***Note***
ข้อมูลที่นำเสนอนี้ กระผมได้ทำการรวบรวม แปลและเรียบเรียงจากเวปไซท์ของหน่วยงานราชการ ซึ่งปูเป้ได้พิจารณาดูแล้วว่าให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย เป็นกลาง มีความน่าเชื่อถือ โดยเอามาจากหลาย ๆ แหล่งดังนี้

http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/acne.html

http://www.niams.nih.gov/Health_Info/Acne/

http://www.skincarephysicians.com/acnenet/index.html

http://www.fda.gov/buyonline/accutane/

http://kidshealth.org/teen/your_body/beautiful/prevent_acne.html

http://www.visualdxhealth.com/adult/acneVulgaris.htm

http://clinicaltrials.gov/search/open/condition=”Acne+Vulgaris”

http://www.aafp.org/afp/20040501/2123.html

หากมีจุดในที่เพิ่มเติมเข้าไปนอกเหนือจากข้อมูลที่มีอยู่ในนี้ ปูเป้จะทำการแนบ Source แยกเอาไว้ต่างหากนะขอรับ

จับเข่าคุยตามประสาคนเป็นสิว…
Photobucket
ก่อนที่เราจะมาเข้าใจเนื้อหา ปูเป้อยากจะพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องสิว ๆ กันสักหน่อย เพื่อที่จะปรับความคิด ความเข้าใจ และทัศนคติให้เป็นบวกมากขึ้น

สิวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็มีกัน การเป็นสิวไม่ใช่เรื่องที่พึงปรารถนาแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายจนต้องแทรกแผ่นดินหนี เราสามารถรักษาสิวหรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ถ้าปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม การรักษาสิวไม่ใช่เรื่องที่ยากหรือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่การรักษาสิวก็ไม่ใช่เรื่อง่าย ๆ ที่จะคาดหวังผลในเวลาอันสั้นเช่นกัน

การรักษาสิวต้องอาศัยความเข้าใจ… เข้าใจว่าปัญหาสิวที่เกิดกับเรานั้นมันมีปัจจัยมาจากอะไร หาข้อมูล ศึกษาและวิเคราะห์ให้เข้าใจถึงต้นตอของสิวที่เป็นอยู่เพื่อจะที่จะจัดการปัญหาที่สาเหตุได้

การรักษาสิวต้องใช้ความอดทน… อดทนรอผลการรักษาที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรัด ไม่รีบร้อน เพราะระยะหวังผลในการรักษาสิวนั้นเริ่มตั้งแต่ 4 สัปดาห์ถึง 20 สัปดาห์กันเลยทีเดียว

การรักษาสิวต้องใช้ความพยายาม… พยายามที่จะปฏิบัติตัวและเลิกทำพฤติกรรมเคยชินที่อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งทำให้เกิดสิว (ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีความพยายามอะไรก็สามารถฟันฝ่าไปได้อยู่แล้ว)

การรักษาสิวต้องมีสติ… การมีสติอยู่เสมอจะช่วยให้เราไม่จิตตกหรือสติแตก หลายครั้งที่เราไปลองไปทำอะไรไม่เข้าท่าเพียงเพราะขาดสติชั่ววูบ ซึ่งอาจทำให้อาการสิวที่เป็นอยู่ย่ำแย่ลงกว่าเดิมได้ ความเครียดก็อาจเป็นปัจจัยเร้าที่ทำให้สิวขึ้นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังต้องเข้าใจว่า เราไม่สามารักษาสิวให้หายขาดไม่กลับมาเป็นอีกได้ เพราะว่าสิวไม่ใช่โรคอย่างอีสุกอีสัยที่ถ้าเคยเป็นครั้งหนึ่งแล้วจะไม่เป็นอีก แต่หากปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมเหมาะสม สิวก็จะยกทัพกลับมาบุกเราอีกครั้ง ดังนั้นการดูแลผิวอย่างถูกต้องและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ปูเป้เข้าใจดีว่าการเป็นสิวนั้นรู้สึกอย่างไร เพราะกระผมกว่าจะผ่านช่วงหลายปีที่แสนทรมานนั้นมาได้ก็แทบแย่อยู่ แต่บทเรียนที่ผ่านมาก็สอนให้รู้ว่า หากเรามีความเข้าใจ อดทน พยายาม ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีระบบ จัดการรักษาที่สาเหตุ บวกกับการปรับทัศนคติของเราให้เป็นบวกอีกสักหน่อย เราก็จะผ่านมันไปได้ไม่ยาก

เรื่องทัศนคติเป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียวขอรับ การรักษาสิวต้องใช้เวลาค่อนข้างนานโดยบางคนใช้เวลาถึงสองปีกว่าจะหาย หลาย ๆ คนก็มีท้อแท้ หมดกำลังใจ ไม่มั่นใจ บางคนหยุดใช้ยารักษาสิวเพียงเพราะรู้สึกว่ามันได้ผลไม่รวดเร็วอย่างที่ใจคิดหรือคาดหวังไว้ แต่กระผมอยากให้ทุกท่านปรับทัศนคติให้เป็นบวกขึ้น จะได้มีกำลังใจและมีความหวังมากขึ้นในการรักษาสิวต่อไป

ใครที่เคยคิดว่า “ทายาแล้วสิวหายช้าจริง ๆ ไม่ทันใจเลย เปลี่ยนดีกว่า…” ให้ลองปรับความคิดเป็น “ดูแล้วอาการโดยรวมเราดีขึ้นนะ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะต้องหายได้แน่ ๆ” จะเห็นได้ว่าทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนยาที่ใช้หรือทำอะไรแปลกไป เพียงแต่เปลี่ยนทัศนคติให้เป็นบวกขึ้น เราก็จะมีความสุขและมีกำลังใจมากขึ้นตามไปด้วย

หากไม่สามารถปรับทัศนคติของตนเองด้วยตัวคนเดียวแล้วล่ะก็ ลองพูดคุยกับคนที่เข้าใจหรือมีความรู้เรื่องนี้ดี ระบายสิ่งที่กัดกินใจออกมาและเปิดรับความคิดแง่บวกเข้าไปก็จะช่วยได้เยอะขอรับ

ความรู้พื้นฐานเรื่อง “รูขุมขน”
หลังจากปรับทัศนคติให้เป็นบวกขึ้น และใจเย็นลงแล้ว เรามาทำความเข้าใจเรื่องสิวที่พื้นฐานกันเลย โดยกระผมจะขอเกริ่นนำเรื่องรูขุมขนก่อน เพื่อให้เห็นภาพกว้าง ๆว่าสาเหตุของสิวที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นจากอะไร

Photobucket

รูปจาก : http://www.niams.nih.gov
ในรูขุมขน (Hair Follicles / Pore) ของเราก็จะประกอบไปด้วยเส้นขน (Hair), ต่อมไขมัน (Sebaceous Glands) ซึ่งผลิตน้ำมันเคลือบผิวหรือที่เราเรียกว่า Sebum ส่วนเซลล์ขี้ไคลที่บุผนังรูขุมขนเราเรียกว่า Keratinocytes

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนเพศชายหรือ “แอนโดรเจน” (Androgen) ซึ่งเจ้าฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นให้ต่อมไขมัน (Sebaceous Glands) ผลิตน้ำมัน (Sebum) และกระตุ้นการสร้างเซลล์ขี้ไคลที่บุผนังรูขุมขน (Keratinocytes ) ด้วย

ในสภาวะปกติ Sebum ก็จะสามารถระบายออกทางช่องเปิดของรูขุมขนได้อย่างสะดวก แต่หาก Sebum ไม่สามารถระบายออกมาได้สะดวกก็จะเกิดการอุดตัน โดยสาเหตุก็มาได้จากหลายปัจจัยซึ่งจะอธิบายต่อไปด้านล่างนี้

“Microcomedo” จุดเริ่มต้นของสิว…
Photobucket

รูปจาก : http://www.niams.nih.gov
ในกรณีที่เซลล์ขี้ไคลที่บุรอบผนังรูขุมขนผลิตออกมามากเกินไป หรือต่อมไขมันขยันทำงานผิดปกติ เมื่อสองสิ่งนี้มารวมกันก็จะเกิดกลุ่มก้อนที่ผสมกันระหว่างเซลล์ขี้ไคลกับไขมันมาอุดรูขุมขน ซึ่งเจ้าก้อนไขมันอุดตันนี้เราเรียกว่า “Microcomedo” (อ่านว่า “ไม-โคร-โค-มี-โด” รูปพหูพจน์คือ Microcomedones) ทำให้ Sebum ไม่สามารถระบายออกมาได้ เป็นจุดเริ่มต้นของสิวสารพัดรูปแบบที่จะตามมา

ปัจจัยที่ก่อให้เกิด Microcomedo นั้นมีอยู่หลายสาเหตุ แต่หลัก ๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับฮอร์โมน ในคนที่มีฮอร์โมนเพศชายพลุ่งพล่าน ต่อมไขมันก็จะขยันจนเกินความจำเป็น ยิ่งต่อมไขมันผลิต Sebum มาก โอกาสที่จะเกิดการอุดตันหรือ Microcomedo ก็ยิ่งมีมาก ในคนที่มีสภาพผิวไม่สมบูรณ์ มีการผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติ มีความหนาของชั้นขี้ไคลมากเกินไป มีรูปทรงของรูขุมขนที่ไม่สมบูรณ์ก็ทำให้ผิวเกิด Microcomedo ได้ง่ายเช่นกัน ถ้ารวมทั้งสองปัจจัยนี้เข้าด้วยกันผลก็คือ “หายนะ” นั่นเอง

ประเภทของสิว
Microcomedo จะพัฒนาต่อไปได้อีก 2 กลุ่ม ก็คือสิวไม่อักเสบ (Non-Inflammatory Acne) กับสิวอักเสบ (Inflammatory Acne)

สิวไม่อักเสบ (Non-Inflammatory Acne)
สิวหัวปิด / สิวหัวขาว (Close Comedoes / Whiteheads)
Photobucket

รูปจาก : http://www.acne.org
หากการอุดตันนั้นถูกปิดอยู่ใต้ผิวหนัง ก็จะเกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ ขาว ๆ ที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้

สิวหัวขาวหรือ Whiteheads มีโอกาสพัฒนาไปเป็นสิวอักเสบได้ง่ายเพราะมีสภาวะเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย P.Acnes (Propionibacterium Acnes) ที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน


สิวหัวเปิด / สิวหัวดำ (Open Comedones / Blackheads)
Photobucket

รูปจาก : http://www.acne.org
เมื่อไขมันที่อุดตันสามารถหาช่องเปิดออกผิวหนังภายนอกได้แล้ว ส่วนปลายของก้อนไขมันที่สัมผัสอากาศจะ Oxidize จนเปลี่ยนสีไปเป็นสี น้ำตาล – ดำ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นการล้างหน้าเพียงอย่างเดียวไม่สามารถขจัดสิวหัวดำออกไปได้


สิวอักเสบ (Inflammatory Acne)
Papule
Photobucket

รูปจาก : http://www.acne.org
Papule ไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทย แต่คำอธิบายง่าย ๆ ของ Papule ก็คือ “สิวอักเสบระยะเริ่มต้น” ซึ่งมีสาเหตุมาจากผนังรูขุมขนเกิดการแตกหรือฉีกขาด ทำให้ไขมันและแบคทีเรีย P.Acnes กระจายเข้าไปในเนื้อเยื่อรอบข้าง ซึ่งของเสียที่เจ้าแบคทีเรีย P.Acnes สร้างออกมานั้นจะกระตุ้นให้ร่างกายรีบส่งเซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell) มาต่อสู้จนทำให้เกิดการอักเสบขึ้น อาการที่สังเกตุเห็นจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ ซึ่งอาจจะรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสถูก


Pustule
Photobucket

รูปจาก : http://www.acne.org
เมื่อเกิดการอักเสบมาได้ไม่นาน Papule ก็จะพัฒนาต่อมาเป็น Pustule หรือ “สิวหัวหนอง” เจ้าหนองขาว ๆ นี้ก็คือเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ตายแล้วและลอยตัวขึ้นมาสู่พื้นด้านบนของผิว

บางท่านเชื่อว่าการใช้เข็มที่ฆ่าเชื้อแล้วมาเจาะเพื่อระบายหนองออกจะช่วยทำให้ตัวยาฆ่าเชื้อที่ทาลงไปทำงานได้ดีขึ้น แต่กระผมเสนอแนะว่าควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผิวหนังก่อนจะดีกว่าขอรับ


Nodule
Photobucket
เมื่อการอักเสบกินลึกลงไปในผิวมากขึ้น อาการอักเสบและความเจ็บปวดก็จะยิ้มเพิ่มขึ้นทวีคูณ อาการที่พบโดยทั่วไปจะเป็นตุ่มไตแข็ง ๆ อยู่ใต้ผิว หากเป็นสิวลักษณะนี้ควรจะพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการรักษาโดยด่วน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลเป็น


Cysts
Photobucket

มีชื่อว่า “สิวซีสต์” หรือ “สิวหัวช้าง” นั่นเอง นี่เป็นรูปแบบของสิวที่มีความรุนแรงมากสุด อาการอักเสบรุนแรงและเจ็บปวดมาก และเมื่อหายก็มักจะทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้เสมอ

ยังมีอาการทางผิวหนังบางชนิดที่ดูแล้วเหมือนสิว แต่ไม่ใช่สิว โดยอาจจะมีวิธีการรักษาแตกต่างกันไป ปูเป้จะพูดถึงในตอนหลังนะขอรับ

สาเหตุของสิว และ ปัจจัยที่ทำให้สิวย่ำแย่ลงกว่าเดิม
– ฮอร์โมน โดยเฉพาะในเพศหญิงที่มีการผันผวนของฮอร์โมนในช่วงปีประจำเดือน หรือในช่วงของการตั้งครรภ์

– การทำงานของผิวไม่ดี การผลัดเซลล์ของชั้นขี้ไคลผิดปกติ ทำให้ชั้นขี้ไคลหนาตัวเกินไปจึงเกิดการอุดตันได้ง่าย รูปทรงของรูขุมขนไม่สมบูรณ์

– การใช้ Makeup และ Skincare ที่ไม่เหมาะกับผิว อาจจะเหอนะหนะหรือเหนียวเกินไป ทำให้เซลลืผนังรูขุมขนปิดเข้าหากันจนเกิดการอุดตัน

– การใช้ยาบางชนิดก็ก่อให้เกิดสิวได้

– การทำงานในครัวหรือในโรงงานที่สัมผัสไอน้ำมันบ่อย ๆ ก้เพิ่มอกาสที่รูขุมขนจะอุดตันได้

– การกดทับหรือการบีบรัดของเสื้อผ้า อุปกรณ์สวมใส่ หมวกกันน็อค

– ปัจจัยภายนอกที่ก่อการระคายเคืองผิวได้ เช่น มลภาวะ ความชื้นสูง

– การทำให้ผิวระคายเคือง เช่นการขัดผิวแรง ๆ กด จิก บด บี้ ขยำ ขยี้ ถู ไถ บีบ แคะ แกะ เกา ล้วนทำให้สิวแย่ลง
– ปัจจุบันมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่ากรรมพันธุ์สามารถส่งผลเรื่องสิวได้

ทำไมต้องเป็นเรา?
ผู้ที่เป็นสิวหลายคนคงเคยมีแอบคิดในใจเอาไว้บ้าง ว่าทำไมต้องเป็นเรานะที่มีสิวขึ้นตลอดเวลา ทำไมคนนั้น คนโน้น คนนี้ ไม่เห็นจะมีสิวเหมือนเราบ้างเลย…

มีการประมาณกันไว้ว่า คนกว่า 80 % ในช่วงอายุ 11 – 30 ปี จะต้องเคยผ่านการเป็นสิวมาอย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิต ปัจจัยเรื่องกรรมพันธุ์ก็เป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ บางคนโชคดีเกิดมาพร้อมกับกรรมพันธุ์ที่น่าอิจฉา ผิวดีสวยใสไร้สิวแม้ไม่ต้องทำอะไร บางคนนั้นไซร้เป็นคนพันธุ์สิวให้ทรมานใจอยู่เรื่อยไป นอกจากนี้ผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้นและผู้ที่อาศัยในเขตเมืองใหญ่ที่มีมลภาวะหนาแน่นก็มีโอกาสเป็นสิวได้ง่ายเช่นกัน

สิ่งที่เราทำได้คือพยายามรักษาไปตามอาการและสภาพที่เป็นอยู่อย่างเต็มความสามารถ

(Source : Gene Array Research Contributes to Understanding of Acne

หลักการรักษาสิวพื้นฐานที่ทุกคนควรทราบ
ถึงสาเหตุของสิวจะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่หลักการรักษาก็เน้นไปที่จุดหลัก ๆของปัญหา ซึ่งทีทั้งหมด 4 ข้อ นั่นก็คือ

1. ปรับสภาพรูขุมขนและกระบวนการสร้างเซลล์ขี้ไคลให้เป็นปกติ เพื่อลดโอกาสที่รูขุมขนจะเกิดการอุดตัน (ซึ่งก็คือการ Exfoliate ผิวนั่นเอง)

2. ปรับลดการสร้างน้ำมัน (Sebum) ของต่อมไขมัน

3. ฆ่าหรือลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย P.Acne ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบ

4. ลดการอักเสบของผิว

สารที่สามารถจัดการฆ่าเชื้อ ลดการอักเสบ และปรับลดการผลิตของต่อมไขมันอย่างได้ผลจริงนั้นจะจัดอยู่ในรูปของ “ยา” ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยเภสัชกรหรือแพทย์ผิวหนังเท่านั้น ไม่สามารถผสมลงไปในเครื่องสำอาง / เวชสำอาง ได้ หากมีสิวปานกลางหรือรุนแรง มีสิวอักเสบเยอะ ก็ควรจะหาแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการรักษา ดีกว่าจะไปพึ่งพาเครื่องสำอางที่อ้างว่ารักษาสิวได้

ระดับความรุนแรงของสิว และ แนวทางในการรักษา
สิวแบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 3 ระดับ คือ Mild, Moderate, และ Severe

ระดับที่ 1. Mild Acne
Photobucket
หากปัญหาสิวที่คุณมีบนใบหน้านั้นส่วนใหญ่เป็นสิวอุตัน (สิวหัวดำ / Blackheads , สิวหัวขาว Whiteheads) อาจจะมีสิวอักเสบ (Papule ) หรือ สิวหัวหนอง (Pustule) ร่วมด้วยเล็กน้อย ถือว่าเป็นสิวแบบที่ไม่รุนแรงนัก การใช้ skincare ที่เหมาะสมร่วมกับยาฆ่าเชื้อไม่กี่ตัวก็สามารถขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปได้ไม่ยากนัก

ปรับเปลี่ยน Skincare ที่ใช้อยู่ให้เหมาะสม เริ่มต้นด้วย Cleanser ที่อ่อนโยน ไม่มีสารก่อกรระคายเคือง หลีกเลี่ยงการสครับหรือขัดผิวเพราะการระคายเคืองจะทำให้ปัญหาสิวแย่ลงได้ หลีกเลี่ยงมอยซ์เจอไรเซอร์หรือ Makeup ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน มีเนื้อหนักหรือเหนียวจนเกินไปเพราะจะไปเพิ่มโอกาสที่รูขุมขนจะอุดตันได้

Salicylic Acid (BHA) ความเข้มข้น 1 – 2 % และมีค่า pH ระหว่าง 3.5 – 4 Salicylic Acid สามารถละลายได้ในน้ำมัน จึงสามารถซึมลงไปในรูขุมขนเพื่อ Exfoliate ผลัดเซลล์ผิวและลดการอุดตันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการลดการอักเสบของผิว และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออย่างอ่อน ๆ ควรมองหาผลิตภัณฑืที่มีเนื้อบางเบาโดยเฉพาะในรูป Gel หรือ Liquid จะเหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นของบ้านเรามากที่สุด

Benzoyl Peroxide จะช่วยฆ่าเชื้อและลดการอุดตันของผิวได้ ควรเลือกชนิดที่เป็น Water Base (Benzac AC, Brevoxyl) หากคุณมีผิว sensitive หรือไม่ถูกกับส่วนผสมจำพวกแอลกอฮอล์ (รายละเอียดเพิ่มเติมจะมีนำเสนอในบทต่อไป)

Sulfur และ Resorcinol มีคุณสมบัติช่วยลดการอุกตันและสามารถฆ่าเชื้อได้เหมือนกัน แต่ก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้ในบางคน ผู้ที่มีผิว sensitive หรือระคายเคืองได้ง่ายควรหลีกเลี่ยง หรือควรทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ทุกครั้ง

ระยะหวังผลของการรักษาสิวชนิดไม่รุนแรงอยู่ที่ 4 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์ โดยต้องใช้เป็นประจำเพื่อให้ผลในการรักษาสูงสุด หากผลที่ได้ยังไม่เป็นที่พอใจหรือปัญหาสิวที่มีอยู่ยังไม่หายไป ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาหรือจ่ายยาที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าในการลดการอุดตันอย่าง ยากลุ่ม Retinoid ชนิดทา (Retin-A, Renova, Differin)


ระดับที่ 2 Moderate Acne
Photobucket
ถ้ามีสิวอุดตัน (สิวหัวดำ / Blackheads , สิวหัวขาว Whiteheads) และมีสิวอักเสบ (Papule ) หรือ สิวหัวหนอง (Pustule) อยู่ปานกลางถึงค่อนข้างมาก (ประมาณ ¼ ถึง ¾ ของใบหน้า) ก็จัดว่าเป็นสิวในระดับปานกลาง ควรจะขอคำปรึกษาและรับการรักษาจากแพทย์ผิวหนังจะดีที่สุด การรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันหรือลดโอกาสที่จะเกิดรอยแผลเป็นจากสิวได้

การรักษาสิวที่มีความรุนแรงปานกลางนี้ต้องพึ่ง “ยา” ที่อยู่ในรูปของยาทา (Topical) หรือ ยารับประทาน (Oral) หรือใช้ทั้งสองอย่างควบตู่กันไป อาจจะมี Physical Procedures เช่นการกดสิวร่วมด้วยก็ได้เช่นกัน

Prescription Topical Medicines / ยารักษาสิวชนิดทา

Topical Antibiotics หรือ ยาฆ่าเชื้อจะช่วยฆ่าหรือลดจำนวนของแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบ ยากลุ่ม Antibiotics ที่พบได้บ่อยก็ได้แก่ Clindamycin (หรือที่เรามักเรียกย่อว่า CM) , Erythromycin ยากลุ่ม Antibiotics ชนิดทาสามารถใช้ควบคู่ไปกับยากลุ่ม Antibiotics ชนิดรับประทานเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษา

ข้อเสียหลัก ๆ ของยากลุ่ม Antibiotics คือมีโอกาสทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็จำเป็นต้องเปลี่ยนกลุ่มยาใหม่ (รายละเอียดเพิ่มเติมจะมีในบทต่อไป)

Topical Retinoid หรือยากลุ่มกรดวิตามินเอชนิดทา จะไปปรับการทำงานของเซลล์ผิวให้เป็นปกติ รูปทรงของรูขุมขนสมบูรณ์ กระบวนการผลัดขี้ไคลเป็นอย่างถูกต้อง ช่วยทำให้ไขมันที่อุกตันอยู่หลุดออกได้ง่ายขึ้นและช่วยลดโอกาสที่ผิวจะอุดตันในอนาคต ยากลุ่มนี้ได้แก่ Tretinoin (Retin-A), Adapalene (Differin) และ Tazarotene (Tazorac)

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยก็คือ อาการแห้ง ลอก แสบ แดง คัน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากตัวยา เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ก็ควรเลือกความเข้มข้นของตัวยาที่พอเหมาะและใช้ในปริมาณที่เหมาะสม (เท่าเม็ดถั่วเขียว) การปรับลดความถี่ในการใช้ก็ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยง skincare ที่มีส่วนผสมระคายผิว อย่างสบู่ก้อนหรือ Cleanser ที่ทำให้ผิวแห้งตึง แอลกอฮอล์ น้ำหอม (รายละเอียดเพิ่มเติมจะมีในบทต่อไป)

Azelaic acid มีสรรพคุณมากมาย นอกจากคุณสมบติในการฆ่าเชื้อแบบอ่อน ๆ แล้วก็ยังมีคุณสมบัติในการเป็น Keratolytic Agent ช่วยผลัดเซลล์ขี้ไคลให้หลุดออก ลดการอุกตันของรูขุมขน ความสามารถในการลดการอักเสบของผิวก็มีประโยชน์ในการรักษาสิวอักเสบและลดรอยสิว นอกจากนี้ยังใช้เป็น Whitening Agent เพื่อลดจุดด่างดำได้อีกด้วย. (รายละเอียดเพิ่มเติมจะมีในบทต่อไป)

Benzoyl Peroxide จะช่วยฆ่าเชื้อและลดการอุดตันของผิวได้ ควรเลือกชนิดที่เป็น Water Base (Benzac AC, Brevoxyl) หากคุณมีผิว sensitive หรือไม่ถูกกับส่วนผสมจำพวกแอลกอฮอล์

ตัวยารักษาสิวเหล่านี้มีอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งเจล ครีม โลชั่น รูปแบบเจลหรือโลชั่นที่บางเบาดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับผู้ที่มีผิวมันและอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นอย่างประเทศไทยเป็นที่สุด

แน่นอนว่าการใช้ยารักษาสิวนั้นมีผลข้างเคียงที่ต้องระวัง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ผิวหนังควรจะให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยในการใช้ยา ในกรณีที่แพทย์ทำงานบกพร่องหรือไม่ได้บอกข้อมูลเหล่านี้ ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองด้วยการสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพราะการใช้ยาโดยขาดความเข้าใจอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ผลของการใช้ยารักษาสิวเหล่านี้ไม่สามารถคาดหวังได้ในทันที และ การรักษาสิวด้วยยากลุ่ม Topical Retinoid อาจทำให้สิวแย่ลงกว่าเดิมในช่วงแรก แต่ตามปกติแล้วอาการจะดีขึ้นหลังการใช้ต่อเนื่อง 4 – 8 สัปดาห์ขึ้นไป

Prescription Oral Medicines

Oral Antibiotics ยาฆ่าเชื้อชนิดรับประทานจะไปฆ่าหรือลดจำนวนแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ตัวยา Antibiotics ชนิดรับประทานที่พบได้บ่อยก็คือ Tetracycline, Minocycline และ Doxycycline

ผลข้างเคียงจากยากลุ่ม Oral Antibiotics ที่พบได้ก็คืออาจจะมีอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ หรือไม่สบายท้อง และตัวยากลุ่ม Tetracycline อาจมีผลต่อการสร้างกระดูกและฟัน จึงไม่ควรใช้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีหรือกับผู้หญิงในช่วงก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์

ตัวยากลุ่มนี้เป็นไปได้ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง ควรให้แพทย์เป็นคนวินิจฉัยความรุนแรงและเลือกชนิดกับปริมาณยาที่เหมาะสมมาให้จะดีกว่า นอกจากนี้ยังควรรับประทานให้ครบตรงตามเวลาเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

Oral Contraceptives หรือยาทานคุมกำเนิด จะใช้กับผู้หญิงในรายที่มีปัญหาสิวจากฮอร์โมน โดยจะช่วยลดการทำงานของต่อมไขมัน แต่ยาทานคุมกำเนิดก็ไม่ควรใช้กับผู้ที่สูบบุหรี่ มีประวัติการเป็นไมเกรน หรือมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ในบางกรณี แพทย์อาจจะให้ใช้ยาทานคุมกำเนิดกับคนไข้เพศชายได้หากการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ซึ่งแพทย์จะต้องแจ้งผลข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นให้กับคนไข้ได้รับทราบก่อนเสมอ

Physical Procedures

Comedo Extraction หรือการกดสิว หลายท่านอาจจะคิดว่าการกดสิวเป็นเรื่องง่ายและสามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่จริง ๆ แล้วการกดสิวเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งขนาดต้องลงเรียนกันเลยทีเดียว แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกมาแล้วจะต้องรู้ว่าสิวเม็ดใดสามารถกดได้ เม็ดใดควรจะปล่อยเอาไว้ ความแรงที่เหมาะสมในการกดโดยไม่ทำให้เนื้อเยื่อบอบช้ำมากจนเกินไป แต่ก็ต้องแน่ใจว่าผู้ที่ทำการกดสิวให้เรานั้นได้รับการฝึกมาแล้วนะขอรับ


ระดับที่ 3 Severe Acne
Photobucket
หากมีปริมาณสิวอักเสบรุนแรง (Nodules ) และสิวซีสต์ (Cysts) เป็นส่วนใหญ่แล้วล่ะก็ จัดว่าเป็นสิวขั้นรุนแรงและจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผิวหนังโดยตรงเท่านั้น เพราะการรักษาสิวอักเสบรุนแรง (Nodules ) และสิวซีสต์ (Cysts) ต้องพึ่งยาและกระบวนการรักษาที่แพทย์ผิวหนังเท่านั้นจะทำได้

นอกจากจะใช้ Prescription Topical Medicines และ Prescription Oral Medicines
เหมือนกับผู้ป่วยที่เป็นสิวในระดับปานกลางแล้ว ผู้ที่เป็นสิวรุนแรงอาจต้องพึ่งยาและกระบวนการรักษาด้วยวิธีดังนี้

Interlesional corticosteroid injection หรือการฉีดสิวด้วยสเตียรอยด์ การฉีดสิวนี้มุ่งเน้นการรักษาสิวซีสต์ (Cysts Acne) โดยฉีดสารละลายสเตียรอยด์ลงไปในสิวเพื่อลดการอักเสบและละลายซีสด์ให้ยุบลง โดยอาการจะดีขึ้นภายใน 3 – 5 วัน การฉีดสิวจะช่วยทำให้สิวหายเร็วขึ้นและลดโอกาสที่จะเกิดแผลเป็นหลังจากที่สิวหายแล้ว

Drainage and Surgical Excision / Acne Surgery แพทย์จะทำการผ่าและกดหรือดูดเอาหนองและหัวสิวออกมา การรักษาในลักษณะนี้ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและกระทำในในสภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อเพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อ (อยากจะบอกว่าเจ็บมาก… ปูเป้เคยทำไปทีนึงนี่เข็ดจนตายเลย….)

Oral Retinoid / Isotretinoin หรือ “โรแอคคิวเทน” ที่เราคุ้นหูกันนั่นเอง

ตัวยา Isotretinoin สำหรับรับประทานนี้จะมาในรูปแบบแคปซูล โดยให้ทานวันละ 1 – 2 เม็ด เป็นระยะเวลาประมาณ 16 – 20 สัปดาห์ ตัวยานี้จะไปลดขนาดของต่อมไขมันและลดการผลิต Sebum ผลก็คือช่วยลดจำนวนแบคทีเรีย P. Acne ลดการอุดตันผิว ซึ่งเป็นการจัดการกับสิวที่ต้นเหตุ โดยปัจจุบันถือว่ายาตัวนี้เป็นยาที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในการรักษาสิว แต่ถึงกระนั้นยาตัวนี้ก็พึงสงวนเอาไว้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นสิวขั้นรุนแรงหรือเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วเท่านั้นเนื่องจากมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างอันตราย

หากจะใช้ตัวยา Isotretinoin นี้จะต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาให้เท่านั้น ห้ามซื้อมารับประทานเองโดยเด็ดขาด โดยก่อนจะใช้ยาตัวนี้แพทย์จะต้องให้ข้อมูล คำเตือน ผลข้างเคียง และอาจต้องมีเอกสารให้ผู้ป่วยกรอกและเซ็นรับทราบก่อนด้วย

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยก็คือ

– ผิวแห้ง ปากแห้ง ตาแห้ง โพรงจมูกแห้ง
– ผิวไวต่อแสงมากขึ้น
– คัน หรือ ระคายเคืองง่าย
– ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อต่อ
– เลือดกำเดาไหล
– การมองเห็นในที่มืดแย่ลงกว่าเดิม
– ปริมาณคอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มขึ้น
– ผมบางลง
– คลื่นไส้ อาเจียน
– ปวดหัวรุนแรง วิงเวียน มึนศีรษะ

ผลข้างเคียงร้ายแรงที่สดคืออาจทำให้เด็กมีความผิดปกติหรือพิการได้หากใช้กับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ โดยผู้ที่วางแผนจะมีบุตรจะต้องหยุดใช้ยา Isotretinoin ก่อนเป็นเวลาอย่างต่ำ 1 เดือนเต็ม (โดยให้ใช้ยาคุมกำเนิด 2 รูปแบบเพื่อความชัวร์) เพื่อความปลอดภัยของเราเอง การใช้ยา Isotretinoin ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

*** เพิ่มเติมความเห็นส่วนตัวจากปูเป้***
จากข้อมูลที่ให้เอาไว้จะเห็นได้ว่าตัวยา Isotretinoin หรือ โรแอคคิวเทน นั้นเป็นทางเลิกสำหรับคนที่มีปัญหาสิวขั้นรุนแรงหรือเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาด้วยวิธีอื่นเท่านั้น เพราะนอกจากจะมีราคาแพงแล้วยังมีผลข้างเคียงอีกหลายอย่างด้วย หากคุณมีปัญหาสิวเล็กน้อย (Mild Acne) แต่คุณหมอจับยัดยา Isotretinoin ให้รับประทานทันที กระผมเสนอแนะว่าคุณควรเลิกไปหาหมอคนนั้นจะดีกว่า เพราะแพทย์ผิวหนังที่ดีมีจรรยาบรรณจะพยายามรักษาด้วยวิธีพื้นฐานก่อน และเมื่อไม่ได้ผลก็จะค่อย ๆ ปรับการรักษาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเหมาะสม ไม่ใช่จู่ ๆ ก็ยัดโรแอคคิวเทนให้เรากินหรอกขอรับ (ขายยามันได้กำไรดีนี่…)