ทุกวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีจะเป็น วันเอดส์โลก หรือ World AIDS Day เพื่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และเชื้อ HIV
ในขณะที่ปัจจุบันความเข้าใจและยาที่ใช้เพื่อควบคุมเชื้อ HIV มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนมาก จนผู้ที่ติดเชื้อ HIV และได้รับยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง สามารถมีชีวิตที่ยาวนาน มีสุขภาพแข็งแรง ไม่แพร่เชื้อต่อ และจะไม่เข้าสู่ภาวะ AIDS แล้ว แต่คนส่วนหนึ่งในสังคม อย่างในสังคมไทย กลับยังไม่สามารถแยกแยะ HIV กับ AIDS ได้ แม้ว่าจะมีความพยายามในการสร้างความเข้าใจสู่สังคม แต่สื่อกระสหลัก รวมไปถึงละครที่ผลิตซ้ำความเข้าใจผิดยังคงมีผลต่อภาพจำของคนในสังคมว่าคนติด HIV จะต้องเป็น AIDS นอนตัวดำผอมเกร็งตายบนเตียง
HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus คือ ไวรัส ที่โจมตีให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ส่วน AIDS หรือ Acquired Immune Deficiency Syndrome เป็นภาวะ โรค ที่เกิดขึ้นหลังจากระบบภูมิคุ้มกันต่ำเพราะถูกเชื้อ HIV โจมตีจนลงมากจนเกิดโรคแทรกซ้อน
ผู้ที่ติดเชื้อ HIV และไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ภูมิตุ้มกันจะถูกทำลายจนติดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายจนเสียชีวิตเพราะโรคแทรกซ้อนเหล่านั้น
ถ้ามีเชื้อ HIV ในร่างกาย และรับยาต้าน ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เชื้อ HIV จะถูกคุมเอาไว้ ภูมิคุ้มกันก็จะแข็งแรง ก็จะไม่เป็นโรค AIDS
ดังนั้น AIDS รักษาได้ ส่วน HIV สามารถคุมได้ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษา HIV ให้หายขาดหรือขจัดไวรัส HIV ให้หมดจากร่างกายได้ แต่การอัพเดทล่าสุดนักวิทยาศาสตร์เริ่มหาทางในการขจัดไวรัสและอยู่ในระหว่างการขยายผลศึกษากับมนุษย์แล้ว ดังนั้นผู้ที่มีเชื้อ HIV คุณมีความหวังแน่นอน
ในอดีตนั้นยาต้านไวรัส HIV มีเพียงตัวเลือกเดียวคือยา AZT ซึ่งมีราคาสูงและมีประสิทธิภาพน้อยในการควบคุมเชื้อ HIV และยังมีผลข้างเคียงมาก
แต่ในปัจจุบันยาต้าน HIV มีตัวเลือกที่หลากหลาย มีประสิทธิภาพสูง กินเพียงวันละครั้ง ไม่ต้องกินยาเป็นกำมือวันละหลายรอบเหมือนแต่ก่อน แถมยังมีผลข้างเคียงน้อย
ในปัจจุบันผู้ที่ติดเชื้อ HIV จะกินยาต้านไวรัส วันละครั้ง เวลาเดิม ทุกวัน ซึ่งยาต้านจะเป็นตัวยาต้านไวรัส 3 ชนิด ซึ่งมันจะมีคอมบิเนชั่นของยาต้านที่ได้รับความนิยม หากคนไข้มีผลข้างเคียงกับยาที่กิน ซึ่งมักจะเป็นอาการมึน คลื่นไส้ หรืออื่น ๆ ปัจจุบันก็มีคอมบิเนชั่นของยาที่กินแล้วไม่มีผลเรื่องมึนหรือคลื่นไส้ให้แพทย์สามารถปรับใช้ได้
หากผู้ที่ติดเชื้อ HIV รับยาต้านอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือนขึ้น เชื้อ HIV จะถูกกดจนมีปริมาณที่น้อยมากจนชุดตรวจไม่สามารถตรวจพบ ซึ่งเรียกว่า Undetectable ซึ่ง HIV จะไม่ส่งผลต่อสุขภาพ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ป่วยอมโรค และที่สำคัญคือ “ไม่แพร่เชื้อ” ไปยังผู้อื่นอีกด้วย
(Source : HIV Treatment: The Basics)
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับและมีหลักฐานที่แน่นหนาจนสรุปได้ว่า ผู้ที่มีเชื้อ HIV และรับยาต้านอย่างสม่ำเสมอ และอยู่ในสถานะ Undetectable นั้นจะไม่ส่งผ่านเชื้อไปยังผู้อื่นแม้จะมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกัน
การศึกษาในกลุ่มคู่รักจำนวนมาก ทั้ง ชาย-หญิง ชาย-ชาย โดยที่ฝ่ายหนึ่งติด HIV และรับยาต้านจน Undetectable กับอีกฝ่ายที่ไม่มีเชื้อ HIV และมีเพศสัมพันธ์กันโดยที่ไม่ได้สวมถุงยางอนามัย รวมกันนับพันคู่ และจำนวนการมีเพศสัมพันธ์หลายหมื่นครั้ง ไม่พบการส่งผ่านเชื้อให้กับคู่นอนแม้แต่คนเดียว จึงมีการประกาศอย่างเป้นทางการว่า U=U นั่นก็คือ Undetectable = Untransmittable หรือ ไม่เจอ = ไม่แพร่ นั่นเอง
การศึกษาและความเข้าใจใหม่ในครั้งนี้ทำให้เงื่อนไขที่กีดกันผู้ติดเชื้อ HIV ในการทำงาน สมัครงาน หรือขอรับสัญชาติ เริ่มถูกถอดออกไป เพราะเป็นการยืนยันว่าผู้ป่วย HIV สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ ผู้ป่วย HIV ที่รับยาต้าน จะไม่ส่งผ่านเชื้อ HIV ให้ใคร แม้จะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยาง นับประสาอะไรกับการใช้ชีวิตร่วมกัน ทำงานร่วมกัน โอกาสที่จะแพร่เชื้อคือ “ไม่มี” เลย การใช้เงื่อนไขการตรวจ HIV ในการกีดกันหรือห้าม จึงเป็นการเลือปฏิบัติและสร้างตราบาปให้กับผู้ติดเชื้อ HIV ให้ไม่มีที่ยืนในสังคม
อ่านเพิ่มเติม
– “ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่” โดย ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์
– Undetectable = untransmittable / UNAIDS Explainer
ความเข้าใจของคนในสังคมส่วนหนึ่ง ซึ่งยิ่งสร้างตราบาปให้กับผู้ที่ติด HIV รวมถึงตัวผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงแต่ไม่กล้าที่จะไปตรวจ คือหากติด HIV คือหมดอนาคต คือต้องนอนตัวดำแห้งเหี่ยวบนเตียงไม่ก็มีตุ่มพองเละเต็มตัวแบบในละครหลังข่าว ซึ่งมันล้าหลังไปราว 30 ปีได้
อย่างที่กล่าวมาก่อนข้างต้น HIV สามารถควบคุมได้ ยาต้านไวรัส HIV ปัจจุบันมีประสิทธิภาพมาก คุมเชื้ออย่างอยู่หมัด ภูมิคุ้มกันจะไม่อ่อนแอ และในภาวะที่ Undetectable หรือตรวจไม่พบในเลือด ก็จะไม่แพร่เชื้ออย่างแน่นอน ที่สำคัญประชาชนชาวไทยรับยาต้าน HIV ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ดังนั้นหากคุณมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือไม่เสี่ยงแต่ก็ไม่แน่ใจว่าคู่ขอคุณจะไปเสี่ยงกับใครมาบ้าง คุณควรไปตรวจเลือดซึ่งถ้ามีบัตรประชาชนก็ตรวจฟรี ถ้าตรวจพบว่าติด HIV ก็รับยาต้านฟรี คุณก็จะได้รักษาปกป้องสขภาพตัวเอง และไม่ส่งผ่านเชื้อให้คนอื่นเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่
แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ แม้ว่าการรับยาต้านจนกดเชื้อ HIV ถึงระดับที่เรียกว่า Undetectable หรือตรวจไม่พบในเลือดแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าเชื้อ HIV จะหมดจากร่างกาย เพราะว่าเชื้อ HIV จะหลบอยู่ในเซลล์ CD4 หากหยุดยาต้านไวรัสเมื่อไหร่ ไวรัส HIV จะออกมาและเพิ่จำนวนขึ้นและอาจเกิดการกลายพันธ์เป็นเชื้อที่ดื้อยาต้านไวรัสอีกด้วย
ผู้ที่ติดเชื้อ HIV และรับยาต้าน แม้จะอยู่ในระดับ Undetectable ต้องห้ามหยุดยาต้าน และก็ไม่ควรไปทำพฤติกรรมเสี่ยงจนอาจไปรับเชื้อ HIV ที่ดื้อยาซึ่งอาจทำให้ยาต้านที่กินอยู่ไม่ได้ผลจนทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น และต้องไปตรวจเลือดตามที่หมอสั่งเพื่อดูระดับไวรัสในร่างกาย รวมถึงค่าการทำงานของไต และอื่น ๆ ตามแพทย์สั่งอีกด้วย.
ปัจจุบันการติด HIV ไม่ใช่การจบชีวิตหรือหมดอนาคตเหมือนสมัยสามสิบกว่าปีก่อน แพทย์มักบอกว่าปัจจุบันการอยู่กับ HIV ก็เหมือนกับการใช้ชีวิตอยู่กับเบาหวาน คุณกินยาทุกวัน วันละครั้ง ดูแลสุขภาพ คุณไม่เสี่ยงเพิ่ม คุณก็จะมีชีวิตแข็งแรง และไม่ตายเพราะ HIV จำนวนการตายที่เกี่ยวกับ HIV น้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงสิบกว่าปีมานี้ ซึ่งการตายส่วนใหญ่มาจากประเทศยากจนและเข้าไม่ถึงยาต้านไวรัสเป็นส่วนใหญ่
(Source : Number of deaths due to HIV, World AIDS Day: 30 years on, HIV no longer a death sentence but stigma remains)
สำหรับผู้ที่ยังไม่ติด HIV แต่มีคู่รักเป็นผู้ติดเชื้อ HIV หรือต้องการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV เสริมเข้าไปจากวิธีป้องกันอื่นๆ เช่นการใช้ถุงยางอนามัย ก็มีทางเลือกของ PrEP หรือ Preexposure Prophylaxis ซึ่งเป็นการกินยาต้านไวรัส HIV 2 ชนิดในหนึ่งเม็ด เพื่อให้ร่างกายและเนื้อเยื่อมีการสะสมยาต้านไวรัสย่างน้อย 2 สัปดาห์ และกินอย่างต่อเนื่องทุกวัน และให้ผลในการลดการติดเชื้อ HIV ได้ 90%
หากคุณไม่ติด HIV และกิน PrEP เป็นประจำทุกวัน ไม่เคยขาด และคู่ของคุณติด HIV แต่รับยาต้านจน Undetectable และกินยาประจำไม่เคยขาด รวมถึงไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือเปลี่ยนคู่นอน คุณจะเยสดแตกในยังไงก็จะไม่ติดเชื้อ HIV อย่างแน่นอน และสามารถใช้ชีวิตร่วมกันตามปกติได้
PrEP เป็นตัวเลือกที่ช่วยเสริมการป้องกันตัวเองจากเชื้อ HIV แต่ก็ไม่ใช่เกราะป้องกันที่สมบูรณ์แบบ ผู้ที่รับ PrEP และไม่ได้มีคู่นอนเพียงคนเดียว ยังไงก็ควรใช้ถุงยางอนามัยและลดพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ อยู่ดี และเราต้องเข้าใจว่าแม้นอกจาก HIV แล้วก็ยังมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่ติดกันได้ง่ายยิ่งกว่า HIV อย่างเช่น HPV (หูด ที่บางตัวทำให้เกิดมะเร็งได้) และ Herpes หรือเริม ซึ่งทั้งสองตัวนี้แค่แตะโดนก็มีโอกาสติดแล้ว นี่ยังไม่นับซิฟิลิสต์และอื่น ๆ อีกมากมาย แม้ว่าจะรักษาให้หายได้ แต่การป้องกันไว้ก่อนก็จะดีที่สุด
ผู้ที่รับยา PrEP ก็ต้องกินอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำทุกวัน เวลาเดิม เพื่อให้ตัวยาสะสมอยู่ในระบบและเนื้อเยื่อในระดับที่มากพอจนมีประสิทธิภาพในการเสริมการป้องกันได้ และก็ต้องไปตรวจเลือดเพื่อเช็คว่ามีการติด HIV ไหม ตรวจค่าไตและอื่น ๆ เพื่อดูสุขภาพอีกด้วย
ปัจจุบันมีศูนย์แจกจ่าย PrEP ฟรีกับผู้ที่เข้าไปรับบริการ กระจายอยู่ทั่วไป และเท่าที่ทราบคือในปี 2020 ประชาชนจะมีสิทธิรับ PrEP ฟรีจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย
สำหรับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ HIV และไม่ได้มีการกิน PrEP และมีพฤติกรรมเสี่ยง ก็สามารถไปรับยา PEP ซึ่งเป้นยาต้านไวรัส HIV 3 ชนิด ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยง โดยกินยา 1 เดือน และไปตรวจเลือดหลังจากกินยาครบ และไปตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อเช็คว่าไม่มีการติดเชื้อ HIV ซึ่งถ้าพบว่าไม่มีการติดเชื้อ HIV ก็มักจะได้รับคำแนะนำให้กิน PrEP ไปเลยเพราะคุณมีพฤติกรรมเสี่ยง แต่ถ้าติด HIV ก็จะได้รับยาต้านต่อไปเพื่อคุมเชื้อ HIV ให้ Undetectable และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
(Source : HIV Preexposure Prophylaxis: A Review.
ในช่วงปีหลังๆ นี้ทางการแพทย์เริ่มเข้าใกล้การรักษา HIV ให้หายขาดได้มากขึ้นเรื่อยๆ มีการพบวิธีที่จะขจัดไวรัสที่ซ่อนตัวในเซลล์ และการศึกษาในขั้นตอนการนำมาใช้กับมนุษย์ก็กำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ก็ควรเข้าใจว่าคุณไม่ได้หมดอนาคต จบชีวิต เพียงเพราะตอนนี้คุณติด HIV และสังคม คนที่ไม่ได้ติด HIV ก็ต้องเข้าใจว่าคุณสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ที่มี HIV ได้ ปัจจุบันถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กันแล้วไม่ติดเชื้อด้วยซ้ำ แค่กินยาต้าน และมีความเข้าใจ ดังนั้นในชีวิตประจำวันทั่วไป การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน การใช้ของใช้ทั่วไปร่วมกันการกอด การสัมผัส ก็ไม่ได้ส่งผ่านเชื้อ HIV แต่อย่างใด
คนในสังคม ทั้งผู้ที่ติดหรือไม่ติด HIV ต้องเข้าใจว่าเราสามารถอยู่กับเชื้อ HIV ได้ คุณสามารถมีความรัก สามารถที่จะมีความสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์ โดยที่ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจากผู้ที่มีเชื้อ HIV เพียงแต่คุณทั้งคู่ต้องเปิดใจคุยกัน ผู้ที่ติด HIV ต้องรับยาต้านเพื่อดูแลตัวเองและเพื่อความรับผิดชอบต่อคู่ของคุณ และอีกฝ่ายก็รับยา PrEP เพื่อเสริมไปอีกชั้น
สิ่งสำคัญในการหยุดการระบาดของ HIV คือความเข้าใจ และความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อคู่นอน และต่อสังคม ในเมื่อการตรวจ และยาต้าน ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่เหมือนในอเมริกาที่ต้องหมดเงินเป็นหมื่นดอลล่าต่อปี ทำไมคุณไม่ใช้สิทธิตรงนั้นเพื่อป้องกันตัวเอง ดูแลตัวเอง และคนที่คุณรัก และคนรอบตัวคุณล่ะ?