หลังจากที่ปูเป้ใช้เครื่องอบผ้ามานานกว่า 5 ปี และบอกได้อย่างเต็มปากว่านี่สิ่งที่ไม่เสียดายเงินเลยที่ซื้อมา ใครที่ซักผ้าเองควรมีเครื่องอบผ้าไว้ที่บ้าน มันเปลี่ยนชีวิตคุณไปเลย  แต่เครื่องอบผ้าในท้องตลาดมีหลายระบบ และไม่ได้ถูกสร้างมาอย่างเท่าเทียมกัน มีเทคโนโลยีเก่าและใหม่ ดังนั้นจะมาบอกว่าเป็นเครื่องอบผ้าเหมือนกันไม่ได้

ในบทความนี้จึงจะมาแชร์ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเครื่องอบผ้าที่ปูเป้อยากแบ่งปัน เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจว่า เครื่องอบผ้าหรือสำหรับใช้ตามบ้านว่ามีระบบอะไรบ้าง? มีข้อดีและข้อจำกัด วิธีการใช้ การดูแลรักษาอย่างไร? รวมไปถึงแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่ใช้เครื่องอบผ้าระบบ Heat Pump ของ SIEMENS / BOSCH ทั้งรุ่นรองท็อป และรุ่นท็อปสุดว่ามันเลิศยังไง ทำไมถึงเป็นตัวที่ปูเป้เลือก

แต่ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจเลือกซื้อแบรนด์ไหนหรือกำลังใช้เครื่องอบผ้าแบรนด์อื่นอยู่ ข้อมูลเรื่องหลักการพื้นฐานของเครื่องอบผ้า และเทคนิคในการใช้งานในบทความนี้ก็จะเป็นประโยชน์อยู่ดี บทความนี้จึงมีประโยชน์กับทุกคนที่สนใจเครื่องอบผ้าแน่นอน

ประเภทและระบบของเครื่องอบผ้า

เครื่องอบผ้าทำให้เสื้อผ้าของเราแห้งด้วยการไหลเวียนของอากาศที่ร้อนเพื่อดึงความชื้นออกจากเนื้อผ้า โดยเครื่องอบผ้าก็มีทั้งระดับอุตสาหกรรมหรือเชิงพาณิชย์ สำหรับใช้ในโรงแรม โรงพยาบาล หรือตามร้านซักรีด ซึ่งมีทั้งแบบใช้แก๊สและใช้ไฟฟ้า เครื่องแบบนี้จะเน้นการอบผ้าให้แห้งไวเพื่อที่จะทำรอบได้มาก รองรับลูกค้าได้มากขึ้น แต่มักทำงานด้วยความร้อนสูง 60c ~ 80c ซึ่งจะไม่เหมาะกับเนื้อผ้าที่บอบบางหรือไวต่อความร้อนเช่นเสื้อกีฬา ผ้าไหม ผ้าใยสังเคราะห์  เครื่องระดับเชิงพาณิชย์ไม่ใช่โฟกัสของบทความนี้

ส่วนเครื่องอบผ้าสำหรับใช้ในครัวเรือน (Tumble Dryer) ที่เป็นโฟกัสหลักของบทความนี้  ส่วนใหญ่เป็นเครื่องอบผ้าที่ใช้ไฟฟ้า  โดยยังแบ่งอีกเป็น 3 ระบบให้เลือก ได้แก่ ระบบลมร้อน (Vented) กับ ระบบควบแน่น (Condenser) และ ระบบฮีทปั้ม (Heat Pump) จริง ๆ แล้วในต่างประเทศก็มีระบบใช้แก๊ซด้วย แต่ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักและไม่มีขายในไทยจึงไม่ขอนำมาพูดถึง  โดยหลักการทำงานของเครื่องอบผ้าทั้งสามแบบ ปูเป้ไปเจอวีดีโอของ BOSCH ที่อธิบายไว้อย่างเข้าใจง่ายมากด้านล่างนี้

ความแตกต่างของทั้งสามระบบคือ แต่แหล่งที่มาของความร้อนซึ่งสอดคล้องกับระดับของอุณหภูมิที่ใช้ในการอบผ้า โดยแต่ละระบบนั้นมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (เปลืองไฟ/ประหยัดไฟ) และความอ่อนโยนต่อเนื้อผ้าที่แตกต่างกันเป็นพื้นฐาน นอกจากนี้ความก้าวของเทคโนโลยีในการออกแบบผลิตภัณฑ์และความละเอียดของเซนเซอร์ที่ใช้ตามความเชี่ยวชาญของแบรนด์ผู้ผลิตก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ตัวอย่างเช่นเครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้มเหมือนกัน แต่คนละยี่ห้อ อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากันเสมอไป

การอบผ้าให้แห้งไม่ใช่เรื่องยากและไม่ได้ต้องใช้เทคโนโลยีไฮเทคอะไร เครื่องอบผ้าทั้งสามระบบสามารถอบผ้าให้แห้งสนิทได้ทั้งนั้น แต่เครื่องรุ่นใหม่ ระบบที่ล้ำสมัยขึ้นที่ใช้เซนเซอร์วัดความชื้นจะพยายามไม่ให้ผ้าแห้งมากไปจนเสี่ยงต่อการหด จึงอ่อนโยนต่อผ้ามากกว่า ในขณะที่ใช้ไฟฟ้าน้อยลงกว่าครึ่ง!!! แม้ว่าคุณจะเลือกระบบไฮเทคอันแสนอ่อนโยน แต่คุณก็มีทางเลือกสามารถเลือกที่จะอบแห้งกว่าที่โปรแกรมอัตโนมัติของเครื่องตั้งไว้ก็ได้ ขอแค่เข้าใจหลักการทำงาน การตั้งค่า การใช้งานอย่างเหมาะสม

ด้านล่างนี้เป็นการสรุปข้อมูลพื้นฐานของหลักการทำงาน / ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน / การติดตั้ง / ราคา / ข้อดี / ข้อเสีย ของเครื่องอบผ้าทั้ง 3 ระบบ จากการหาข้อมูลของปูเป้


1. ระบบลมร้อน / Vented 

ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน :

ระบบการทำงานเครื่องอบผ้าระบบลมร้อนเป็นเทคโนโลยีที่เก่าที่สุด  ทำงานโดยการดูดอากาศเข้าไปในเครื่อง ผ่านแผงทำความร้อน (Heater / Heating Element) เอาลมร้อนเป่าผ่านเสื้อผ้าเพื่อดึงความชื้นออกจากเสื้อผ้า อากาศที่ร้อนและชื้นจะถูกปล่อยออกจากเครื่องผ่านท่อระบายอากาศ ระบบนี้จึงไม่มีแท้งค์เก็บน้ำและไม่จำเป็นต้องมีท่อน้ำทิ้งอยู่ใกล้ ๆ

การติดตั้งควรต่อท่อเพื่อเอาอากาศร้อนและชื้นระบายออกนอกนอกตัวบ้าน หากไม่ต่อท่อก็ควรติดตั้งในที่โล่งระบายอากาศได้สะดวก ถ้าติดตั้งและใช้งานในพื้นที่ปิดหรือระบายอากาศไม่ดีโดยไม่ต่อท่อระบายอากาศออกนอกตัวบ้าน จะทำให้อากาศร้อนชื้นสะสมในห้องจนเกิดปัญหาเชื้อราตามมาได้  

ราคามีราคาที่เข้าถึงง่ายสุด เริ่มต้นที่ราว 1X,XXX บาท

ข้อดีแม้จะเป็นระบบที่โบราณ แต่ยังคงมีใช้ในปัจจุบันอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีราคาที่ไม่แพง ให้ความร้อนสูงจึงอบผ้าได้แห้งไว เป็นระบบเดียวที่สามารถติดตั้งแบบวางกลับหัวได้เพราะไม่มีการควบแน่นเกิดขึ้นภายในเครื่อง ระบบการทำงานไม่ซับซ้อนจึงหาช่างซ่อมได้ง่าย เครื่องมีน้ำหนักที่เบากว่าระบบอื่น ในต่างประเทศมีคนติดตั้งแบบยึดไว้กับผนังบ้านด้วย

ข้อเสียประสิทธิภาพในการใช้พลังงานค่อนข้างต่ำ กินไฟมากที่สุดเมื่อเทียบกับระบบอื่น ความร้อนที่สูงนั้นไม่เป็นมิตรกับผ้าบางชนิด ภาพจำเรื่องใช้เครื่องอบผ้าแล้วเสื้อจะพังผ้าจะหดก็มักมาจากเครื่องอบผ้าระบบลมร้อนนี่แหล่ะ  มีข้อจำกัดในการติดตั้งที่ต้องวางในห้องที่ระบายอากาศดีหรือเปิดโล่ง หรือต้องเจาะผนังเพื่อต่อท่อเอาลมออกนอกตัวบ้าน  หากท่อระบายลมร้อนติดตั้งไม่ดีหรือไม่มีการดูแลรักษาที่เหมาะสม การสะสมอุดตันของขุยผ้าในท่อระบายอากาศจะทำให้ผ้าแห้งช้าลง เปลืองพลังงานมากขึ้น และหากเกิดการอุดตันของท่อระบายอากาศอาจทำให้เกิดการสะสมความร้อนสูงไปจนอาจเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ได้  ซึ่งในอเมริกามีการประมาณกันว่านี่เป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ในครัวเรือนกว่า 2,900 เคสต่อปี


2. ระบบควบแน่น / Condenser

ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน – B

ระบบการทำงานเครื่องอบผ้าระบบควบแน่นยังคงหลักการทำงานโดยการดึงอากาศจากภายนอกมาผ่านแผงทำความร้อน (Heating Coil / Heating Element) เอาลมร้อนเปล่าผ่านเสื้อผ้าเพื่อดึงความชื้นออกมา  จุดที่แตกต่างคือมีการทำให้อากาศร้อนชื้นควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำและนำไปเก็บไว้บนแทงค์ อากาศที่ปล่อยออกมาจากเครื่องจะมีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนจัดและมีความชื้นเหลือน้อยกว่าจึงสามารถติดตั้งในบ้านได้แม้ไม่ต่อท่อระบายอากาศ

การติดตั้งไม่จำเป็นต้องเจาะผนังต่อท่อระบายอากาศ ติดตั้งในบ้านได้สะดวก ขอแค่มีที่วางและปลั๊กเสียบไฟก็พอ อากาศที่ออกมาจากเครื่องอาจหลงเหลือความชื้นอยู่บ้างแต่ไม่มากเท่าละบบลมร้อน แต่ค่าความชื้นที่นั้นจะปล่อยความชื้นออกมาแค่ไหน ต้องดูที่เรทติ้งของ Condensation Efficiency (มีอธิบายเพิ่มเติมด้านล่าง)

ราคาราคาสูงกว่าระบบลมร้อน เริ่มต้นที่ราว 2X,XXX บาท

ข้อดี : มีความสะดวกและยืดหยุ่นในเรื่องการติดตั้งมากกว่าระบบลมร้อน เพราะไม่ต้องเจาะผนังหรือต่อท่อระบายอากาศร้อน ราคาของระบบควบแน่นจะมีราคาที่สูงกว่าระบบลมร้อน จึงมักมีระบบและฟังก์ชั่นที่เหนือกว่าเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่กว่าเล็กน้อย

ข้อเสียใช้เวลาอบผ้านานกว่าระบบลมร้อนเล็กน้อย ต้องเอาแทงค์น้ำไปเททิ้งทุกครั้งหลังใช้  ยังคงใช้ (แต่เดี๋ยวนี้ก็มีทางเลือกในการต่อท่อน้ำทิ้งอัตโนมัติได้) ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานไม่ดีนักเมื่อเทียบกับมาตรฐานเทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าระบบลมร้อน


 

3. ระบบฮีทปั้ม / Heat Pump

ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน :  A+ ~ A+++

ระบบการทำงาน : ใช้คอมเพรสเซอร์ให้ความร้อน (หลักการทำงานคล้ายกับเครื่องปรับอากาศแต่ทำงานในทางตรงกันข้าม) ไม่มีการใช้แผงทำความร้อน (Heating Coil / Heating Element) ทำให้อุณหภูมิในการอบผ้าจะต่ำกว่าระบบอื่น เครื่องเป็นระบบปิด (Hermectically Sealed) เพื่อหมุนเวียนเอาลมร้อนที่ผ่านการควบแน่นความชื้นออกมาแล้วกลับใช้ใหม่ จัดเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่สุดและยังอ่อนโยนกับผ้ามากที่สุดในปัจจุบัน

ความสะดวกในการติดตั้ง : เป็นระบบที่ติดตั้งง่ายและมีความยืดหยุ่นที่สุด เปรียบได้เหมือนกับการวางตู้เย็นสักเครื่องในบ้าน ที่ไหนมีเต้าเสียบไฟคือติดตั้งได้หมด การติดตั้งสามารถยัดเข้าในช่องระหว่างตู้ หรือทำบิ้วด์อินครอบก็ได้ การทำงานของเครื่องเป็นระบบปิดจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการปล่อยลมร้อนและความชื้นออกมาจนทำให้ห้องร้อนชื้นจนขึ้นรา ความชื้นที่ออกมาจากผ้าที่อบจะถูกควบแน่นและเก็บไว้บนแทงค์ที่ถอดไปทิ้งเองได้ (แต่ถ้ามีท่อระบายน้ำอยู่ใกล้ ๆ ก็ต่อท่อน้ำทิ้งจากหลังเครื่องได้เลย)

ราคา : 3X,XXX ~ 5X,XXX บาท

ข้อดีเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูงที่สุดจึงประหยัดไฟมากกว่าระบบอื่นถึง 50%  ระบบฮีทปั้มใช้อุณหภูมิที่ต่ำกว่าระบบอื่นในการอบผ้า จึงอ่อนโยนกับผ้ามากที่สุด ทำให้ให้เสื้อผ้ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าระบบอื่น ลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อเสื้อผ้า มีความสะดวกในการใช้งานมาก และมียืดหยุ่นในการติดตั้ง

ข้อเสียมีราคาเครื่องสูงที่สุด ใช้เวลาในการอบผ้านานกว่าระบบอื่นเนื่องจากใช้ความร้อนที่ต่ำกว่า ระบบการทำงานที่ซับซ้อนต้องการช่างของศูนย์บริการที่ได้รับการอบรมโดยเฉพาะในการซ่อมแซม

เครื่องอบผ้า แตกต่างกับ เครื่องซัก-อบผ้า อย่างไร?

เครื่องซักและอบผ้า (Washer Dryer) นั้นเป็นทางเลือกสำหรับคนที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ จนไม่สามารถตั้งเครื่องซักผ้าและอบผ้าแยกกันได้ นอกจากจะมีข้อดีในเรื่องของการประหยัดพื้นที่แล้ว ยังอาจรวมไปถึงความสะดวกในการที่คุณไม่ต้องมาย้ายผ้าจากเครื่องซักไปยังเครื่องอบ

แต่ข้อจำกัดที่สำคัญของ Washer Dryer คือความจุในการซัก และความจุในการอบจะไม่เท่ากัน เนื่องจากโดยปกติแล้ว ตัวถัง (Drum) ของเครื่องอบผ้าจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเครื่องซักผ้า เมื่อเทียบกับความจุเดียวกัน  ตัวอย่างเรื่องข้อจำกัดนี้ในการใช้งานจริงก็อย่างเช่นใช้เครื่อง Wahser Dryer ขนาด 10/6 กิโล  ซึ่งถังซักขนาด 10 กิโลสามารถซักไส้ผ้านวมขนาดคิงไซส์ (6ฟุต) ได้อย่างสบาย ๆ แต่เมื่ออบผ้า ตัวถังจะมีขนาดที่เล็กไปจนทำให้อบผ้าขนมขนาดคิงไซส์จนแห้งสนิทได้ยาก หรืออบแห้งได้ก็ต้องเอาออกมาพลิก ๆ แล้วยัดกลับเข้าไปอบใหม่อยู่หลายรอบ

Washer Dryer ยังมีตัวเลือกของระบบในการอบผ้าแค่เพียงแบบ Condenser หรือควบแน่น เนื่องจากความร้อนหลักจะมาจาก Heating Element อันเดียวกับที่ใช้ในการทำน้ำให้ร้อนในการซักผ้า จึงไม่ประหยัดไฟเท่าการใช้เครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้มแยกออกมา

และข้อจำกัดที่สำคัญที่พบได้เมื่อใช้งานจริงของ Washer Dryer คือการไม่มีตัวเลือกของการอบผ้าในความแห้งระดับต่าง ๆ ที่ละเอียดเท่ากับเครื่องอบผ้าโดยเฉพาะครับ ยังไงเครื่องอบผ้าโดยเฉพาะก็ยังดีกว่า แม้จะเป็นเครื่องอบผ้าระบบ Condenser เหมือนกันก็ตาม

ปูเป้จะแนะนำ Washer Dryerในกรณีเดียวคือมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่  ส่วนตัวมองว่าเลือกซื้อ Washer Dryer เพียงเพราะข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เชื่อว่าได้ลองใช้ไปแล้วสุดท้ายคุณก็อาจต้องซื้อเครื่องอบผ้าแยกอยู่ดีในตอนหลัง

EU Energy Label


สหภาพยุโรป หรือ EU เป็นกลุ่มที่มีความก้าวหน้าและมีความชัดเจนในการกำหนดมาตรฐานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ละเอียดและเข้าใจง่าย โดย EU Energy Label สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจะระบุข้อมูลสำคัญที่ควรทราบหลายอย่าง โดยในปี 2021 มีการเปลี่ยนหน้าตาและมาตรฐานของฉลากตัวนี้สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท เช่นเครื่องซักผ้า เครื่องซักอบผ้า เครื่องล้างจาน ตู้เย็น ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนเครื่องอบผ้านั้นในปัจจุบันขณะที่ทำบทความนี้ (ตุลาคม 2022) ยังคงใช้ฉลากและมาตรฐานเดิมที่กำหนดขึ้นในปี 2010 ซึ่งสำหรับเครื่องอบผ้าจะมีจุดที่สำคัญที่ควรดูดังนี้

 

1. Energy Efficiency Class : หรือประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน มีตั้งแต่ระดับต่ำสุดคือ D (แย่ที่สุด = เปลืองไฟสุด) ไปจนถึงสูงสุดที่ A+++ (ดีที่สุด = ประหยัดไฟมากสุด

2. Energy Consumption Per Year : ตัวเลขที่ระบุ คือจำนวนไฟฟ้าเป็นหน่วยกิโลวัตต์ (kWh) ที่ใช้ต่อปี โดยวัดจากการอบผ้าโหมดมาตรฐาน (Cotton) เต็มโหลด จำนวน 160 ครั้ง  เอาไปคูณกับราคาค่าใช้ไฟฟ้าต่อหน่วยของที่บ้าน จะได้เป็นค่าไฟที่ต้องใช้โดยประมาณต่อปี  (ยิ่งตัวเลขน้อย = ใช้ไฟน้อย = ประหยัดไฟมากกว่า)

3. Duration : ตัวเลขคือเวลาที่ใช้ในการอบผ้าโหมดมาตรฐาน (Cotton) เต็มโหลด จำนวนหน่วยเป็นนาที (ตัวเลขน้อย = ใช้เวลาน้อย = ผ้าแห้งไวกว่า)

4. Capacity : ความจุของเครื่องอบผ้า

5. Noise Emissions
ระดับทำงานของเสียง หน่วยเป็นเดซิเบล (dB)  (ตัวเลขน้อย = ทำงานเงียบกว่า)

6. Condensation Efficiency Class : ประสิทธิภาพในการควบแน่นความชื้น มีเฉพาะเครื่องอบผ้าที่มีระบบควบแน่น (ต้องมีแทงค์เก็บน้ำ) เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่ค่อนข้างมีความสำคัญในการพิจารณาเลือกเครื่องอบผ้าระบบควบแน่นและฮีทปั้ม  มีตั้งแต่ระดับต่ำสุดคือ G (ดึงความชื้นออกจากอากาศได้ต่ำกว่า 40% ) ไปจนถึงสูงสุดที่ A (ดึงความชื้นออกจากอากาศได้มากกว่า 90% )

สำหรับเครื่องอบผ้าระบบควบแน่น ระบบควบแน่นจะทำการควบแน่นไอน้ำและปล่อยอากาศออกจากเครื่อง ถ้ามีประสิทธิภาพในการควบแน่นต่ำ = ปล่อยอากาศที่มีความชื้นมากขึ้นออกจากเครื่อง ซึ่งไปเพิ่มความชื้นและอุณหภูมิในห้องและส่งผลเสียกับสุขภาพในระยะยาวได้เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา ถ้าเลือกติดตั้งในห้องที่ไม่ค่อยมีการระบายอากาศนัก ให้เลือกเรทติ้งที่สูงอย่างระดับ A เอาไว้ก่อน หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรต่ำกว่า B ครับ

สำหรับเครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้ม แม้จะเป็นระบบปิด แต่เนื่องจากการทำงานด้วยการหมุนเวียนอากาศและความร้อนกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นถ้ามีประสิทธิภาพในการควบแน่นต่ำ เท่ากับจะมีความชื้นคงเหลือมากขึ้นในอากาศที่จะวนกลับเข้าสู่วงจรฮีทปั้ม  ส่งผลให้ใช้เวลานานขึ้นในการอบผ้าให้แห้ง ดังนั้นเรทติ้งตรงนี้ยิ่งสูงยิ่ง = ทำให้เครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้มอบผ้าแห้งได้เร็วขึ้น

(Source : EU Energy lable for Tumble Driers)

ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกเครื่องอบผ้า

จริงอยู่ที่เครื่องอบผ้าจะถูกหรือแพงก็อบผ้าให้แห้งได้ทั้งนั้น แต่เครื่องที่ราคาถูกที่สุดก็อาจไม่ใช่คำตอบหากคุณให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายในการดูแลรักษา ความง่ายในการใช้งานซึ่งมักสอดคล้องกับความอ่อนโยนต่อผ้า และแม้ว่าเครื่องอบผ้ารุ่นท็อปสุดไฮเทคนั้นเต็มไปด้วยคุณสมบัติเสริมจากระบบอำนวยความสะดวก อย่างเช่นเครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้ม BOSCH Series 8 ที่มีระบบ AutoClean การทำความสะอาดตัวเองแบบอัตโนมัติที่ช่วยให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น แต่ถ้าคุณเจียดงบไปไม่ถึงและคุณคิดว่าจะขยันพอที่จะทำความสะอาดตัวกรองขุยผ้าด้วยตัวเองทุกครั้งหลังใช้งานและล้างฟิลเตอร์ที่ฐานเครื่องทุกสองสัปดาห์ได้ คุณก็สามารถเซฟงบประมาณไปได้ถึงหลักหมื่นในการซื้อเครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้มรุ่นระดับกลาง ๆ แทน ที่แม้จะไม่มีคุณสมบัติเสริมเหล่านั้นในการอำนวยความสะดวก แต่ก็ยังคงอบผ้าได้ดี อ่อนโยน แถมยังประหยัดไฟเหมือนกัน

ปูเป้ได้ลิสต์ปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณาเอาไว้ด้านล่างนี้ เพื่อที่จะตอบคำถามที่สำคัญได้ว่า เครื่องอบผ้าระบบใดที่ตอบโจทย์ในบริบทและเงื่อนไขของเรา

 

1. งบประมาณเครื่องอบผ้ามีหลายระบบ หลายราคา ตามงบประมาณที่เรามี ซึ่งถ้าเงินไม่ใช่ปัญหา ปูเป้แนะนำให้เลือกระบบและรุ่นที่ตอบโจทย์กับพื้นที่ ความสะดวกในการใช้งาน และความสะดวกสบายที่เราต้องการมากกว่าจะเลือกที่ถูกที่สุด เช่นแม้ว่าเครื่องอบผ้าทุกระบบจะอบผ้าแห้งได้ทั้งนั้น แต่เครื่องอบลมร้อนหรือรุ่นราคาถูก ๆนั้นใช้ไฟฟ้ามากกว่า และความร้อนที่สูงกว่าจะทำให้ผ้าโทรมและกระด้างเร็วกว่า การต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่เร็วขึ้น หรือความเสี่ยงในการทำเสื้อผ้าเสียหาย ข้อจำกัดที่ไม่สามารถอบผ้าบางชนิดได้ ต่างเป็นต้นทุนที่เราต้องจ่ายเพิ่มในระยะยาว จึงต้องไม่ลืมคำนึงถึงจุดนี้

2. ความจุควรเลือกความจุของเครื่องอบผ้าให้เท่ากับ (หรือมากกว่า) ความจุของเครื่องซักผ้า เช่นใช้เครื่องซักผ้าจุ 9 กิโล ก็เลือกเครื่องอบผ้า 9 กิโล เพื่อให้จำนวนผ้าที่ซักสามารถนำเข้ามาอบได้โดยไม่มีปัญหา โดยทั่วไป ความจุขนาด 9 กิโลกรัม สามารถอบผ้านวมขนาด 6 ฟุต / คิงไซส์ได้  และเครื่องขนาด 8 กิโลจะ สามารถอบผ้านวมขนาด 5 ฟุต / ควีนไซส์ได้

3. พื้นที่ติดตั้งหากมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ติดตั้งที่ไม่มีการระบายอากาศที่ดีนัก  หรือต้องการติดตั้งซ่อนเอาไว้ในตู้เพื่อความสวยงาม  ระบบฮีทปั้มเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเพราะเป็นระบบปิด  รองลงมาคือระบบควบแน่นไอน้ำที่ไม่จำเป็นต้องเจาะผนังต่อท่อระบายอากาศ

4. ระยะเวลาที่ใช้ในการอบผ้า : โดยทั่วไปแล้วระบบที่อบผ้าได้แห้งไวที่สุดคือระบบลมร้อน ตามมาด้วยระบบควบแน่นที่ไม่ได้ทิ้งห่างกันนัก ส่วนระบบฮีทปั้มจะใช้เวลาในการอบนานกว่า (แต่ประหยัดไฟกว่า) เครื่องอบผ้าที่แม้จะเป็นระบบฮีทปั้มเหมือนกัน ประหยัดไฟเหมือนกัน แต่อาจจะจะอบผ้าแห้งได้ช้ากว่าหรือเร็วกว่ากันได้ด้วย ให้ดูที่ ข้อมูลสำคัญของ EU Energy Lable ในส่วนของ Duration และ Condensation Efficiency ที่จะสัมพันธ์กันเสมอครับ

5. ความอ่อนโยนต่อเนื้อผ้าความร้อนต่ำของระบบฮีทปั้มอ่อนโยนกับเนื้อผ้าที่สุดในปัจจุบัน  ถ้าคุณกังวลเรื่องผ้าหด ผ้ากระด้าง ผ้าเสียหาย  อยากให้ผ้าใช้งานได้ยาวนาน ระบบฮีทปั้มคือตัวเลือกที่ดีที่สุด  รองลงมาคือระบบควบแน่นไอน้ำ และที่แย่ที่สุดคือระบบลมร้อน แต่ก็ยังมีปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีของเซนเซอร์วัดความชื้นและความชำนาญในการออกแบบโปรแกรมอัตโนมัติของผู้ผลิตเครื่องอบผ้าอีกด้วย

6. วัสดุของดรัม : Drum หรือตัวถังของเครื่องอบผ้า มักใช้วัสดุหลัก ๆ อยู่สองกลุ่มคือ Stainless Steel และ Galvanized Steel

Stainless Steel คือเหล็กที่ผสมโครเมี่ยมและทนการเกิดสนิมด้วยการสร้างชั้นโครเมี่ยมออกไซด์บนพื้นผิวด้านนอก แม้จะมีการกระทบขีดข่วนที่พื้นผิวแต่หากดูแลและอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มันจะสร้างชั้นโครเมี่ยมออกไซด์ขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง สแตนเลสเป็นวัสดุที่ดีและมีราคาสูงกว่ากัลวาไนซ์ แต่สแตนเลสก็มีอัตราการนำพาความร้อนที่น้อยกว่ากัลวาไนซ์เช่นกัน

Galvanized Steel คือเหล็กที่ทำการชุบด้วยโลหะที่ไม่เกิดสนิม ซึ่งโลหะที่ว่าคือสังกะสี (Zinc) แต่ก็มีวัสดุที่ใหม่กว่าเรียกว่า Galvalume ซึ่งเป็นเหล็กเคลือบด้วยวัสดุผสมระหว่าง อลูมิเนียม + สังกะสี + ซิลิโคน ที่ในระยะยาวมีความทนทานเหนือกว่า วัสดุ Galvanized นี้มี้ข้อดีในแง่ของการแลกเปลี่ยนความร้อนที่ดีกว่า Stainless Steel ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์กับการทำงานเครื่องอบผ้า

ตามความเห็นของปูเป้แล้ว ถ้าเป็นเครื่องซักผ้า ปูเป้มีความเห็นว่ายังไง Stainless Steel ก็เป็นวัสดุที่ดีที่สุด แต่สำหรับเครื่องอบผ้านั้น ไม่ว่าจะเป็น Galvanized Steel หรือ Galvalume ก็ดีพอแล้ว เนื่องจากเราใช้อบแค่เสื้อผ้า หมอน ไส้ผ้านวม ที่อย่างมากสุดก็มีของแข็งเป็นกระดุมและซิปชิ้นเล็ก ๆ ไม่สะเทือนชั้นเคลือบที่ทนทานกว่า และเครื่องอบผ้าจะไม่เจอการเปียกชุ่มน้ำและความชื้นตกค้างมากเหมือนเครื่องซักผ้า  ดังนั้นส่วนตัวปูเป้มองว่าวัสดุดรัมของเครื่องอบผ้านั้นไม่จำเป็นต้องเลือกสแตนเลสเสมอไปครับ

7. ความสะดวกในการใช้งาน : ข้อนี้มักสอดคล้องกับความอ่อนโยนต่อเนื้อผ้า เพราะระบบฮีทปั้มที่อ่อนโยนสุด ๆ จะทำให้คุณอบเสื้อผ้าจำนวนมากที่ฉลากหรือป้ายบอกว่าห้ามอบได้ด้วยซ้ำไป ดังนั้นถ้าคุณให้ความสำคัญกับความง่ายในการใช้งาน อบผ้าหลายอย่างรวมกันได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องผ้าหด ผ้าพัง ระบบฮีทปั้มเป็นตัวเลือกที่ทำให้ชีวิตคุณง่ายที่สุดครับ

8. ศูนย์บริการและพื้นที่การให้บริการ : ให้ดูมีช่องทางการติดต่อที่สะดวก และตอบรับอย่างรวดเร็ว  ตอบข้อสงสัยได้อย่างน่าพอใจ  มีความพร้อมเรื่องอะไหล่ไว้ให้บริการ มีศูนย์บริการหรือตัวแทนที่พื้นที่ให้บริการอยู่ในละแวกบ้าน ถ้าอยู่ในจังหวัดที่ไกลจากศูนย์บริการควรสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเดินทางเมื่อเรียกช่างมาตรวจเช็คหรือซ่อมบำรุง

ทำไมปูเป้ถึงเลือกใช้เครื่องอบผ้าของ BOSCH?


เมื่อตอบคำถามจากปัจจัยสำคัญทั้งหมดในการเลือกเครื่องอบผ้าแล้ว ปูเป้ให้ความสำคัญกับความง่ายสะดวกสบายในการใช้งาน อ่อนโยนกับเนื้อผ้า ไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องผ้าหดหรือเสียหาย และต้องประหยัดพลังงาน  เพราะในระยะยาวไม่ใช่แค่ประหยัดเงินค่าไฟฟ้าแต่ยังดีกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า  และยินดีเจียดเงินเพิ่มเพื่อคุณสมบัติเหล่านี้ ตัวเลือกที่ปูเป้ต้องการก็ต้องเป็นระบบฮีทปั้มอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากนี้ระบบฮีทปั้มเป็นรุ่นที่มีราคาสูง จึงมักมาพร้อมกับวัสดุที่มีคุณภาพ และระบบการทำงานที่ละเอียดอ่อนกว่า เนื่องจากต้องขายกลุ่มเป้าหมายที่มีความคาดหวังสูงตามราคา ความทนทานและการใช้งานที่ยาวนานจึงเป็นสิ่งที่เราคาดหวังได้ ปูเป้จึงมองว่าเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าและตอบโจทย์สำหรับตัวเองและยินดีจ่ายครับ  ส่วนคนอื่นก็ต้องเอาเงื่อนไขเหล่านี้มาพิจารณาให้เหมาะสมกับงบประมาณและบริบทการใช้งานของตัวเอง

ใครที่ติดตามปูเป้มานานจะเห็นว่าปูเป้แนะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของ BOSCH มาตลอดหลายปี ไม่ใช่เพราะได้มีโอกาสร่วมงานกัน แต่ตู้เย็นเครื่องแรกที่ซื้อด้วยเงินของตัวเองเมื่อปี 2014 และเครื่องอบผ้าเครื่องแรกที่ซื้อเข้าบ้านเมื่อปี 2017 ก็เป็นของ SIEMENS (ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยไม่มีจำหน่ายแล้ว เนื่องจากเปลี่ยนโฟกัสไปที่แบรนด์  BOSCH ซึ่งเป็นเครือเดียวกับ ใช้เทคโนโลยีเดียวกัน โรงงานเดียวกัน หน้าตาเหมือนกัน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมที่ตรงรุ่นสามารถใช้ร่วมกันข้ามแบรนด์ได้) จึงมีประสบการณ์ ข้อมูลในการใช้งาน และการดูแลบำรุงรักษา ที่จะสามารถบอก และแนะนำเครื่องอบผ้าของ BOSCH ได้อย่างเต็มปากในฐานะผู้ใช้งานคนนึงที่มีพึงพอใจอย่างมาก

เหตุผลสำคัญที่เลือก BOSCH / SIEMENS เพราะนอกจากเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงยาวนานในด้านคุณภาพและนวัตกรรมแล้ว เครื่องระบบฮีทปั้มระดับบน ๆ ของเขามีเทคโนโลยีที่โดดเด่นและเพิ่มสะดวกสบายในการใช้งานอย่างระบบทำความสะอาดอัตโนมัติ อย่าง SelfCleaning Condenser (ซึ่งทันสมัยที่สุดในตอนที่ปูเป้ซื้อเครื่องอบผ้าในปี 2017) และปัจจุบันปูเป้ได้ใช้เครื่องอบผ้า BOSCH รุ่นท็อปสุดที่มีเทคโนโลยี AutoClean ใหม่ล่าสุดที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะของ BOSCH เท่านั้น และมันเลิศมากกกกกก

ทางด้านศูนย์บริการก็ติดต่อง่ายและได้รับบริการที่ดี ส่วนตัวคิดว่าในเขตกรุงเทพและจังหวัดรอบ ๆ ไม่มีปัญหาเรื่องศูนย์บริการและมาตรฐานครับ แต่ในจังหวัดอื่น ๆ ปูเป้แนะนำให้สอบถามเรื่องตัวแทนและพื้นที่ให้บริการทีใกล้บ้านเอาไว้ก่อนที่จะตัดสินใจครับ เพราะเครื่องอบผ้าแม้จะมีการดูแลทำความสะอาดพื้นฐานอย่างสม่ำเสมอก็ต้องมีการจ้างช่างมาทำความสะอาดเต็มรูปแบบสักครั้งเมื่อเครื่องใช้เวลาในการอบผ้านานผิดปกติครับ

เครื่องอบผ้า BOSCH รุ่นต่าง ๆ

ในส่วนนี้ปูเป้ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและแบ่งสรุปส่วนที่สำคัญ พร้อมกับให้ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเครื่องอบผ้าของ BOSCH (และแบรนด์ในเครือที่เทียบเคียงกัน) โดยจะมีการพูดถึงประสบการณ์ในการใช้งานจริงในรุ่นหรือฟังก์ชั่นที่มีอยู่ในเครื่องอบผ้าที่ปูเป้ใช้อยู่และเคยใช้มาก่อนหน้านี้ด้วยครับ

ปัจจุบัน BOSCH เหมือนจะเลิกผลิตและจำหน่ายเครื่องอบผ้าระบบลมร้อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะอย่างที่บอกไปว่ามันคือระบบโบราณและสิ้นเปลืองพลังงาน นอกจากนี้การมาถึงของมาตรฐานการประหยัดพลังงานรุ่นใหม่ของ EU ในอนาคตที่โหดกว่าเดิม เนื่องทำมาเพื่อผลักดันนวัตกรรมให้ผู้ผลิตหาทางพัฒนาเครื่องที่ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น คงจะทำให้เรทติ้งของเครื่องอบผ้าระบบลมร้อนในปัจจุบันออกมาต่ำเตี้ยเรี่ยดินเลยทีเดียว

เครื่องอบผ้า BOSCH ระบบควบแน่น Series 4 รหัสเครื่องขึ้นต้นด้วย WTN ที่จำหน่ายในประเทศไทยปัจจุบันมีทั้งหมด 2 รุ่น ซึ่งได้เรทติ้ง Energy Efficiency Class : B และ Condensation Efficiency Class : B (88%) (ข้อมูลเมื่อเดือน ตุลาคม ปี 2022)

WTN86204TH ขนาด 8 กิโล ความเร็วและพลังงานในการอบผ้าโหมด Cotton เต็มโหลด 137 นาที ใช้พลังงาน 4.63 kWh / ครึ่งโหลด 79 นาที ใช้พลังงาน 2.61 kWh ข้อมูลเชิงเทคนิคอื่น ๆ คลิกดูได้ [ที่นี่]

WTN86205TH
ขนาด 9 กิโล ความเร็วและพลังงานในการอบผ้าโหมด Cotton เต็มโหลด 149 นาที ใช้พลังงาน 5.20 kWh / ครึ่งโหลด 84 นาที ใช้พลังงาน 2.80 kWh ข้อมูลเชิงเทคนิคอื่น ๆ คลิกดูได้ [ที่นี่]

ทั้งสองรุ่นต้องดูแลรักษาแบบมาตรฐานคือ ควรทำความสะอาด Lint Filter / Fluff Filter ตะกร้ากรองขุยผ้าทุกครั้งหลังใช้ และล้างแผ่นกรอง EasyClean Filter ที่ใต้เครื่องทุก 2 สัปดาห์ หรือหลังใช้งานเครื่องอบผ้าครบ 20โหลด ซึ่งทาง BOSCH มีวีดีโอแนะนำการทำความสะอาดมาให้ชมกันด้วย

เครื่องอบผ้า BOSCH ระบบฮีทปั้ม ที่จำหน่ายในประเทศไทยปัจจุบันมีทั้งหมดรุ่น ซึ่งได้เรทติ้ง Energy Efficiency Class : A++ ทุกรุ่น

Series 6 รหัสขึ้นต้นด้วย WTR อย่าง WTR85T00TH ขนาด 9 กิโล ความเร็วและพลังงานในการอบผ้าโหมด Cotton เต็มโหลด 225 นาที ใช้พลังงาน 2.08 kWh / ครึ่งโหลด 137 นาที ใช้พลังงาน 1.23 kWh ส่วนข้อมูลเชิงเทคนิคอื่น ๆ คลิกดูได้ [ที่นี่]

เครื่องรุ่นนี้มี Condensation Efficiency Class : B (88%) จึงทำให้ระยะเวลาในการอบผ้าจะช้ากว่าเครื่องฮีทปั้มของ BOSCH รุ่นอื่น และต้องทำความสะอาดLint Filter / Fluff Filter ตะกร้ากรองขุยผ้าทุกครั้งหลังใช้ และล้างแผ่นกรอง EasyClean Filter ที่ใต้เครื่องทุก 2 สัปดาห์ หรือหลังใช้งานเครื่องอบผ้าครบ 20โหลด

จากคุณสมบัติทั้งหมดปูเป้จึงจัดตัวนี้อยู่ในเครื่องระบบฮีทปั้มระดับเริ่มต้น เพราะแม้ว่ารหัส WTR จะตั้งราคาขายแนะนำเท่ากับรุ่น WTW ด้วยเหตุผลในการตลาด แต่ราคาเมื่อมีโปรโมชั่น ราคาของ WTR  จะต่ำกว่า WTW เสมอ

แม้ว่าจะต้องดูแลรักษาแบบ manual ทั้งหมด และใช้เวลาในการอบผ้านานกว่าฮีทปั้มรุ่นอื่นของ BOSCH แต่ก็ยังคงประหยัดพลังงานเป็นเยี่ยมเหมือนกันกับรุ่นที่ราคาสูงกว่า และราคาโปรโมชั่นของตัวนี้จะลดกระหน่ำมาก จึงเป็นทางเลือกของผู้ที่อยากได้ระบบฮีทปั้ม ประหยัดไฟ และไม่แคร์กับระบบทำความสะอาดตัวกรองอัตโนมัติ  การเปิดแผงหน้าเครื่องได้ทำให้ช่างสามารถมาเซอร์วิสทำความสะอาดเครื่องได้ง่ายอีกด้วย

Series 6 รหัสขึ้นต้นด้วย WTW อย่าง WTW85560TH ขนาด 9 กิโล ความเร็วและพลังงานในการอบผ้าโหมด Cotton เต็มโหลด 166 นาที ใช้พลังงาน 2.06 kWh / ครึ่งโหลด 108 นาที ใช้พลังงาน 1.24 kWh ข้อมูลเชิงเทคนิคอื่น ๆ คลิกดูได้ [ที่นี่]

จุดเด่นคือเครื่องรหัส WTW นี้มี Condensation Efficiency Class : A (91%) จึงสามารถอบผ้าได้แห้งไวขึ้นอย่างมากโดยที่คงประหยัดพลังงานเป็นเยี่ยม จุดขายหลักคือเป็นรุ่นที่มีระบบ SelfCleaning Condenser ซึ่งคิดค้นและจดสิทธิบัตรเอาไว้ตั้งแต่ปี 2006 โดย น้ำที่ได้จากการควบแน่นและเก็บไว้บนแท้งค์ด้านบนเครื่องจะถูกปล่อยออกมาล้างเศษขุยผ้าในแผงแลกเปลี่ยนความร้อนหลายครั้งในระหว่างที่ทำการอบผ้า เพื่อให้เครื่องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ปูเป้เลือกตัวนี้เป็นเครื่องอบผ้าตัวแรกของบ้านในปี 2017 เนื่องจากไม่ต้องมาล้างและตากแห้งฟิลเตอร์ใต้เครื่องทุก 2 สัปดาห์  ใครนึกภาพไม่ออกดูหลักการทำงานในวีดีโอด้านล่างนี้ได้เลย

ประสบการณ์ของปูเป้ในการใช้งานเครื่องอบผ้าที่มีระบบ SelfCleaning Condenser

ระบบ SelfCleaning Condenser ทำงานได้ดีและช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นพอสมควรเลยครับ แต่การทำความสะอาดขุยผ้าในแผงแลกเปลี่ยนความร้อนด้วยน้ำอุ่นจากตัวเครื่องเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอในระยะยาว ซึ่งจริง ๆ แล้วทาง BOSCH มีน้ำยาที่ใช้เพื่อเสริมการทำความสะอาดที่เราซื้อมาใช้เพื่อเสริมการทำความสะอาดเครื่อง ทุก 6 เดือนก็ได้ ปูเป้เคยซื้อมาใช้แต่ปัจจุบันในประเทศไทยไม่มีน้ำยาตัวนี้จำหน่าย เนื่องจากแผ่นพับอธิบายการใช้งานเข้าใจค่อนข้างยาก (มาก ๆ) คนซื้อไปใช้กันไม่ถูก สุดท้ายก็ต้องเรียกช่างเข้ามาดูอยู่ดี

และเนื่องจากเครื่องรุ่นนี้ไม่สามารถเปิดแผงด้านหน้าเพื่อทำการเซอร์วิสได้ การทำความสะอาดจึงต้องติดต่อศูนย์บริการให้ช่างมายกเครื่องไปแกะล้าง ผมใช้บริการล้างจากศูนย์ BOSCH ผ่านการติดต่อทาง LINE @boschhomethailand เมื่อเดือน พค 2022 เป็นราคา 2,500 บาท ซึ่งทางแบรนด์แนะนำให้ทุก 2 ปี หรือเมื่อเครื่องใช้เวลานานกว่าปกติในการอบผ้าซึ่งแสดงถึงมีการสะสมของขุยผ้าในระบบ

ค่าล้างเครื่องอบผ้า 2,500 บาท อาจจะดูเหมือนสูง แต่เมื่อเทียบกับค่าไฟที่ต้องจ่ายเพิ่มหากแผงแลกเปลี่ยนความร้อนมีขุยผ้าไปสะสมจนทำให้มีประสิทธิภาพด้อยลงแล้ว นอกจากผ้าจะแห้งช้า เสียเวลามาก เรายังต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มต่อปีเป็นจำนวนที่มากกว่าค่าล้างเครื่องอีกครับ

ปูเป้มีประวัติการใช้ไฟฟ้าเปรียบเทียบหน่วยใช้ไฟของปี 2022 เทียบกับปีก่อนหน้าในช่วงเดียวกัน จะเห็นได้ว่า ปี 2021 หน่วยใช้ไฟฟ้าต่อเดือนสูงกว่าเฉลี่ยราว 120 หน่วย (kWh) เลยทีเดียว และจากที่เคยใช้เวลาในการอบผ้าเพียง 1.40 ชั่วโมงก็ใช้เวลามากขึ้น จนถึงจุดที่ใช้เวลามากกว่า 3-4 ชั่วโมงในการอบผ้าแบบที่เคยอบก็ยังไม่แห้ง แถมอบมามีกลิ่นอับด้วย

จะเห็นได้ว่าหลังจากเรียกช่างมายกเครื่องอบผ้าไปทำความสะอาดจนเอี่ยมอ่อง เมื่อต้นเดือน พค 2022 เครื่องอบผ้าฮีทปั้มก็กลับมาอบผ้าแห้งได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ควรเป็น ไม่มีกลิ่นอับ หน่วยใช้ไฟก็ลดลงสม่ำเสมอทุกเดือน  ดังนั้นการจ่ายเงินล้างเครื่องอบผ้ารุ่นนี้ตามกำหนด จะประหยัดเงินเรามากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านที่มีสมาชิกในครอบครัวหลายคนและมีหน่วยใช้ไฟต่อเดือนสูง ทำให้ค่าไฟต่อหน่วยสูงตามไปด้วย

ตลอดระยะเวลา 4 ปี 10 เดือนที่ปูเป้ใช้เครื่องอบผ้าเทียบเท่ารุ่น WTW นี้มา ก็มีแค่ต้องเรียกช่างมาล้างตามรอบที่ควรทำ มีการเปลี่ยนอะไหล่ที่สึกหรออย่างสายพานและลูกล้อด้านในหนึ่งชิ้น แต่นอกจากนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรจากการทำงานของเครื่องเลยครับ มีแต่ปัญหาที่เกิดจากความมือบอนของตัวเองที่ไปแกะซีลยางส่วนที่เขาไม่ได้บอกให้แกะแล้วไม่สามารถใส่กลับให้เหมือนเดิมจนสุดท้ายต้องเปลี่ยนบานประตูทั้งอัน

ถ้าจะบอกข้อจำกัดของรุ่น WTW นี้จะจะเป็นแค่เรื่องการเซอร์วิสเพื่อความสะอาดต้องยกเครื่องเข้าศูนย์อย่างเดียวเท่านั้น จะเหมาะกับคนที่วางแผนนำเครื่องไปตั้งในจุดที่สามารถยกเข้า – ออกได้ไม่ยาก เช่นชั้นแรกของบ้าน หรือในคอนโดและอพาร์ตเมนต์ที่มีลิฟต์สำหรับขนของ เพราะนี่คือสิ่งที่ต้องถูกยกเข้า – ออก เฉลี่ยทุก 2 ปี

Series 8 รหัสขึ้นต้นด้วย WTX อย่าง WTX87MH0TH ขนาด 9 กิโล ความเร็วและพลังงานในการอบผ้าโหมด Cotton เต็มโหลด 171 นาที ใช้พลังงาน 2.10 kWh / ครึ่งโหลด 109 นาที ใช้พลังงาน 1.24 kWh ข้อมูลเชิงเทคนิคอื่น ๆ คลิกดูได้ [ที่นี่]

จุดเด่นคือเครื่องรหัส WTX เป็นเครื่องรุ่นท็อปที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเพื่อความสะดวกสบายขั้นสุดในการใช้งานและการดูแลรักษา มีระบบ Wifi ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ทไร้สายของบ้าน เพื่อดูสถานะและสั่งงานผ่านแอพ Home Connect ได้ แต่เด็ดที่สุดคือระบบทำความสะอาดเครื่องที่ล้ำสมัยที่สุดอย่าง AutoClean ถูกยื่นจดสิทธิบัตรไว้เมื่อปี 2015 ที่นอกจากจะล้างคอนเดนเซอร์อัตโนมัติในทุกครั้งที่ใช้งานแล้ว ยังไม่มีตะกร้ากรองขุยผ้าที่ต้องทำความสะอาดทุกครั้งหลังอบผ้า ต้องขอบคุณการออกแบบกล่องเก็บขุยผ้าที่ออกแบบอย่างชาญฉลาดบริเวณฐานเครื่อง สามารถเก็บเศษผ้าได้มากสุดถึง 20 โหลด และเปิดออกมาทำความสะอาดได้ง่ายมาก ๆ

ประสบการณ์ของปูเป้ในการใช้งานเครื่องอบผ้าที่มีระบบ AutoClean

บอกได้คำเดียวว่าระบบ AutoClean มันเลิศมาก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ การไม่ต้องมานั่งกวาดตะกร้าขุยผ้าทุกครั้งหลังอบผ้าเสร็จนั้นสะดวกชีวิตแบบขั้นสุด  การเปิดแผงด้านล่างตรงหน้าเครื่องเพื่อเซอร์วิสได้นั้นช่วยให้การดูแลรักษาความสะอาดของเครื่องทำได้ดีขึ้นและสะดวก กล่องเก็บขุยผ้าใต้เครื่องก็ทำความสะอาดง่ายมาก แถมถ้าไม่อยากมานั่งล้างเอาแปรงลูบขัดเศษขุยผ้าเองก็เอาเข้าเครื่องล้างจานได้ (ถ้ามี) และถ้าคุณติดตั้งในพื้นที่มีท่อระบายน้ำอยู่ใกล้ ๆ ก็สามารถเลือกต่อท่อน้ำทิ้งออกจากเครื่องจึงไม่ต้องมานั่งดึงแท้งค์น้ำไปทิ้งทุกรอบหลังอบผ้าเสร็จ 

นี่คือเครื่องอบผ้าในฝันของคนที่ก็อยากให้เครื่องอบผ้าทำงานได้ดีไปยาว ๆ แต่ขี้เกียจดูแลเป็นประจำ และยินดีใช้เงินแก้ปัญหาโดยแท้จริง ที่สำคัญคือ AutoClean เป็นเทคโนโลยีที่หาไม่ได้ในแบรนด์อื่น ถ้าเงินไม่ใช่ปัญหาสำหรับคุณ จัดเลย ไม่ผิดหวังแน่นอน

นอกจากนี้ในคู่มือการใช้งานของรุ่นนี้ยังระบุการเข้าถึง Machine Care Program โปรแกรมสั่งทำความสะอาดเครื่องถึง 2 แบบ  ทั้งแบบ Basic (CP1) ที่ใช้เพียงน้ำอุ่นอย่างเดียว (แนะนำให้ทำทุกครั้งหลังจากทำความสะอาดส่วนกรองและเก็บขุยผ้าใต้เครื่อง) และแบบ Intensive (CP2) ที่ต้องมีการใช้น้ำยาทำความสะอาดเครื่องอบผ้าโดยเฉพาะร่วมด้วย (อยากให้ BOSCH เอาน้ำยากลับมาขาย)

จากประสบการณ์ในการใช้งาน ปูเป้พบว่า Machine Care Program ของรุ่นที่ใช้ระบบ AutoClean นั้นใช้งานสะดวก ทำได้ง่ายง่ายและใช้เวลาน้อยกว่าเครื่องรุ่นที่ใช้ระบบ SelfCleaning Condenser อย่างมาก แค่ใส่น้ำอุ่น หรือ น้ำอุ่นผสมน้ำยา ลงไปในแทงค์ แล้วกดเดินโปรแกรม เครื่องจัดการเองให้หมดเลย ไม่ต้องมายกเข้ายกออกเทน้ำทิ้งหลายรอบแบบเครื่องรุ่นเก่า

การใช้โปรแกรมทำความสะอาดเครื่องที่ง่าย ทำด้วยตัวเองได้ จะช่วยยืดเวลาที่เครื่องจะเกิดการสะสมความสกปรกจนต้องเรียกช่างมาล้างแบบเต็มรูปแบบ หมายถึงในระยะยาวจะประหยัดเงินทั้งค่าไฟและค่าบริการมากขึ้น ปูเป้จึงมองว่าแม้ราคาค่าเครื่องจะเป็นการลงทุนที่สูงพอสมควร แต่ในระยะยาวมันประหยัดเงินมากกว่าในหลายมิติ ทั้งค่าไฟ ค่าดูแลรักษา และเสื้อผ้าของเราก็จะมีสภาพดีได้นานกว่าเครื่องอบผ้าระบบอื่น

ประสบการณ์ของปูเป้ในการใช้งานเครื่องอบผ้าที่มีระบบ Home Connect 

การต่อ Wifi เพื่อเชื่อมกับอินเตอร์เน็ทและสั่งงานกับแอพ Home Connect ในสมาทโฟน เพื่อสั่งงาน ควบคุม และรับการแจ้งเตือน นั้นอาจเป็นฟังก์ชั่นที่บางคนอาจจะมองว่าไม่จำเป็น แต่สำหรับปูเป้นั้นมันมีประโยชน์กับชีวิตอย่างมาก

เนื่องจากห้องของผมอยู่ชั้น 3 และการปีนบันไดขึ้นลง 3 ชั้นเพื่อมาพบว่าเครื่องอบผ้ายังทำงานไม่เสร็จนั้นมันเสียเวลาและเหนื่อยด้วย (โปรแกรมอัตโนมัติ อาจทำงานนานกว่าที่ระบุไว้ หากตรวจพบว่าผ้าในถังยังไม่แห้งตามที่กำหนด) แม้จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการติดกล้องวงจรปิดก็รู้สึกว่าไม่สะดวกที่ต้องคอยมาเปิดแอพเช็คกล้องเป็นระยะ ทว่าตั้งแต่ใช้เครื่องอบผ้าที่มี Home Connect คือรู้สึกว่ามี peace of mind ไม่ต้องมาคอยคิดหรือกังวล เสร็จเมื่อไหร่มันเด้งแจ้งเตือนมาเองบนสมาทโฟน หรือถ้าอบผ้าและออกจากบ้านแล้วกลับบ้านช้ากว่าที่คาดไว้ ผ้าในถังอบอาจเย็นชืดจนความชื้นที่เหลือเล็กน้อยอาจทำให้ผ้ารู้สึกมีกลิ่นอับ หรือถ้าผ้าไม่อับก็จะทับกันจนยับมากรีดยากขึ้น เราก็สามารถเลี่ยงปัญหานี้ได้ด้วยการสั่งจากในแอพ ให้เครื่องทำการอบเพิ่มอีกเล็กน้อยเป็นเวลา 20 นาทีและเพิ่มตัวเลือกเสริมในการกลิ้งผ้าลดรอยยับได้

ที่จริงเครื่องอบผ้าที่มี Home Connect รุ่นนี้ยังมีฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวกขั้นสุดอย่าง Smart Dry ซึ่งจะใช้ได้เมื่อเรามีเครื่องซักผ้าฝาหน้าที่มีระบบ Home Connect ตั้งอยู่ข้างกัน (หรือในระบบ wifi บ้านเดียวกัน) เครื่องซักผ้าจะส่งข้อมูลของผ้าที่ทำการซักและปั่นหมาดต่อไปยังเครื่องอบผ้าและจัดการเลือกการอบผ้าที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ  (ปูเป้ยังไม่มีโอกาสได้ทดลองอันนี้เนื่องจากเครื่องซักผ้าที่ปูเป้ใช้อยู่ยังเป็นรุ่นที่ไม่มี Home Connect ครับ  แต่ถ้ามีโอกาสได้ลองใช้จะเอามาอัพเดทให้)

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งคือสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จัดการพลังงาน Energy Manager ซึ่งเป็นระบบใหม่ล่าสุดที่พัฒนาขึ้นเพื่อบ้านที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเลือกหลัก และใช้โปรแกรม Flex Start เพื่อใช้งานเครื่องในยามที่ระบบจัดการพลังงานเห็นว่าเหมาะสมที่สุดในการทำงาน ซึ่งปูเป้คิดว่าอันนี้ลำเกินไป เราคงไม่ได้ใช้กันแน่นอน อย่างน้อยก็ในเวลาอันใกล้นี้

โดยรวมแล้วปูเป้รักเครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้ม Series 8 ที่มีระบบ AutoClean และ Home Connect นี่มาก ๆ เลยครับ

คำแนะนำในการใช้และดูแลเครื่องอบผ้า

ปูเป้มีอัดวีดีโอแนะนำการใช้งานเครื่องอบผ้าเครื่องเก่าที่ส่งต่อให้กับบ้านของน้องสาวและน้องชายของแม่ ซึ่งเป็นรายละเอียดโดยทั่วไปของการใช้งานและดูแลเครื่องอบผ้าที่มีระบบ SelfCleaning Condenser ครับ แต่ว่าผู้ใช้งานเครื่องอบผ้าระบบอื่น หรือแม้แต่แบรนด์อื่นก็สามารถเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้  แต่สำหรับคนที่ไม่สะดวกดูแบบวีดีโอ ปูเป้ได้ลิสต์หัวข้อที่สำคัญเอาไว้ด้านล่างนี้

อย่าใส่ผ้าในปริมาณที่มากเกินไป

เครื่องอบผ้าใช้การหมุนดรัมเพื่อกลิ้งให้ผ้ามีการเคลื่อนไหวและสัมผัสกับอากาศร้อนเพื่อดึงความชื้นออกจากเนื้อผ้าได้ทั่วถึง ทำให้ผ้าแห้งได้สม่ำเสมอกัน หากใส่ผ้าแน่นจนแน่นเกินไปจะทำให้ผ้ามีพื้นที่ในการขยับน้อยลง จะใช้เวลานานขึ้นในการอบ และอาจแห้งไม่สม่ำเสมอ มีจุดที่ผ้ายังไม่แห้ง

เข้าใจโปรแกรมของเครื่องอบผ้า

เครื่องอบผ้าในปัจจุบันมักจะประกอบไปด้วย การอบผ้าด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ และ การอบแบบตั้งเวลา ซึ่งทั้งหมดอธิบายไว้อย่างละเอียดในคู่มือ ควรอ่านคู่มือการใช้งานโดยละเอียดก่อนเริ่มใช้งาน

การอบผ้าด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ จะเป็นโปรแกรมอบที่ถูกกำหนดไว้สำหรับเนื้อผ้าชนิดต่าง ๆ (เช่นผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าผสม  ผ้าบอบบาง ผ้านวมบุใยสังเคราะห์ ผ้าบุขนสัตว์ และอื่น ๆ ตามแต่ผู้ผลิตจะนำเสนอเอาไว้) โปรแกรมเหล่านี้จะมีการระบุเวลาที่ใช้โดยประมาณ กับขอบเขตของระดับความแห้งของผ้าและอุณหภูมิในการอบเอาไว้ และใช้เซนเซอร์วัดความชื้นในเครื่องตรวจจับความชื้นคงเหลือบนเนื้อผ้า  เมื่อตรวจพบว่าความชื้นคงเหลือในระดับที่ตั้งเอาไว้ เครื่องจะทำการหยุดการทำงานทันทีแม้จะยังไม่ถึงเวลาที่ประมาณเอาไว้ (ไม่เปลืองไฟโดยไม่จำเป็น และไม่ทำให้ผ้าแห้งไปจนกระด้างหรือหด) หรือถ้าตรวจพบว่าผ้ายังคงมีความชื้นมากกว่าที่กำหนดไว้ ก็จะทำการเพิ่มเวลาในการอบต่อไปจนกว่าผ้าจะแห้งในระดับที่ตั้งไว้

การอบผ้าด้วยโปรแกรมอัตโนมัติยังอาจมีตัวเลือกของระดับความแห้ง มากน้อย ตามแต่ผู้ใช้ต้องการปรับแต่งได้อีกด้วย (ของ BOSCH รุ่นที่ปูเป้ใช้สามารถเลือกปรับได้ถึง 12 ระดับ) ผ้าบางชนิดที่ยับง่ายเช่นผ้าลินินอาจจะเหมาะกับการตั้งในระดับที่เหลือความชื้นพอหมาด ๆ เพื่อนำออกจากเครื่องมาสะบัดและแขวนตากต่อให้แห้ง แต่ผ้าโดยทั่วไปเช่นผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ หรือแบบผสม สามารถเลือกอบในระดับที่สามารถนำออกจากเครื่องมาสะบัดให้คลายความร้อน (ซึ่งจะนำเอาความชื้นที่หลงเหลืออยู่อีกเล็กน้อยออกไปด้วย) แล้วนำมารีด หรือแขวน หรือพับเก็บเข้าตู้ได้เลย

การอบแบบตั้งเวลา จะไม่ใช้เซนเซอร์วัดความชื้นในตัวเครื่อง แต่จะทำงานตามเวลาที่เราตั้งเอาไว้ เป็นโหมดการอบที่เหมาะกับกรณีที่มีการอบผ้าจำนวนน้อยชิ้น หรือใช้อุปกรณ์เสริมอย่างเช่นตะกร้าที่เอาไว้อบรองเท้ากีฬาหรือตุ๊กตาและผ้าที่บอบบางเป็นพิเศษ  หรือในกรณีที่หลังใช้โปรแกรมอัตโนมัติแล้วยังรู้สึกว่าอยากให้ผ้าแห้งมากขึ้นอีก ก็สามารถอบเพิ่มอีกหน่อยด้วยการอบแบบตั้งเวลา

ทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของความชื้นกับเส้นใยผ้า

เครื่องอบผ้าสมัยใหม่ที่มีระบบอัตโนมัติจะมาพร้อมเซนเซอร์วัดความชื้น (ซึ่งประสิทธิภาพและความละเอียดของเซนเซอร์ของเครื่องอบผ้าแต่ละแบรนด์ก็ไม่เท่ากัน) โปรแกรมอัตโนมัติที่จะถูกตั้งให้อบเสร็จแล้วยังจะเหลือความชื้นเพียงเล็กน้อย เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาผ้ากระด้าง ผ้าหด อันมาจากใช้อุณหภูมิที่สูงเกินไปแล้ว ยังสามารถมาจากการที่ความชื้นถูกดึงออกจากเส้นใยผ้ามากเกินไปได้อีกด้วย

ความชื้นที่เหลือเอาไว้เล็กน้อยนี้จะไม่เป็นปัญหาหากเราไม่ทิ้งผ้าที่อบเสร็จแล้วเอาไว้ในเครื่องเกิน 2 ชั่วโมง  แต่ถ้าลืมทิ้งไว้จนเย็นสนิทคาตู้ ความชื้นที่หลงเหลือนั้นอาจทำให้เกิดกลิ่นอับได้

ทำความสะอาดตัวกรองในเครื่องอบผ้าตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

การอบผ้าจะมีเศษขุย เศษฝุ่น ละอองเกสร เส้นผมเส้นขน หลุดออกจากเนื้อผ้า ทำให้ผ้าที่อบออกมานั้นสะอาด มีอนามัยและดีกับคนเป็นภูมิแพ้อย่างมาก  แต่หากไม่ทำความสะอาดตัวกรองภายในเครื่องตามที่ผู้ผลิตแนะนำเอาไว้ เศษฝุ่นละอองเหล่านี้จะไปสะสมและอุดตันส่วนต่าง ๆในเครื่องอบผ้า ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นอับ และทำให้ใช้เวลาในการอบผ้านานขึ้นกว่าจะแห้ง ซึ่งทำให้เปลืองไฟและเสียเวลามากขึ้น

การทำความสะอาดเป็นประจำตามกำหนด จะช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่อง ยืดเวลาในการต้องเรียกช่างมาทำความสะอาดเต็มรูปแบบ

‘บอลขนแกะ’ คือเพื่อนแท้ของเครื่องอบผ้า

บอลขนแกะ หรือ Wool Ball นั้นจะช่วยให้ผ้าแห้งไวขึ้นและแห้งสม่ำเสมอ ด้วยการช่วยแยกผ้าให้มีอากาศไหลผ่านได้ดีขึ้น (แต่ถ้าใส่ผ้าเยอะไปจนแน่นเครื่องก็ไม่ช่วยอยู่ดี) ก้อนบอลขนแกะยั่งช่วยตีเส้นใยให้ฟูและยังช่วยลดไฟฟ้าสถิตย์ที่สะสมในเส้นใยผ้า จนไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มในตอนซักผ้าอีกด้วย ปูเป้แนะนำบอลขนแกะมากกว่าการใช้ลูกเทนนิส เพราะเป็นวัสดุจากธรรมชาติ และไม่มีสี ไม่มีสารเคมีที่เราอาจไม่รู้หรือไม่ต้องการโดยไม่จำเป็น

ความหอมเป็นสิ่งที่คนชื่นชอบ และน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่คนมักใช้เพื่อแต่งกลิ่นโดยหยดลงไปบนบอลขนแกะสำหรับอบผ้า แต่นั่นเป็นสิ่งที่ปูเป้แนะนำว่าไม่ควรทำ  เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยแต่ละกลิ่นมีลักษณะของตัวน้ำมันที่ต่างกัน บางชนิดอาจทิ้งสีและคราบเหนียวเอาไว้ในตัวเครื่องและที่ตัวกรองซึ่งเป็นผลเสียในระยะยาว

บอลขนแกะบางครั้งบางล็อตจะมาพร้อมกลิ่นขนสัตว์ที่บางคนรู้สึกว่ามันมีกลิ่นอับหรือกลิ่นสาปและทำให้ผ้าที่อบออกมาติดกลิ่นไปด้วย   วิธีแก้ไขคือการอบกลิ่นบอลขนแกะด้วยการหาถ้วยขนาดเล็ก ใส่สำลีลงไปสักแผ่น หยดน้ำมันหอมระเหยลงไปบนสำลี  แล้วนำถ้วยนั้นไปวางไว้ในกล่องที่มีฝาปิด  วางบอลขนแกะลงไปในกล่องและปิดฝาให้สนิท ทิ้งเอาไว้สัก 1 – 2 วันหรือนานกว่านั้น เติมน้ำมันหอมระเหยเพิ่มได้ตามสะดวก จะทำให้บอลขนแกะอบอวลด้วยกลิ่นหอม และทำให้ผ้าที่อบออกมามีกลิ่นที่สดชื่นขึ้น 

แต่ต้องเข้าใจว่ากลิ่นจะติดผ้าเพียงจาง ๆ และอยู่ไม่นาน แตกต่างกับพวกกลิ่นสังเคราะห์ในน้ำยาซักผ้าหรือปรับผ้านุ่ม เพราะมีการใช้ส่วนผสมที่ช่วยการติดทนของกลิ่นครับ

หลีกเลี่ยงน้ำยาปรับนุ่มและแผ่นหอมสำหรับเครื่องอบผ้า

แผ่นหอมหรือแผ่นปรับผ้านุ่มสำหรับเครื่องอบผ้า เป็นสิ่งที่ทำลายเครื่องอบผ้าและสุขภาพในนามของความหอม   สารเคลือบเส้นใยที่ทำให้ผ้ารู้สึกนุ่มนวลบนผิวจะไปเคลือบตัวถึงและเซนเซอร์วัดความชื้น ทำให้มันมีประสิทธิภาพด้อยลง และเพิ่มภาระในการทำความสะอาด

มีการศึกษาที่ชี้ว่าสารหอมระเหยเมื่อเจอความร้อนในเครื่องอบผ้าจะทำให้เกิด VOC ซึ่งเป็นมลพิษและส่งผลลบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นภูมิแพ้

ปูเป้ไม่ใช้สิ่งเหล่านี้ และไม่แนะนำให้ใช้ แต่ผมไม่ได้บังคับนะครับ ใครอยากจะใช้ก็เป็นทางเลือกของบุคคล ไปรับผลของการเลือกและตัดสินใจกันเอง

เสื้อผ้าจะไม่พังไม่หด ถ้าคุณเข้าใจการดูแลผ้าชิ้นนั้นอย่างเหมาะสม

หนึ่งในคำถามที่หลายคนมี หลายคนเจอ หรือหลายคนประสบ นั่นก็คือ ใช้เครื่องอบผ้าแล้วเสื้อผ้าพัง เสื้อผ้าหด เสื้อผ้าโทรม เราจะบอกว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้น ถ้า 1. คุณเข้าใจและอ่านป้ายคำแนะนำในการดูแลบนเสื้อผ้าชิ้นนั้น  และ 2. ถ้าคุณมีเครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้มเลิศ ๆ

1. ถ้าคุณอ่านฉลากคำแนะนำที่ติดมากับผ้าชิ้นนั้น เพราะเสื้อผ้า กางเกง กางเกงใน ปลอกหมอน ไส้หมอน ไส้ผ้านวม หรือวัสดุผ้าทุกสิ่งอย่าง หากคุณซื้อจากแบรนด์ที่มีมาตรฐาน จะมีบอกเสมอว่าผ้าชิ้นนั้น ๆ ต้องดูแลอย่างไร สิ่งนี้สามารถเข้าเครื่องซักผ้าได้ไหม ถ้าเข้าเครื่องซักได้ต้องใช้อุณหภูมิไม่เกินเท่าไหร่ ใช้น้ำยาแบบไหนไม่ได้บ้าง สามารถใช้เตารีดได้ไหม รวมไปถึง สิ่งนี้สามารถเข้าเครื่องอบผ้าได้รึเปล่า ถ้าเข้าได้อบในความร้อนไม่เกินเท่าไหร่

คือโดยทั่วไปแล้วคุณเอาผ้าที่ให้ซักในน้ำไม่เกิน 40 องศา และไม่แนะนำให้เข้าเครื่องอบ ไปซักในโหมดความร้อนสูงสลายเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้ที่ 90 องศา ยัดเข้าเครื่องอบปั่นจนแห้ง ยังไงมันก็พัง

2. ถ้าคุณมีเครื่องอบผ้าฮีทปั้มเลิศ ๆ  ต่อให้ป้ายบอกว่าห้ามอบ ก็อบได้เป็นส่วนมาก

เครื่องอบผ้ามีหลายระดับ หลายระบบ ซึ่งอุณหภูมิที่มันใช้ ความฉลาด ความอ่อนโยน และประสิทธิภาพของมันก็ไม่เหมือนกัน ปัญหาผ้าที่เข้าเครื่องอบและหดหลัก ๆ ก็มาจากผ้าโดนความร้อนที่สูงมากไป แห้งจนเกินไป จนหด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับเครื่องอบระบบลมร้อนโบราณ ๆ กับเครื่องระดับอุตสาหกรรมที่ใช้ความร้อนสูงให้ผ้าแห้งเร็ว

ปูเป้จะบอกว่าใช้เครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้มของ BOSCH มาเกือบ 5 ปี  ปูเป้อบได้ทุกอย่างแม้แต่ป้ายจะบอกว่าห้ามอบครับ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อลินิน ชุดนอน หมอนนิ่ม ๆ ของ  MUJI ก็ดี ชุดกีฬา ผ้าใยสังเคราะห์ Nylon เอย Lycra เอย หรือเสื้อผ้าชุดชั้นใน AIRISM ของ Uniqlo ก็โยนไปอบหมดเลย ปลอกผ้านวม ผ้าปูที่นอน MicroModal ของ AKEMI ที่คนขายบอกว่าไม่ควรอบ ก็โยนเข้าไป ไม่มีตัวไหนพังหรือหดเลยครับ  เพราะระบบฮีทปั้มของ BOSCH ใช้อุณหภูมิต่ำมาก ราว 50c ถ้ากดตัวเลือกแบบความร้อนต่ำจะเหลือที่ราว 40c เท่านั้น สิ่งที่ห้ามอบจริง ๆ ก็คงจะเป็นพวกยาง หรือผ้าที่ไวต่อการหดมาก พวกขนสัตว์ก็จะอบได้หากมีตะกร้าอบผ้า ซึ่งใช้อบรองเท้ากีฬาบางแบบได้ (ดูคำแนะนำจากผู้ผลิตรองเท้าเป็นหลัก)

สรุปสั้น ๆ ว่า ถ้าคุณเลือกเครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้มดี ๆ มันสะดวกชีวิตกว่ามาก เพราะเสื้อผ้าในชีวิตประจำวันอะไรที่บอกว่าห้ามอบ ปูเป้ก็อบมาสามสี่ปีไม่มีพังสักตัว แต่ถ้าคุณเลือกเครื่องอบผ้าระบบอื่น หรือใช้เครื่องอบผ้าตามร้านหยอดเหรียญที่แห้งๆไว ๆ ก็ควรทำความคำแนะนำของป้ายที่ระบุไว้จะดีสุดครับ

คำถาม หรือความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับเครื่องอบผ้าที่พบได้บ่อย

“เครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้ม หรือควบแน่น อบผ้าไม่แห้ง  ถ้าต้องการอบผ้าแห้งสนิทให้ใช้ระบบลมร้อน

เป็นความเข้าใจผิดอันเกิดจากความไม่เข้าใจในการใช้งานโปรแกรมอบผ้าแบบอัตโนมัติและการตั้งค่าระดับความแห้ง  เพราะเครื่องอบผ้าทุกระบบสามารถอบผ้าได้แห้งสนิท แห้งแบบไม่เหลือความชื้นเลยก็ทำได้ทั้งนั้น

เครื่องอบผ้าใช้แห่งเกิดความร้อน ทำอากาศให้ร้อนและปั้มลมร้อนนั้นผ่านดรัมผ่านไปยังเนื้อผ้าเพื่อดึงความชื้นออกจากเส้นใย  ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าความชื้นจะออกมาจนถึงระดับที่ต้องการ  ระบบอัตโนมัติจะใช้เซอเซอร์วัดความชื้นที่คงเหลือในเนื้อผ้า และผู้ผลิตมักกำหนดให้เหลือความชื้นไว้เล้กน้อยเพื่อให้ถนอมเนื้อผ้า ลดความกระด้างและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเสื้อผ้า แต่ความชื้นที่เหลือเพียงเล็กน้อยนั้นก็จะหายไปเมื่อนผ้าออกจากเครื่องอบมาสะบัดให้เย็นลง ก็สามารถแขนตู้หรือพับเก็บได้ทันที  หากอยากได้แห้งกว่านี้ก็สามารถเลือกอบต่อแบบตั้งเวลาได้ หรือปรับระดับความแห้งที่ต้องการในตัวเลือกเสริมตั้งแต่การเลือกโปรแกรม

โปรแกรมอัตโนมัติมักสามารถเลือกระดับความแห้งที่ต้องการได้ ซึ่งหลายคนไม่รู้ เพราะไม่อ่านคู่มือการใช้งาน หรืออ่านไม่ละเอียด อ่านไม่แตก  ใช้งานโดยขาดความเข้าใจ แล้วก็มาบ่นว่าเครื่องรุ่นใหม่ซื้อมาราคาแพงแต่อบผ้าไม่แห้งสู้รุ่นถูก ๆ ระบบโบราณไม่ได้  ทั้งที่เกิดจาก User Error ล้วน ๆ

อบผ้าแห้งเร็วกว่า แปลว่าดีกว่า

จะพูดแบบนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่า การอบผ้าให้แห้งไว ๆ นั้นมาพร้อมกับใช้อุณหถูมิที่สูงกว่า ซึ่งใช้พลังงานมากและไม่เป็นมิตรกับเนื้อผ้าที่บอบบาง เช่นผ้าใยสังเคราะห์และเส้นใยจากสัตว์

ให้นึกภาพ เราสระผมแล้วใช้ไดร์เป่าผม  อยากให้ผมแห้งเร็วก็ต้องใช้แรงลมที่สูง ใช้ความร้อนที่สูง ซึ่งใช้ไฟฟ้ามาก และความร้อนสูงจะทำให้ผมแห้งกรอบและหนังศีรษะระคายเคืองได้ง่ายขึ้น ถ้าคุณอยากให้ผมแห้งโดยที่เส้นผมและหนังศีรษะไม่เสียหายไม่แห้งระคายเคือง ก็ต้องใช้ความร้อนต่ำ ใช้แรงลมที่เหมาะสม และการแหวกแบ่งช่อผมอย่างอ่อนโยนให้อาการและความร้อนแทรกไปดึงความชื้นออกมาได้อย่างทั่วถึง โดยที่ไม่ดึงทึ้งเส้นผมหรือหนังศรีษะจนระคายเคือง และนั่นก็เป็นหลักการที่เทียบเคียงได้กับการใช้เครื่องอบผ้าครับ

การอบผ้าได้แห้งไวนั้นเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องอบผ้าระดับอุตสาหกรรม เพราะยิ่งอบผ้าได้ไว = สามารถทำรอบได้มากขึ้น = เพิ่มรายได้มากขึ้น แต่สำหรับการใช้ในครัวเรือนนั้น ระบบที่อบผ้าได้แห้งไวที่สุด = กินไฟมากกว่า = เราต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงกว่า รวมไปถึงยังมีโอกาสทำให้ผ้าเสียหาย หดได้มากกว่า ทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องชนิดของผ้าที่จะนำเข้าไปอบได้หรือไม่ได้ ซึ่งลดเรื่องความง่ายและความสะดวกในการใช้งานลง

เวลาที่ใช้ในการอบที่นานขึ้นนั้นในการใช้งานจริงไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับคนที่มีเครื่องอบผ้าใช้เองในบ้าน เนื่องจากเราไม่ต้องไปนั่งรอหรือรีบไปเก็บเพราะกลัวคนอื่นมาตำหนิหรือมายุ่งกับเสื้อผ้าของเราเหมือนเวลาไปใช้บริการเครื่องอบผ้าหยอดเหรียญ ระหว่างที่อบผ้าเราก็มีเวลาไปทำงานบ้านอื่น ๆ หรือไปพักผ่อนได้ การเลือกใช้เครื่องอบผ้าระบบฮีทปั้มที่อาจจะใช้เวลาในการอบผ้าแห้งที่นานกว่าระบบอื่นจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ประโยชน์คืออ่อนโยนกับผ้ามาก ใชง่าย และประหยัดไฟ

ปูเป้จึงมองว่าการใช้ในครัวเรือนต้องมองต่างจากการใช้เชิงการค้าและอุตสาหกรรม การใช้ในครัวเรือนให้เรามองเรื่องความง่ายในการใช้งาน อ่อนโยนต่อเนื้อผ้ามาก ๆ และการประหยัดพลังงาน เพราะเราต้องเป็นคนจ่ายค่าไฟเองไม่ใช่ลูกค้าที่ใช้บริการหรือมาหยอดเหรียญครับ

“ช่างและเซลบอกว่าเครื่องอบระบบฮีทปั้มซ่อมยาก ให้เลือกระบบลมร้อนดีกว่า

อันนี้เป็นตรรกะวิบัติแบบหนึ่ง และต้องทำการแยกประเด็นดังนี้

การซ่อมแซม เป็นสิ่งที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทุกอย่างต้องถูกคิดและพิจารณามาแล้ว เครื่องอบผ้าทุกระบบสามารถซ่อมได้หมด

ระบบลมร้อนที่โบราณและไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย ย่อมต้องการทักษะและความชำนาญของช่างไม่เท่ากับ เครื่องระบบฮีทปั้มที่มีความซับซ้อนกว่า

ดังนั้นการซ่อมง่าย หรือซ่อมยาก เป็นปัญหาของช่าง  และช่างที่ได้รับการอบรม มีความสามารถ ยังไงก็ซ่อมระบบฮีทปั้มได้  ถ้าซ่อมไม่ได้แปลว่าช่างไม่มีความสามารถ คือปัญหาของช่าง เราก็แค่เปลี่ยนช่างหรือเลือกใช้ช่างจากศูนย์บริการจากแบรนด์โดยตรงที่ได้มาตรฐาน

เราในฐานะผู้ใช้งาน ให้เลือกเครื่องอบผ้าที่ตอบโจทย์การใช้งานของเรา ไม่ใช่เลือกให้ช่างซ่อมง่าย เพราะการซ่อมไม่ใช่ปัญหาของผู้ใช้ง่านตั้งแต่แรก  แต่ถ้าเราเลือกระบบโบราณและอาจเจอปัญหาเสื้อผ้าพังและหด ไม่ยืดหยุ่นในการใช้งาน ค่าไฟบานเบิก มันจะกลายเป็นปัญหาของเราทันที

ทิ้งท้าย


ปูเป้ก็หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจและต้องการมองหาเครื่องอบผ้าที่เหมาะกับตัวเอง หรือผู้ที่มีเครื่องอบผ้าแล้วแต่เจอปัญหาในการใช้งานบางอย่าง  หากมีคำถามหรือข้อมูลส่วนใดที่ยังไม่มีในนี้และปูเป้ได้รับคำถามที่น่าสนใจมาจากช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง ปูเป้จะมาอัพเพทเพิ่มเติมในบทความนี้เป็นระยะครับ

Disclaimer : ปูเป้ได้รับการสนับสนุนเครื่องอบผ้ารุ่น WTX87MH0TH จากบริษัท BOSCH Home ประเทศไทย แต่เครื่องอบผ้าเครื่องเก่า รวมถึงค่าจ่ายในการบำรุงรักษา ซ่อมแซมทั้งหมดปูเป้เป็นคนซื้อและจ่ายด้วยตัวเองทั้งหมด  เนื้อหาทั้งหมดใน blog นี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ ความเห็น และมุมมอง จากปูเป้เองทั้งหมด โดยทาง BOSCH Home ประเทศไทย ไม่มีส่วนการกำหนดแนวทาง เนื้อหา หรือความเห็นของปูเป้เลยครับ