‘บอน’ ไม้ล้มลุกใบสวยที่หลายคนถูกใจ แต่อยู่ไปทำไมใบร่วงใบเล็กลงเรื่อย ๆ จนเหลือแต่กระถางเปล่า?  แต่ก่อนที่จะโยนกระถางทิ้งลงขยะไป ลองขุดดูว่าเหง้าหรือลำต้นใต้ดินยังอยู่ไหม เพราะถ้ามันไม่เน่าก็เอามาปลูกใหม่ในวัสดุปลูกดี ๆ ให้ปุ๋ยเลิศ ๆ และดูแลอย่างเหมาะสม น้องจะกลับมาแทงใบชูชันอวดความสวยให้เราได้เห็นอีกครั้ง   ซึ่งบอกเลยว่าไม่ยาก เพราะเราไม่ชอบอะไรยาก ๆ วันนี้ปูเป้จะแนะนำทางสะดวกให้เราดูแลน้องได้อย่างง่าย ๆ ขอแค่ใช้เงินเข้าสู้นะฮะ

ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์และอยากสนับสนุนปูเป้ หากสนใจซื้อปุ๋ยหรือวัาดุปลูกที่แนะนำ ซึ่งส่วนใหญ่ปูเป้ซื้อจากร้าน Thaigardenstore ของพี่อุ๊ ก็สามารถกดลิงค์ Affiliate ของทาง Lazada หรือ Shopee  ที่แนบเอาไว้เพื่อสั่งซื้อได้นะฮะ

การปลูกต้นไม้อะไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือเราต้องมีความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติของพืชชนิดนั้นและเลียนแบบสภาวะแวดล้อมที่มันชอบ สิ่งสำคัญสำหรับการปลูกต้นไม้ในกระถาง เอาไว้ที่บ้าน คอนโด หรืออพาร์ตเมนต์ จุดผิดพลาดส่วนใหญ่คือมักปลูกในจุดที่มีแสงสว่างไม่มากพอ  วัสดุปลูกไม่เหมาะสมกับชนิดของพืช ให้ปุ๋ยหรือธาตุอาหารน้อยไปหรือมากไป ให้น้ำน้อยจนแห้งเหี่ยวหรือมากไปจนเน่า (ซึ่งการเน่าจะเกิดได้ง่ายขึ้นเมื่ออยู่ในวัสดุปลูกที่ไม่เหมาะสม)

ดังนั้นเพื่อให้บอนของเรารอดอยู่ดีและสวยงาม ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าเจ้าที่เราเรียกกันว่า ‘บอน’ เนี่ย เป็นพืชที่อยู่ใน ‘วงศ์บอน’ หรือ Araceae  ซึ่งก็มีสกุลย่อยมากมาย  บอนที่กำลังเป็นที่นิยมปลูกกัน  ยังแบ่งเป็นอีกหลายสกุลย่อย ๆ อีก   ยกตัวอย่างที่ปูเป้มีที่บ้านก็มีอยู่ 3 สกุลด้วยกัน ซึ่งสังเกตความแตกต่างได้ที่ลักษณะของใบ ลำต้น และการสะสมอาหารใต้ดิน โดยปูเป้จะสรุปข้อมูลที่ตัวเองมีจากความเข้าใจ และประสบการณ์ที่ตัวเองเลี้ยงที่บ้าน หากมีข้อผิดพลาดอะไรสามารถชี้แนะเพื่อแก้ไขได้นะฮะ

Colocasia

สกุล Colocasia อยู่ในเป็นพืชที่มีหัว หรือลำต้นสะสมอาหารใต้ดิน (Corms) แทงใบขึ้นมาเหนือพื้นดินสูงได้เป็นเมตร ซึ่ง ‘เผือก’ ที่เรากินกันก็จัดเป็นพืชในสกุลนี้  จะชอบความชื้นมากและสามารถโตได้ในพื้นที่ริมน้ำหรือมีน้ำท่วม  ก้านใบจะมีความอวบน้ำเหมือนฟองน้ำ

แตกหน่อโดยการออก ‘ไหล’ ซึ่งถ้าวัสดุปลูกแช่ในน้ำ หรือน้ำท่วม  การงอกไหลของบอนสกุลนี้มักจะแทงไหลออกมาเหนือน้ำและออกไปนอกกระถางได้ แต่ถ้ากระถางน้ำไม่ท่วมหรือไม่แช่ในน้ำจนแฉะมาก  ไหลจะแทงอยู่ภายในกระถาง ไม่โผล่ออกมาเหนือดิน  ส่วนตัวคิดว่าแบบหลังดูแลง่ายกว่าล่ะ ดังนั้นบอนสกุลนี้ไม่จำเป็นต้องปลูกแบบจมน้ำหรือแช่น้ำก็ได้ แค่ขอให้มีความชื้นในวัสดุปลูกค่อนข้างสม่ำเสมอ

จากที่ลองปลูกดูพบว่าบอนในสกุลนี้สามารถโดนแดดเปรี้ยงได้เลยตราบใดที่มีน้ำเหลือเฟือให้น้องสูบ บางสายพันธุ์สีใบจะสวยต่อเมื่อโดดแดดจัดเท่านั้นด้วย แต่ช่วงที่แดดโหดมากใบก็ไหม้ได้เหมือนกัน เอามาปลูกแบบแสงสว่างแต่ไม่ใช่แดดตรงแบบอยู่ในสแลนกรองแสงก็พอได้  ปลูกในกระถางสามารถเอาวางในจานรองน้ำให้น้องสูบได้เลย เพราะเป็นสกุลที่อ่อนไหวต่อการขาดน้ำที่สุด เริ่มแห้งปุ๊ป ก้านฟุบใบเหี่ยวหงิกงอทันที

ตัวอย่างบอนในสกุลนี้ที่บ้านได้แก่ Colocasia esculenta ‘Lemon-Lime Gecko’ ใบเขียวมีลวดลายสีสดใสนี้  กับ Colocasia esculenta ‘Black Magic’ ที่โดดแดดจัดใบสีเขียวจะออกเป็นสีดำ

Caladium

สกุล Caladium ซึ่งในไทยเรียกสกุลนี้ว่า ‘บอนสี’ ซึ่งมีหัวหรือลำต้นสะสมอาหารใต้ดิน (Corms) แทงใบขึ้นมาเหนือพื้นดิน  แต่สิ่งที่ Caladium แตกต่างจาก Colocasia คือก้านใบที่ชูขึ้นจะมีความสูงไม่มากนัก อยู่เป็นพุ่มเตี้ย ๆ  พืชชนิดนี้ชอบความชื้น แต่ถ้าแฉะหรือจมน้ำเลยจะเน่ากลับดาวต้นไม้

จากที่อยู่ด้วยกันมาเกือบปี บอนสกุลนี้เหมือนจะไม่ออกไหล  แต่หัวใต้ดินจะเป็นก้อนใหญ่และก้อนขนาดย่อย ที่อยู่ติด ๆ กัน สามารถแยกก้อนออกมาปลูกได้

บอนในสกุลนี้มีทั้งอยู่กลางแดดได้และงอกงามใต้ร่มไม้ ต้องปรับให้เหมาะสมกับสายพันธุ์  การปลูกในกระถางแนะนำให้มีจานรองใส่เม็ดดินเผาหรือ LECA จนเต็มแล้วใส่น้ำลงไป  ก่อนวางก้นกระถางบนกอง LECA (จะมีรูปให้ดูในด้านล่างของบทความ) เพื่อช่วยให้มีความชื้นในอากาศโดยรอบและแก่วัสดุปลูกแต่ไม่ถึงกับฉ่ำแฉะเกินไป

ตัวอย่างบอนในสกุลนี้ที่บ้านได้แก่ บอนอิเหนา หรือ Caladium bicolor ‘White Christmas’ ซึ่งเป็นบอนตัวแรกของบ้าน อยู่ด้วยกันมา 11 เดือนแล้วจ้า เราว่าบอนสกุลนี้สวยและเลี้ยงไม่ยาก ขนาดน่ารักตะมุตะมิ ตอนนี้มีสมาชิกเพิ่มคือ Caladium bicolor ‘Florida Moonlight’ กับ Caladium bicolor ‘New Wave’

Alocasia

สกุล Alocasia จะสะสมอาหารในเหง้าใต้ดิน (Rhizome) และมีลำต้นอยู่เหนือพื้น สังเกตง่ายเพราะว่าใบจะมีทรงเหมือนลูกศรธนู ใบชี้ขึ้นหรือขนาดกับพื้น ต่างจาก Colocasia ที่ใบจะชี้ลงพื้น ชอบความชื้นแต่ไม่ชอบแฉะ จมน้ำก็มักเน่าเช่นกันกับบอนสี

แตกหน่อใกล้กับต้นแม่ได้ทั้งจากเหง้า และจาก ‘ไข่’ หรือปมก้อนทรงกลมหรือรีที่อยู่ในดิน เวลาเราเปลี่ยนกระถางจะเจอเจ้าก้อนพวกนี้ร่วงออกมา เอาไปปักในวัสดุปลูกเดี๋ยสมันก็จะงอกเป็นต้นใหม่ได้  บอนสกุลนี้โดยธรรมชาติมักชอบอยู่ในที่มีแสงสว่างแต่ไม่ใช่แดดตรง ให้เลี่ยงพื้นที่ร้อนและแดดจัดในช่วงเที่ยงจะเป็นดี

ตัวอย่างบอนในสกุลนี้ที่บ้านได้แก่ บอนกระดาด Alocasia macrorrhizos และ Alocasia sarawakensis ‘Yucatan Princess’

วัสดุปลูกและปุ๋ยสำหรับบอน

วัสดุปลูก

จากที่เกริ่นมาข้างต้น ดูเหมือนว่าบอนทั้งสามสกุลนั้นน่าจะใช้วัสดุปลูกที่ต่างกัน แต่จากการทดลองปูเป้พบว่าทั้งสามแบบสามารถปลูกด้วยวัสดุปลูกผสม TGS Hamalomena Best Soil Mixed Media ได้เป็นอย่างดี โดยใช้ร่วมกับการปรับวิธีที่เราวางกระถางลงในจานรองน้ำให้เหมาะกับสกุลของบอนจะช่วยลดโอกาสบอนขาดน้ำหรือจมน้ำจนเน่าได้ไม่ยาก (จะอธิบายต่อในด้านล่างของบทความ)

เหตุผลที่ปูเป้อยากแนะนำวัสดุปลูกตัวนี้เพราะว่าเป็นวัสดุปลูกที่มีมวลสารผสมกันหลากหลายชนิด หลายขนาด ระบายน้ำดี มีความโปร่ง จึงทำให้เป็นวัสดุปลูกที่มีโอกาสรากเน่าได้ยาก เป็นวัสดุปลูกที่สะอาด ไม่มีตัวประหลาด ไม่มีเมล็ดวัชพืช  สามารถตักจากถุงใช้ได้เลยอย่างแท้ทรู ไม่ต้องผสมอะไรเพิ่มนอกจากปุ๋ย ซึ่งเราชอบแบบนี้มากกว่าแบบที่ผสมปุ๋ยมาแล้ว เราจะได้เลือกปุ๋ยที่เราชอบหรือต้องการตามเงื่อนไขของเราได้

จึงเหมาะเหมาะมากกับคนที่มีพื้นที่จำกัดอย่างคอนโด อพาร์เมนต์ หรือคนที่ขี้เกียจผสมเอง (ยกมือว่าขี้เกียจ) ไม่ต้องสั่งวัสดุปลูกหลายอย่างมาเก็บให้เปลืองพื้นที่ ถุงเดียวใช้กับบอนทั้งสามสกุลที่ยกมา (รวมไปถึงพืชที่อยู่ในสกุลที่ใกล้เคียงกันได้) แม้ราคาต่อถุงอาจจะสูงแต่ก็ใช้แต่ของคุณภาพดี ซื้อความสะดวกให้ชีวิต และเพิ่มโอกาสรอดให้ต้นไม้แสนรักของเราอีกด้วย ส่วนตัวเราว่าคุ้มเงินที่จ่าย

ใครที่ปลูกบอนแล้วตาย เน่า เพราะปล่อยให้น้องอยู่ในกระถางที่อัดด้วยกาบมะพร้าวที่ราคาถูกแต่ราขึ้นและเน่าได้ง่ายถ้าอยู่ในกระถางสวมที่ปิดทึบ หรือในพื้นที่ระบายอากาศไม่ดี ไม่โปร่ง เราแนะนำว่าลองเงินช่วยแก้ปัญหา ซึ่งสามารถสั่งได้ทางร้าน Thaigardenstore จ้า

ปุ๋ยแบบเม็ดละลายช้า

จากประสบการณ์ตรง ปูเป้พบว่าพวกบอน โดยเฉพาะในสกุล Colocasia และ Caladium นั้นเป็นพืชที่กินปุ๋ยโหดมาก มันโตในดินที่สมบูรณ์มาก  ดังนั้นถ้าปลูกในกระถางไปเรื่อยแล้วปุ๋ยไม่เลิศ ไม่บำรุง ใบจะหดเล็กลงเรื่อย ๆ และสุดท้ายก็หายหมดอยู่ในสภาพพักตัว สามารถฟื้นกลับมาได้เมื่ออยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์ ตราบใดที่หัวใต้ดินยังไม่เน่า จับมาใส่วัสดุปลูกดี ๆ เติมปุ๋ยดี ๆ จะกลับมาใบฟูอย่างรวดเร็ว

จากที่ทดลองมา ปูเป้พบว่าสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือปุ๋ยละลายช้าที่ต้องใส่ลงไปในวัสดุปลูก โดยปูเป้จะใช้ HYPONeX MAGAMP K ซึ่งเป็นตัวบำรุงเน้นให้รากแข็งแรง เหมาะแก่การรองก้นกระถาง ปุ๋ยละลายช้าตัวนี้พิเศษอย่างนึงคือจะปล่อยธาตุอาหารเมื่อรากสัมผัสโดยตรง และมีแมกนีเซียมสูงซึ่งช่วยบำรุงใบ

และใช้ปุ๋ยละลายช้า HYPONeX  NeXCOTE Pro ซึ่งเป็นปุ๋ยละลายช้าที่ปล่อยธาตุอาหารด้วยการออสโมสิส ราคาสูงกว่าปุ๋ยละลายช้าทั่วไป เพราะสารอาหารและธาตุรองจัดเต็ม และที่มีข้อดีตรงที่เปลือกเคลือบทำจากเรซินพืชธรรมชาติ จึงไม่ทิ้งไมโครพลาสติกเหมือนเปลือกเคลือบปุ๋ยละลายช้าที่เคลือบด้วยเปลือกโพลิเมอร์พลาสติก  ปุ๋ยพรีเมี่ยมตัวนี้ตัวนี้ปูเป้ไม่เห็นขายในร้านทั่วไป แต่ปูเป้ไปได้จากร้านที่เจเจ แต่สามารถซื้อในทางออนไลน์ของร้านตามลิงค์ครับ

ส่วนใครไม่ได้แคร์เรื่องไมโครพลาสติก หรือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จะใช้ปุ๋ยธาตุอาหารหลักแบบละลายช้าที่มีจำหน่ายทั่วไปก็ได้ครับ

ปุ๋ยและธาตุอาหารรองแบบน้ำ

ปุ๋ยและธาตุอาหารรองในรูปแบบน้ำสามารถฉีดพ่นทางใบซึ่งพืชเอาไปใช้ได้ทันที และราดลงกระถางรากก็เอาไปใช้งานได้ไว ต่างจากปุ๋ยละลายช้าที่มีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นต้องการความชื้น ความร้อน หรือค่าความเป็นกรดด่างในดินในการเปลี่ยนปุ๋ยให้ไปอยู่ในรูปแบบที่พืชนำไปใช้ได้  ถ้าเงินไม่ใช่ปัญหาก็ควรหามาไว้ใช้  จากประสบการณ์พบว่าการใช้ปุ๋ยน้ำอย่างเดียวราดลงวัสดุปลูกและพ่น จะได้ผลไม่เท่ากับการใช้คู่ไปกับการใส่ปุ๋ยละลายช้า

ปุ๋ยน้ำแบบสารพัดประโยชน์คือ HYPONeX Liquid Fertilizer สีฟ้า เป็นธาตุอาหารหลัก ใช้กับพืชอะไรก็ได้ ส่วน HYPONeX Top Quality Exclusive For Green เป็นปุ๋ยน้ำที่ทำมาเพื่อไม้ใบเขียวโดยเฉพาะ นอกจากมีไนโตรเจนสูงแล้ว ยังมีวิตามิน และมีน้ำตาล Trehalose ที่ช่วยตรึงความชุ่มชื้นให้กับใบ ลดการสูญเสียน้ำ เป็นอาหารให้จุลินทรีในดิน  อัตราส่วนให้ใช้ตามคำแนะนำข้างฉลาก ซึ่งปกติอยู่ที่ปุ๋ย 1cc ต่อน้ำ 1 ลิตร  ส่วน HYPONeX RIKIDUS ซึ่งเป็นธาตุอาหารรองที่จำเป็นกับพืช อัตราส่วนให้ใช้ตามคำแนะนำข้างฉลาก 5 cc ต่อน้ำ 1 ลิตร แต่ส่วนตัวจะใช้น้อยกว่านั้น

สามารถรดลงวัสดุปลูก และพ่นทางใบเสริมได้สัปดาห์ละครั้ง (หรือถ้าพ่นบ่อยกว่านั้นจะต้องผสมให้เจือจางลงไปอีก เพื่อกันใบไหม้เพราะปุ๋ยมากไป) ปูเป้แนะนำว่าควรใส่ ‘สารจับใบ’ ไปด้วยเพราะว่าบอนสกุล Colocasia และ Caladium นั้นน้ำจะไม่เกาะกับผิวใบครับ (ให้นึกถึงอารมณ์น้ำบนใบบัว) แนะนำสารจับใบกลุ่มซิลิโคนที่ไม่ทำลายเคลือบใบ อาจจะมีราคาสูงกว่ากลุ่มอื่น แต่ไม่ได้แพงขนาดนั้น และเราใช้ไม่มากครับ เน้นปลอดภัยกับใบไม้ดีกว่า

ทั้ง HYPONeX Liquid Fertilizer และ HYPONeX RIKIDUS สองตัวนี้สามารถผสมไปพร้อมกันได้ โดยจะต้องผสมปุ๋ยฟ้าคนให้กระจายในน้ำทั่วก่อนที่จะใส่ธาตุอาหารรอง  ถ้าใส่ไปพร้อมกันจะเกิดการตกผลึกของแร่ธาตุได้ ซึ่งไม่ได้เสียเปล่า  เพียงแต่ต้องอาศัยความเป็นกรดด่างและจุลชีพในดินไปแตกตัวให้เป็นรูปแบบที่พืชนำไปใช้ได้อีกที  แต่ถ้าจะเอาไปพ่นทางใบ ควรผสมตามหลักไม่ให้เกิดการตกผลึกเป็นน้ำขุ่น ๆจะดีที่สุดครับ

ปุ๋ยน้ำสีฟ้านี้สามารถใช้กับการปลูกพืชแบบ Hydrophonic หรือ Semi-Hydrophonic ได้ด้วย ซึ่งปูเป้กำลังทดลองแบบ Semi อยู่ ถ้ามีข้อมูลมากพอและประสบความสำเร็จในการปลูกและดูแลแล้ว จะเอามาแนะนำในอนาคต

ทำไมถึงต้องใส่ทั้งปุ๋ยละลายช้า และปุ๋ยน้ำไปด้วยกัน? ถ้าเน้นสวยงาม เอาให้พีคก็ใช้คู่กันดีที่สุดครับ  แต่ถ้าจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง  ปูเป้ยังคงแนะนำให้ใช้ปุ๋ยละลายช้าเป็นตัวหลักมากกว่า เลือกตัวดี ๆ ไปเลยจะช่วยให้เราดูแลต้นไม้ง่ายขึ้นครับ

การเปลี่ยนกระถางและวัสดุปลูก

การเปลี่ยนถางและวัสดุปลูกที่ฟังดูไม่ยาก แต่สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยรู้เรื่องการปลูกต้นไม้ก็จะกังวลไปหมดว่าจะอะไรไม่ถูก ปูเป้อยากมาแชร์วิธีที่ตัวเองทำอยู่ตามนี้เลยครับ

ทุกครั้งที่ซื้อต้นไม้ใหม่มาที่บ้าน สิ่งสำคัญคือการกักบริเวณ เพื่อกักโรค ศัตรูพืช หรือตัวประหลาดที่อาจติดมากับต้นไม้หรือในวัสดุปลูก ถ้าไม่มีพื้นที่แยกกักตัว ก็อยากแนะนำให้รีบจัดการรื้อกระถางเอาวัสดุปลูกออกให้หมด ถ้ากังวลมากเรื่องตัวประหลาดจะแนะนำให้ล้างรากด้วยน้ำจนสะอาดเหลือแต่รากที่สุขภาพดีก่อนนำไปปลูกในกระถางและวัสดุที่เราเตียมเอาไว้  วัสดุปลูกเก่าพวกกาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว หรือดินนี่อย่าเสียดาย ทิ้งให้หมด  ถ้าเป็นหินภูเขาไฟหรืออะไรสามารถร่อนและเอาไปแผ่ตากแดดฆ่าเชื้อ ไล่แมลง ในจุดที่ห่างไกลจากต้นไม้ของเราได้

กรณีของปูเป้ บอนอิเหนา หรือ Caladium bicolor ‘White Christmas’ กระถางนี้ผ่านการเปลี่ยนวัสดุปลูกมาแล้วรอบนึง  ดังนั้นหมดห่วงเรื่องตัวประหลาดและโรคในวัสดุปลูก  แค่เอาของเก่าออกให้มากที่สุดไม่ต้องล้างรากด้วยน้ำก็ได้  เทียบแล้วหัวใต้ดินมีขนาดใหญ่ขึ้นมากเมื่อเทียบกับตอนเปลี่ยนกระถางครั้งแรกนี่หัวเท่าปลายก้อย ลองขยับนิดหน่อยก็พบว่าหัวเล็กมันแยกออกมาได้ เลยทำการแยกและจะปลูกเป็นสองกระถางครับ

เตรียมกระถางขนาดที่เหมาะสม เน้นมีรูระบายน้ำที่ก้นได้สะดวก  รองหินภูเขาไฟเบอร์ใหญ่ไล่มาเล็กที่ก้นกระถาง ปูเป้มักรองให้สูงมาเกิน 1 นิ้ว เพื่อที่เวลาก้นกระถางจุ่มในน้ำ หินภูเขาไฟที่มีรูพรุนนี้จะช่วยดูดซับความชื้นไปเลี้ยงวัสดุปลูกด้านบน โดยที่ไม่แฉะไปจนทำให้เกิดโอกาสเน่าได้ง่าย  สามารถใช้ LECA แทนหินภูเขาไฟก็ได้ครับ เลือกจากเบอร์ใหญ่ไล่ไปเล็กเช่นกัน เวลาใส่วัสดุปลูกตามลงไปจะได้ไม่ไหลออกทางก้นหมด  โดยทุกครั้งที่เปลี่ยนกระถาง สามารถเอาหินภูเขาไฟที่ใช้รองกระถางเก่ามาล้าง ตากแดด และนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ ครับ

หลังจากนั้นให้ตัก TGS Hamalomena Best Soil Mixed Media มากลบหินหูเขาไฟรองก้นให้มิด ปกติปูเป้จะใส่ให้มีความสูงพอที่เราจะวางต้นไม้ลงไปปลูกได้ครับ

ก่อนที่จะใส่ต้นไม้ลงไป HYPONeX MAGAMP K ให้โรยลงไปเพื่อให้ปุ๋ยใกล้กับรากต้นไม้ที่จะปลูก ปุ๋ยตัวนี้เร่งการเติบโตของรากที่แข็งแรง และทำงานต่อเมื่อรากไปสัมผัสเท่านั้น ดังนั้นจึงใส่ใกล้กับรากได้ ต่างจากปุ๋ยละลายช้าอื่น ๆ  หลังจากนั้นเอาต้นไม้วางในระดับที่ต้องการ และกลบวัสดุปลูกลงไปแต่ยังไม่ต้องใส่จนเต็ม เพราะเราจะต้องใส่ปุ๋ยละลายช้าตัวถัดไป

 

ก่อนที่จะกลบวัสดุปลูกจนถึงจุดที่ต้องการ ให้เราใส่ปุ๋ยละลายช้า HYPONeX  NeXCOTE Pro เพื่อปล่อยธาตุอาหารอย่างต่อเนื่องตลอด 3 เดือน (ใส่เติมทุก 3 เดือน) สามารถใส่สารป้องกันแมลงพวกมด เพลี้ย หนอนแมลง ที่มักมากับลม กับนก หรือผีเสื้อที่บินมาเยี่ยมต้นไม้เรา อย่างในรูปที่เป็นเกล็ดสีบานเย็นคือ สตาเกิ้ลจี ลงไปพร้อมกันได้  ตัวนี้เป็นสารที่ปลอดภัย อยู่ได้ราว 1 เดือน

ส่วนกรณีที่เป็นไรแดง ไรแมงมุม เป็นตระกูลแมง ต้องใช้สารฆ่าแมงแยกต่างหาก ปูเป้จะเอามาแนะนำอีกทีเมื่อมีรูปตัวอย่างที่บอนโดนไรแมงมุมบุกครับ

เติมวัสดุปลูกกลบปุ๋ยและสารฆกันแมลงให้มิด รดน้ำจนน้ำไหลออกที่ก้นกระถาง ถ้าวัสดุปลูกแห้งมาก อาจใช้เวลาสักพักที่น้ำจะตัวซึมเข้าวัสดุปลูก จะดูเหมือนน้ำขังและไม่ซึมอยู่สักพัก ให้รอจนซึมและทำซ้ำไปเรื่อย ๆ พอวัสดุปลูกมีความชื้นทั่วกันไปแล้ว คราวต่อไปที่เรารดน้ำมันจะซึมไวแล้วครับ

ส่วนเรื่องของการวางกระถางลงบนจานรองน้ำ  กรณีที่เป็นบอนสกุล Caladium กับ Alocasia ให้เอา LECA หรือเม็ดดินเผา มาใส่กองให้สูงพอกับขอบของจานรอง แล้วใส่น้ำลงไป ก่อนวางกระถางบน LECA ครับ  (ในรูปปูเป้ใช้ของ Van Egmond) ส่วนบอนสกุล Colocasia สามารถวางก้นกระถางลงบนจานเปล่า ๆ ได้เลยก่อนเติมน้ำให้สูงเท่าขอบของจานรอง

*** หลังจากการล้างรากเพื่อเปลี่ยนกระถาง ใบเก่าของบอนอาจจะฟุบร่วงไปบ้าง แต่ไม่ต้องห่วง เพราะบอนเป็นพืชล้มลุก ใบร่วงง่ายและงอกง่าย เรารอขุนให้ใบใหม่ที่งอกมาแทนจ้า***

สรุปทิ้งท้าย

โดยสรุปแล้ว การเลี้ยงบอนนั้นไม่ยาก แต่มีสิ่งสำคัญดังนี้

1. ต้องรู้ว่าบอนที่เอามาเลี้ยง เป็นสกุลอะไร เพราะความชอบน้ำแฉะ หรือไม่ชอบแฉะนั้นต่างกัน  เข้าใจตรงนี้โอกาสรอดมีสูง และตราบใดที่หัวใต้ดินไม่เน่า เราชุบน้องได้เสมอ

2. ปริมาณแสงนั้นสำคัญ ความผิดพลาดส่วนใหญ่คือเวลาพูดว่าบอนสามารถปลูกในร่วมได้ คือจับไปอยู่ในบ้าน ในร่มที่แสงน้อยไปก็ไม่โตมีแต่ร่วง  หรือเอาบอนที่อยู่กลางแจ้งไม่ได้ไปเจอแดดเปรี้ยงก็ไหม้ใบไม่สวย

3. วัสดุปลูกที่ดี จะช่วยลดโอกาสการเกิดการเน่าหรือราขึ้นได้มาก สำหรับคนที่ปลูกในกระถาง และอาจวางในที่อากาศไม่ได้ถ่ายเทเหมือนในสวน

4. ปุ๋ยต้องพอ และปุ๋ยที่ดีจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นจากปัญหาปุ๋ยขาดหรือปุ๋ยเกิน ถ้าเงินไม่ใช่ปัญหา เราควรใช้เงินแก้ปัญหา

สุดท้ายที่อยากจะบอกสำหรับคนที่สนใจในบอนต่าง ๆ คือบอนเป็นพืชที่โตง่าย ขยายง่าย แน่นอนว่าบอนด่างมาก ๆ อาจจะยากกว่าต้นปกติหน่อย แต่ไม่ได้ขยายยากและใช้เวลานานขนาดมอนสเตอร่าด่าง

ดังนั้นต้นที่สวยไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง ราคาสูงถ้าไม่ได้มาจากการที่มันได้มายาก โตช้า เพาะยาก ก็มักมาจากการปั่นราคา ถ้าเราไม่ได้จะเก็งกำไร หรืออวดว่ามีเงินเหลือใช้  แต่อยากมีเพราะเอ็นดูในความน่ารักของน้อง ต้นราคาไม่แพงแต่สวยมีเยอะแยะไป  ถ้าดูแลน้องดี ๆ จนสมบูรณ์ก็สวยได้ทั้งนั้นจ้า

ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการปลูกบอนที่บ้านนะฮะ / PuPe_so_Sweet

 

Related Posts