Food Waste หรือ ขยะเศษอาหาร เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ต่อให้คุณจะไม่สนใจเรื่องโลกร้อนหรือชาวบ้านจะไม่มีกินหรือไม่ เครื่องทำปุ๋ยอัตโนมัติก็ทำให้พื้นที่บ้านของคุณหมดปัญหา มด หนู แมลงสาป ได้ดีมากเลยล่ะ

ในฐานะที่เป็นคนที่ใส่ใจทุกอย่าง ทั้งเรื่องพื้นที่ของตัวเอง บ้านที่น่าอยู่ ปัญหามด แมลงสาบ และหนูที่รุมบ้านมาอย่างยาวนาน และตระหนักเรื่องการจัดการขยะกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ปูเป้เชื่อว่าคนที่แยกขยะจะรู้สึกเหมือนกันว่าเศษอาหาร ขยะสด ที่บูดเน่าเสียได้นั้นเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก และการหมักขยะเป็นปุ๋ยด้วยวิธีทั่วไปนั้นไม่สะดวกและไม่เหมาะกับชีวิตคนเมืองที่ไม่มีสวนหรือพื้นที่ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกอย่างน้อยวันละหนึ่งใบเพื่อรวบรวมเศษอาหารไปทิ้ง โดยที่ระบบของรัฐไม่มีการแบ่งให้แยกขยะเศษอาหาร กับขยะอื่น ๆ อย่างชัดเจน  และเครื่องขจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยนี่แหล่ะคือชิ้นส่วนสุดท้ายของสมการที่มาแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ให้กับเรา

ส่วนคนที่ไม่รู้มาก่อนว่าขยะเศษอาหารส่งผลกระทบอย่างไรกับสภาพแวดล้อม และสังคมบ้าง ก็ลองอ่านแบบสรุปสั้น ๆ ข้างล่างได้เลยจ้า

Food Waste – ขยะเศษอาหาร ที่กำลังทำให้โลกร้อนเป็นไฟ

Source : gazasia.com

ปัญหาเรื่อง Food Waste หรือ ขยะเศษอาหารเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก อาหารที่ผลิตมาในกว่า 1/3 ของโลกใบนี้ไม่ได้ถูกนำไปบริโภค แต่ถูกทิ้งให้เน่าเสียในกองขยะ นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดการแล้ว ยังส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยตรง ขยะในบ่อ landfills ก็สร้างทั้งก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซ Methane ที่ทำลายชั้นบรรยากาศอย่างมาก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน  ของเสียที่ซึมลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินก็ทำให้เกิดการปนเปื้อนทั้งในแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค และเป็นมลพิษสู่ท้องทะเล

หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง EPA ได้ให้แนวทางของลำดับขั้นความสำคัญในการจัดการปัญหาขยะเศษอาหารด้วย Food Recovery Hierarchy ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดคือการลดการสิ้นเปลืองของทรัพยากรตั้งแต่แรก ไม่ผลิตออกมามากเกินความจำเป็น ส่วนที่เหลือแต่ยังบริโภคได้ก็บริจาคหรือทำ Food Bank ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย เศษอาหารที่ไม่เหมาะกับการบริโภคของมนุษย์ก็เอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ ตามด้วยเอามาหมักเป็นไบโอแก๊สเพื่อสร้างพลังงานและความร้อน และตามมาด้วยการเอาไปทำเป็นปุ๋ยเพื่อเพาะปลูก โดยพยายามให้เหลือเศษอาหารไปสู่การเผาหรือในบ่อขยะ (landfill) ให้น้อยที่สุด

ทำไมถึงมีเครื่องจำกัดเศษอาหารในครัวเรือน?

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีระบบการจัดการขยะที่ดี จะมีการแบ่งประเภทของขยะ และเศษอาหารจะมีถุงชนิด Comspostable ที่ย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์มาโดยเฉพาะ มีจุดแยกทิ้งขยะเศษอาหาร บางประเทศมีระบบที่โดยเรียกเก็บค่าทิ้งขยะตามปริมาณที่ทิ้งไป โดยเศษอาหารเหล่านี้จะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ย หมักเป็นก๊าซชีวภาพ หรือแม้แต่อาหารสัตว์ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากก๊าซมีเทนที่มาจากการเน่าเปื่อยในบ่อขยะ และยังทำให้สภาพแวดล้อมของเมืองดีขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนด้วย  ซึ่งแน่นอนว่าในประเทศไทย ในกรุงเทพที่ปูเป้อยู่ ไม่มีระบบเหล่านี้….

ตัวอย่างที่ชัดเจนของประเทศที่เริ่มพัฒนามาในระยะเวลาไล่เลี่ยกันแต่ปัจจุบันก้าวหน้าไปกว่าประเทศไทยมาก อย่างเกาหลี ก็ประเคยประสบปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นและขยะที่เอาไปทิ้งใน landfills หรือบ่อขยะก็สร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และรัฐต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการจัดการปัญหาขยะที่ไม่ได้ถูกแยกและทิ้งรวมกันเละเทะแบบนี้

การแยกขยะ โดยเฉพาะขยะเปียก เศษอาหารที่เน่าเสียได้ ออกจากขยะอื่น ๆ จะช่วยให้กระบวนการรีไซเคิลและการจัดการทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี 2005 เกาหลีได้มีการแบนหรือห้ามการทิ้งเศษอาหารใน landfills โดยเด็ดขาด และก่อให้เกิดระบบที่ทั้งบังคับและเอื้อให้ผู้คนสามารถแยกขยะ แยกทิ้งเศษอาหารได้อย่างเป็นระบบ  มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง สนับสนุนการให้ความรู้ รับฟังปัญหา พยายามปรับปรุงทำให้เข้าใจง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงจะเห็นได้จากการศึกษาพบว่าสถิติของขยะที่ถูกสร้างจากครัวเรือนนอกจากจะมีปริมาณที่ลดลงแล้ว  ปริมาณขยะที่นำไปรีไซเคิลก็เพิ่มขึ้น สวนทางกับขยะที่นำไปทิ้งในหลุมขยะที่น้อยลงอีกด้วย

ช่วงหลังปี 2012 เมืองต่าง ๆ ในเกาหลีเริ่มทยอยใช้จุดทิ้งขยะเศษอาหารอัตโนมัติมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยี RFID ที่มีอยู่ในบัตรประชาชนของเกาหลีทุกใบและฐานข้อมูลออนไลน์ให้เป็นประโยชน์  เมื่อเราจะทิ้งขยะเศษอาหารก็มาที่จุดรับเศษอาหารอัตโนมัติในชุมชน แตะบัตรปุ๊ปเครื่องจะเปิดฝาให้เราทิ้งเศษอาหารลงไป  เศษอาหารจะถูกชั่งน้ำหนักและนำไปรวมยอดเพื่อส่งใบเสร็จมาเก็บค่าบริการตอนสิ้นเดือนตามปริมาณขยะที่เราสร้างและทิ้งลงไป ปัจจุบันเกาหลีสามารถรีไซเคิลขยะเศษอาหารได้ถึง 95% จากที่เคยทำได้แค่ 2% เท่านั้น

เมื่อมีระบบที่ออกแบบมาเพื่อให้คนแยกขยะ และผู้คนจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นตามปริมาณขยะที่ตัวเองสร้าง  สิ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้คนในสังคมก็คือเครื่องกำจัดเศษอาหาร ที่ช่วยให้คนไม่จำเป็นต้องทิ้งเศษอาหารทุกวัน และลดปริมาตร ลดน้ำหนักของเศษอาหารที่สร้างลงได้มากถึง 10 เท่า หรือแม้กระทั่งแทบจะไม่ต้องทิ้งเศษอาหารลงในถังขยะอีกเลยอีกต่อไป ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทิ้งขยะแล้ว การไม่มีเศษอาหารที่เน่าบูดคาถังในบ้านยังดีกับพื้นที่ภายในบ้านอีกด้วยเพราะไม่มีกลิ่นเหม็นบูดเน่าหรือเชื้อโรคเชื้อราลอยฟุ้งในอากาศ ผลพลอยได้คือเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำใต้ดิน และลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ความแตกต่างระหว่างเครื่องอบแห้ง และเครื่องทำปุ๋ย

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ออกแบบมาเพื่อช่วยย่อยหรือลดปริมาณขยะสดในครัวเรือน เท่าที่เห็นในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ ระบบอบแห้ง (Dehydrator)  กับ ระบบหมักเป็นปุ๋ย (Composter) ซึ่งปูเป้ได้ลองเปรียบเทียบระบบที่มีจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และสรุปจุดเด่นและข้อจำกัดของแต่ละระบบ ซึ่งจะตอบโจทย์กับผู้ใช้ที่มีไลฟ์สไตล์หรือความต้องการที่ต่างกัน

1. เครื่องอบแห้งเศษอาหาร (Food Waste Dehydrator) นึกภาพเป็นเหมือนเตาคั่วอบขนาดเล็ก ที่สร้างความร้อนในการระเหยน้ำออกจากเศษอาหาร และมีใบมีดที่ช่วยสับบดเศษอาหารพวกเนื้อ ผัก ผลไม้ หรือแม้แต่กระดูกชิ้นเล็ก ๆ เช่นก้างปลา กระดูกไก่ ให้มีขนาดเล็กลง  สุดท้ายจะได้เศษอาหารชิ้นขนาดเล็กที่แห้งสนิทปราศจากความชื้น  เมื่อไม่มีความชื้น พวกเชื้อราและแบคทีเรียจึงไม่สามารถเติบโตได้ ทำให้เราสามารถสะสมเศษอาหารแห้งเหล่านี้เอาไว้เป็นจำนวนมาก ๆ ค่อยเอาออกไปทิ้งทีเดียวได้

ข้อดี ของระบบทำเศษอาหารให้แห้งคือสิ่งที่ได้ออกมาจะเหมือนกับอาหารอบแห้ง เครื่องมักมีขนาดไม่ใหญ่มาก วางไว้ในห้องครัวที่เป็นห้องปรับอากาศได้สบาย ๆ ทำงานเป็นรอบ ไม่ต้องเปิดทำงานตลอดเวลา  ใช้เฉพาะตอนมีเศษอาหารที่ต้องกำจัด และการอบแห้งด้วยความร้อนจะทำให้เศษอาหารที่ได้ออกมาไม่มีเชื้อโรค สามารถเก็บรวบรวมไว้ได้นานก่อนนำไปทิ้ง หรือบางประเทศมีระบบที่รวบรวมเศษอาหารแห้งเหล่านี้ไปทำเป็นเชื้อเพลิงด้วย

ข้อเสีย คือเศษอาหารแห้งเหล่านี้ยังไม่สามารถเอาไปใช้เป็นปุ๋ยได้ ยังไม่ผ่านการย่อยสลายทางชีวภาพ จะไม่มีค่า NPK ที่เป็นอาหารพืช  และเมื่อเจอความชื้นก็สามารถเน่าหรือขึ้นราอีกได้  ถ้าจะเอาไปทำเป็นปุ๋ยก็ต้องไปหมัก (compost) ก่อนอีกที

เครื่องระบบ Dehydrator มักใช้ไฟในการทำงานมากกว่าระบบ Composter และเศษอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง หรือมีความชื้นในปริมาณเยอะ ก็จะยิ่งใช้เวลามากในการทำให้แห้งสนิท ต้องกรองของเหลวออกให้มากที่สุดในการใช้งาน การดูแลรักษาคือต้องเอาเศษอาหารออก ทำความสะอาดทุกรอบที่ใช้งาน  และต้องคำนึงถึงเรื่องของที่ต้องซื้อเปลี่ยนอย่างเช่นฟิลเตอร์กรองกลิ่นอีกด้วย

2. เครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย (Food Waste Composter) จะใช้จุลินทรีย์ในการกินและสลายเศษอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ หลักการเหมือนการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยแห้ง เพียงแต่อยู่ในเครื่องที่เป็นระบบที่ควบคุมอุณหภูมิ และทำทุกอย่างอัตโนมัติ  ไม่ต้องมานั่งพลิกคลุกกองปุ๋ยเอง และกระบวนการหมักแบบใช้ออกซิเจนสามารถเปลี่ยนเป็นปุ๋ยโดยใช้เวลาเร็วกว่า เพียง 24-48 ชั่วโมง  

ข้อดี ของระบบทำเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยคือ  สิ่งที่ได้ออกมาใช้เป็นปุ๋ยได้เลยทันที มีค่า N P K ครบ นำไปโรยหน้าดินเมื่อโดนน้ำก็จะไม่เน่าเหม็น เอามาใส่กับต้นไม้ในบ้านของตัวเอง หรือเอาไปโรยใส่ต้นไม้ริมทางเดินก็ได้  ค่อนข้างยืดหยุ่นเรื่องความชื้นหรือของเหลวที่จะใส่ลงไปในเครื่อง น้ำแกง ซอสสปาเกตตี้ น้ำเชื่อม น้ำจิ้ม ในปริมาณไม่มากก็เทลงไปได้เลย  ที่สำคัญไม่ต้องกังวลกับเรื่องสัตว์หรือแมลงรบกวนเหมือนการหมักปุ๋ยในบ่อหรือในถังแบบ manual

ระบบในการทำงานของ Composter ส่วนใหญ่ใช้กำลังไฟน้อย มีแค่มอเตอร์รอบหมุนต่ำที่คอยคลุกเศษอาหารอย่างช้า ๆ และคุมอุณหภูมิให้คงที่โดยจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ใส่เศษอาหารเติมไปเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องทำงานเป็นรอบ จึงยืดหยุ่นในการใช้งาน และทำให้อัตราการใช้ไฟค่อนข้างคงที่ไม่ว่าเราจะใส่เศษอาหารมากหรือน้อยก็ตาม

ข้อเสีย ของระบบ Composter คือไม่มีตัวบดเศษอาหาร จึงไม่สามารจัดการเศษอาหารที่แข็งมาก และมีขนาดใหญ่ เช่นกระดูกไก่ หมู วัว เนื่องจากอาจไปขัดกับใบายในเครื่อง ทำให้มอเตอร์เสียหายได้

จุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยเป็นสิ่งมีชีวิต มันสามารถตายได้ถ้าเราปิดเครื่องและปล่อยให้มันขึ้นรา หรือการใส่พวกกรด หรือเกลือจำนวนมาก ๆ ลงไปในเครื่องทีเดียวก็ทำให้จุลินทรีย์อาจตายได้  หากจุลินทรีย์ตายหมดก็จะต้องซื้อหัวเชื้อใหม่มา แต่อย่างไรก็ดี หลังการใช้งานไประยะหนึ่ง เราสามารถตักปุ๋ยที่แห้งสนิทแล้วเอามาเก็บไว้ส่วนหนึ่งมาเพื่อเป็นหัวเชื้อสำรองเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ

ทำไมถึงเลือกเครื่องทำปุ๋ยของ HASS?

ปูเป้อยากได้เครื่องทำปุ๋ยมาหลายปีแล้วครับ โดยเครื่องที่ปูเป้ใช้อยู่ตอนนี้ทางผู้จัดการซื้อให้ปูเป้เป็นของขวัญวันเกิดย้อนหลัง ตอนแรกเห็นเจ๊มาถามว่าเครื่องจัดการขยะสดตัวไหนดี เราก็นึกว่าเจ๊จะซื้อใช้เอง เราก็อธิบายไปเต็มที่และบอกว่าเราเล็งตัวไหนเอาไว้ที่เราอยากได้ ซึ่งก็คือเครื่องทำปุ๋ยของ HASS แต่พอเครื่องมาส่งที่บ้านเรา โอ้โหกรี๊ดดีใจลั่นบ้าน 

โดยส่วนตัวปูเป้มองว่าไลฟ์สไตล์ของตัวเองจะเหมาะกับระบบ Composter แบบนี้ที่สุดเพราะที่บ้านทำกับข้าวเกือบทุกวัน สร้างเศษอาหารทุกวัน เหมาะกับเครื่องของ HASS ระบบทำปุ๋ยที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แค่เสียบปลั๊กเอาไว้ตลอด เทเศษอาหารที่เครื่องสามารถรองรับได้ มันก็จะทำงานของมันไปเรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรมาก ไม่ต้องมานั่งทำความสะอาดเครื่องทุกรอบที่ใช้ และปูเป้สามารถเอาเศษที่หมักเป็นปุ๋ยแล้วมาใช้กับต้นไม้ที่บ้านได้ทันทีไม่ว่าจะโรยหน้าดิน หรือผสมลงไปในวัสดุปลูกได้เลย

พวก Consumable Parts หรือสิ่งที่ต้องซื้อเปลี่ยนมีเพียงแค่หลอด UVC เอาไว้ฆ่าเชื้อและกำจัดกลิ่น ที่ต้องเปลี่ยนปีละครั้ง ประมาณพันนึง ซึ่งถูกกว่าพวกที่ใช้ระบบกรองกลิ่นแบบฟิลเตอร์ที่ต้องเปลี่ยนทุก 3 เดือน ซึ่งตกปีนึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มตั้งห้าพันกว่าบาท ยังไม่รวมค่าไฟที่ต้องจ่าย

เมื่อคำนึงถึงปัจจัยทั้งหมดนี้ ทั้งไลฟ์สไตล์ ความง่ายในการใช้งาน การดูแลรักษา และค่าใช้จ่ายแฝงต่าง ๆ หลังจากซื้อเครื่องครั้งแรกแล้ว เครื่องทำปุ๋ยของ HASS จึงเป็นตัวเลือกที่เข้าวินของปูเป้ครับ

ประสบการณ์ในการใช้เครื่องปุ๋ยของ HASS

จากการใช้งานมาร่วม 3 – 4 เดือน ในครอบครัวที่อาศัยกัน 4 คน ทำกับข้าวกินเองวันละ 2 มื้อ  ตัวเครื่องสามารถรับเศษอาหารในแต่ละวันได้สบาย  เครื่องรับเศษอาหารได้มากถึง 2 กิโลกรัมต่อวัน แต่เมื่อมันทำงานไปเรื่อย ๆ ปริมตรของเศษอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเหลวจะหายไปกว่า 90% ดังนั้นจึงใช้เวลาราว 30 – 40 วัน กว่าที่ปุ๋ยจะเริ่มเต็มเครื่องครับ

การใช้งานก็เข้าใจง่ายมาก  ให้คิดว่าเครื่องนี้เหมือนกับกระเพาะของเรา  อะไรที่ปกติเรากินเข้าปากได้ก็โยนใส่เครื่องนี้ได้  ส่วนอะไรที่ปกติเราไม่กินก็ไม่ควรจะใส่เข้าไปครับ  เช่นพวกกระดูกไก่ กระดูกหมู หรือเปลือกปูที่แข็ง ๆ ห้ามใส่ลงไปเพราะในเครื่องไม่มีใบมีดที่ย่อยกระดูกได้ ของที่แข็งมากและชิ้นใหญ่อาจทำให้ใบพายที่คลุกปุ๋ยติดขัดและเสียหายได้ ซึ่งรายละเอียดพวกของที่ใส่ได้ หรือใส่ไม่ได้นี้จะมีบอกในคู่มือ และสติกเกอร์ที่แปะให้บนฝาเครื่องครับ

จากที่ลองใช้มา พวกเศษอาหารส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน พวกข้าว เมล็ดพืช ธัญพืช บะหมี่ ใบก้านของผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เศษอาหารแมวที่เหลือ กากใบชา กวาดลงไปได้หมดเลย  แต่ถ้ามีเศษกระดาษหรืออะไรที่เขาห้ามใส่เผลอหล่นลงไป ก็สามารถหยิบออกมาครับ

เปลือกไข่ หัวกุ้ง เปลือกกุ้ง ก้างปลา ไม่ว่าจะผ่านการปรุงสุกแล้วหรือยังดิบ ก็ใส่ลงไปได้ครับ จุลินทรีย์จะทำการย่อยส่วนอวัยวะหรือเนื้อที่ย่อยสลายได้ แต่เปลือกหรือก้างที่เป็นสารประกอบของพวกแคลเซียมแม้จะย่อยไม่ได้ แต่มันจะแห้ง และแตกเป็นชิ้นที่เล็กลง ที่บ้านเวลาซื้อกุ้งหรือปลาสดมาทำกับข้าว ก็เอาเศษมาใส่ลงเครื่องครับ ผ่านไป 1-2 วัน เปิดมาเมื่อกระบวนการย่อยสลายเสร็จสมบูรณ์ ก็ไม่มีกลิ่นเน่าหรือกลิ่นคาวเลย

เปลือกผลไม้บาง ๆ หรือไม่แข็งมาก สามารถใส่ได้ครับ เปลือกส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้งก็โยนลงไปได้ พวกเปลือกแตงโมก็ใส่ได้ แค่เอามาหั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนใส่ลงไป  แต่ผลไม้เปลือกที่แข็งมาก หนามากอย่างทุเรียนจะใส่ไม่ได้ เมล็ดพืชขนาดเล็กเช่นเมล็ดส้มหรืออะไรพวกนี้ก็ใส่ได้ แต่ถ้าเมล็ดที่ใหญ่มากเช่นอโวคาโด มะม่วง หรือทุเรียนก็ใส่ไม่ได้ครับ

พวกเศษซอสอย่างสปาเกตตี้ จะซอสเนื้อ จะไวท์ซอส มัสมั่นหรือแกงกะหรี่ข้น ๆ หรือจะครีมชีส โยเกิร์ต เนย บัตเตอร์ครีมที่อยู่ในขนมหรือเค้กก็กวาดลงไปได้  น้ำจิ้มที่เข้มข้นอย่างพวกน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ อาจาดที่มีผักสับและน้ำเชื่อมหวาน ๆ  ก็เทลงไปได้หมดครับ แค่คอยดูให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้ปุ๋ยในเครื่องเปียกแฉะมากเกินไป  ก็ไม่เจอปัญหาอะไรครับ

สำหรับพวกเศษอาหารที่มีของเหลวมาก เช่นพวกบะหมี่น้ำ แกงจืด น้ำพะโล้ ทางผู้ผลิตแนะนำว่าให้กรองน้ำออกและเอาแต่เศษอาหารมาใส่ในเครื่องทำปุ๋ยครับ  เพราะของเหลวจำนวนมาก ปุ๋ยจะชื้นมากและมีกลิ่นมาก

แต่จากการใช้งานจริง ปูเป้พบว่าถ้าเราดูแล้วปุ๋ยในเครื่องของเราค่อนข้างแห้ง พวกเศษน้ำแกงที่เหลือไม่มาก เราไม่ต้องกรองน้ำแยกเศษอาหารก่อนทิ้งก็ได้ครับ ปูเป้ทิ้งพวกน้ำแกงที่เหลือนิดหน่อยนั้นลงไปได้เลย โดยไม่เจอปัญหาอะไร

ปูเป้มองว่าตรงนี้เป็นข้อดีของระบบ Composter เลย เพราะจะเศษอาหารมากหรือน้อย หรือจะเปียกหน่อย จะมีน้ำตาลมากหน่อย หรือเศษน้ำแกงพอขลุกขลิกก็ใส่ลงไปได้ เครื่องก็ทำงานแบบสม่ำเสมอ แต่ถ้าเป็นระบบอบแห้ง จะต้องกรองของเหลวออกให้มากที่สุดอย่างเดียว ใส่ของที่มีน้ำตาลเยอะหรือมีความชื้นเยอะ ๆ ก็จะใช้เวลามากขึ้นกว่าจะแห้งสนิท ซึ่งเท่ากับใช้ไฟฟ้ามากขึ้นครับ

เครื่องทำปุ๋ยมีกลิ่นเหม็นไหม?

หลายคนมีความกังวลในเรื่องของ ‘กลิ่น’ เพราะว่าการเกิดปุ๋ยนั้นอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์ ซึ่งจากที่ปูเป้ใช้เครื่องของ HASS มาถ้าปิดฝาเครื่องอยู่ จะไม่มีกลิ่นอะไรเล็ดลอดออกมาเลย ระบบกำจัดกลิ่นและการฆ่าเชื้อด้วยโอโซและหลอด UVC ของเขาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีมาก และไม่สามารถมีมดหรือแมลงเข้าไปถึงตัวระบบหมักปุ๋ยได้ด้วย เราจะได้กลิ่นเฉพาะตอนที่เราเปิดฝาเครื่องออกมาเติมเศษอาหารครับ

กลิ่นของปุ๋ยในเครื่องนั้น ปูเป้คิดว่าคนที่ปลูกต้นไม้ และเคยใช้พวกปุ๋ยน้ำชีวภาพ จะพอเดากลิ่นได้เพราะมันมีความคล้ายกัน ระดับของกลิ่นขึ้นอยู่กับความชื้นของปุ๋ยรวมไปถึงเศษอาหารที่ใส่

ถ้าปุ๋ยในถังค่อนข้างแห้งร่วน กลิ่นจะไม่ค่อยแรง แต่ถ้าปุ๋ยมีความชื้นมาก ดูแฉะ ๆ กลิ่นก็จะมากหน่อย ซึ่งสามารถเปิดระบบลดความชื้น และระบบลดกลิ่นที่ตัวเครื่องได้ครับ นอกจากนี้ ถ้าเศษอาหารที่ใส่ลงไปมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ อย่างเช่นพวกเปลือกส้ม  มันก็จะทำให้ปุ๋ยเรามีกลิ่นที่ดีขึ้นได้ด้วยล่ะ

ดังนั้น ส่วนตัวปูเป้ไม่มีปัญหากับเรื่องกลิ่นจากการใช้เครื่องทำปุ๋ยครับ ถือว่าสบายมาก คนปลูกต้นไม้ต้องคุ้นเคยกับกลิ่นของปุ๋ยธรรมชาติอยู่แล้ว ปูเป้แนะนำให้เอาเครื่องนี้วางไว้ในจุดที่ระบายอากาศได้ดี โดยเฉพาะห้องครัว ซึ่งโดยปกติแล้วต้องถูกออกแบบมาเพื่อให้ระบายอากาศดี และเป็นจุดที่เราต้องประกอบอาหารหรือล้างจาน จึงเป็นจุดที่สะดวกในการช้งานที่สุด แต่หากไม่มีที่เหลือในครัวอีกแล้ว สามารถเอามาไว้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่ระบายอากาศดี ไม่โดนฝน ไม่เจอแดดโดยตรง และค่อยเอาเศษอาหารจากในครัวมาใส่ก็ได้ครับ

การเก็บปุ๋ยออกจากเครื่อง

ตัวเครื่องสามารถย่อยสลายเศษอาหารเป็นปุ๋ยได้อย่างสมบูรณ์ใน 24-48 ชั่วโมง และในเครื่องจะมีเส้นที่ระบุว่าปุ๋ยกำลังจะเต็มแล้ว จำเป็นต้องตักออก ซึ่งหากเราต้องการเก็บปุ๋ยส่วนหนึ่งไว้เป็นหัวเชื้อสำรอง จะต้องเก็บปุ๋ยที่ค่อนข้างแห้ง จึงควรเปิดระบบลดความชื้นและไม่ใส่เศษอาหารสัก 2 วันก่อนที่จะตักปุ๋ยออกมาครับ

ปุ๋ยที่ได้จะมีทั้งส่วนที่ละเอียดและส่วนที่เป็นชิ้นใหญ่หน่อย ขึ้นอยู่กับเศษอาหารที่เราใส่ลงไป โดยเฉพาะพวกเปลือกส้มที่ใส่ลงไปก็จะเป็นแผ่นแห้ง ๆ ซึ่งเราสามารถร่อนเพื่อแยกได้  เศษอาหารที่มีส่วนประกอบของพวกแคลเซียมอย่างกระดูกปลา เปลือกไข่ จะไม่สลายแต่จะแห้งและป่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งเวลาเอาไปผสมกับวัสดุปลูกจะช่วยเพิ่มความร่วนซุย การระบายน้ำและอากาศ เป็นสิ่งที่ดีกับต้นไม้

ปูเป้จะแนะนำให้ใช้ตะแกรงร่อนแยกปุ๋ยที่มีขนาดละเอียด  ออกจากเศษปุ๋ยชิ้นใหญ่  แบ่งเอาเศษปุ๋ยละเอียดที่แห้งดีแล้วสัก 1 กิโลกรัม ไปใส่ในถุงที่ปิดสนิทเพื่อเก็บเป็นหัวเชื้อสำรอง ในกรณีที่เชื้อในถังปุ๋ยเกิดตายขึ้นมาแบบไม่คาดฝัน

เราต้องเหลือปุ๋ยในเครื่องเพื่อให้มันทำงานต่อไปได้ โดยเอาปุ๋ยละเอียดใส่ลงไปในตัวเครื่องให้เท่ากับระดับของแกนหมุนเพื่อเป็นตัวเริ่มต้น  ใส่น้ำลงไปสักหน่อยเพื่อให้เชื้อทำงานดีขึ้น และเริ่มใส่เศษอาหารตามปกติได้เลย

การเอาปุ๋ยมาใช้งานนั้น ปุ๋ยละเอียดเหมาะที่จะเอาไว้โรยหน้าดิน   ปุ๋ยทีชิ้นใหญ่หรือหยาบหน่อย สามารถผสมลงไปในวัสดุปลูกเพื่อเพิ่มความร่วนซุยได้ ถ้าบ้านตัวเองไม่ได้ปลูกต้นไม้ จะเอาไปให้บ้านคนรู้จักที่ปลูกต้นไม้ ให้กับคนสวนของหมู่บ้าน หรือไปโรยให้ต้นไม้ริมถนนก็ได้นะ ปกติพวกนี้เขาไม่ค่อยมีใครให้ปุ๋ยหรือดูแลอะไรเท่าไหร่อยู่แล้ว พอเราเอาปุ๋ยดี ๆ ไปโรยให้ ก็แตกใบพรึ่บเลยครับ

‘เครื่องทำปุ๋ย’ กับ ‘เครื่องล้างจาน’ ควรมีคู่กัน

ถ้าคุณมีเครื่องล้างจานที่บ้าน ปูเป้บอกเลยว่าคุณควรมีเครื่องทำปุ๋ย  ละถ้าคุณมีเครื่องทำปุ๋ยที่บ้านแล้ว คุณควรมีเครื่องล้างจาน  สองสิ่งนี้ใช้ร่วมกันได้อย่างดีสุด ๆ

เหตุผลเพราะระบบ Composter  นั้นเราสามารถกวาดเศษอาหาร ซอส เศษน้ำแกง น้ำจิ้ม ออกได้มากก่อนที่จะวางในเครื่องล้างจานได้ตลอดเวลา ไม่ต้องแบ่งทำเป็นรอบ ไม่ต้องกองจานชามที่มีเศษอาหารทิ้งไว้ให้เป็นแหล่งล่อมด แมลงสาบ และหนู

การมีเศษอาหารและคราบสกปรกติดน้อยลง ช่วยให้เครื่องล้างจานทำงานน้อยลง เพราะระบบเซนเซอร์ของเครื่องล้างจาน (ของ BOSCH) เมื่อตรวจว่าไม่เหลือเศษสกปรกแล้ว ก็จะปรับรอบการทำงานให้เสร็จไวขึ้น จึงลดการใช้น้ำและไฟฟ้า และทำให้ฟิลเตอร์เครื่องล้างจานไม่สกปรกมาก  มีเศษอาหารติดฟิลเตอร์น้อย จึงไม่ต้องล้างฟิลเตอร์บ่อย ช่วยลดภาระในเรื่องการดูแลรักษาอย่างมาก

ครื่องทำปุ๋ย HASS กินไฟมากไหม?

จากข้อมูลระบุว่าเครื่องทำปุ๋ยของ HASS ใช้ไฟฟ้าเดือนละประมาณ 1XX บาทสำหรับการงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

สำหรับกรณีของปูเป้ ในเดือน มิถุนายน 2021 ที่ปูเป้ใช้แต่เครื่องทำปุ๋ย หน่วยใช้ไฟฟ้าของบ้านเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ มิถุนายน 2020 ครับ โดยขึ้นมา 6 หน่วย เป็นเงินไม่ถึง 30 บาท  เหตุผลน่าจะเป็นเพราะพอเรากำจัดเศษอาหารได้มาก เหลือเศษติดจานน้อย ก็ทำให้ใช้น้ำน้อยลงในการล้างจานด้วยมือ ใช้ปั้มน้ำน้อยลง เท่ากับไปถัวตรงนั้นได้บ้าง

แต่ในเดือนถัดมาที่มีเครื่องทำปุ๋ย HASS และเครื่องล้างจาน BOSCH นั้นพบว่าหน่วยใช้ไฟของที่บ้านในเดือน กรกฎาคม 2021 นั้นนอกจากไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังลดลงด้วยซ้ำ


ซึ่งน่าจะมาจากการที่เราสามารถกำจัดเศษอาหารได้มาก และเครื่องล้างจานก็มีประสิทธิภาพมากในการล้างจานชามกองใหญ่โดยใช้น้ำปริมาณต่ำสุดเพียง 6 ลิตรต่อรอบ  จึงลดการใช้งานของปั้มน้ำลงไปได้มาก ซึ่งสอดคล้องกับค่าน้ำของที่บ้านที่ลดลงอย่างมาก ทำให้โดยรวมแล้วแม้จะมีเครื่องทำปุ๋ย และเครื่องล้างจานเพิ่มเข้ามาในบ้าน ก็ทำให้โดยรวมแล้วหน่วยใช้ไฟไม่ได้เพิ่มขึ้นครับ จึงเป็นเหตุผลที่ปูเป้แนะนำว่าสองสิ่งนี้ควรมีคู่กัน

การดูแลรักษาครื่องทำปุ๋ย HASS

เครื่องทำปุ๋ยนี้แทบไม่ต้องดูแลอะไรเลย มีแค่เช็ดฝุ่น หรือเช็ดคราบเศษอาหารที่เลอะเทอะฝาหรือตัวเครื่อง แต่ด้านในที่เป็นจุดหมักปุ๋ยก็ไม่ต้องดูแลอะไร ถ้าเห็นสกปรกมีคราบติดมาก อยากให้มันสะอาดก็เอาผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ด  ฟิลเตอร์ที่เอาไว้กรองเศษอาหารไม่ให้เข้าไปสู่ระบบระบายอากาศก็สามารถล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ได้

สังเกตแค่ปุ๋ยใกล้เต็มถึงจุดที่กำหนดหรือยัง  ถ้าใกล้เต็มก็ตักปุ๋ยออกมาใช้หรือเอาไปแจกจ่าย เหลือปุ๋ยส่วนหนึ่งไว้ในเครื่องเพื่อเป็นหัวเชื้อในการเริ่มทำงานต่อไปเท่านั้นก็พอ มันง่ายมากถึงมากที่สุด ตอบโจทย์คนขี้เกียจอย่างเรา

ปัญหาหรือข้อจำกัดในการใช้งานเครื่องทำปุ๋ย HASS

ปัญหาที่พบในการใช้งานนี่ยังไม่เจออะไรเลย  แค่ตอนที่ปุ๋ยในเครื่องมันเยอะมากแล้ว เครื่องอาจจะส่งเสียงครืด ๆ เหมือนใบพัดข้างในมันทำงานหนักบ้างเป็นบางครั้ง เสียงแค่ฟังดูน่ากลัว แต่พอตักปุ๋ยออกมา เสียงก็หายไปครับ ดังนั้นมองว่ามันเป็นสัญญาณว่าเราควรตักปุ๋ยออกจากเครื่องแล้วละกัน

ตอนนี้เศษอาหารส่วนใหญ่ของที่บ้านก็จะลงไปในเครื่องทำปุ๋ย มีแค่บางครั้งที่ทำกับข้าวเองและมีเศษกระดูกหมู เปลือกปู หรือเมล็ดทุเรียน มะม่วงที่ต้องแยกเอาออกไปทิ้ง ดังนั้นข้อจำกัดจริง ๆ คงเป็นเรื่องของการไม่สามารถใส่เศษอาหารแข็งมาก ๆ ลงไปได้ ซึ่งเครื่องกำจัดเศษอาหารแบบใช้ในครัวเรือนก็มีข้อจำกัดแบบนี้ทั้งนั้น

ปัญหานี้พอลดลงได้ด้วยการที่เราเลือกซื้อเนื้อที่ตัดแต่งสำเร็จ ไม่มีเศษกระดูกที่ต้องกำจัดมาประกอบอาหาร  หรือซื้อทุเรียนที่ปอกเสร็จแล้วแทนที่จะมาปอกเองที่บ้าน อะไรทำนองนี้ แต่แน่นอนว่าเราคงทำไม่ได้ในทุกกรณีหรอก  เช่นอยากกินไก่ทอด ไก่ย่าง เอากระดูกหมูทอดมาแทะ ยังไงก็ต้องมีเศษกระดูก

ซึ่งในกรณีที่มีเศษอาหารที่ใส่เครื่องทำปุ๋ยไม่ได้ เราควรเลือกทิ้งในถุงชนิด Compostable ที่สามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์แบบในสภาวะของบ่อหมักหรือบ่อทิ้งขยะสดครับ แม้ถุงแบบนี้จะมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป แต่ในเมื่อเราไม่จำเป็นต้องทิ้งเศษอาหารทุกวันเหมือนแต่ก่อน ค่าใช้จ่ายเรื่องถุงขยะที่ย่อยสลายในบ่อขยะแบบนี้ได้ก็ไม่น่าเป็นปัญหากับเรานัก

อุปกรณ์เสริมและโปรโมชั่น

เครื่อง HASS Food Composter ของปูเป้ได้มาตอนมีโปรโมชั่นพร้อมกับขาตั้งที่มีล้อเลื่อน และหลอด UVC สำหรับเปลี่ยนอีก 1 หลอดครับ

ซึ่งขาตั้งแบบมีล้อเลื่อนนี่ดีมากสำหรับพื้นที่ของปูเป้เพราะสามารถเลื่อนออกมาเพื่อเปิดฝาเทเศษอาหารก่อนวางลงเครื่องล้างจาน  และเลื่อนเก็บเอาไว้ใต้ชั้นวางของ ตัวเครื่องอย่างเดียวก็หนักถึง 18 กิโลกรัมแล้ว  จะยกหรือแบกไปไหนคงจะลำบาก แต่ถ้าใครจะวางบนเคาน์เตอร์ท็อปโต๊ะ หรือจะไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหนก็ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

ตัวเครื่อง HASS Food Composter ปกติราคา 26,500 บาท ส่วนจะมีโปรโมชั่นแถมอะไรให้ในช่วงนั้นก็ต้องไปถามกับทาง LINE : @AVentures ซึ่งเป็นผู้นำเข้า สามารถสแกนกดลิ้งค์หรือสแกน QR Code ในรูปด้านบนได้เลยครับ และสามารถเข้าไปในเวปไวต์ทางการของเขาได้ที่ www.hassthailand.co

และเนื่องจากมีคนที่ติดตามปูเป้สนใจเครื่องทำปุ๋ยกันพอสมควร จะมีโปรโมชั่นเสริมโดยใช้โค้ด PUPE เมื่อสั่งซื้อผ่านทาง LINE โดยตรง จะได้รับเพิ่ม ถุงขยะแบบ Compostable ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 1 แพ็ค (100 ใบ) มูลค่า 299 บาท ไปเพิ่ม on top จากโปรโมชั่นปกติที่มีในช่วงนั้นจ้า

ปูเป้ก็หวังว่าทุกคนจะได้ข้อมูลครบถ้วนและช่วยในการตัดสินใจมีเครื่องกำจัดขยะสดในบ้านได้นะครับ

Related Posts