วงการเครื่องสำอางมีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย เมื่อราว 3 ปีเป็นช่วงที่บูมมากของเครื่องสำอางที่เป็น Pre-Serum / Pre-Essene ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มักจะเคลมว่าช่วยเสริมการบำรุงให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้หลังจากนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือดูดซึมได้ดีขึ้น ในปี 2015 นี้ แม้ว่าจะช้ากว่าคนอื่นไปสักหน่อย ในที่สุด OLAY ก็เปิดตัว OLAY : Regenerist Miracle Boost Youth Pre-Essence (40ml / 899 THB) ที่มีจำหน่ายเฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิคเท่านั้นด้วยนะ

พอดีว่าเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปูเป้ได้ไปที่ P&G Singapore Innovation Center ซึ่งก็มีนักวิจัยของเขามาตอบคำถามว่าเจ้าเอสเซ็นส์ขวดนี้ช่วยให้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ทาลงไปนั้นดูดซึมดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งปูเป้จะสรุปให้ฟังง่าย ๆ ตามนี้

ทีนี้การที่จะลดความหนาของเซลล์เสื่อมสภาพที่สะสมบนชั้นขี้ไคลนั้นมันก็มีหลายวิธีไง ไม่ว่าจะเป็นการขัดผิว หรือผลัดเซลล์ทางเคมีด้วยกรด หรือเอนไซม์ แต่ทาง OLAY เลือกที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ด้วยวิธีอื่นด้วยส่วนผสมของสาร Active ยอดฮิต นั่นก็คือ Niacinamide หรือ Vitamin B3 นั่นเอง (อีกแล้วหรอ!!!! <—เสียงอิชั้นตะโกนในใจ)

เมื่ออายุเรามากขึ้น กระบวนการสร้างสารโคเอนไซม์เหล่านี้ก็ลดลงจึงส่งผลให้เซลล์ผลิตพลังงานได้น้อยลงตามไป ทีนี้ก็มีการศึกษาพบว่า Nicinamide มีคุณสมบัติในการดูดซึมสู่ผิวได้เป็นอย่างดีและสามารถเพิ่มปริมาณของโคเอนไซม์ที่ว่านี้ให้สูงขึ้นได้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลในการสนับสนุนคุณสมบัติสำคัญของ Niacinamide ในการเสริมความแข็งแรงของชั้น Skin Barrier เพราะกระบวนการเมตาบอลิซึ่ที่ดีขึ้นจะช่วยให้การพัฒนาตัวของเซลล์เคราติโนไซด์เป็นไปอย่างปกติที่ควรจะเป็น รวมถึงการเพิ่มการสร้าง Ceramide ซึ่งเป็นไขมันสำคัญในการเชื่อมกำแพงปกป้องผิวให้ดียิ่งขึ้น
นี่เป็นเหตุผลที่มาอธิบายว่าผลิตภัณพ์ตัวนี้สามารถช่วยให้ผลิตภัณฑ์ตัวอื่นซึมซาบสู่ผิวดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งส่วนตัวปูเป้เองก็มองว่ามันก็น่าสนใจดีนะ แต่นั่นจะแปลว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของ OLAY ที่มีส่วนผสมของ Niacinamide ก็ให้ผลแบบนี้กันด้วยรึเปล่า? ก็คงต้องมาดูที่ตัวเบสหรือเนื้อของผลิตภัณฑ์เป็นปัจจัยต่อไป
(Source : Nicotinic acid/niacinamide and the skin., How Much Do We Really Know About Our Favorite Cosmeceutical Ingredients?, Topical Niacinamide and Barrier Enhancement.)
ส่วนประกอบสำคัญอื่น ๆ ในเซรั่มตัวนี้ก็คงหนีไม่พ้น Palmitoyl Pentapeptide-4 หรือ Pal-KTTKS หรือในอีกชื่อก็คือ Matrixyl โดยบริษัท Sederma ที่ปัจจุบันใช้ได้เฉพาะแบรนด์ในเครือ P&G เท่านั้น (เพราะว่า P&G ดันเอาไปจดสิทธิบัตรการใช้งานของ Palmitoyl Pentapeptide-4 คู่กับส่วนผสมออกฤิทธิ์หลักอื่น ๆ อีกเยอะแยะตาแป๊ะไก่ จนกลายเป็นว่าผู้ผลิตอื่นไม่สามารถเอาไปใช้ได้อีกเลย ทำให้ Sederma ต้องผลิต Matrixyl 3000 Palmitoyl Oligopeptide + Palmitoyl Tetrapeptide-7 มาขายแทน)
Pal-KTTKS เป็นเปปไทด์ที่ประกอบไปด้วยกระอะมิโนที่เป็นเหมือนสารตั้งต้นของคอลลาเจน ประสิทธิภาพของเปปไทด์ตัวนี้ในการลดเลือดริ้วรอยนั้นแต่เดิมมีแต่การวิจัยของ P&G เท่านั้น ซึ่งเขาก็แสดงให้เห็นว่ามันมีประสิทธิภาพดีเลยล่ะ (แหงสิ) ทำให้ข้อมูลในเรื่องของประสิทธิภาพตรงนี้ยังคงมีข้อกังขา

สำหรับคำถามที่เจอบ่อยว่า OLAY ไทยใส่เปไทด์มาน้อยกว่า OLAY ของเมืองนอกอย่างอเมริการึเปล่า? เพราะในส่วนประกอบของไทยมันห้อยมาเป็นติ่งรั้งท้ายเลย ตรงนี้ต้องอธิบายว่า ไอ้ Raw material ของ Matrixyl เนี่ยประกอบไปด้วย [Glycerin, Butylene Glycol, Aqua, Carbomer, Polysorbate 20 (and) Palmitoyl-Pentapeptide-4]
การใส่ Matrixyl มา 1% เท่ากับมีเปปไทด์ Pal-KTTKS อยู่ 1PPM หรือ หนึ่งส่วนในล้านส่วน ต่อให้เราใส่ Matrixyl มา 10% พอแยกปริมาณเปปไทด์ในสูตรออกมาจริงๆ แล้วมันก็ยังเป็นตัวเลขที่น้อยมากอยู่ดี ดังนั้นเมื่อเอามาแสดงในส่วนผสมตามลำดับ “มากไปน้อย” ตามจริง มันก็จะเป็นแบบฉลากที่เราเห็นในประเทศไทยนี่แหล่ะ แต่ฉลากของอเมริกาที่เห็นเรียงสวย ๆ ดูเหมือนมีสารบำรุงเข้มข้นกว่านั้น เขาใช้ข้อยกเว้นที่ว่าส่วนผสมที่มีปริมาณน้อยกว่า 1% ไม่จำเป็นต้องเรียงตามความเข้มข้นที่แท้จริง เขาก็เลยจับเอาพวกสารบำรุง เปปไทด์มาเรียงไว้นำหน้าสารกันเสียนั่นเองจ้า
(Source : NEW RESEARCH SHOWS ANTI-WRINKLE CREAM CHEMICAL WORKS, Collagen stimulating effect of peptide amphiphile C16-KTTKS on human fibroblasts., A randomized, controlled comparative study of the wrinkle reduction benefits of a cosmetic niacinamide/peptide/retinyl propionate product regimen vs. a prescription 0·02% tretinoin product regimen.)
ส่วนผสมที่ส่วนตัวคิดว่าแปลกก็คือ Sodium PEG-7 Olive Oil Carboxylate หรือสารที่มีชื่อทางการค้าว่า Olivem โดยบริษัท HallStar โดยเขาจำหน่ายเป็นสารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวกที่ได้จากน้ำมันมะกอก (ใช้เป็นสารทำความสะอาด) แต่ทาง OLAY บอกว่านี่เป็น Olive Extract และช่วยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ ด้วยความสงสัยเราเลยไปค้นต่อและพบเอกสารในการจดสิทธิบัตรของเขาที่อธิบายว่า น้ำมันมะกอกมีสาร Oligogalactomannans เยอะ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสารที่มีฤิทธิ์ทางชีวภาพ เขาจึงเลือก Sodium PEG-7 Olive Oil Carboxylate (Olivem 460) มาใช้เพื่อการนี้ แต่ไม่ได้อธิบายเพิ่มว่ามันมีผลดีกับผิวอย่างไร ด้วยกระบวนการไหน
(Source : Method of improving the appearance of aging skin)
ข้อมูลที่ได้มาจาก Press Release นั้นบอกว่าเอสเซนส์ตัวนี้มีส่วนผสมของ Lys’Lastine ซึ่งเขาเคลมว่าช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นกระชับให้กับผิว นี่เป็นส่วนผสมที่เพิ่มเข้ามาในกลุ่ม Regenerist รุ่นใหม่ตั้งแต่ปีก่อน (แน่นอนว่าเขาจดสิทธิบัตรเรียบร้อย) Lys’Lastine เป็นสารสกัดจากเมล็ดผักชีลาว (Dill Seed Extract) โดยบริษัท BASF ซึ่งเคลมว่าช่วยเสริมการสร้างเส้นใยอีลาสตินผ่านการกระตุ้นการสร้างโปรตีน LOXL (lysyl oxidase-like) ที่ทำหน้าที่รวม Microfibrils และ Tropoelastin ให้กลายเป็นเส้นใยอีลาสตินเพื่อคงความยืดหยุ่นกระชับให้กับผิวนั่นเอง แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลจากผู้ผลิตสารเท่านั้น
ประเด็นคือในส่วนประกอบข้างกล่องกลับไม่มีส่วนผสมของสารสกัดจากเมล็ดผักชีลาวที่ว่าเลย (Peucedanum Graveolens (Dill) Extract) หลังจากทีได้แจ้งกลับไปทางแบรนด์ก็ได้ตรวจสอบและพบว่าข้อมูลใน Press Release นั้นผิดพลาด ส่วนผสมของ Lys’Lastine นี้จะมีอยู่ในกลุ่มของ Regenerist Micro-Sculpting เท่านั้นจ้า
ส่วนผสมอื่น ๆ ก็มี วิตามินอี อนุพันธ์วิตามินซีนิดหน่อย สารสกัดจากพืชเป็นแอนติออกซิแดนท์ มี่วนผสมอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจอย่าง Inositol ซึ่งช่วยเรื่อความชุ่มชื้นของผิว ตัวนี้ถูกรวมอยู่ในสิทธิบัตรเกี่ยวกับไวท์เทนนิ่งของ P&G ด้วย
Ingredients : Water, Niacinamide, Glycerin, Butylene Glycol, Hexylene Glycol, Dimethicone, Acrylates/C10-30 Alkyl Acrylate Crosspolymer, PEG-32, Phenoxyethanol, Benzyl Alcohol, Sodium Hydroxide, Methylparaben, Dimethiconol, Disodium EDTA, Inositol, Isopropyl Isostearate, Sodium Metabisulfite, Tocopheryl Acetate, PEG-100 Stearate, Fragrance, Sodium Ascorbyl Phosphate, Morus Alba Root Extract, Glyceryl Acrylate/Acrylic Acid Copolymer, PVM/MA Copolymer, Sodium PEG-7 Olive Oil Carboxylate, Lilium Candidum Flower Extract, Palmitoyl Pentapeptide-4, Lonicera Japonica (Honeysuckle) Flower Extract.




ปูเป้พบว่านี่เป็นเอสเซนส์ที่เหมาะกับทุกสภาพผิว เป็นตัวเลือกที่เหมาะมากสำหรับคนที่อยากใช้เซรั่มของ OLAY Regenerist แต่อาจจะไม่ชอบเนื้อเซรั่มเบสซิลิโคนลื่น ๆ เท่าไหร่ ตัวนี้ตอบโจทย์แบบสุด ๆ เลย
สำหรับผลที่ได้หลังจากการทดลองใช้ต่อเนื่องเช้า-เย็น เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ก็ไม่พบข้อเสียอะไร ไม่มีปัญหากับการใช้คู่กับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้อยู่แล้ว จึงทำให้เอสเซ็นส์ขวดนี้สามารถแทรกเข้าไปในขั้นตอนการบำรุงผิวได้ง่าย รู้สึกเนื้อผิวเรารู้สึกว่ามันละเอียดและยืดหยุ่น โทนผิวดูสดใสดีแม้จะลดการใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มไวท์เทนนิ่งจากเช้า – เย็น เป็นเหลือแค่ตอนเช้าอย่างเดียวก็ตาม

ข้อเสียก็คงจะมีแต่การมีส่วนผสมของน้ำหอม แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่ากลิ่นไม่แรงเกินไป ค่อนข้างอ่อน และจางไปอย่างรวดเร็ว อยู่ในระดับที่รับได้
ความเห็นส่วนตัวที่มีต่อผลิตภัณฑ์โดยภาพรวมคิดว่าคอนเซปต์ในการเสริมพลังให้กับผิวนั้นน่าสนใจ ในแง่ของผู้ที่สนใจในศาสตร์ของเครื่องสำอางนั้นเรารู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นทุกครั้งที่ได้รู้ว่า Niacinamide นั้นมีสรรพคุณที่แสนวิเศษซ่อนอยู่มากมายรอให้ค้นพบ แต่ในมุมที่เป็นผ้บริโภคของเรานั้น ก็มีความคิดว่าในเมื่อทุกผลิตภัณฑ์ของ OLAY ก็มีสารตัวนี้อยู่แทบทั้งหมด ทำไมเราต้องใช้เอสเซนส์ตัวนี้มากกว่าเซรั่มตัวอื่นของ OLAY หรือถ้าใช้เอสเซนขวดนี้แล้วยังจำเป็นต้องใช้เซรั่มของ Regenerist อีกหรือไม่? มันจะซ้ำซ้อนหรือเกินความจำเป็นไปรึเปล่า? ก็เป็นสิ่งที่เราคิดอยู่เหมือนกันนะ
อีกคอมเมนต์นึงที่อยากจะฝากถึงฝ่ายการตลาดของ OLAY คือเรารู้สึกกว่า ช่วงราคาของ OLAY ในไทยมันสูงไปนะ เทียบราคาขายปลีกของผลิตภัณฑ์ที่มีขายทั้งในไทยและอเมริกา กลายเป็นว่าราคาขายปลีกในอเมริกายังถูกกว่าราคาตอนลดแล้วของไทยเลย คือถ้าของที่ขายในไทยเป็นของนำเข้าทั้งหมดก็คงจะไม่บ่น แต่นี่ Made in Thailand ล่ะ
สำหรับใครที่สนใจ OLAY : Regenerist Miracle Boost Youth Pre-Essence จะเริ่มวางจำหน่ายในไทยในช่วงต้นเดือน กรกฎาคม 2558 ที่จะถึงนี้ ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต บิวตี้สโตร์และห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศจ้า
สำหรับคำถามว่า “จะแพ้มั้ย” “ใช้แล้วอุดตันรึเปล่า?” เป็นคำตอบที่ปูเป้บอกไม่ได้ครับ อาการแพ้เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในทุก ๆ คน สำหรับการอุดตันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและการดูแลผิวโดยรวมของแต่ละคนเอง นอกจากนี้คนเรายังไวต่อการอุดตันของสารแต่ละตัวไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตาม ควรทดสอบและทดลองใช้ก่อนทุกครั้ง
ข้อดี
– มีปริมาณของสารออกฤิทธิ์สำคัญในระดับที่คาดหวังผลได้
– เนื้อผลิตภัณฑ์บางเบา เหมาะกับทุกสภาพผิว
– บรรจุภัณฑ์ใช้สะดวก
ข้อเสีย
– มีส่วนผสมของน้ำหอม
***Sponsored Item***
– OLAY : Regenerist Miracle Boost Youth Pre-Essence