป้ายมายาคติว่าไม่ดีงู้นงี้ ก็ได้มาเป็นสมาชิกของเป็นที่เรียบร้อย และเราก็แฮปปี้มากกับการได้จัดมุม Laundry แบบที่เราอยากได้อยากมีมานาน ซึ่งก็ออกมามีหน้าตาแบบที่เห็น มีตะกร้าเก็บผ้าที่ยังไม่ซัก หรือซักอบเรียบร้อยแล้วเตรียมยกขึ้นไปรีด ไปเก็บ มีชั้นวางอุปกรณ์ซักผ้าและจิปาถะอื่น ๆ เครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าที่เข้าชุดและตั้งซ้อนกันได้ และราวแขวนผ้าหลังจากอบเสร็จ ทุกอย่างเป็นระบบ เป็นระเบียบ และใช้งานได้สะดวกแบบสุด ๆ เรามีเหตุผลที่วางตำแหน่งของอุปกรณ์และชั้นเอาไว้แบบนี้เพราะมันมี Flow ในการใช้งานที่ถูกคิดมาเรียบร้อยแล้ว
ตะกร้าแยกผ้าประเภทต่าง ๆเราใช้ตะกร้าใหญ่ในการเก็บผ้าที่ทนความร้อนได้สูง เช่นพวกผ้าขนหนู ผ้าฝ้าย พวกนี้เราจะจับซักในโปรแกรมเดียวกัน ส่วนตะกร้าที่เล็กลงมาจะใช้กับพวกผ้าเส้นใยผสม ใยสังเคราะห์ต่าง ๆ เสื้อกีฬา เสื้อยืด หรือแม้แต่กางเกงใน ซึ่งก็มักจะมีชิ้นที่ไม่ใหญ่หรือหนาเท่าไหร่ ก็จะไปจับรวมในโปรแกรมเดียวกัน ผ้าที่สกปรกมากและต้องใช้โหมด Prewash หรือแช่ผ้า เช่นพวกถุงเท้า หรือพวกกางเกงยีนส์ที่นานๆ จะซักทีก็จะมารวมกัน พอผ้าได้ปริมาณที่ควรจะซักแล้วก็ค่อยจับเข้าเครื่องซักผ้า ส่วนพวกไส้หมอน ไส้ผ้านวม มันต้องซักทีละชิ้น อบทีละชิ้นอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ต้องมีแยกเป็นพิเศษ
การที่เราแยกผ้าที่จะซักเป็นหมวดหมู่มาแต่แรก มันจะช่วยให้เราสะดวกชีวิตในการอบผ้าด้วย เพราะผ้าในรอบซักทั้งหมดก็จะสามารถนำมาอบในโปรแกรมแบบเดียวกันได้ เช่นถ้าเราซักผ้าขนหนู ผ้าฝ้าย เราก็จับยัดเครื่องอบแล้วเปิดโหมด Cotton ไปได้เลย ถ้าเราซักด้วยโปรแกรม Mix Fabric ก็เข้าอบในโปรแกรม Mix ได้เช่นเดียวกัน คือคิด วางแผน และจัดกลุ่มมาแต่ก่อนจะซัก เราจะได้ไม่ต้องมานั่งแยกอบอีกทีนึง
เครื่องซักผ้าที่ปูเป้เปลี่ยนมาใช้ เป็นเครื่องซักผ้าฝาหน้า BOSCH Series 8 รุ่นใหม่ไฉไล เพราะการจะโน้มน้าวให้คนรุ่นเก่าเปลี่ยนมาใช้อะไรที่เขาไม่คุ้นเคย บอกเลยว่าแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมีความน่าเชื่อถือนั้นสำคัญมาก ซึ่ง BOSCH ขึ้นชื่อเรื่องอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูงและทนทาน ขายดีมากเป็นอันดับหนึ่งในยุโรป เทคโนโลยีเยอรมันเชื่อใจได้ และตัวนี้ก็ผลิตและนำเข้าจากเยอรมันด้วย
เนื่องจากนี่เป็นเครื่องซักผ้าฝาหน้าเครื่องแรกที่เราเคยใช้ และเป็นเครื่องซักผ้าแบบไฮเทคที่สุดที่บ้านนี้เคยมี ตอบแรกก็ยอมรับว่าเป็นปุ่มเยอะแล้วงง แต่พอเข้าใจแล้วก็พบว่าโอ้ มันง่ายสุด ๆ ซึ่งที่แผงควบคุมมันจะแบ่งเป็นสองส่วน ที่แป้นหมุนด้านซ้ายจะเป็นโปรแกรมซักอัตโนมัติที่ปรับค่าต่าง ๆ ให้เมหาะสมกับประเภทของผ้าที่จะซักเอาไว้แล้ว และทางด้านขวาคือแผงดิจิตอลและปุ่มปรับฟังก์ชั่นต่าง ๆ
เริ่มแรกเราก็ต้องเลือกโปรแกรมซัก ซึ่งโปรแกรมการซักก็มีหลากหลายมาก เหมาะกับผ้าทุกรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งโหมดที่เราใช้บ่อยจะมีดังนี้
Mix เป็นโปรแกรมที่เราใช้บ่อยที่สุด เป็นโปรแกรมซักในชีวิตประจำวันที่แท้ทรูคือ ซึ่งทำมาเพื่อผ้าหลายชนิด จะใยสังเคราะห์ ผ้าฝ้าย ก็จับมันโยน ๆ เข้าไป โหมดนี้จะใช้น้ำอุณหภูมิไม่สูงนัก เราจะเปิดฟังก์ชั่นพิเศษ Active Oxygen เสริมเข้าไปเพื่อเพิ่มการฆ่าเชื้อโรคด้วย ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายข้างล่างว่าเจ้า Active Oxygen คืออะไร
Cotton Eco : เป็นโหมดสำหรับซักผ้าฝ้าย หรือผ้าที่ทนความร้อนได้ เราเลือกโหมดนี้เพราะมันประหยัดพลังงานกว่าโหมด Cotton ปกติ แค่ใช้เวลานานกว่า เราจะเลือกโหมดนี้เวลาซักผ้าขนหนู เช่นพวกผ้าเช็ดตัว เช็ดผม ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดจาน ความร้อนที่ 60 องศากำลังดี ถ้าไม่ได้มีผ้าขนหนู มีแต่เสื้อคอตตอน ปรับรอบปั่นที่ 800 – 1000 ก็เหลือแหล่ เพราะเสื้อผ้าเราไมไ่ด้หนาแบบเสื้อผ้าในยุโรป)
Allergy Plus : โหมดนี้จะใช้ความร้อนสูงและการล้างน้ำที่มากกว่าปกติและรอบการปั่นที่นานขึ้นเพื่อสลายและลดสารก่อภูมิแพ้ให้มากที่สุด เราเอาไว้ใช้กับผ้าขนหนูสำหรับเช็ดหน้า หรือใครที่มีผิว Sensitive ก็สามารถใช้โหมดนี้ซักผ้าที่ทนความร้อนได้อย่างผ้าฝ้าย และผ้าลินินได้เลย
อีกโหมดนึงที่เราชอบมากคือ ActiveOxygen Refresh ซึ่งจะเป็นการเอาผ้าเข้าไปอบในไอหมอก ActiveOxygen เพื่อช่วยฆ่าเชื้อและก็ช่วยลดกลิ่นที่ติดเสื้อผ้า ไม่ทำให้ผ้าเปียก เหมาะกับพวกไอเทมที่ไม่ควรวักบ่อย หรือไม่ได้สกปรกแต่แค่มีกลิ่นติดเฉย ๆ
Drum Clean เป็นโหมดเอาไว้ล้างถังปั่นซึ่งใช้ความร้อนสูงมาก เราชอบตรงที่เครื่องจะทำการเตือนให้ใช้โหมดนี้โดยอัตโนมัติถ้าเราใช้งานไปถึงจุดที่กำหนด เพราะถังปั่นที่สกปรกเป็นตัวสะสมของเชื้อโรค ใครที่เคยจ้างคนมาล้างเครื่องซักผ้าคงจะเห็นสภาพนี่น่าขยะแขยงเป็นอย่างดี ทางเซลล์แนะนำว่าให้ซื้อผงล้างถังปั่นของ BOSCH ไว้ใช้คู่กับโหมดนี้ ปีละ 1 – 2 ครั้ง จะดีที่สุด เดี๋ยวเราว่าจะโทรไปสั่งซื้ออยู่
โหมดที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยู่คอนโดเราคิดว่าเป็นโหมด Night Wash คือโหมดที่จะซักแบบเงียบมาก เสียงเบามาก เราลองดูเล่น ๆ แต่ไม่ได้ใช้งานเพราะว่าโซนซักผ้าเราห่างจากห้องนอนไป 2 ชั้น ยังไงก็ไมไ่ด้ยินเสียงอยู่แล้ว
หลังจากที่เลือกโปรแกรมซักแล้ว เราสามารถมาปรับฟังก์ชั่นเสริม หรือปรับตั้งค่าต่างๆ เพิ่มเติมได้ ฟังก์ชั่นแหล่ม ๆ ที่เราชอบมากในเครื่องนี้คือเทคโนโลยี ActiveOxygen ซึ่งเมื่อเราเปิดทำงานคุณสมบัตินี้ เครื่องจะทำการปล่อยหมอกไอน้ำที่มีโอโซนซึ่งจะเข้าไปฆ่าเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียในผ้าได้ 99.99% ตามมาตรฐานของเยอรมัน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเติมสารเคมีหรืออะไรไปเพิ่มเลย ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีอะไรตกค้างบนผ้าที่เราซักรวมไปถึงไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ส่วนตัวเราคิดว่าฟังก์ชั่น Active Oxygen นี้ตอบโจทย์เรามาก คือปกติแล้วการฆ่าเชื้อโรคในผ้าที่เราซักก็จะใช้ความร้อนสูงที่ 60 – 90 องศาเซลเซียส หรือไม่ก็ต้องใช้พวกน้ำยาซักผ้าหรือผงซักฟอกที่สารที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค ซึ่งผ้าใยสังเคราะห์หรือผ้าบางอย่างไม่สามารถซักในอุณหภูมิสูงหรือน้ำร้อนได้ และ สารฆ่าเชื้อในน้ำยาซักผ้าก็อาจมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมยังไงบ้างเราก็ไม่รู้แน่ชัด ซึ่งเครื่องซักผ้ารุ่นนี้เราามารถเปิดฟังก์ชั่น ActiveOxygen ไปในเกือบทุกโปรแกรมการซักเลย เพียงแต่ต้องปรับเลือกให้อุณหภูมิน้ำที่ซักต่ำกว่า 40 องศา เท่านั้น และเครื่องจะทำงานนานขึ้นไปอีกประมาณ 45 นาที และในระหว่างนี้เครื่องจะล็อคไม่ให้เปิดฝาเพื่อเติมผ้าหรือ Reload ก็เพื่อความปลอดภัยของเราเอง หลังจากเจ้า ActiveOxygen สลายไปหมดแล้วเครื่องถึงจะยอมให้เราเปิดฝาออกมาได้
นอกจากนี้ฟังก์ชั่นที่เราว่ามันดีมากคือการที่เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะรีบ หรือเราชิลและต้องการประหยัดพลังงานมากกว่า คือถ้าเรารีบเราก็กดปุ่ม SpeedPerfect มันจะใช้พลังงานมากขึ้นแต่ก็ทำให้โปรแกรมซักเสร็จเร็วขึ้นกว่าครึ่งเลยทีเดียว แต่ถ้าเราไม่รีบ เราชิล เราอยากเน้นประหยัดพลังงาน ก็กดปุ่ม EcoPerfect ซึ่งจะใช้เวลาในการซักนานขึ้นแต่ก็จะประหยัดพลังงานที่ใช้ลง
ฟังก์ชั่นที่เราใช้บ่อย ๆ ก็คือ Rinse Plus คือเพิ่มรอบล้างน้ำหลังซักผ้าเสร็จ ซึ่งจะเหมาะกับคนที่มีผิว Sensitive ที่อาจจะไวกับพวกน้ำยาหรือผงซักฟอกที่อาจจะหลงเหลืออยู่ เราจะใช้โหมดนี้กับพวกผ้าขนหนู ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ปลอกหมอน
ส่วน PreWash คือฟังก์ชั่นในการแช่ผ้า สำหรับเอาไว้ซักพวกผ้าที่สกปรกมากอย่างเช่นถุงเท้าหรือสิ่งที่เราไม่ค่อยได้ซักบ่อยอย่างเช่นกางเกงยีนส์ ก็กดปุ่มนี้ แล้วในถาดในน้ำยาซักผ้าก็เพิ่มน้ำยาในช่อง PreWash ไปด้วย
ส่วนที่เหลือก็เอาไว้ปรับตามที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นรอบปั่น อุณหภูมิของน้ำที่ซัก และใครที่คิดว่าเครื่องซักผ้าแบบฝาหน้าเติมผ้าในระหว่างการซักไม่ได้ขอให้คิดใหม่ อันนี้แค่เรากดปุ่ม Pause เครื่องก็จะหยุดทำงานชั่วคราวปลดล็อคฝาแล้วเราก็เปิดยัดเติมผ้าไปในระหว่างการซักได้เลยจ้า
หลังจากนั้นก็โยนผ้าเข้าเครื่อง (กลับด้านของเสื้อผ้าที่จะซักจะช่วยถนอมผ้ามากขึ้น) เลือกน้ำยาซักผ้า หรือผงซักฟอก ที่ต้องการ ซึ่งเราแนะนำว่าให้เลือกเป็นสูตรฟองน้อย หรือสำหรับเครื่องซักผ้าฝาหน้าเป็นหลัก (ปริมาณฟองไม่ใช่ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการทำความสะอาด) ซึ่งเราก็จะหยิบจากชั้นที่วางอยู่ด้านขวามือมาใช้อย่างง่ายดาย ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำ เทใส่ในช่องใส่น้ำยาซัก แล้วก็ดันเข้าให้สุด ปิดฝาเครื่องซักผ้า กดปุ่มเริ่มทำงาน แล้วก็ปล่อยให้มันทำงานไป
ขอบอกว่าเครื่องซักผ้าฝาหน้า เพราะว่ามันประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ และเงียบกว่าเครื่องซักผ้าอันเก่าที่เป็นฝาบนของเรามาก และคุณสมบัติในการจะซักด้วยน้ำร้อน หรือการใช้ Active Oxygen ก็เพิ่มความมั่นใจในความสะอาดมากขึ้น ที่สำคัญคือเครื่องซักแบบฝาหน้าซักได้สะอาดกว่า ถนอมผ้ากว่าเยอะเลยทีเดียว
หลังจากที่โปรแกรมซักผ้าทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็ย้ายผ้าจากเครื่องซักไปยังเครื่องอบผ้าที่อยู่ด้านบน เครื่องอบผ้าที่เราซื้อไว้เมื่อปลายปีที่แล้วเราเลือกของ SIEMENS ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือของ BOSCH มีการแชร์เทคโนโลยีกัน แต่เครื่องอบ iQ700 ที่เราเลือกมาเป็นรุ่นที่ผลิตในเยอรมันอีกเช่นกัน ซึ่งเครื่องอบรุ่นนี้สามารถต่อซ้อนกับเครื่องซักผ้า BOSCH อันใหม่ของเราได้ โดยเราสั่งซื้อ Stacking Kit จากทางศูนย์บริการและจ่ายค่าติดตั้งก็มาจัดการให้ถึงที่บ้านเลย
เครื่องอบผ้า SIEMENS iQ700 ที่เราเลือกนี้ใช้ระบบ Heat-Pump ซึ่งเป็นรูปแบบที่ประหยัดพลังงานที่สุดแล้ว และอ่อนโยนกับผ้าที่สุด ซึ่งตอนนี้จะหา SIEMENS ไม่ได้แล้วนะครับ ต้องใช้เป็นของ BOSCH แทน โดยตัวสเป็คเดียวกันจะเป็น BOSCH Series 6 – WTW85560TH ครับ
หลักการทำงานของมันคือการแลกเปลี่ยนความร้อนกับอากาศภายนอก (ลองจินตนาการถึงเครื่องปรับอากาศ แต่ในทางตรงกันข้าม) เป็นระบบปิด ไม่มีการต่อท่อลมระบายความร้อน นอกจากนี้ยังเป็นรุ่น Self-Cleaning Condenser คือหลังจากที่มันแลกเปลี่ยนความร้อนและเกิดการควบแน่นเป็นหยดน้ำ หยดน้ำที่ถูกเก็บไว้ในแทงค์เก็บจะถูกปล่อยออกมาเพื่อล้างขุยผ้าที่อาจหลุดจากตัวกรองมาเกาะ Condenser ออกไปเองโดยอัตโนมัติ และก็ไหลออกจากท่อน้ำทิ้งไป (ถ้าต่อเอาไว้ ซึ่งเราต่อ ถ้าไม่ต่อเราต้องเอาน้ำในแท้งค์ออกไปทิ้งเอง) เหตุผลที่เราซื้อเครื่องนี้เป็นเพราะการทำความสะอาดอัตโนมัตินี่ด้วยแหล่ะ สะดวกชีวิตดี
เรื่องโปรแกรมในการอบผ้าเราจะไม่อธิบายมาก เพราะหลัก ๆ มันก็เหมือนกับเครื่องซัก เราซักมาโปรแกรมไหนก็มักจะโยนเข้าเครื่องอบในโปรแกรมเดียวกัน ต้องบอกว่าเครื่องอบผ้านี้แสนฉลาด รุ่นที่เราซื้อมันมีเซนเซอร์วัดความชื้นของผ้าด้วย ต่อให้หมันหมดเวลาที่ตั้งเอาไว้ แต่เซนเซอร์ยังตรวจเจอความชื้นในผ้าอยู่ มันก็จะยังต่อเวลาทำงานต่อไป ในทางตรงกันข้าม ต่อให้มันยังไม่หมดเวลาแต่ถ้าผ้าข้างในมันแห้งพอแล้วมันก็จะหยุดทำงานไปเองเพื่อเป็นการถนอมผ้า กันผ้าร้อนเกินไปจนหดตัว และช่วยประหยัดพลังงานด้วย
นอกจากนี้เครื่องอบผ้า SIEMENS iQ700 ก็มีฟังก์ชั่นเสริมที่สามารถปรับได้ เช่นปรับระดับความแห้งของผ้า ถ้าเราจะเอาผ้าหลังอบไปรีดต่อทันทีก็สามารถเลือกให้มีการเหลือความชื้นเอาไว้บ้างจะได้เอาไปรีดต่อได้โดยไม่ต้องฉีดพรมน้ำ ผ้าอันไหนที่บอบบางหน่อยก็เปิดโหมด Gentle Dry เพิ่มเข้าไป ซึ่งเครื่องจะใช้เวลานานขึ้นอีกหน่อย
สิ่งที่ต้องเข้าใจว่าระบบ Heat-Pump นั้นประหยัดพลังงานจริง อ่อนโยนต่อผ้าจริง แต่มันก็จะใช้เวลานานกว่าพวกระบบลมร้อนแบบโบราณ ส่วนผ้าจะอบออกมาแห้งแค่ไหนขึ้นอยู่กับเราปรับโหมดครับ จะเอาแบบอบมาเหลือความชื้นเล็กน้อยเพื่อเอาผ้าออกจากตู้แล้วไปรีดต่อได้เลย
หรือเกือบแห้งสนิท แค่เอาออกจากเครื่องมาสะบัดให้คลายความร้อน และแขวนตากในราวให้ผ้าทิ้งและคลายตัวจนผ้าบางอย่างไม่ต้องรีดก็ทำได้ แล้วแต่สะดวก
หรือจะเอาแบบแห้งสนิท จับพับเก็บเข้าตู้ได้ทันทีหลังออกจากเครื่องอบผ้า เราก็สามารถกำหนดได้หมดเลยครับ
ระบบอัตโนมัติของเครื่องที่ทำงาฯโดยใช้เซนเซอร์เพื่อตรวจว่าผ้าที่สัมผัสกับเซนเซอร์เริ่มแห้งหรือยังและตัดการทำงานตามระดับความชื้นที่เหมาะสม แต่ในการใช้งานจริงหากเราใส่ผ้าหลายชนิด มีความหนาที่แตกต่างกัน ผสมกันลงไป หรืออบผ้านวมที่บางทีมันเป็นก้อนและด้านในอาจจะยังแห้งไม่สนิท เราสามารถใช้ โหมดการอบแบบตั้งเวลา ได้ครับ โหมดอบแบบตั้งเวลาจะทำงานโดยไม่อาศัยเซนเซอร์วัดความชื้น ซึ่งจะมาตอบโจทย์ในส่วนนี้ ถ้าผ้าที่อบจากโปรแกรมอัตโนมัติแล้วยังแห้งไม่พอ ก็อบต่อด้วยโหมดตั้งเวลาจนกว่าจะได้ระดับความแห้งที่เราพอใจครับ
สิ่งที่ดีงามมากของเครื่องอบผ้าคือไม่ว่าจะสภาพอากาศแบบไหน ก็ซักผ้าได้ ซักเสร็จเอามาอบผ้าก็จะแห้งกลิ่นหอมสะอาดสดชื่น แม้ข้างนอกจะพายุเข้าฝนตก 3 วันติดกันก็ไม่หวั่น ที่สำคัญคือการอบผ้านั้นจะช่วยเอาพวกเส้นใย เส้นผม เส้นขน เศษฝุ่นผงออกจากเนื้อได้เกลี้ยงมาก ผ้าขนหนูจะนุ่มฟูน่าสัมผัส เสื้อผ้าใด ๆ จะปราศจากเศษผมและเศษขนแมว ลืมไปได้เลยการใช้ลูกกลิ้งมากลิ้นขนแมว (หรือขนสุนัข) ออกจากผ้าที่ตากแห้งแล้ว ที่สำคัญคือมันไม่ได้เพิ่มค่าไฟมากขึ้นเท่าไหร่เลย รุ่นที่ใช้ประหยัดไฟมาก แต่คุณภาพชีวิตดีขึ้นเยอะ เราว่าคุ้มกับการจ่ายเงินเพิ่มอีกไม่เท่าไหร่ต่อเดือน
ขั้นตอนสำคัญที่ห้ามละเลยอย่างเด็ดขาดนั่นก็คือการทำความสะอาดหลังใช้งาน เครื่องซักผ้าฝาหน้าควรจะเช็ดคราบน้ำที่ติดอยู่ตรงยางกันซึมเพื่อความสะอาดและลดการเกิดคราบน้ำหรือกลิ่นอับและเปิดฝาตู้เอาไว้เพื่อระบายความชื้นด้วย
ส่วนเครื่องอบผ้าสิ่งสำคัญคือการทำความสะอาดตัวกรองขุยผ้าทุกครั้งหลังใช้ ซึ่งสิ่งที่อยู่ในตัวกรองนี้คือเส้ยใย ขุยผ้า หรือฝุ่นผง ฝุ่นละออง เศษผม เศษขนสัตว์ หรืออะไรใด ๆที่ติดอยู่บนผ้าเรานั่นแหล่ะ โดยทางผู้ผลิตแนะนำว่าควรล้างน้ำและผึ่งแห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง แต่ถ้าไม่อยากล้างน้ำแล้วผึ่งแห้ง สามารถใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดออกได้เหมือนกัน การทำความสะอาดขุยผ้าทุกครั้งช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่อง ทำให้เครื่องมีประสิทธิภาพดี ลดการเกิดปัญหาร้ายแรงเช่นอัคคีภัยเป็นต้น แล้วก็ควรเปิดฝาตู้เครื่องอบผ้าหลังใช้งานเสร็จเพื่อระบายความชื้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้บริเวณด้านในด้านล่างของฝาตู้อบผ้า มันจะมีเซนเซอร์วัดความชื้นของผ้าในระหว่างทำงานด้วย ทำความสะอาดบ้างตามที่คู่มือบอก
หนึ่งในคำถามที่หลายคนมี หลายคนเจอ หรือหลายคนประสบ นั่นก็คือ ใช้เครื่องอบผ้าแล้วเสื้อผ้าพัง เสื้อผ้าหด เสื้อผ้าโทรม เราจะบอกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ความผิดของเครื่องอบผ้า แต่เป็นความผิดของคนที่ไม่เข้าใจการดูแลผ้าชิ้นนั้น ๆ ต่างหาก เสื้อผ้า กางเกง กางเกงใน ปลอกหมอน ไส้หมอน ไส้ผ้านวม หรือวัสดุผ้าทุกสิ่งอย่าง หากคุณซื้อจากแบรนด์ที่มีมาตรฐาน จะมีบอกเสมอว่าผ้าชิ้นนั้น ๆ ต้องดูแลอย่างไร สิ่งนี้สามารถเข้าเครื่องซักผ้าได้ไหม ถ้าเข้าเครื่องซักได้ต้องใช้อุณหภูมิไม่เกินเท่าไหร่ ใช้น้ำยาแบบไหนไม่ได้บ้าง สามารถใช้เตารีดได้ไหม รวมไปถึง สิ่งนี้สามารถเข้าเครื่องอบผ้าได้รึเปล่า ถ้าเข้าได้อบในความร้อนไม่เกินเท่าไหร่
คือคุณเอาผ้าที่ให้ซักในน้ำไม่เกิน 40 องศา และไม่แนะนำให้เข้าเครื่องอบ ไปซักในโหมดความร้อนสูงสลายเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้ที่ 90 องศา ยัดเข้าเครื่องอบปั่นจนแห้ง ยังไงมันก็พัง ปูเป้จะบอกว่าใช้เครื่องอบผ้ามาปีนึงเต็ม กับใช้เครื่องซักผ้าอันนี้มาเดือนนึง ไม่เคยเจอปัญหาเรื่องผ้าพังผ้าหดเลยแม้แต่นิดเดียว แค่เราเข้าใจว่าผ้าแต่ละแบบ แต่ละชนิดมันต้องดูแลต่างกันยังไง
นอกจากนี้เครื่องอบผ้ามีหลายระบบ และความฉลาด ความอ่อนโยน และประสิทธิภาพของมันก็ไม่เหมือนกัน ปัญหาผ้าที่เข้าเครื่องอบและหดหลัก ๆ ก็มาจากผ้าโดนความร้อนที่สูงมากไป แห้งจนเกินไป จนหด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับเครื่องอบระบบลมร้อนโบราณ ๆ กับเครื่องที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่
นอกจากนี้คำแนะนำในการดูแลผ้าของผู้ผลิตเสื้อผ้าก็เป็นอะไรกลาง ๆ เพราะเขาไม่รู้หรอกว่าคุณใช้เครื่องอบผ้าแบบไหน ถูก แพง ฉลาดหรือโง่ อ่อนโยนกับผ้าแค่ไหน เอาจริง ๆ ปูเป้เอาผ้าที่คำแนะนำบอกว่าไม่ให้อบ อย่างเช่นกางเกงใน AIRISM ที่เป็นผ้าใยสังเคราะห์ เข้าไปอบใน SIEMENS iQ700 โดยที่ไม่มีปัญหาอะไรเลย แค่เลือกโปรแกรมสำหรับอบพวกชุดชั้นในที่เป็นพวกผ้า Nylon, Lycra อะไรพวกนี้ แต่เนื่องจากบางทีกางเกงในเราไมไ่ด้เยอะมาก และผ้ามันบาง แห้งเร็ว เราก็ตากแห้งเอาได้ แต่ถ้ารีบใช้ก็เอาเข้าไปอบแค่นั้นเอง
ดังนั้นเราก็ต้องมาทดลองกับตัวเองด้วยเหมือนกันว่าผ้าที่เราใช้อยู่มันอบกับเครื่องที่เรามีได้รึเปล่า พวกผ้าราคาไม่แพง ของที่ใช้บ่อนแล้วต้องเปลี่ยนเรื่อย ๆ ก็จับมันลองอบไป พังก็ไม่เสียดาย ถ้าอบได้ก็สบายเรา แต่พวกผ้าที่บอบบางมาก แพงมาก อย่างขุดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ปลอกผ้านวมที่เป็นผ้า MicroModal ชุดละเป็นหมื่น ๆ ปูเป้ก็ซักปั่นแห้งแล้วเอาไปตากตามปกติ
เหตุผลที่เราเลือกที่จะใช้เครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้าแยกกันคือเราไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ขนาดนั้น และก็เผื่อว่าในกรณีที่เครื่องต้องมีการบำรุงรักษา ต้องซ่อม มันจะได้ซ่อมเป็นเครื่องไป ขาดไปอย่างหนึ่งก็ยังมีอีกอย่างให้ใช้ อีกประการสำคัญคือเราอยากจะตั้งมันซ้อนกันแบบที่เห็นบ่อยตามแคตตาลอค IKEA หรือตามแบบบ้านที่เราเคยดู ซึ่งเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าในแบรนด์เดียวกัน หรือในเครือเดียวกันอย่าง BOSCH และ SIEMENS มันจะมีรุ่นที่สามารถวางซ้อนกันได้ โดยเครื่องซักผ้าที่หนักกว่าจะอยู่ด้านล่างและเครื่องอบผ้าที่เบากว่าจะอยู่ด้านบน
การติดตั้ง Stacking Kit จะมีการเจาะที่ฝาเครื่องซักผ้าด้านบนเพื่อเป็นจุดยึด มีการล้อคอย่างแน่นหนา มั่นคงแข็งแรง ไม่ใช่แค่เอาไปตั้งวางซ้อนไว้เฉย ๆ เพียงแต่การติดตั้งควรใช้ผู้ที่มีความชำนาญจะดีกว่ามาทำเอง (มันหนักมากด้วยแหล่ะ) การตั้งซ้อนเท่าที่ใช้งานมาคือไม่มีปัญหาอะไรเลย มีความมั่นคงและปลอดภัยดี ปูเป้ถ่ายวีดีโอให้ดูเลยว่าตอนมันทำงานก็มีความมั่นคง และก็เงียบด้วย
การต่อซ้อนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอัคคีภัยแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเครื่องอบผ้าระบบ Heat-Pump ที่เป็นระบบปิด ไม่มีการปล่อยลมหรือความร้อนออกทางท่อหรือด้านนอกเครื่อง สาเหตุของการเกิดไฟไหม้เครื่องอบผ้า มักเกิดจากเคื่องอบคุณภาพต่ำ ความผิดพลาดในการผลิตและการออกแบบ การติดตั้งที่ไม่เหมาะสม ท่อระบายลมร้อนมีความคดเคี้ยวมากไปจนเกิดการสะสมของขุยผ้าได้ง่าย และการไม่ดูแลทำความสะอาดเป็นประจำจนเกิดขุยผ้าไปอุดตันในเครื่องหรือในท่อระบายลมร้อน กรณีอย่างหลังคือเครื่องที่ใช้ลมร้อนหากมีการสะสมของขุยผ้าอยู่มาก ความร้อนและความแห้งที่มากอาจทำให้ขุยผ้าลุกไหม้และเกิดอัคคีภัยได้ ซึ่งเป็น Human Error ทั้งนั้น
สิ่งนี้เปลี่ยนชีวิตเราไปเลย การซักผ้าเคยน่าเบื่อ แต่ตอนนี้มันง่ายกับชีวิตมาก ๆ ใครที่ยังลังเล ยังคงติดกับมายาคติเดิม ๆ ที่มีต่อเครื่อซักผ้าฝาหน้า ที่ยังมีต่อเครื่องอบผ้า ขอให้ลองคิดดูใหม่ ใครบ้านไหนที่ผู้เป็นใหญ่ของบ้าน พ่อ แม่ สามี ภรรยา บอกว่าไม่เอา ไม่ดี ขอให้เขาลองอ่านบทความนี้ดู ลองใช้ดู แล้วคุณจะพูดกับตัวเองว่า “รู้แบบนี้ซื้อตั้งนานแล้ว” เหมือนกับเรา แม่เราที่เคยยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวว่าไม่เอา ตอนนี้ไม่เห็นจะบ่นสักคำ มีแต่เบาแรงเขาไปเยอะ
สำหรับใครที่อยากเอาแบบนี้ไปวางที่บ้านเลย มีลิสต์รายการสินค้าดังนี้จ้า
เครื่องซักผ้า : BOSCH Series 8 ขนาด 9 กก รุ่น WAW28740EU (ซักไส้ผ้านวมคิงไซส์ได้) ราคา 42,XXX แล้วแต่โปรโมชั่นที่หากันได้ ไปเช็คกันเอง
เครื่องอบผ้า : SIEMENS iQ700 ขนาด 9 กก รุ่น WT47W540BY (อบไส้ผ้านวมคิงไซส์ได้) ราคา 35,XXX ***อัพเดท ตอนนี้จะหา SIEMENS ไม่ได้แล้วนะครับ ต้องใช้เป็นของ BOSCH แทน ซึ่งตัวสเป็คเดียวกันจะเป็น Series 6 – WTW85560TH ครับ***
ชุดอุปกรณ์ Stacking Kit โทรสั่งศูนย์ BOSCH ราคารวมภาษีแล้ว 2,321.90 บาท
ค่าแรงติดตั้ง Stacking Kit จากศูนย์บริการ BOSCH ราคารวมภาษีแล้ว 1,605 บาท
ชุดชั้นแขวนเสื้อ กับกล่องและตะกร้าแยกผ้าตามแบบในรูป IKEA : ALGOT Frame System ราคารวม 4,650 บาท
ชั้นวางของ 5 ชั้น IKEA : MULIG ราคา 1,490 บาท